How to สู้ศึก ‘โควิด–19 ดิสรัปชั่น’ ฉบับผู้นำองค์กร กับวิธีคิดที่จะพาคุณรอดพ้นวิกฤต

 

Main Idea
 
  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (COVID–19) ที่พ่นพิษไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ข้อมูลข่าวสารมากมายได้สร้างความตื่นตระหนก วิตกกังวล และความเครียด จนส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้ประกอบการและเหล่าผู้นำองค์กร  
 
  • การดำรงตนให้รอดพ้นในสถานการณ์นี้ นอกจากสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ความเข้มแข็งมั่นคงจากภายในจิตใจก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะผู้นำองค์กรที่จะต้องสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพขององค์กรให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
 
  • 3 ปัจจัยแห่งการดำรงตนที่จะช่วยให้วิธีคิดและการตัดสินใจของผู้นำเป็นไปอย่างสมดุลและมีจริยธรรม นั่นคือ 1. Good for me ดีต่อตัวเรา 2. Good for others ดีต่อผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง และ 3. Good for the greater good ดีต่อสังคมมวลรวมและศีลธรรมจรรยา 

___________________________________________________________________________________________
 
 

     การแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงในลักษณะของ COVID–19 ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในโลก ถ้าลองมองย้อนไปในอดีตจะพบว่ามีเหตุการณ์ในลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น  อหิวาตกโรค กาฬโรค โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก และโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งโรคภัยไข้เจ็บถือเรื่องปกติธรรมชาติ แต่พอคนเราได้รับรู้ข่าวสารว่ามีผู้เสียชีวิตก็ทำให้เกิดความวิตกกังวลและเครียด เพราะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “เฮ้ย..ถ้าเป็นเราล่ะ?”  อันนี้คือ จินตนาการที่เกินความเป็นจริงไปก่อนแล้วนั่นเอง 


     ยิ่งผลของการแพร่กระจายของ COVID–19 มีการแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ทั้งการแพร่กระจายจริงของโรค จากการไม่ศึกษาข้อมูลของประชากรบางกลุ่ม และการแพร่กระจายของข่าวสารทางโซเชียลมีเดีย ยิ่งทำให้ความตื่นตระหนกเพิ่มความรุนแรงขึ้น 


แล้วเราจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร? 
 
  • ดูแลสภาวะ “ใจพร้อม–กายพร้อม” 

     วิธีที่จะทำให้เราก้าวข้ามจากสถานการณ์นี้ไปได้ก็คือ ความแข็งแรงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยเราต้องดูแลตัวเองด้วยการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ สภาวะจิตใจของเราเอง ไม่ให้เราจิตตกไปกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องดูแลสภาวะกาย สภาวะใจ ไม่วิตกกังวลจน “โรคระบาด” กลายเป็น “โลกระเบิด”


     แจ็ค แคนฟิลด์ (Jack Canfield) นักเขียนผู้โด่งดังจากหนังสือ “พลังแห่งชีวิต” (Chicken Soup for the Soul) และ “วิธีขโมยความสำเร็จจากอนาคต” (The Success Principles)” เคยกล่าวไว้ว่า เราสามารถที่จะกำหนดได้ว่า Outcome หรือผลลัพธ์ในชีวิตที่เราต้องการคืออะไร  เมื่อผลลัพธ์ของเราชัดเจน พลังงานหรือ Energy ของเราจะไปอยู่ที่นั่น  แล้ว Energy ในส่วนอื่นๆ ที่จะทำให้เราจิตตก รู้สึกกังวลใจ ก็จะหายไป  




     สมการนี้ก็คือ E + R = O โดย E คือ Event หรือสถานการณ์รอบๆ ตัวเรา ส่วน R คือ Response เป็นวิธีที่เราจะดำรงตนหรือตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นๆ อย่างไรในทางสร้างสรรค์ เพื่อให้ได้ตัว O คือ Outcome หรือสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นในชีวิตของเรา เพราะฉะนั้น ถ้าเรากำหนด Outcome ที่เราต้องการ ในสถานการณ์ COVID–19 ว่า “เราต้องมีชีวิตอยู่ได้ อยู่รอดปลอดภัยจากเชื้อโรค” 


     นั่นหมายความว่า เราจะต้องมุ่งความใส่ใจไปที่ Response - R  คือการตอบสนองต่อสถานการณ์ (Event - E) ที่เกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งในที่นี้ E เป็นสถานการณ์ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เพราะเราไม่ได้เป็นตัวผลิตเชื้อโรค ไม่ได้เป็นตัวทำลายเชื้อโรค ไม่สามารถบังคับสถานการณ์รอบตัวให้เป็นไปในแบบที่เราต้องการได้ ดังนั้นแทนที่จะไปมุ่งความสนใจที่ E แล้วใช้พลังงานไปกับความเครียด กลุ้มใจ เสียขวัญกำลังใจในสิ่งที่เราควบคุมมันไม่ได้ ในขณะที่สิ่งที่เราต้องการคือ การเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่รอด เป็นผู้ที่ไม่รับเชื้อโรค และไม่ส่งต่อเชื้อโรคนี้ต่อไป  เราควรตั้งสติ และหันมาบริหารจัดการการใช้ชีวิต การดำรงอยู่ และการปฏิบัติตัวของเราให้ตอบสนอง Outcome -O ที่เราต้องการจะสร้างสรรค์และสบายใจกว่า


     ทางกายภาพเราต้องดูแลสุขภาพร่างกายของเราให้แข็งแรง นอนให้พอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ไปอยู่ในที่ชุมชน ในสถานที่ที่มีคนแออัด สวมหน้ากากอนามัยที่จะป้องกันเชื้อโรคและไวรัสได้ ล้างมือบ่อยๆ ไม่ไปอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยง และพยายามที่จะเช็คข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้ วิธีการป้องกัน สังคมของเรามีกฎกติกาอย่างไรก็ต้องเคารพ และไม่ส่งข้อมูลข่าวสารที่ทำให้ผู้อื่นเสียขวัญกำลังใจเพราะเราด้วย เพราะเราก็ไม่รู้ว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม ขอให้เรา Response ในขอบเขตแบบนี้ก็จะทำให้เราสามารถได้ Outcome คือ เป็นผู้ไม่ติดเชื้อ ไม่เผยแพร่เชื้อ 


     นอกจากนี้ เราต้องเสพข่าวอย่างมีสติ มองทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรื่องธรรมดาของโลก เราก็จะสามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ รวมทั้งสัตว์ทุกชนิดและเชื้อโรคด้วย เพียงแต่ให้เราขีดขอบเขตว่าเราจะอยู่ร่วมกับพวกเขาอย่างไร อยู่ในพื้นที่เดียวกันโดยเคารพขอบเขตของกันและกัน และอยู่ในผืนดินเดียวกันได้ จะทำให้เรามีจิตใจที่เป็นสุข มีเมตตา และสามารถที่จะอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างเป็นปกติ
 


 
  • How to สู้ศึกฉบับผู้นำองค์กร

     นอกจากนั้นถ้าเราเป็นผู้นำองค์กรที่ต้องบริหารจัดการธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์โควิด–19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรวดเร็วและรุนแรง (Disruption) เราจะต้องดำรงตนอย่างไรให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคและวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้ อยากให้ลองนึกถึง “ผู้ตาม” หรือ “พนักงาน” ของเราว่าเขาจะหวั่นไหวแค่ไหน? ถ้าผู้นำดำรงตนอยู่ด้วยความกังวลใจและเป็นทุกข์ 


     แนะนำว่า การที่จะทำให้ธุรกิจดำรงอยู่ได้ ปัจจัยสำคัญของธุรกิจคือพนักงาน พนักงานต้องไม่เสียขวัญ ไม่เสียกำลังใจ กำลังใจของผู้ตามก็อยู่ที่ผู้นำ กำลังใจของผู้นำก็อยู่ที่ผู้ตามด้วยเช่นกัน  ธุรกิจต้องปรับตัวให้ดำรงตนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มันเกิดขึ้น ถ้ายอดขายจะลดลงก็เป็นธรรมดาของสถานการณ์แบบนี้ ไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องกังวล  เพราะทุกคนถูกกระทบเหมือนกันหมด 


     ช่วงเวลานี้ควรหาโอกาสที่อาจจะเปิดช่องทางใหม่ๆ ในภาวะวิกฤติที่สร้างสรรค์และอาจค้นพบการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ดีขึ้นอย่างไม่คาดคิดก็ได้ สิ่งที่จะต้องรักษาไว้คือ ขวัญและกำลังใจของพนักงาน ศักยภาพขององค์กร สินค้าที่มีคุณภาพ จึงอยากฝากถึงผู้ที่ดูแลทรัพยากรบุคคลในองค์กร ทั้ง HR (Human Resources) และหัวหน้าทีม (Line Managers & Team Leads) ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการผู้คนในองค์กร ต้องตั้งสติให้ดี นโยบายที่ประกาศออกไปต้องเป็นไปด้วยความเข้าอกเข้าใจและห่วงใย เป็นมาตรการที่ป้องกันและรักษาชีวิต รักษาความปลอดภัย และเป็นประโยชน์ต่อตัวพนักงาน เพื่อให้พนักงานรับรู้และรู้สึกว่า ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์อย่างไรก็ตาม องค์กรพร้อมที่จะดูแลและมีแผนรองรับเสมอ 


     สำหรับเจ้าของธุรกิจหรือเป็นทีมผู้นำที่ต้องดูแลบุคลากรจำนวนมาก ให้คิดอย่างรอบคอบว่า จากสถานการณ์นี้ เราต้องการ Outcome หรือผลลัพธ์แบบไหน ต้องการให้สถานการณ์เป็นอย่างไรในสิ่งที่เราควบคุมได้ ซึ่งสิ่งที่เราควบคุมได้ก็คือ สติของเรา ถ้าเราดำรงตนได้ด้วยจิตใจที่แข็งแรง คนที่อยู่รอบๆ ตัวเราก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย  และที่สำคัญลูกค้าที่เฝ้ามองเรา เขาก็จะดูว่าในสถานการณ์ที่ยากลำบาก คนที่เขาติดต่อสื่อสาร ใช้บริการ หรือทำธุรกรรมการค้าด้วย ดำรงตนอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้ 


 
  • ดำรงความสมดุลและมีจิยธรรม

     ก่อนจบขอฝาก 3 ปัจจัยแห่งการดำรงตนที่จะช่วยให้วิธีคิดและการตัดสินใจของผู้นำเป็นไปอย่าง สมดุลและมีจริยธรรม นั่นก็คือ 1. Good for me ดีต่อตัวเรา 2. Good for others ดีต่อผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง และ 3. Good for the greater good ดีต่อสังคมมวลรวมและศีลธรรมจรรยา ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัดสินใจไปเพื่อป้องกันสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ขอให้เช็ค 3 ข้อนี้ 


     เช่น อาจจะตัดสินในลดเงินเดือน ลดเวลาทำงาน หรือเปลี่ยนวิธีการส่งมอบสินค้า ต้องถามว่าดีต่อเรา ดีต่อลูกค้า ดีต่อพนักงาน รวมถึงดีต่อกับสังคมมวลรวมและศีลธรรมจรรยาหรือไม่ ถ้าตัดสินใจดำเนินการตามหลักครบทั้ง 3 ด้าน ขอให้มั่นใจได้ว่าสิ่งที่ตัดสินใจทำไปนั้นท่านจะไม่เสียใจหรือตำหนิตนเองในภายหลังแน่นอน และเมื่อผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ไปได้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พนักงาน ลูกค้าและคู่ค้าทางธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไป จะยังให้ความเคารพในตัวผู้นำ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำและองค์กร ซึ่งถือเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบริหารองค์กรอย่างยั่งยืน และหลักคิดนี้ยังสามารถปรับใช้ได้ในทุกๆ สถานการณ์อีกด้วย




     ขวัญและกำลังใจของคนในองค์กรเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้นำต้องดูแล รวมถึงศักยภาพขององค์กร ทั้งคุณภาพของสินค้าและบริการ การติดต่อสื่อสารที่ชัดเจน ล้วนแล้วแต่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงานในองค์กร รวมถึงคู่ค้าทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี


     จิมมี่เชื่อว่า “ในวิกฤตย่อมมีโอกาส”..การดำรงตนให้รอดพ้นท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ นอกจากสุขภาพร่างกายที่จะต้องใส่ใจดูแลแล้ว ความเข้มแข็งมั่นคงจากภายในจิตใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราก้าวผ่านทุกวิกฤตการณ์ไปได้ โดยเฉพาะผู้นำองค์กรที่จะต้องสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพขององค์กรให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน



 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น