ใครไม่คราม... ‘จุบคราม’ เปลี่ยนผ้าย้อมอีสานให้เป็นแฟชั่นสุดว้าว!

TEXT : พิมพ์ใจ พิมพิลา



 
Main Idea
 
  • ผ้าทอของไทยถือเป็นงานหัตถกรรมเชิงเศรษฐกิจที่ไม่เพียงมีแค่ความสวยงาม หากแต่ยังทรงคุณค่าไว้ด้วยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ ขั้นตอนวิธีการทำที่ละเอียดอ่อน ตั้งแต่การย้อมไปถึงขั้นตอนการทอ และกว่าจะได้ผ้าทอมาแต่ละชิ้นก็ใช้เวลาไม่น้อยเลย
 
  • เช่นเดียวกับผ้าจุบครามของตำบลพนา อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ งานหัตถกรรมที่อยู่คู่ชุมชนมาอย่างยาวนานกว่า 300 ปี แถมยังสร้างรายได้และสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนแห่งนี้
 



     ผ้าย้อมครามของชุมชนพวงคราม ตำบลพนา อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีการสืบสานการย้อมครามและการทอลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ที่มีมานานกว่า 300 ปี ซึ่งปัจจุบันได้ พิสมัย ทองเพ็ญ มาเป็นประธานกลุ่มสตรีทอผ้าไหมมัดหมี่จุบคราม เพื่อดูแลและพัฒนาสินค้าให้ออกมาโดนใจตลาดมากยิ่งขึ้น





     “ที่มาของกลุ่มสตรีทอผ้าไหมมัดหมี่จุบคราม เริ่มจัดตั้งเมื่อปี 2547 มีสมาชิกทั้งหมด 30 คน โดยจุดเด่นของผ้าไหมพวงคราม คือ ลายผ้าเล็กๆ แต่ละเอียดอ่อน และมี ‘หมี่ข้อน้อย’ เป็นลายประจำอำเภอพนา ซึ่งหมี่ข้อน้อยจะเป็นจุดตั้งต้นของทุกลวดลายในผ้าย้อมครามของอำเภอพนา ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบันที่มีคนรุ่นใหม่เข้ามาสืบทอด ก็ยังคงใช้หมี่ข้อน้อยในการสร้างลวดลายบนเนื้อผ้าเสมอ และรวมถึงการจุบครามก็ยังคงใช้วิธีการแบบดั้งเดิมอยู่” พิสมัยเล่าถึงความเป็นมาและความโดดเด่นที่ทำให้ผ้าครามยังคงอยู่ในยุคปัจจุบัน


     หลายคนอาจจะสงสัยว่า “จุบคราม” คือ อะไร? แล้วเกี่ยวข้องอะไรกับผ้าย้อมคราม โดยการจุบครามนั้นเป็นภาษาอีสานที่แปลว่า “จุ่ม” หรือการย้อมครามนั่นเอง แน่นอนว่าทุกบ้านในชุมชนนั้นมักจะมีการจุบครามกันเสมอ และแน่นนอว่าทุกบ้านจะต้องมีกี่ทอผ้ากัน ในอดีตการทอผ้าครามของคนในชุมชนอาจจะเป็นการการทอ เพื่อเอาไว้ใช้กันภายในครอบครัว แต่ปัจจุบันนั้นได้เปลี่ยนมาเป็นการทอ เพื่อสร้างรายได้เสริมหลังจากการทำอาชีพหลักอย่างการทำนา หรือการเพาะปลูกใดๆ ก็ตาม





     “คนที่ผลิต ก็คือ คนในหมู่บ้านอำเภอพนา ส่วนใหญ่จะทอผ้าครามเป็นอาชีพเสริม เพราะทำนาเป็นอาชีพหลัก เมื่อว่างเว้นเสร็จจากหน้านาแล้ว จึงค่อยมาทอผ้ากัน ซึ่งวัตถุดิบทุกอย่างเราสามารถหาได้จากคนในชุมชนและเครือข่ายของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นครามสด หรือเส้นไหม เส้นฝ้ายก็ล้วนเป็นสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว”


     โดยกระบวนการจุบครามนั้น เริ่มจากการเด็ดใบครามสดมาหมักและขยำ จนได้น้ำสีครามตามมาตรฐานที่วางไว้ ก่อนจะนำเส้นหมี่หรือเส้นฝ้ายมาย้อมหรือที่คนในพื้นที่เรียกว่าการจุบครามนั่นเอง และเมื่อจุบครามเสร็จแล้ว ก็นำมาตากให้แห้งสนิทก่อนที่จะนำมาทอเป็นผ้าให้มีลวดลายงดงามตามต้องการ ฟังดูแล้วเหมือนจะทำง่ายๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วการจุบครามและการทอเองก็จำเป็นต้องใช้ทักษะ ความพยายาม และความอดทนเป็นอย่างมาก เพราะกว่าจะได้ผ้ามาแต่ละผืนนั้นก็ใช้เวลาไม่น้อยเลยทีเดียว อย่างแค่กระบวนการทอก็สามารถทอได้เพียงแค่วันละ 1 เมตรเท่านั้น





     ส่วนในเรื่องคุณภาพนั้น ในชุมชนจะการควบคุมมาตรฐานอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสีที่ต้องมีความเข้มแบบสม่ำเสมอและความยาวที่ต้องยาวอย่างน้อย 2 เมตร เพื่อนำมาส่งขายที่ศูนย์กลางของกลุ่มเพื่อให้ราคาของผ้านั้นมีมาตรฐานเดียวกัน แต่ในกรณีที่ลูกค้าสั่งซื้อก็จะมีการกำหนดความยาวตามความต้องการของลูกค้า โดยลูกค้าที่เข้ามาซื้อผ้าทอนั้นเกิดจากการบอกต่อปากต่อปากเป็นส่วนใหญ่


     “ลูกค้าของเราจะเป็นคนต่างถิ่นหรือเป็นคนในชุมชนเองที่มีการพูดบอกต่อปากต่อปากแล้วก็พากันการมาซื้อ บางครั้งเขาก็มาซื้อถึงที่บ้านเองเลยด้วย บางครั้งเราเองก็ไปออกตามงานต่างๆ หรือไม่ก็ฝากขายไปกับเครือข่ายที่มีการไปออกงาน”





     ถึงแม้ว่าความเป็นจุบครามหรือลวดลายผ้าจะยังคงอยู่เช่นเดิม แต่พิสมัยก็ได้เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงจากอดีตจนถึงปัจจุบันว่า ในการดูแลกลุ่มของเธอนั้นจะมีการเข้าไปศึกษาดูงานในพื้นที่อื่นๆ รวมถึงการเข้าร่วมกับหน่วยงานราชการที่เข้ามาสอนเรื่องการทำสี การทำให้สินค้ามีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพราะในอดีตนั้นผ้าจุบครามมักนำมาทำแค่ผ้าซิ่น ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า แต่ในตอนนี้สินค้ามีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น มีการเพิ่มการใช้งานในรูปแบบอื่นเข้ามา อาทิ ผ้าคลุมไหล่ เสื้อ กระเป๋า รองเท้า รวมถึงอาจนำไปทำเป็นของชำร่วยในงานต่างๆ ก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนรูปแบบไปยังไงก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของลายหมี่ข้อน้อย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นเอาไว้เสมอ


     “ในส่วนของการพัฒนาต่อไปในอนาคตที่เราคิดไว้ คือ การทำผ้าทอให้นิ่มขึ้น เพื่อลูกค้าจะได้สวมใส่สบาย อีกอย่างเราอยากขยายกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้นกว่าเดิมด้วย สร้างความแปลกใหม่เข้าไป เพราะกลุ่มลูกค้าเดิมที่เป็นลูกค้าอยู่แล้วเขาคุ้นกับเนื้อผ้าเดิมที่แข็ง บางทีเราออกสินค้าใหม่มา เขาก็อาจยังไม่รู้สึกแตกต่าง แต่ถ้าเราสามารถหาเทคโนโลยีมาทำให้ผ้านิ่มลงได้ ก็น่าจะเพิ่มความสนใจให้เขาได้มากขึ้น ไปจนถึงนวัตกรรมเรื่องสีให้สามารถใช้ย้อมได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันที่เราทำอยู่นั้นต้องใช้สีครามสดค่อนข้างเยอะเพื่อที่จะให้เกิดสีที่มีความเข้มข้น อย่างเช่นคราม 1 กิโลกรัมใช้ยอมผ้าได้แค่ 3 ผืนเอง ส่วนในเรื่องลวดลาย เราเชื่อมั่นในเอกลักษณ์ของชุมชนว่ามีลวดลายที่สวยงามอยู่แล้ว” เธอกล่าวถึงแผนการพัฒนาในอนาคต





     และนี่คือ หนึ่งในเรื่องราวอันทรงคุณค่าของภูมิปัญญาไทย ซึ่งความงดงามของผ้าแต่ละภูมิภาคนั้น ก็แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ต่างลวดลาย ต่างสีสัน แต่ล้วนมีเอกลักษณ์ชัดเจนบ่งบอกได้ว่ามาจากไหน ผ้าจุบครามหรือผ้าย้อมคราม ก็ถือเป็นเอกลักษณ์ของคนอีสานที่บรรพบุรุษในอดีตได้สร้างสรรค์และสืบทอดต่อมาสู่ลูกหลาน แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจจากสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดนั่นเอง
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน