‘ZAYAN’ คืนชีวิตให้ผ้า Dead Stock สู่แฟชั่นสุดลุยจากแพสชันของนักเดินทาง

 TEXT : ยุวดี ศรีภุมมา





Main Idea

 
  • บนโลกใบนี้ยังมีวัสดุที่ถูกกองทิ้งไว้โดยไม่มีใครแลเห็น แต่กลับมีชายหนุ่ม 2 คนได้หยิบเอาวัตถุดิบที่เรียกว่าผ้า Dead Stock ไปจนถึงเสื้อยืดมือสองหรือผ้าทอของชนเผ่าต่างๆ มาใส่ดีไซน์จนกลายเป็นสินค้าแฟชั่นสุดคูลที่เหมาะกับการเดินทาง
 
  • เพราะบางครั้งความสวยงามอาจเกิดจากความไม่สมบูรณ์แบบที่ค่อยๆ ผสมกลมกลืนกัน ใส่ใจลงไป ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปจนกลายเป็นผลงานที่สวยงามและเต็มไปด้วยความตั้งใจอย่างแบรนด์ ZAYAN ที่พวกเขาไม่ได้อยากจะเดินไปข้างหน้าด้วยตัวคนเดียวแต่จะพาวัสดุเหลือใช้ไปด้วยกันกับพวกเขา 



     บนโลกใบนี้ยังมีวัสดุที่ถูกกองทิ้งไว้โดยไม่มีใครแลเห็น แต่กลับมีชายหนุ่ม 2 คนได้หยิบเอาวัตถุดิบที่เรียกว่าผ้า Dead Stock ไปจนถึงเสื้อยืดมือสองหรือผ้าทอของชนเผ่าต่างๆ มาใส่ดีไซน์จนกลายเป็นสินค้าแฟชั่นสุดคูลที่เหมาะกับการเดินทาง และนี่คือแบรนด์ที่เริ่มต้นจาก Passion ของนักเดินทางอย่าง ‘ZAYAN’ ธุรกิจน้ำดีที่เกิดจาก  ธนกร บินซายันและ ธนากร ก๊กเครือ สองผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ซึ่งชอบการท่องเที่ยวและบังเอิญได้พบเจอกับแหล่งผ้า Dead Stock เมื่อเห็นแล้วจึงเกิดความคิดว่า น่าจะนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์อะไรสักอย่างได้
               




     ธนกรเริ่มเรียนรู้การตัดเย็บเสื้อผ้าเพิ่มเติมและในช่วงแรกก็ทดลองทำเพื่อใส่เองรวมถึงให้คนใกล้ตัวได้ลองใส่ จากนั้นก็ได้ทดลองขายบนโลกออนไลน์และขยับขยายจากการที่ TCDC ได้เข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมเรื่องขององค์ความรู้ต่างๆ ให้แน่นขึ้น จนแบรนด์ ZAYAN กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะของแบรนด์ Fashion Accessory ซึ่งจะเน้นหนักไปที่หมวกและกระเป๋าในสไตล์ลุยๆ เท่ๆ เหมาะสำหรับคนที่รักการแต่งตัวหรือนักเดินทาง โดยพวกเขามีการออกแบบให้สินค้าเหมาะกับการเดินทาง ใส่ฟังก์ชันเข้าไป อาทิ พกพาง่าย พับได้ไม่เสียทรง กันน้ำ เป็นต้น





     จุดเด่นอีกอย่างของแบรนด์ ZAYAN คืองานของพวกเขาเป็นงาน ‘ผ้าต่อ’ หรือว่า Patchwork ที่จะหยิบเศษผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาผสานกลมกลืนให้กลายเป็นสินค้าสร้างสรรค์ ซึ่งธนากรได้เล่าถึงแนวคิดของแบรนด์ให้ฟังว่า





     “เริ่มต้นคือเราเห็นผ้า Dead Stock ถ้าเราไม่เอามาใช้ ผ้าพวกนั้นก็จะยังคงเป็นผ้า Dead Stock อยู่แบบนั้น ก็เลยคิดว่าน่าจะสร้างให้เกิดประโยชน์ได้แล้วก็ไม่ได้สร้างขยะเพิ่ม เป็นการใช้อะไรที่มีอยู่แล้ว ใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปแล้วกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง ส่วนตัวเต๋า (ธนกร) เป็นคนที่ชอบเดินทาง ชอบไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยว เราก็ดีไซน์ลุคที่ออกมาเป็นลุคท่องเที่ยว ใส่ไปลุยๆ แต่อาจจะไม่ได้สมบุกสมบันมากขนาดนั้น เรายังมีความเป็นแฟชั่น เหมือนทุกคนแต่งตัวแล้วก็หยิบสินค้าของเราใส่เสริมเข้าไป เราอยากให้แฟชั่นของเรามีความยั่งยืน ไม่ใช่ Fast Fashion ที่ใส่ครั้งเดียวแล้วจบ” ธนากรเล่า
               

     นอกจากการนำผ้า Dead Stock มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แล้ว พวกเขายังมีการหยิบเอาผ้าพื้นเมืองจากการพบเจอระหว่างการเดินทางมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงานอีกด้วย เพราะไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่งานของพวกเขาคือการทดลอง
               





     “เรามีการทดลองหลายอย่าง เช่น บางทีเราไปท่องเที่ยวแล้วถ้าไปเจอผ้าพื้นเมืองของสถานที่นั้นก็จะหยิบเอาผ้าผืนนั้นมาผลิตเป็นงานของเรา บางทีเราก็ไม่ได้ค้นหาวัสดุอะไรที่ใหม่มาก อาจจะมีผ้าแบบ Traditional มีงาน Patchwork มีงาน Upcycling ด้วย ถ้าจะเอาคำสวยๆ คือพวกเราเคยคิดกันว่าในขณะที่โลกก้าวไปข้างหน้าแต่เราไม่ได้ก้าวไปข้างหน้าตามโลก เราอยากจะพาสิ่งที่อยู่ข้างหลังตามไปด้วยกัน เราจะไม่ทิ้งเรื่องพวกนั้น แต่ถ้าถามว่าแบรนด์เราช่วยเหลือโลกขนาดนั้นเลยหรือเปล่า อาจจะไม่ใช่ ใช้แล้วรู้สึกรักษ์โลกเลยหรือเปล่า ก็อาจจะไม่ใช่ บางทีผ้า Dead Stock ถ้าเราไม่ทำอะไร มันก็อยู่แบบนั้นหรือถ้าเรามัวแต่หาวัสดุใหม่เรื่อยๆ แล้วชาวพื้นเมืองที่เคยทำผ้าของเขา แล้วเราไม่นำมาใช้ Know-how ของเขาก็จะหายไปอย่างนั้นเหรอ?


     เราเลยหยิบสิ่งเหล่านี้มาใช้แล้วผสมผสานกลมกลืนให้กลายเป็นสไตล์ของเรา เช่น คอลเลกชันล่าสุดที่ไปออกงาน Bangkok Design Week เป็นงานทดลองที่เอาเสื้อยืดมือสองที่มีอยู่ในท้องตลาดแบบที่กองเป็นภูเขามาทดลองให้กลายเป็นกระเป๋า หมวก ใส่ดีไซน์และสีที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์เราเข้าไป พยายามที่จะคำนึงถึงสิ่งที่มันเหลือทิ้ง เราอาจจะไม่ได้แก้ปัญหาให้โลกได้ขนาดนั้น เราแค่พยายามที่จะดึงมันมาใช้ ทำเท่าที่เราทำได้” ธนากรเล่าถึงการทดลองที่นำมาสู่โปรดักต์คูลๆ ของพวกเขา
               

     อย่างไรก็ตาม เสน่ห์ของแบรนด์ ZAYAN อาจไม่ใช่การที่พวกเขาออกตัวว่าเป็นแบรนด์รักษ์โลกจ๋า เพราะสิ่งที่พวกเขาทำมันมาจากเจตนารมณ์ลึกๆ ข้างในที่อยากใช้วัสดุเหล่านั้นมาสร้างให้เกิดสิ่งใหม่ แต่เสน่ห์ที่แท้จริงของพวกเขามาจากการดีไซน์ ความคราฟท์ของกระบวนการผลิตที่ทำมือทุกชิ้น ไปจนถึงสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์จนคว้าใจลูกค้าได้อย่างอยู่หมัด
               





     “เราไม่ได้ออกตัวไปในลักษณะรักษ์โลก ถามว่ารักษ์โลกไหม เราก็มีความ Upcycling แต่ก็มีวัสดุใหม่เข้าไปผสมอยู่ด้วย เราไม่ใช่แบรนด์ที่เจอแล้วจะทำให้คุณรักษ์โลกได้เลย แต่เราอยากนำเรื่องของสไตล์ รสนิยม ดีไซน์เป็นตัวนำ ส่วนเรื่องรักษ์โลกเป็นองค์ประกอบที่อยู่ในใจเราอยู่แล้ว เราพยายามช่วยเท่าที่เราช่วยได้ เช่น ถ้าเรากินกาแฟแล้วเลี่ยงแก้วพลาสติกไม่ได้ ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นไม่เอาฝาหรือไม่เอาหลอดแทน แบรนด์เราเป็นแบบนั้น สิ่งที่ทำให้ลูกค้าเข้ามาแล้วพอใจกับสินค้าของเรา เขาไม่ได้ชอบเพราะเราเป็นแบรนด์รักษ์โลกแต่ชอบสไตล์ของเรา มีรสนิยมแบบนี้ เอกลักษณ์แบบนี้ โทนสีแบบนี้มากกว่า”
               

     โดยธนากรได้ปิดท้ายว่า พวกเขาเริ่มต้นด้วยแนวคิดของนักออแบบจึงไม่ได้ใช้ธุรกิจเป็นที่ตั้ง แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นใช้ใจเป็นตัวนำในการสร้างแบรนด์ ZAYAN ของพวกเขา
               

      “แบรนด์สำหรับเราสองคนคือเรามาสายดีไซน์ นักออกแบบ ไม่ได้เอาธุรกิจเป็นตัวนำ เรารู้สึกว่าการทำอะไรที่ทำด้วยใจ ความชอบและเราสนุกกับงาน ก็จะส่งผลให้เราทำมันออกมาได้ดีและมีคนมองเห็น รับรู้ได้ว่าสิ่งที่เราทำขึ้นมาเต็มไปด้วยความตั้งใจ”
 
               
     เพราะบางครั้งความสวยงามอาจเกิดจากความไม่สมบูรณ์แบบที่ค่อยๆ ผสมกลมกลืนกัน ใส่ใจลงไป ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปจนกลายเป็นผลงานที่สวยงามและเต็มไปด้วยความตั้งใจอย่างแบรนด์ ZAYAN ที่พวกเขาไม่ได้อยากจะเดินไปข้างหน้าด้วยตัวคนเดียวแต่จะพาวัสดุเหลือใช้ไปด้วยกันกับพวกเขา
 
 

สำหรับใครที่มีไอเดียรักษ์โลกดีๆ สามารถส่งเมลมาแบ่งปันกับพวกเราได้ที่ sme_thailand@yahoo.com  โดยวงเล็บมาด้วยว่า (แชร์ไอเดียรักษ์โลก) เพื่อร่วมในพันธกิจ SME Save The World Project ไปพร้อมกับพวกเราทุกคน





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน