ฟังเรื่องเล่า ‘ชายบนวีลแชร์’ ผู้พลิกวิกฤตจากร้านเช่าวิดีโอ สู่เจ้าของโรงแรม 4 แห่งใจกลางเยาวราช

เรื่อง     นิตยา สุเรียมมา





Main Idea

 
  • ‘วิชัย อริยรัชโตภาส’ ชายบนวีลแชร์ อดีตเจ้าของร้านเช่าวิดีโอเก่าแก่ย่านเยาวราช ผู้เคยประสบปัญหาจากการถาโถมเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่จนต้องปิดกิจการลง แต่วันนี้เขา คือ เจ้าของโรงแรมที่พัก 4 แห่งใจกลางเยาวราชที่เปิดรองรับนักท่องเที่ยวได้ครบความต้องการทุกกลุ่ม และกำลังจะสร้างแห่งที่ 5 ขึ้นมาอีกเร็วๆ นี้
 
  •  อะไร คือ เคล็ดลับการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจที่ทำให้เขาก้าวขึ้นมาถึงจุดนี้ได้ โปรดไปติดตามพร้อมๆ กัน
 


                  

     ถ้าวันหนึ่งชีวิตของคุณต้องถูกกำหนดด้วยอะไรบางอย่าง ที่อาจทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนกับคนอื่น คุณจะทำอย่างไร?

               
     ก้มหน้าก้มตายอมรับกับโชคชะตาที่เกิดขึ้น ยอมจำนนด้วยเหตุผล หรือตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตให้เป็นปกติสุข เก็บคำตอบเอาไว้ในใจก่อน แล้วลองมาฟังเรื่องราวของผู้ชายคนนี้ ไม่แน่คุณอาจพบคำตอบโดยที่ไม่ต้องเฟ้นหาเลยก็ได้
 

เด็กชายบนวงล้อ
               

     วิชัย อริยรัชโตภาส คือ เด็กชายที่เกิดและเติบโตมาในครอบครัวคนจีนเยาวราชที่ค่อนข้างมีฐานะ พี่น้องของเขาทุกคนร่ำเรียนในโรงเรียนเอกชนมีชื่อ แต่สำหรับวิชัยในวัยประถมศึกษาเขากลับต้องใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้าน ไม่สามารถเดินเหินออกไปข้างนอกได้ด้วยตัวเอง จากพิษร้ายของโรคโปลิโอทำให้ต้องนั่งอยู่บนวีลแชร์ตั้งแต่เด็กๆ





     จนอายุได้สิบกว่าขวบ เป็นครั้งแรกที่วิชัยได้ออกไปเที่ยวกับครอบครัว โลกใบใหญ่ภายนอกที่เขาไม่เคยเห็นมาตลอดอายุสิบกว่าปี ทำให้วิชัยรู้สึกตื่นเต้น สนุก จนเมื่อถึงวัยเติบโตเป็นหนุ่มที่ต้องคิดหาอาชีพเลี้ยงดูตัวเอง วิชัยเลือกที่จะทำธุรกิจร้านมินิมาร์ท จนถึงร้านเช่าวิดีโอร้านแรกๆ ของย่านตลาดน้อย เพราะคิดว่าเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้และเหมาะกับเขาที่ไม่ต้องเดินทางออกไปหาลูกค้า แต่เป็นฝ่ายให้ลูกค้าเดินเข้ามาหาเอง


     กระทั่งเจอเข้ากับคลื่นวิกฤตจากเทคโนโลยีเข้ามา จากอาชีพที่คิดไว้ว่าจะใช้เลี้ยงตัวได้ ก็มีอันได้รับผลกระทบอย่างหนัก ในขณะนั้นเขาได้มีครอบครัวเล็กๆ ภรรยาคู่คิดและลูกสาวอีก 4 คนให้ต้องดูแล วิชัยเริ่มหันมาจับธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นโบรกเกอร์ติดต่อเช่าซื้อตึก กระทั่งสุดท้ายเมื่อมองเห็นโอกาสเขาจึงได้จับพลัดจับผลูมองหาธุรกิจที่มั่นคงอีกครั้งหนึ่งที่จะสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวต่อไปได้ วิชัยย้อนมองจากสิ่งที่มีอยู่ในมือ ไปจนถึงความสุขครั้งแรกที่เขาได้ออกไปท่องเที่ยวในโลกใบใหญ่ ธุรกิจโรงแรมที่พักจึงตัวเลือกที่เขาสนใจ ทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำมาก่อน




 
     “เริ่มแรกเลยเรามาจากธุรกิจร้านเช่าวิดีโอชื่อ “นิวเวิล์ด วิดีโอ” ทำมาเมื่อประมาณ 20 - 30 ปีที่แล้ว เป็นเจ้าแรกๆ ในย่านตลาดน้อยเลย กระทั่งมาเจอกับพายุเทคโนโลยี ก็เริ่มจากเปลี่ยนม้วนวิดีโอมาเป็นซีดี ตามด้วยดีวีดีก่อน ทำทุกทางเพื่อหนีเทคโนโลยี จนสุดท้ายก็ไม่รอด เลยมาคิดใหม่ว่าถ้าไม่ได้ทำธุรกิจวิดีโอแล้วจะทำอะไร เพราะว่าด้วยร่างกายที่ไม่สะดวกออกไปไหน ก็คิดว่าทำอะไรที่ลูกค้าเดินมาหาเราเองดีกว่า เลยหันมาจับธุรกิจอสังหาริมทรัพทย์เป็นโบรกเกอร์ซื้อตึกซื้อคอนโดให้เช่า พอเริ่มทำอสังหาฯ ไปได้สักพัก ลูกๆ เริ่มเรียนจบกันหมดแล้ว จึงมาคิดอีกว่าจะทำธุรกิจอะไรดีที่ได้ผลทั้งในระยะสั้น ระยะยาว แล้วยั่งยืนได้ ยั่งยืนในที่นี่ คือ เราจะไม่เจอพายุเทคโนโลยีหรืออะไรที่มีผลกระทบมาเปลี่ยนแปลงได้อีก ก็เลยคิดว่าน่าจะทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรม เพราะเมืองไทยการท่องเที่ยวดีอยู่แล้ว เรามีวิถีชีวิต มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ยังไงคนก็ต้องมา และทุกวันนี้มีอินเตอร์เน็ตก็ยิ่งทำให้คนรู้จักเราได้มากขึ้น ธุรกิจก็เติบโตมากขึ้นด้วย


     “จริงๆ ไม่ได้บังคับ แต่เห็นความยากลำบากในการทำงานของเขาแล้ว บางคนทำหลายปีแล้วยังไม่ได้บรรจุ บางคนก็สุขภาพเริ่มไม่ดี เลยลองชวนกันว่าออกจากงานมาทำธุรกิจนี้กันเอาไหม พวกเขาก็ตอบตกลงทันที เพราะตอนเด็กๆ เราชอบพาเขาไปเที่ยว พอมาทำธุรกิจท่องเที่ยว เขาเลยอยากทำ”
 




ความเชื่อ และไม่เชื่อ


     เมื่อเริ่มคิดลงมือทำ วิชัยก็เจอกับความท้าทายแรกที่เข้ามาเป็นบททดสอบให้ต้องตัดสินใจระหว่างความเชื่อทางวัฒนธรรม และความเชื่อมั่นในตัวเอง


     “ตอนที่ถามลูกๆ และตัดสินใจไปแล้วว่าจะทำธุรกิจโรงแรมร่วมกัน ตอนนั้นยังไม่ได้เริ่มสร้างอะไรเลย แต่เราเห็นโครงสร้าง เห็นทำเลแล้วว่าน่าจะทำได้ การไปมาก็สะดวก แต่ติดปัญหาเรื่องที่มานิดนึง คือ เป็นตึกทรงเหลี่ยม อยู่หัวมุมใกล้ปากซอย ฝั่งตรงข้ามเป็นทางสามแพร่งด้วย ซึ่งจากความเชื่อด้านฮวงจุ้ยที่มี คือ ไม่ดี แต่ตามหลักธุรกิจแล้วถือว่าทำเลดีมาก แล้วเราก็ได้มาราคาถูกด้วย ก็เลยอยากทำ ก่อนหน้านั้นเคยเอาโฉนดไปให้ซินแซลองดูที่งานสัมมนา เขาประกาศออกเวทีเลยว่า ที่ดินนี้ของใคร จ้างเขาไปดูเขาก็ไม่ไปเลย ซื้อมาได้ยังไง ตอนนั้นเอาภรรยาไปด้วยเผื่อจะได้ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เขา กลายเป็นยิ่งเพิ่มความไม่มั่นใจ แต่ทำยังไงได้ในเมื่อได้มาแล้ว ก็เลยพยายามเกลี่ยกล่อมเขาว่า ความเชื่ออะไรที่เชื่อแล้วดี เราเชื่อ แต่อะไรที่เชื่อแล้วไม่ดี เราเลือกจะไม่เชื่อดีกว่า แล้วในที่สุดก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ทำมาจนถึงวันนี้ยังไม่มีเหตุอะไรที่ไม่ดีเกิดขึ้นเลย ผมว่าสิ่งสำคัญเวลามีปัญหาอะไรเข้ามา คือ เราต้องเชื่อมั่นตัวเอง ถ้าคิดว่าทำดี คิดถูก คิดรอบคอบ ก็ไม่น่าจะมีอะไรยาก”





     ผ่านด่านแรกจากเรื่องความเชื่อ หลังจากตัดสินใจลงเรือลำเดียวกัน เมื่อมาถึงตอนลงมือทำจริง เพราะไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ทำให้ช่วงแรกนั้นวิชัยและครอบครัวเกือบถอดใจไปเหมือนกัน


     “โรงแรมแรกที่เราเปิด คือ Loftel 22 Hostel ด้วยความที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำโรงแรมมาก่อน เปิดมา 3 เดือน ลูกๆ นั่งร้องไห้กันเลย เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้า นั่งตบยุงกัน นอนกันเอง เพราะเมื่อ 5 ปีที่แล้วที่พักแบบ Hostel สำหรับเมืองไทยถือว่าใหม่มาก ยังไม่ค่อยมี แต่จากที่เราได้ไปเห็นจากต่างประเทศมา คือ ฮิตมาก แต่หลังจากนั้น 5 -  6 เดือนก็ดีขึ้น เพราะที่พักแบบนี้ต้องจองล่วงหน้า ฉะนั้นเปิดแรกๆ ไม่มีคนอยู่แล้ว ตรงนี้เป็นย่านวัฒนธรรมเก่า นักท่องเที่ยวเขาอยากเข้ามาอยู่แล้ว ยิ่งการไปมาสะดวก ยิ่งอยากเข้ามาเยอะ และแถวตลาดน้อยแถวเยาวราชเมื่อ 5 ปีก่อน ก็ยังไม่มีที่พักรูปแบบนี้ด้วย”
 




สูตรผสมที่ลงตัว


     หลังจากโรงแรมแรกผ่านพ้นไปไม่นาน เมื่อเห็นลู่ทางว่าไปได้ดี วิชัยและลูกๆ ก็ขะมักเขม้นลุยสาขาที่ 2, 3 และ 4 ต่อทันที ได้แก่ Loftel 22 Hostel, Loftel Station Hostel, Talakkia Hotel และFour sisters Homestay โดยเรียกว่าเป็นความบังเอิญที่ลูกสาวทั้ง 4 คน ซึ่งเรียนจบมากันคนละด้าน แต่กลับรวมกันได้อย่างลงตัว


     “ผมโชคดีที่ลูกเรียนไม่เหมือนกัน แต่กลับนำมาใช้กับธุรกิจโรงแรมของเราได้ทุกอย่าง เริ่มจากคนโตจบการโรงแรมตรงเลย คนรองจบ MBA คนที่ 3 จบเลอกอร์ดองเบลอ ไปทำงานอยู่นิวยอร์กได้ปีหนึ่ง ส่วนคนสุดท้องจบเอกภาษาจีนมา โดยทุกคนจะช่วยกันดูแลและมีหน้าที่หลักของตัวเอง ทั้งงานรูทีนไปประจำแต่สาขาและบริหารภาพรวม พอเปิดสาขาแรกได้ (Loftel 22 Hostel) เราก็เริ่มหาทำเลเพิ่ม จนมาได้อีกที่หนึ่งอยู่ตรงหัวลำโพงเลย เราก็เปิดสาขา 2 ขึ้นมา (Loftel Station Hostel)





     “พอเปิดไปสักพักเรามีข้อมูลเพิ่มขึ้น รู้ว่าลูกค้าต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น ต้องการลิฟต์ อยากมีห้องน้ำในตัว มีสระว่ายน้ำ เด็กพักได้ คนพิการนั่งวีลแชร์ คนแก่พักได้ พอดีมีพื้นที่ลานจอดรถเป็นธุรกิจกงสีของครอบครัว เราเลยขอแบ่งมาทำเป็นโรงแรมแห่งที่ 3 ขึ้นมา ชื่อ “ตั๊กหลักเกี้ย เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า ตลาดน้อย สร้างพร้อมกับสาขาที่ 4 เลย แต่ตรงนั้นเป็นโฮมสเตย์ยูนิตเล็กๆ ที่อยู่ใกล้กับตลาดน้อยขึ้นมาด้วย ทั้งหมดเราขยายขึ้นมาภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งพอเริ่มทำสาขา 3 เป็นงานใหญ่ที่ลงทุนสูงแล้ว เพราะต้องขึ้นโครงสร้างใหม่ทั้งหมด ตอนแรกก็ปรึกษากันว่าเร็วไปไหม แต่ด้วยความที่เราลงมือทำกันเองทั้งหมดทุกสาขาตั้งแต่ต้น พนักงานที่ทำอยู่ก็ทำกันมาตั้งแต่ร้านวิดีโอ มีเอาเพื่อนเอาญาติมาช่วยกันทำ ก็เลยมีความเห็นตรงกันว่างั้นทำเลยดีกว่า ซึ่งถ้ารวมทั้งหมดก็น่าจะครบทุกเซกเตอร์แล้ว คือ โฮมสเตย์ 1 โฮสเทล 2 และโฮเทล 1 อีกสาเหตุที่ต้องทำหลายที่ ผมมองว่าถ้าจะเลี้ยงดูทุกคนได้หมด เค้กก้อนนี้ต้องใหญ่พอ ไม่ใช่เฉพาะแค่ตัวเขา แต่หมายถึงต้องเลี้ยงดูชีวิตครอบครัวพวกเขาในอนาคตต่อไปได้ด้วย อย่างทุกวันนี้ในแต่ละปีเรื่องผลกำไรเราจะนำมาแบ่งกันเลย เขาทำวันนี้ ก็ควรต้องได้วันนี้ ไม่ใช่เก็บไว้เป็นมรดก จะเอาไปต่อยอดหรือใช้อะไรก็เป็นสิทธิ์ของเขา หรือจะฝากผมไว้ ผมก็ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าแบงก์”
 




ทุกอย่างอยู่ที่ใจ ใช่ใครกำหนด
               

     มาถึงบรรทัดนี้คงอาจพอสรุปได้ว่า ความจริงแล้วแม้เราไม่สามารถกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองได้ แต่เราสามารถเลือกที่จะเป็น เชื่อมั่น และลงมือทำได้ เหมือนกับวิชัยที่แม้ชีวิตจะผ่านความยากลำบากมาในแต่ละสเตป แต่เขาก็ไม่เคยยอมแพ้ ยังคงเชื่อมั่นและเดินต่อไปข้างหน้าเรื่อยๆ จนวันหนึ่งทุกอย่างลงตัว และสามารถสร้างแนวทางชีวิตของตัวเองขึ้นมา


     “สมัยก่อนสำหรับคนพิการ ภาครัฐยังดูแลได้ไม่ทั่วถึง การออกไปข้างนอกไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไปโรงเรียนก็ไม่ได้ รถเมลล์ก็ขึ้นไม่ได้ ไปไหนต้องแท็กซี่อย่างเดียว เลยได้เรียนน้อย พอเรียนน้อยแล้วนั่งวีลแชร์แบบนี้ การออกจากบ้านจึงเป็นเรื่องยากสำหรับเรา กว่าผมจะออกจากบ้านมาข้างนอกได้ คือ อายุ 10 กว่าขวบแล้ว ฉะนั้นเราไม่รู้สภาพโลกภายนอก ครั้งแรกที่พ่อแม่พาไปฮ่องกง ก็ติดใจ พอติดใจหลังจากนั้นมา พอมีรายได้จากร้านวิดีโอ เราก็เที่ยวเองเลย”





     ซึ่งถึงแม้ไม่ได้มีโอกาสออกไปท่องโลกภายนอกมากมายเหมือนอย่างคนอื่น หรือแม้แต่ไม่ได้มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจแต่ละตัวมาก่อน แต่วิชัยมีหลักการทำงานที่ยืดไว้ คือ


     “เวลาทำอะไร ผมพยายามจะทำเป็นที่แรกเสมอ เพื่อให้คนจดจำเราได้ อย่างร้านเช่าวิดีโอ ก็ทำเป็นที่แรกๆ ของย่านตลาดน้อย หรือในการทำธุรกิจโรงแรม ด้วยพื้นฐานผมกับภรรยาเราไม่ได้มีความรู้มากเราจบ ป.3 และ ป.7 มาในสมัยก่อน เราไม่มีความรู้ว่าต้องทำยังไง เพราะฉะนั้นเราต้องไปเห็นกับตาตัวเองก่อน ตอนทำโรงแรมแรกๆ ผมเสิร์ชในอินเตอร์เน็ตเลยว่าโฮสเทลที่บริการดีที่สุดในโลกอยู่ที่ไหน เราก็บินไปนอนกันเลย ถือว่าไปเที่ยวในตัว เพราะเราชอบเที่ยวกันอยู่แล้ว หรือแม้แต่ทุกวันนี้เราก็ยังวางแผนไปกันทุกปีแบ่งคิวกันไป ไปดูว่าโลกภายนอกเขามีไอเดียอะไรใหม่ๆ ที่เอากลับมาใช้พัฒนาโรงแรมของเราได้บ้าง การทำธุรกิจสมัยนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ เราต้องปรับปรุง อัพเดตตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่โชคดีที่เราเป็น SME แล้วเป็นเจ้าของเองด้วย ถ้าเห็นอะไรดี เราสามารถเปลี่ยนได้ทันทีเลย ผมมีความเชื่อว่าถ้าทำวันนี้หรือเปลี่ยนวันนี้แล้วดีกว่า จะรอพรุ่งนี้ทำไม เพราะถ้าทำวันนี้เราก็ได้ประหยัดหรือส่งผลดีต่อธุรกิจได้ตั้งแต่วันนี้เลย





     “จากที่ทำธุรกิจโรงแรมมา 3 ปีกว่า เรามีที่พักในเครือทั้งหมด 4 แห่งและกำลังจะสร้างแห่งที่ 5 ขึ้นมาอีกเร็วๆ นี้เป็นยูนิกเล็กๆ แต่มีความพิเศษ คือ เราจะใช้ศิลปะและเทคโนโลยีมาเป็นตัวเล่าเรื่องราวของชุมชน ซึ่งเราเชื่อว่ายังไม่เคยมีใครทำมาก่อนในย่านนี้เช่นกัน เคยมีบางสาขามีนักธุรกิจต่างชาติติดต่อขอซื้อก็มี เพราะเขาชอบที่เราทำ นอกจากนี้ยังมีหลายคนสนใจติดต่ออยากให้เราเข้าไปเป็นที่ปรึกษาธุรกิจโรงแรมให้ด้วย ซึ่งผมว่ามันเป็นโอกาสที่ทำให้เราสามารถต่อยอดออกไปได้เรื่อยๆ ขอเพียงไม่หยุดเรียนรู้ และลงมือทำ อะไรที่ไม่เคยรู้ ก็ไปเรียนรู้ แล้ววันหนึ่งเราก็จะสามารถทำมันขึ้นมาได้”
               

     และนี่คือ เรื่องราวของวิชัยชายบนวีลแชร์ผู้ไม่ยอมให้โชคชะตากำหนด แต่เลือกที่จะกำหนดทุกอย่างและเชื่อมั่นที่จะลงมือทำด้วยตัวเอง
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน