ฟังกูรูชวน SME เปิดหลังบ้าน รีดธุรกิจให้ LEAN สู้วิกฤต!

TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย
 

 
 

Main Idea
 
  • ในช่วงเวลาที่ภาวะวิกฤตยังดำเนินต่อไปเช่นวันนี้ หลายธุรกิจได้รับผลกระทบหนักทั้งขาดรายได้และต้องแบกรับต้นทุน ส่วนหนึ่งอาจเพราะธุรกิจไม่ได้เตรียมความพร้อมและไม่มีแผนเพื่อรองรับหรือลดความเสียหาย
 
  • หลักการ Lean ที่กำเนิดในญี่ปุ่นช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่หลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะกลายมาเป็นตัวช่วยธุรกิจไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้
 
 


     ในช่วงเวลานี้ธุรกิจยังคงเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤตอย่างหนักหน่วง และยังไม่มีท่าทีจะบางเบาลงได้ง่ายๆ หลายธุรกิจต้องขาดรายได้และแบกรับต้นทุนชนิดที่แทบจะเดินต่อไปไม่ไหว ในสถานการณ์เช่นนี้ ธุรกิจสามารถลดความรุนแรงของผลกระทบหรืออาจพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ เพียงแค่ลองนำหลักการ “Lean” เข้ามาใช้ ลองมาทำความเข้าใจเรื่องนี้ไปพร้อมกัน
 


          
     
     ย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดของแนวคิด Lean นั้นเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ช่วงปี ค.ศ. 1980 หลังจากแพ้สงครามโลกทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นย่ำแย่ทั้งประเทศ ไม่มีทรัพยากร จึงมองหาวิธีการที่จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความสูญเสีย (Waste) น้อยที่สุด จนกระทั่งสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจขึ้นมาได้ ฉะนั้น หากผู้ประกอบการไทยใช้หลักการเดียวกันก็น่าจะช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้เช่นเดียวกัน
 

     บรรยง ชาญพิพัฒนชัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจด้วยแนวคิด Lean ชี้ให้เห็นแนวทางการอยู่รอดของเศรษฐกิจในยุคนี้ ว่ามี 2 แนวทาง โดยแบ่งเป็นการปรับปรุงการทำงานหน้าบ้านและหลังบ้าน
หน้าบ้าน คือ การพยายามทำให้มียอดขายและมีเงินหมุนเวียนเข้ามาหล่อเลี้ยงธุรกิจ โดยมอง 2 เรื่องนั่นคือ
 




     1.ปรับช่องทางการขาย ที่ต้องปรับตัวกันอย่างมโหฬาร หากธุรกิจสามารถจัดจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ได้ก็ควรทำ แต่ต้องคำนึงถึงต้นทุนในการใช้บริการแพลตฟอร์มและโลจิสติกส์แต่ละราย ซึ่งจะมีค่าบริการแตกต่างกันไป


     “บางคนอาจมองว่าต้นทุนแพงขึ้นเมื่อเข้าร่วมในแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ต้องมีส่วนแบ่งถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่เงินจำนวนนั้นจะเก็บก็ต่อเมื่อมีคนสั่งซื้อ โดยที่สินค้าและบริการของเราจะได้ขึ้นไปอยู่บนหน้าแพลตฟอร์มของเขา มีคนทำโฆษณาให้ หากเป็นร้านอาหารเมื่อผู้บริโภคเปิดเข้ามาหาร้านอาหารแล้วเห็นชื่อร้านเราอยู่ใกล้กับร้านที่เขาหา ก็ทำให้เขาจดจำร้านของเราไปด้วย ถึงยังไม่สั่งจากร้านเราในครั้งนี้ ก็อาจสั่งในครั้งถัดไปเพราะชื่อร้านเราติดอยู่ในหัวเขาแล้ว”
 




     2. ปรับสินค้า
มองดูสินค้าของตัวเองว่าเป็นไปได้ไหมที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปผลิตสินค้าที่มีความต้องการสูงในปัจจุบัน แต่ในกรณีที่ไม่สามารถปรับไลน์ผลิตได้ อาจจะมองถึงการปรับขนาดสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ให้เล็กลง ราคาก็จะลดลง ทำให้มีโอกาสขายได้มากขึ้นหรือลดลงต้นทุนลงได้ด้วย 


     บรรยงบอกว่า การทำธุรกิจไม่ว่าตรงไหนก็ตามที่มีกระบวนการ (Process) ก็สามารถประยุกต์ใช้เรื่อง Lean ได้ทั้งนั้น ซึ่งโดยปกติ SME มักเน้นมองเรื่องการจัดการหน้าบ้าน จนลืมมองกระบวนการหลังบ้านที่มีต้นทุนแฝงอยู่เยอะมาก ซึ่งหากนำหลักการ Lean มาใช้จะช่วยลดต้นทุนโดยที่ไม่ลดคุณภาพของสินค้าลงได้ โดยมีหลักการสำคัญคือต้องหาให้เจอว่าในกระบวนการผลิตนั้นมีความสูญเสีย (Waste) อยู่ที่ใดบ้าง
 




     ลองสมมติว่าตัวเองเป็นลูกค้า แล้วเดินดูทีละขั้นตอนของกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้น เช่น หากผลิตขนม ก็เดินดูกระบวนการตั้งแต่รับวัตถุดิบ การตรวจสอบคุณภาพ สายการผลิต จนกระทั่งบรรจุภัณฑ์ แล้วถามตัวเองหากเป็นลูกค้าจะยอมจ่ายให้แต่ละขั้นตอนนั้นหรือไม่ เช่น การตรวจสอบคุณภาพซ้ำ 2 ครั้งเพื่อความมั่นใจในสินค้าทำให้มีต้นทุนเพิ่มมากขึ้นและทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น หากตอบตัวเองว่าไม่ยอมจ่าย เพราะเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตที่ต้องผลิตให้ดีซึ่งจะทำให้ไม่ต้องตรวจสอบเยอะ ก็จะสามารถกำจัดขั้นตอนนั้นออกไป เป็นการลดความสูญเปล่าในกระบวนการผลิต


     ปัญหาของผู้ประกอบการ คือ ความเคยชินกับกระบวนการทำงานปกติ ส่วนใหญ่มักมองไม่ค่อยออกว่าจะปรับปรุงการทำงานอย่างไร เมื่อพูดถึงการลดต้นทุนก็มักนึกถึงการลดแรงงานคน หรือ ลดคุณภาพสินค้าและบริการ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วควรลดความสูญเปล่าหรือสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นต้องทำ


     ในธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ต้นทุนหลักๆ มักมาจากค่าแรงงาน บรรยงแนะนำให้ผู้ประกอบการมองหา “คอขวด” (Bottle Neck) ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการผลิต ยกตัวอย่างโรงงานผลิตน้ำดื่มที่สามารถผลิตได้วันละ 1,000 ขวด ควรต้องหาให้เจอว่าจำนวน 1,000 ขวดเกิดขึ้นที่กระบวนการไหน เช่น หากมีการผลิต 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกผลิตได้ 1,500 ขวด ขั้นตอนที่ 2 ทำได้ 1,000 ขวด และขั้นตอนที่ 3 บรรจุน้ำดื่มได้ 1,200 ขวด แสดงว่าคอขวดของการผลิตอยู่ที่ขั้นตอนที่ 2 หากอยากมียอดขายมากกว่า 1,000 ขวดก็ไปขยายการผลิตที่จุดที่ 2





     คำถามต่อมาคือ จะขยายการผลิตโดยไม่เพิ่มต้นทุนได้อย่างไร ถ้าหากพิจารณาจากการทำธุรกิจที่ใช้แรงงานเป็นหลัก การใช้วิธี Line Balancing ย้ายคนจากจุดที่มีกำลังการผลิตเกินอย่างขั้นตอนที่ 1 หรือขั้นตอนที่ 3 มาเพิ่มกำลังการผลิตที่ขั้นตอนที่ 2 มากขึ้น ก็จะทำให้ไลน์การผลิตเกิดความสมดุล กำลังการผลิตสูงขึ้นโดยที่ไม่ต้องเพิ่มต้นทุนอะไรเลย เป็นอีกหนึ่งเทคนิคการบริหารจัดการที่ผู้ประกอบการควรนำไปพิจารณา


     ในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว สิ่งที่ได้เพิ่มเติมจากการทำกระบวนการ Lean ในตอนนี้ ธุรกิจจะได้คนทำงานที่มีทักษะหลากหลายมากขึ้น (Multi-skill) หากมีการสลับสับเปลี่ยนหน้าที่ หรือความต้องการสินค้าเปลี่ยนก็สามารถสลับคนมาทำงานได้ทุกจุด ก็จะเป็นผลดีกับธุรกิจได้มากขึ้น
 
 

 www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​