เมื่อ ‘นันยางเท็กซ์ไทล์’ ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ดังระดับโลก จะพลิกธุรกิจสิ่งทอไทยด้วยเกมใหม่

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
  • หลายสิบปีก่อน สิ่งทอไทยถูกมองว่า เป็น “Sunset” ธุรกิจขาลงที่หมดยุคหอมหวานไปนานแล้ว แต่ใครจะคิดว่าวันนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยยังคงอยู่และเติบโต ด้วยการปรับตัวของผู้ประกอบการไทยที่ครองใจแบรนด์ดังระดับโลกมานานหลายปี
 
  • “นันยางเท็กซ์ไทล์” คือผู้นำธุรกิจสิ่งทอและโซลูชันส์การผลิตเครื่องนุ่งห่มครบวงจร ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ดังระดับโลก อาทิ ไนกี้ ยูนิโคล่ มูจิ ฯลฯ ผลิตเสื้อผ้าปีละกว่า 40 ล้านชิ้น ผ้าผืนปีละ 2.2 หมื่นตัน และเส้นด้ายอีกนับ 38 ล้านปอนด์ และยังคงเติบโตได้ถึง 16 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่เศรษฐกิจไทยและโลกยังเซาซบ 
 
  • วันนี้พวกเขาเปิดตัว “Hatch Designer Hub” อาณาจักรผ้ายืดนวัตกรรมยุคใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้เข้าถึงผ้านวัตกรรมระดับโลก พร้อมเปิดเป็นพื้นที่นัดพบ ศูนย์รวมระบบนิเวศธุรกิจเสื้อผ้า ตั้งแต่ให้ความรู้เรื่องวัตถุดิบ ออกแบบแพทเทิร์น ไปจนผลิตเพื่อจำหน่าย เพื่อเปลี่ยนเกมธุรกิจสิ่งทอไทยให้ไฉไลยิ่งกว่าเก่า



     เมื่อประมาณ 5 เดือนก่อน ตรงซอยวัดสน (ซ.สุขสวัสดิ์ 35) แหล่งค้าส่งผ้ายืดที่ใหญ่ที่สุดในไทย “Hatch Designer Hub” อาณาจักรผ้ายืดนวัตกรรมยุคใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยเป้าหมายก็เพื่อให้ดีไซน์เนอร์และผู้ประกอบการธุรกิจเสื้อผ้ารุ่นใหม่มีโอกาสเข้าถึงผ้านวัตกรรมระดับโลก โดยไม่ต้องกังวลกับจำนวนขั้นต่ำในการผลิต พร้อมเปิดพื้นที่เป็น Knitted Fabric Co-designer Space จุดนัดพบและศูนย์รวมระบบนิเวศ (Eco System) ธุรกิจเสื้อผ้า ตั้งแต่ ให้ความรู้เรื่องวัตถุดิบ การออกแบบแพทเทิร์น ไปจนถึงการผลิตเพื่อจำหน่าย โดยให้บริการกันแบบฟรีๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย


     เบื้องหลังของศูนย์แห่งนี้คือ กลุ่มบริษัทนันยางเท็กซ์ไทล์ ผู้นำธุรกิจสิ่งทอและโซลูชันส์การผลิตเครื่องนุ่งห่มแบบครบวงจรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Textile and Apparel Solutions Provider) ที่อยู่ในสนามนี้มากว่า 62 ปี  พวกเขาอยู่เบื้องหลังแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำระดับโลก อาทิ ไนกี้, อันเดอร์อาร์เมอร์, ยูนิโคล่ และ มูจิ ฯลฯ ผลิตเสื้อผ้าสูงถึงปีละกว่า 40 ล้านชิ้น ผลิตผ้าผืนปีละ 2.2 หมื่นตัน และเส้นด้ายอีกนับ 38 ล้านปอนด์ มีธุรกิจอยู่ทั้ง ในไทย สปป.ลาว  เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ในปีที่ผ่านมามีรายได้ทั้งกลุ่มสูงถึง 17,000 ล้านบาท และเติบโตถึง 16 เปอร์เซ็นต์ สวนกระแสเศรษฐกิจไทยและโลก
               

     แล้วทำไมถึงลงมาทำอะไรกับผู้ประกอบรายเล็ก ที่ถ้ามองผลตอบแทนในเรื่องเม็ดเงินก็คงไม่มหาศาลเท่าการจับลูกค้ารายใหญ่ “วิบูลย์ ตวงสิทธิสมบัติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) กลุ่มบริษัทนันยางเท็กซ์ไทล์ บอกที่มาที่ไปของเกมรบครั้งใหม่ของพวกเขา
                 




     “สิ่งที่เราเห็นคือ ทุกประเทศที่เจริญแล้วเขาจะเก่งทางด้านแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อิตาลี หรือประเทศในยุโรป ผมมองว่านี่เป็นโอกาสของเมืองไทย เพราะเราเป็นเมืองสร้างสรรค์ และหลังจากที่อี-คอมเมิร์ซแพร่หลายมากขึ้น  ทำให้มี Startup ในอุตสาหกรรมแฟชั่นและมีแบรนด์ใหม่เกิดขึ้นมามากมาย แต่พบว่าสินค้าที่ทำออกมานั้นน่าจะพัฒนาไปได้ดีกว่านี้ ซึ่ง HATCH Designer Hub สามารถที่จะสนับสนุนเรื่องนี้ได้ เพราะเรามีนวัตกรรม และเทคโนโลยีทางด้านผ้าผืนเยอะมาก โดยที่เทคโนโลยีของเราขายให้กับแบรนด์ระดับโลก จึงสามารถนำมาสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของบ้านเราได้”


      วิบูลย์ บอกที่มาของ HATCH Designer Hub ที่อยากสนับสนุนนักธุรกิจรุ่นใหม่ในวงการแฟชั่นไทยให้เติบโตได้ไกลกว่านี้
 
               



      เกมรบใหม่เริ่มที่สร้าง Eco System ธุรกิจสิ่งทอไทย
               

      วิบูลย์ บอกเราว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อาจมองเพียงเรื่องการขายสินค้า แต่สิ่งที่พวกเขาพยายามสร้างคือระบบนิเวศ (Eco System) ของอุตสาหกรรมแฟชั่นในเมืองไทย ที่ไม่ใช่ต่างคนต่างโตอีกต่อไป แต่ต้องโตไปพร้อมกันทุกภาคส่วน เพื่อไปสร้างอนาคตใหม่ร่วมกัน
               

      “เราตั้งใจทำให้เกิดเป็น Eco System ให้ดีไซเนอร์หรือผู้ประกอบการที่พร้อมและอยากจะเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ได้มีพื้นฐานที่ดีและสร้างอะไรขึ้นมาจากที่แห่งนี้ โดยสิ่งไหนที่เราจะให้เขาได้เราก็จะทำ และพร้อมที่จะสนับสนุนและลงทุนกับ Startup ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 2-3 แบรนด์  โดยเรามองว่า เรามีความเข้าใจทางด้านขั้นตอนการผลิตทั้งสาย มีความรู้ทางด้านการบริหารจัดการองค์กร ขณะเดียวกันยังมีเครือข่ายต่างประเทศที่ช่วยกระจายสินค้าให้เราได้อีกด้วย” เขาบอกจุดแข็ง
               

      หลังเปิดตัว HATCH Designer Hub พวกเขาเริ่มสร้างการรับรู้เชิงรุก ควบคู่ไปกับการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อให้เข้าถึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยมีการจัดเวิร์กช็อปให้ความรู้และได้เห็นแนวทางพัฒนาผ้าผืนให้เป็นเสื้อผ้าแฟชั่น กระตุ้นให้เกิดการเข้ามาใช้พื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงการ Collaborate กับแบรนด์แฟชั่นคนรุ่นใหม่ อย่าง แฮมเบอร์เกอร์ สตูดิโอ (HAMBURGER STUDIO) และคิว ดีไซน์ แอนด์ เพลย์ (Q Design and Play) ออกคอลเลคชันพิเศษที่ผลิตจากผ้าของ HATCH โดยเฉพาะ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่อีกด้วย
               

      ถามถึงความสำเร็จของ HATCH Designer Hub ในมุมมองของคนทำ เขาย้ำว่า คงไม่มองในเรื่องรายได้ระยะสั้น เพราะการสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้นั้นคงต้องใช้เวลา ทว่าความสำเร็จที่เขาคาดหวังไว้ คือ วันที่เมืองไทยมีอุตสาหกรรมแฟชั่นทัดเทียมกับประเทศอื่นได้อย่างแท้จริง
               

      “ความตั้งใจของเราคืออยากเห็นเมืองไทยมีอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ทัดเทียมประเทศอื่น ซึ่งในอนาคตคนกลุ่มนี้จะซื้อสินค้ากับเราหรือไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร ตรงนั้นมันขึ้นอยู่กับความสามารถของเราเอง” เขาย้ำ
                 
 



 
      “นวัตกรรม” แต้มต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอไทย
               

      การผลิตเสื้อผ้าถ้าเด่นแต่เรื่องดีไซน์ ในโลกยุคใหม่ก็คงจะแข่งขันยากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือเหตุผลที่วิบูลย์บอกว่า “นวัตกรรม” คือหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย และนั่นก็คือเหตุผลที่พวกเขาสามารถรักษาลูกค้าระดับโลกไว้ได้อย่างยาวนานจนถึงทุกวันนี้
               

      “เราเป็นซัพพลายเชนของแบรนด์ระดับโลก ฉะนั้นถ้าลูกค้าเราโตเราก็โตเช่นกัน ถามว่าทำไมเราถึงยังรักษาแบรนด์ระดับนี้ไว้ได้ ผมมองว่า การทำธุรกิจเราต้องมีความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง ว่านวัตกรรมที่ลูกค้าต้องการคืออะไร ลูกค้าต้องการบริการแบบไหน  ต้องการราคาหรือความเร็วแบบไหน เรื่องพวกนี้ถ้าเรามีความเข้าใจก็จะสามารถตอบโจทย์เขาได้ตลอด แต่สิ่งสำคัญมากกว่านั้นคือ เราต้องมีความคิดใหม่ๆ ทางด้านของวัตถุดิบที่เสนอเขาได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปีๆ หนึ่งเราผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาเดือนละ 150 ไอเท่ม อย่างที่เรากำลังโปรโมท คือ Dry-Tech (ดราย-เทค) ผ้าที่สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี เหมาะกับสภาพอากาศเมืองไทย และ Syntrel (ซินเทรล) ซึ่งนี่ก็คือหมวดหนึ่ง และแต่ละหมวดก็จะมีสินค้าอีกเป็นพันชนิด ฉะนั้นที่ HATCH Designer Hub เรานำมาเสนอแค่ 300-400 ชนิดเท่านั้นเอง ซึ่งทั้งหมดเป็นนวัตกรรมระดับโลกที่เราพัฒนามา 20-30 ปี โดยเรามี NIC หรือ Nan Yang Inspiration Center ที่คอยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง”
               

     เขาบอกจุดแข็งของนวัตกรรม ที่ก่อกำเนิดใต้ร่มนันยางเท็กซ์ไทล์ ซึ่งใช้งบในการวิจัยและพัฒนาไม่ต่ำกว่า 200-300 ล้านบาทต่อปี และถูกนำไปใช้ในแบรนด์เสื้อผ้าระดับโลกอยู่ ณ วันนี้ ซึ่งนี่คือโอกาสของผู้ประกอบการรายเล็ก ที่จะได้ขยับเข้าใกล้และได้ใช้นวัตกรรมเหล่านั้น เพื่อเพิ่มแต้มต่อให้กับสินค้าแฟชั่นของตัวเองในวันนี้
               
           




      รับมือกับโลกดิสรัปชั่นด้วยเทคโนโลยี

           

      วันนี้นันยางเท็กซ์ไทล์ คือบริษัทในประเทศไทยที่ยังคงแข็งแกร่งในระดับโลก ธุรกิจยังเติบโตทุกปี เป็นหนึ่งในบริษัทเพียงไม่กี่แห่งบนโลกที่ให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่การปั่นเส้นด้าย ทอเป็นผ้าผืน จนถึงการตัดเย็บเสื้อผ้า และยังมีบริษัทค้าส่ง (Wholesale) ที่อเมริกา ตอบความเป็นต้นน้ำจนสุดปลายน้ำ 
               

      แต่ทว่าในโลกที่กำลังถูกดิสรัปต์ บริษัทที่มียอดขายระดับหมื่นล้านบาทอย่างพวกเขาก็ไม่สามารถชะล่าใจได้ แม้การปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลของผู้ผลิตอย่างนันยางเท็กซ์ไทล์อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่นั่นคือโจทย์ที่พวกเขายังมุ่งมั่นสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
               

     “ที่ผ่านมาเราได้นำ Internet of Things (IoT) และ การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) มาใช้ในโรงงาน อีกส่วนคือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในสายงานการผลิต เพื่อให้ขั้นตอนการผลิตสั้นลง ประหยัดต้นทุนมากขึ้น และเอามาใช้ในเรื่องของการดีไซน์ที่จะไปเชื่อมโยงกับลูกค้า เพื่อให้ขั้นตอนของลูกค้าที่เข้ามาสู่เราทำได้สั้น เร็ว และเขาสามารถเห็นรูปแบบของเขาได้เลยโดยที่ไม่ต้องเสียเวลามากมาย
               

     อย่าง เรามีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่เรียก NIC (Nan Yang Inspiration Center) คอยซัพพอร์ททางด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าที่เป็นโกลบอลแบรนด์ ซึ่งเวลาลูกค้าบินมาหาเราเขาจะใช้เวลากับเรา 3-4 วัน โดยเขาจะเอาแบบมาให้ เราก็ทำทั้งการทอผ้า เปลี่ยนสีผ้า รวมถึงการตัดเย็บให้เขาดูได้เลยทันที เพราะฉะนั้นมันจะทำให้ขั้นตอนการพัฒนาสินค้าของเขาจากสมัยก่อนที่ต้องใช้เวลา 7-8 เดือน  วันนี้อย่างมากก็แค่เดือนกว่า ก็เร่งทำให้เขาสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น เร็วขึ้น ผมว่านี่เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าของเราเติบโตขึ้น และธุรกิจเราก็โตตามเขาไปด้วย” เขาบอก
                               



           
     ความท้าทายของสิ่งทอไทยในโลกยุคใหม่

               

     อยู่ในสนามมานานถึง 62 ปี เมื่อถามถึงความท้าทายของสิ่งทอไทยในวันนี้ เขาบอกว่า  สำหรับประเทศไทยอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าในอนาคตต้องไปโตเมืองนอก เพราะการผลิตในประเทศจะไม่ใช่แต้มต่อของไทยอีกต่อไป


      “ในประเทศไทยสิ่งทอผมว่ายังโอเคอยู่ แต่ถ้าเป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปต้องไปโตเมืองนอก เพราะแรงงานบ้านเราหาไม่ได้ ต้นทุนก็สูงขึ้น สิ่งที่จะทำได้ก็คือการไปโตเมืองนอก ซึ่งเราต้องเตรียมทัพของเราให้พร้อม ถามว่าประเทศไทยถ้าต้องสู้ในระดับโลกเราต้องสู้แบบไหน ผมอยากให้เน้นการศึกษา และพัฒนาทางด้านการศึกษา เชื่อว่าเมืองไทยถ้าวางตัวดีๆ เราจะเป็นแหล่งที่มีประโยชน์มากใน CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) โดยเมืองไทยจะต้องสร้างตัวเองให้มีความหมายในภูมิภาคนี้ เพราะถ้ามองประชากร 5-6 ประเทศนี้ก็กว่า 300 ล้านคนเข้าไปแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่พอสมควร และต้องยอมรับว่าคนที่มาลงทุน เขาพยายามมองหาประเทศที่เจริญ ซึ่งเมืองไทยก็มีความพร้อม ถ้าเราสามารถพัฒนาคนของเราให้ทันต่อโลกได้ เราก็จะแข่งขันได้ในระดับโลก” เขาย้ำ
วิบูลย์บอกเราว่า วันนี้ประเทศไทยอาจจะไม่ใช่ยุคของอุตสาหกรรมการผลิตเหมือนในอดีตก็ไม่เป็นไร เพราะเราสามารถเติบโตด้วยอุตสาหกรรมการออกแบบดีไซน์ ใช้ความเก่งของประเทศเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพื่อสร้างการเติบโตให้ตัวเองต่อไปได้เรื่อยๆ ซึ่งอะไรที่นันยางเท็กไทล์เก่งและสามารถช่วยทำให้อุตสาหกรรมดีขึ้นได้ พวกเขาก็ยินดีสนับสนุน และหากสิ่งที่พวกเขาทำในวันนี้ สามารถไปช่วยสร้างดีไซเนอร์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น วันหนึ่งคนกลุ่มนี้ก็จะมาช่วยกันเติมเต็ม Eco system และหนุนเสริมอุตสาหกรรมนี้ให้ดีขึ้น และนั่นก็จะตอบความคาดหวังที่มีได้สมบูรณ์แล้ว





     ทำไมท่ามกลางการล่มสลายของผู้ประกอบการสิ่งทอตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่นันยางเท็กซ์ไทล์ก็ยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และดูไม่เก่าหรือล้าไปตามยุคสมัย  เขาบอกว่า เป็นเพราะได้เห็นอะไรใหม่ๆ ในโลกนี้อยู่ตลอดเวลา นั่นทำให้พวกเขาเลือกที่จะเตรียมความพร้อมและไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ก้าวทันต่อโลก ที่สำคัญคือ “ไม่ชะล่าใจ” แม้วันนี้ธุรกิจจะก้าวมาไกลแค่ไหนก็ตาม


      “วันนี้เราอาจจะไม่ได้นำ แต่ก็คิดว่าเราไม่ช้า เราพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคน เทคโนโลยี และองค์กร ที่สำคัญไม่ว่าวันนี้ธุรกิจจะเติบโตแค่ไหน แต่เราไม่เคยชะล่าใจ ทำธุรกิจจะชะล่าใจไม่ได้เพราะวันหนึ่งอาจจะไม่มีอะไรให้ทำ” เขาย้ำในประโยคสุดท้าย
 
 
      และนี่คือหนึ่งในผู้ประกอบการไทย ที่อยู่ในอุตสาหกรรมซึ่งเคยถูกมองว่าเป็น Sunset การปรับตัวของพวกเขาทำให้อุตสาหกรรมนี้ยังมีความหวังอยู่เสมอ และวันนี้ความหวังนั้นก็พร้อมส่งต่อถึงผู้ประกอบการรายเล็กอย่าง SME และกลุ่มStartup ด้วย เพราะการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เพราะใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องโตร่วมกันไปทั้งระบบนิเวศนี้



      Did you Know


       “นันยางเท็กซ์ไทล์”  อยู่ในธุรกิจมา 62 ปี ปัจจุบันดำเนินการภายใต้การขับเคลื่อนของทายาทรุ่น 2 พวกเขาเริ่มจากทำธุรกิจขายเสื้อผ้า มาผลิตเสื้อผ้าส่งออก จนพัฒนาสู่ธุรกิจสิ่งทอครบวงจร ที่ทำตั้งแต่การปั่นเส้นด้าย ทอเป็นผ้าผืน จนถึงการตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งในอุตสาหกรรมสิ่งทอของโลกมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ทำธุรกิจแบบครบวงจร กลุ่มนันยางเท็กซ์ไทล์ ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในฐานะผู้นำอาเซียนด้านนวัตกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มครบวงจรซึ่งให้บริการแบบมืออาชีพ ปัจจุบันมีธุรกิจในเครือ 14 บริษัท มีพนักงานประมาณ 17,000 คน  สร้างรายได้ในปีที่ผ่านมา 17,000 ล้านบาท โดยชื่อ “นันยาง” เป็นภาษาจีน แปลว่า “ทะเลใต้” และไม่เกี่ยวข้องกับแบรนด์รองเท้าชื่อดังแต่อย่างใด
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น