ส่องเกมธุรกิจ “ปุ้มปุ้ย” ปลากระป๋องน้ำลาย 3 หยด ที่ไม่ได้มีดีแค่ปลาในซอสมะเขือเทศ

Text : นิตยา สุเรียมมา

 



Main Idea

 
  • “ปุ้มปุ้ย” แบรนด์ปลากระป๋องที่อยู่มานานกว่า 40 ปี เติบโตโดยใช้กลยุทธ์ “ปลากระป๋องปรุงรส” เพื่อหลีกหนีการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดปลากระป๋องในน้ำซอสมะเขือเทศ
 
  • ด้วยกลยุทธ์ที่ฉีกออกมา ทำให้ปัจจุบันปุ้มปุ้ยไม่ใช่เพียงแค่แบรนด์ปลากระป๋องเพียงอย่างเดียว แต่ยังออกผลิตภัณฑ์อีกมากมายส่งป้อนให้กับตลาด ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทยสำเร็จรูป เครื่องพริกแกง หรือแม้แต่สแน็กอาหารกินเล่นที่ถูกใจของกลุ่มวัยรุ่น
 

 
               
     ย้อนกลับไปเมื่อ 40 – 50 กว่าปีก่อน ในยุคที่อาหารกระป๋องและปลากระป๋องยังเป็นสินค้านวัตกรรมใหม่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ด้วยความที่บ้านเราในน้ำมีปลา ในนามีข้าว อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรมากมายทั้งบนฝั่งและในทะเล จึงทำให้เกิดผู้ประกอบการไทยหลายรายที่มองเห็นโอกาสสร้างโรงงานผลิตปลากระป๋องขึ้นมา เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ หนึ่งในนั้นย่อมมีชื่อของ “ปุ้มปุ้ย” แบรนด์ปลากระป๋องที่มีโลโก้เป็นรูปปลาตัวอ้วนพี และน้ำลาย 3 หยดที่เป็นเอกลักษณ์รวมอยู่ด้วยแน่นอน




 
  • ที่มาของน้ำลาย 3 หยด
               
     โดยถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2522 ภายใต้การผลิตของบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด โดยเริ่มแรกได้ผลิตออกมาจำหน่าย 2 รูปแบบ คือ ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศฉลากสีส้ม และปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศฉลากสีชมพู ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ปุ้มปุ้ย” และ “ปลายิ้ม” ด้วยกำลังการผลิตที่มากกว่า 1 ล้านกระป๋องต่อปี จึงทำให้ปลากระป๋องปุ้มปุ้ยเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว


     ด้วยความใส่ใจในคุณภาพของแบรนด์ ที่เน้นคัดสรรแต่ปลาตัวโตๆ และการชูรสชาติความอร่อยตามสโลแกน “อร่อยที่รอยยิ้ม” พร้อมกับโลโก้ตัวการ์ตูนรูปปลาตัวอ้วนที่กำลังส่งยิ้มและน้ำลาย 3 หยดที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งนำมาแทนรูปปลาซาร์ดีนที่เรียงกันอยู่ข้างกระป๋องเหมือนกับแบรนด์นำเข้าและแบรนด์อื่นๆ จึงทำให้ปุ้มปุ้ยเป็นที่จดจำได้ไม่ยาก โดยที่มาของชื่อแบรนด์นั้นว่ากันว่ามาจากคำว่า “ปุ่ยปุ๊ย” ในภาษาจีน แปลว่า อ้วน กลม ซึ่งหมายถึงความสมบูรณ์นั่นเอง
 


 
  • เน้นทำ “ปลากระป๋องปรุงรส”  สู้ศึกแข่งขันในตลาด

     ต่อมาเมื่อความต้องการของตลาดมีเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ การผลิตและจำนวนผู้แข่งขันก็ต้องมากขึ้นตามไปด้วย จนมีแบรนด์ปลากระป๋องเกิดขึ้นมากมายกลายเป็นศึกปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศที่มีการแข่งขันกันดุเดือด ทั้งแบรนด์ระดับบิ๊กใหญ่ ไปจนถึงโลคอลแบรนด์ต่างๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักทำเป็นปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศ


     ด้วยเหตุนี้เพื่อสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในตลาด ไปจนถึงหลีกหนีการแข่งขันด้านราคา ปุ้มปุ้ยจึงได้วางตัวเองไม่ใช่แค่ปลากระป๋องในซอสมะเชือเทศเท่านั้น แต่กลับมุ่งสร้างตัวเองให้กลายเป็นปลากระป๋องปรุงรส ที่สร้างมิติรสชาติที่หลากหลาย อาทิ ผัดเผ็ดปลาแมคเคอเรลทอด, คั่วกลิ้งปลาแมคเคอเรล, ปลาแมคเคอเรลทอดราดพริก, ปลาแมคเคอเรลคั่วพริกแกง, ปลาดุกอุยทอดรสเผ็ด ฯลฯ โดยในทุกๆ ปีนั้นจะออกรสชาติชาติใหม่ๆ 1 –  2 รสชาติออกมา เปลี่ยนภาพลักษณ์จากเมนูแก้หิว ราคาย่อมเยา ให้เป็นวาไรตี้อาหารที่ทั้งอร่อย และเก็บรักษาได้นาน กลายมาเป็นจุดแข็งของแบรนด์ในที่สุด และนำมาสู่การสร้างสรรค์พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในปัจจุบัน




     จากข้อมูลเมื่อปี 2556 ตลาดปลากระป๋องมีมูลค่าสูงกว่า 4,000 - 5,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ปลาในซอสมะเขือเทศ ในขณะที่ปุ้มปุ้ยซึ่งพยายามจะวางตัวเองเป็นปลากระป๋องปรุงรส แม้มูลค่าตลาดจะเล็กกว่า โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของตลาดทั้งหมดหรือราวๆ 1,000 ล้านบาท แต่สำหรับตลาดปลากระป๋องปรุงรสแล้ว กลับเป็นเจ้าตลาดครองสัดส่วนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
 
  • ปรับสินค้าให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค
               
     โดยอีกสิ่งหนึ่งที่แบรนด์ปุ้มปุ้ยพยายามทำมาตลอด ก็คือ การพัฒนาและปรับรูปแบบสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด ตั้งแต่การปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้มีความสดใสมากขึ้น การปรับแพ็กเกจจิ้งให้มีความทันสมัย สะดวก ใช้งานง่าย จากกระป๋องเหล็กที่เวลาเปิดต้องใช้ที่เปิดกระป๋อง ก็พัฒนาเป็นฝาเปิดแบบง่ายขึ้นที่แค่ดึงก็เปิดได้เลย หรือบรรจุภัณฑ์ที่แค่เปิดออกก็สามารถใส่ไมโครเวฟอุ่นกินได้เลย




     ไปจนถึงการเพิ่มรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ แตกไลน์สินค้าใหม่ๆ ออกมาภายใต้แบรนด์ปุ้มปุ้ยที่ไม่ใช่แค่ปลากระป๋อง อาทิ หอยลายกระป๋อง อาหารไทยปุรงรสที่ใช้ไก่ ปลา และ, เครื่องแกงต่างๆ เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าออกไปให้มากขึ้น ทั้งงานเลี้ยง งานปาร์ตี้ กลุ่มแม่บ้าน ไปจนถึงสแน็กอาหารกินเล่น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นเพิ่มมากขึ้น อาทิ แบรนด์ “Smiling fish” ที่ผลิตเป็นหอยลายอบกรม 4 รสชาติ อาทิ ออริจินอลรสกระเทียมอบกรอบ, รสสาหร่าย, รสต้มยำอบกรอบ ที่วางจำหน่ายอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ


     และนี่คือ เรื่องราวของแบรนด์ปลากระป๋องที่ไม่ได้มีดีแค่ปลาในซอสมะเขือเทศ แต่หากยังพยายามหาหนทางต่อสู้ดิ้นรน แม้ในตลาดแข่งขันที่สูง จนในที่สุดก็สามารถหาจุดยืนและสร้างความแตกต่างของตัวเองขึ้นมาได้ ที่สำคัญยังคงยึดถือตามสโลแกนเดิมตั้งแต่เริ่มต้นในการชูรสชาติความอร่อย จนทำให้สามารถพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเหมือนเช่นในปัจจุบันนี้ 
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน