ฟังคนขายไข่นวัตกรรม ชวน SME กลุ่มอาหาร บุกอนาคตด้วย Food Innovation

TEXT : กองบรรณาธิการ
 
 

 
 
Main Idea 
 
  • อุตสาหกรรมอาหารไทยในอนาคต ต้องก้าวข้ามการผลิตเชิงปริมาณ มาผลิตสินค้าในเชิงนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้เกิดขึ้น และเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนโดยอุตสาหกรรม เป็นการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี
 
  • วันนี้แค่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ไม่พอ แต่ต้องมีไส้ในของผลิตภัณฑ์ด้วย นั่นคือต้องมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วย  และต้องเปลี่ยนจากการทำสินค้าพื้นฐาน มาผลิตสินค้าที่มีคุณสมบัติพิเศษ จึงจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้
 
  • ผู้ประกอบการกลุ่มอาหารต้องมุ่งสร้างคุณภาพให้สินค้า เจาะลึกไปในเรื่องของการตลาด เพื่อทำให้สินค้านวัตกรรมที่ทำขึ้นสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และสะท้อนความสำเร็จด้วยการ “ขายได้” ในที่สุด
 
 ___________________________________________________________________________________________
 

     พวกเขาไม่ใช่แค่คนขายไข่ แต่คือ ผู้ปลุกปั้นธุรกิจขายไข่สด สู่ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไข่โดยอาศัยการวิจัยและพัฒนา เพื่อดึงคุณค่าจากทุกส่วนของไข่ออกมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด





     นี่คือ “บริษัท เอส.ดับบลิว ฟู้ดเทค จำกัด” ภายใต้การนำของ “สุรพล เค้าภูไทย” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส.ดับบลิว ฟู้ดเทค จำกัด ชายผู้มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไข่โดยใช้อาวุธอย่างนวัตกรรม เพื่อนำพาธุรกิจให้ยังคงเติบโตได้ท่ามกลางโจทย์ท้าทายรอบทิศ ซึ่งผลลัพธ์จากจุดยืนนี้เอง ที่ทำให้พวกเขายังสามารถสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่องจนถึงวันนี้  


     การได้ขึ้นบรรยายในหัวข้อ “Future Food เจาะลึกเทรนด์ธุรกิจอาหารในอนาคต” ในงานสัมมนา “Food Trends 2020 เจาะเทรนด์ธุรกิจพิชิต Consumer”  ซึ่งจัดโดย กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ผ่านมา เป็นโอกาสที่สุรพล ได้สะท้อนวิชั่นของเขา ต่อการนำพาอุตสาหกรรมอาหารไทยให้ไปคว้าโอกาสใหม่ๆ ในโลกอนาคต
               
 

 
  • ก้าวข้ามยุคปริมาณ สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม

     สุรพล ฉายภาพการทำธุรกิจอาหารยุคเก่า ที่ประเทศเราโตมาจากประเทศเกษตรกรรม ก่อนขยับมาเป็นธุรกิจเกษตรที่เป็นอุตสาหกรรมเบา ก่อนเข้าสู่วิถีของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไทยขึ้นชื่อว่าเก่งกาจในการทำเชิงปริมาณ แต่ทว่าความเก่งนั้นไม่ใช่คำตอบของการทำธุรกิจในยุคนี้


     “เราเก่งในการทำเชิงปริมาณ แต่จากนี้ไปการทำในเชิงปริมาณไม่ใช่คำตอบของผู้ประกอบการอีกแล้ว เพราะมันไม่ได้สร้างมูลค่าสินค้าขึ้นมาเลย ซึ่งด้วยระบบการแข่งขันจะทำให้โอกาสของคนทำธุรกิจแบบนั้นลดลง ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตข้างหน้า เพราฉะนั้นทำอย่างไรให้เกิดโอกาสขึ้นมาได้ ก็ต้องเปลี่ยนโดยการทำในเชิงปริมาณน้อยลง แต่ว่าได้ผลมากขึ้น พูดง่ายๆ คือ ทำอย่างไรให้มูลค่าของตัวสินค้ามันดีขึ้น มากกว่าที่จะไปสนใจเรื่องจำนวนของสินค้าที่เราผลิตเท่านั้น” สุรพลบอก


     นั่นเองคือเหตุผลที่เขาย้ำว่า อุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยต้องมองไปข้างหน้า โดยแต่เดิมเราอาจเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity  แต่ในอนาคตต้องผลิตในเชิงนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้เกิดขึ้น และเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนโดยอุตสาหกรรม เป็นการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ขณะที่ภาคการผลิตในอนาคตข้างหน้า อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาคบริการ เพื่อเพิ่มมูลค่าของตัวสินค้าให้มากขึ้น นี่คือแนวคิดของเขา 


 
 
  • ไม่ใช่แค่ทำ แต่นวัตกรรมต้องใช้ประโยชน์ได้จริง

     ในยุคที่ใครๆ ต่างก็พูดถึงนวัตกรรม สุรพลบอกเราว่า สำหรับพวกเขาความหมายของคำว่า “นวัตกรรม”  ไม่ใช่แค่การทำ แต่ต้องสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ


     “ผมมองว่าวันนี้แค่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Product Development)  มันไม่พอ ถ้าเราจะพูดถึงความหมายของคำว่านวัตกรรมจริงๆ มันจะต้องสร้างอะไรที่มากกว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ คือต้องมีไส้ในของมัน ซึ่งหมายถึงต้องมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้วย เพื่อทำให้มีมูลค่าขึ้นมา ไม่ใช่เราไปทำแค่อาหารพร้อมทาน  (Ready to Eat)  หรืออาหารพร้อมปรุง (Ready to Cook)  เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกสัก 10-20 เปอร์เซ็นต์  ผมว่าเท่านั้นมันไม่ทันการณ์ เพราะวันนี้โลกมันเปลี่ยนเร็วมาก ฉะนั้นเราต้องสามารถเปลี่ยนสินค้าพื้นฐาน ให้เป็นสินค้าที่มีคุณสมบัติพิเศษ มันถึงจะสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันเราต้องเปลี่ยนสิ่งที่จับต้องได้ เช่น พวกเครื่องมือ เครื่องไม้ เครื่องจักร ต่างๆ ให้เป็นสินค้าที่อาจจะจับต้องไม่ได้แต่มันสร้างมูลค่าได้ ยกตัวอย่าง พวกสิทธิบัตรต่างๆ  เราอาจจับต้องไม่ได้ แต่มันสามารถขายและสร้างมูลค่าได้เป็นสิบๆ เท่า”  เขาบอก



 
  • มุ่งเน้นการตลาด รู้ลึกว่าใครคือกลุ่มลูกค้า

     สุรพลบอกเราว่า ในยุคที่ปริมาณไม่ใช่แต้มต่ออีกต่อไป ผู้ประกอบการกลุ่มอาหารจึงต้องเปลี่ยนจากการสร้างจำนวนหรือปริมาณ มาเป็นเรื่องของการสร้างคุณภาพตัวสินค้าให้มากขึ้น สำคัญกว่านั้นคือ การเจาะลึกไปในเรื่องของการตลาด เพื่อให้สินค้านวัตกรรมที่ทำขึ้นมา สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และสะท้อนความสำเร็จด้วยการ “ขายได้”


     “เราจะต้องดูว่า เราจะทำการค้ากับใคร และอะไรคือคำตอบของลูกค้า เช่น ถ้าบอกว่าเราจะเป็น B2B (Business to Business) แน่นอนว่าหนีไม่พ้นในเรื่องของต้นทุน ซึ่งมันอาจจะทำให้เราไม่แน่ใจว่าในอนาคตจะอยู่ได้หรือไม่ได้ ถ้าบอกว่าจะจับตลาด B2C (Business to Consumer) ผมว่ามันมีนวัตกรรมในเรื่องออนไลน์เข้ามาช่วยเราได้เยอะมาก แต่นั่นหมายถึงว่า เราต้องมองให้ลึกลงไปว่าลูกค้าต้องการอะไร แล้วสิ่งที่เรามีนั้นสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้จริงหรือไม่ นั่นแหล่ะจะทำให้สินค้านวัตกรรมเกิดขึ้นได้จริง” เขาย้ำ



 
  • “นวัตกรรม” เกิดจากแรงบันดาลใจ

      ถามว่านวัตกรรมเกิดจากอะไร สุรพลบอกว่า เกิดจากแรงบันดาลใจ โดยผู้ประกอบการต้องมีแรงบันดาลใจเป็นจุดเริ่มต้น จึงจะสามารถนำไปสู่ขั้นตอนการทำให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมาได้


      “แรงบันดาลใจสามารถเกิดขึ้นได้สองทาง ทางแรกคือ จะรอให้มันเกิดวิกฤติก่อนไหม แล้วค่อยมีแรงบันดาลใจในการที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้มันดีขึ้น กับอีกแบบคือคิดเลย นั่นคือการมีวิสัยทัศน์ มองในสิ่งที่เราทำแล้วอยากมีโอกาสในวันข้างหน้าอย่างไร สองตัวนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เรามีจุดเริ่มต้นที่ดีในการที่จะเปลี่ยนแปลง หรือเอานวัตกรรมมาใช้


      นอกจากนี้พื้นฐานที่ต้องมีด้วย คือความรู้หรือทักษะที่จำเป็นต้องมี ซึ่งถ้าไม่มีตัวนี้เราก็จะไปต่อไม่ได้ในการที่จะเอาเรื่องนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่เรามีอยู่ และท้ายสุดคือต้องคิดในเชิงของความคิดสร้างสรรค์ เพื่อทำให้เกิดมูลค่าขึ้นมาให้ได้ ผมว่าเหล่านี้เป็นหัวใจที่เราจะต้องมานั่งถามตัวเองก่อนว่าพร้อมไหม ก่อนที่จะลงมือทำ”
 
  • จับตาแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารในอนาคต

     ในมุมมองของคนขายไข่นวัตกรรม เขาบอกว่า มีความท้าทายมากมายในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต เริ่มจากการตระหนักในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น โดยสิ่งที่ผู้บริโภคยุคนี้ต้องการคือ อาหารที่ดีต่อสุขภาพ คนเริ่มตระหนักในการสรรหาอาหารที่ดีมารับประทาน ถ้าไม่มีประโยชน์ หรือเป็นโทษต่อสุขภาพ ต่อให้ราคาถูกแค่ไหนก็จะไม่กิน


     “ถ้าเราอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารจำเป็นต้องคิดถึงเรื่องนี้เป็นอันดับแรกเลย อย่างเช่น ปริมาณน้ำตาล ปริมาณเกลือในอาหาร อาหารที่ไม่ทำจากเนื้อสัตว์ (Plant-based Food) สำหรับไข่เอง ในช่วงวิกฤติไข้หวัดนกก็มีบริษัทหนึ่งที่อเมริกา เขาใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสโดยใช้โปรตีนจากถั่วเขียวมาทำเป็นไข่เทียม ซึ่งเรื่องนี้ถูกพูดถึงเยอะขึ้นมาก  นอกจากนี้ยังรวมถึงเรื่องการยืดอายุตัวสินค้า ให้มันยาวนานขึ้นโดยไม่ต้องไปเก็บในตู้เย็นให้เปลืองพลังงาน เรื่องพวกนี้เป็นปัจจัยแรกที่เราต้องคิด”


     ต่อมาคือความสะดวกสบาย สุรพลบอกเราว่า โจทย์ของผู้ผลิตสินค้าอาหารในวันนี้คือ ต้องทำสินค้าที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค เช่น หยิบแล้วกินได้เลย ไม่ต้องไปทำอะไรต่อ  ช่วยในเรื่องของความง่าย ความรวดเร็ว หรือแม้กระทั่งในอนาคตข้างหน้าสังคมเรามีผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกายให้ทำอะไรลำบากขึ้น ฉะนั้น อาหารก็ต้อง เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย หรืออาจจะเป็นกลุ่มสแน็กบาร์ หรือโปรตีนบาร์ที่ทานได้สะดวกสบายขึ้น


     นอกจากนี้อาหารในอนาคต ต้องมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร ต้องคำนึงถึง สวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare)  รับมือกับการยกเลิกการใช้พลาสติก การให้ความสำคัญกับหน้าตาของอาหาร ที่โดนใจ หยิบได้โดยไม่เกิดความแคลงใจในการตัดสินใจซื้อ ผู้ประกอบการอาหารต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของประชากรโลก  ที่ผู้สูงอายุมากขึ้น คนแต่ละกลุ่มมีความต้องการสินค้าที่แตกต่างกัน ทำอย่างไรให้สินค้าของเราเข้ารไปอยู่ในใจของลูกค้า
ในเรื่องของบรรจุภัณฑ์อาหาร ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องของการใช้งาน และการออกแบบดีไซน์ที่ดีมากขึ้น ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน เพราะผู้บริโภคมีความละเอียดในการซื้อสินค้ามากขึ้น สุดท้ายคือต้องมีมาตรฐานเพื่อทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ


     อีกประเด็นที่สุรพลย้ำคือ ผู้ประกอบการอาหารยุคนี้ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนในการทำธุรกิจด้วย


     “จากประสบการณ์ส่วนตัว ทีแรกผมกลัวการทำธุรกิจ เพราะว่ารอบตัวมีทั้งคนที่ทำแล้วสำเร็จและล้มเหลว ผมรู้สึกว่าตอนที่สร้างมันก็เหนื่อยแล้ว แต่พอถึงจุดที่มันต้องรักษาไว้นั้นมันเหนื่อยยิ่งกว่า และหลายครั้งที่มันผิดพลาดเรื่องเล็กนิดเดียว ก็ทำให้ทุกอย่างล้มเหลวเลยทันทีก็มี ฉะนั้นมันเป็นความรู้สึกที่เราต้องคิดแล้วว่า ถ้าจะทำธุรกิจอาหาร เราจะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนและสืบสานต่อไปได้โดยที่ไม่ต้องมีเรา นี่คือประเด็นสำคัญเพราะนวัตกรรมมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ถ้ามาผูกติดกับตัวเราคนเดียวแล้วเราเกิดเป็นอะไรไป องค์กรก็จะอยู่ไม่ได้ แบบนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย”


     แล้วทำอย่างไรธุรกิจจะยั่งยืน สุรพลบอกเราว่า เริ่มจากต้องคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก เพราะต่อให้เราจะทำสินค้ามาดีแค่ไหน แต่ถ้ามันไปทำลายสิ่งแวดล้อม ปลายทางก็รับไม่ได้อยู่ดี และวันนี้ทุกคก็เข้าใจแล้วว่า สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ เป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ ธุรกิจก็จะเพิกเฉยในเรื่องนี้ไม่ได้ ต่อมาคือเป็นไปได้ไหมที่จากนี้ไปธุรกิจของเราจะไม่เกิดของเสียเลย สะสารในโลกนี้จะต้องไม่เกิดการสูญเสียเลย นั่นคือโจทย์ที่ท้าทาย และถ้าทำได้ธุรกิจก็จะไปตอบความยั่งยืนได้ เหมือนที่เขาได้กล่าวไว้
 
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน