คัมภีร์สู้โควิดที่ SME ทำได้! “รุ่งเรือง ซุปเปอร์มาร์เก็ต” ที่จริงจังจนมี How to สู้ไวรัสของตัวเอง

TEXT & PHOTO : นิตยา สุเรียมมา
 

 
 
Main Idea
 
  • วิกฤตไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายกิจต้องปรับตัว ไม่ว่าจะกิจการขนาดเล็กหรือใหญ่ เช่นเดียวกับ “รุ่งเรือง ซุปเปอร์มาร์เก็ต” ร้านค้าชุมชนเล็กๆ ย่านตลาดกิติพร อ้อมน้อย สมุทรสาคร ที่มีการปรับรูปแบบการให้บริการแก่ลูกค้าในช่วงไวรัสกำลังระบาดไม่ต่างจากธุรกิจขนาดใหญ่
 
  • วิธีการของพวกเขาเริ่มตั้งแต่มาตรการคัดกรองลูกค้าก่อนเข้าร้าน การกำหนดจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้เกิน 30 คน รวมถึงมาตรการทำความสะอาดที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้กิจการอยู่ได้ ลูกค้าปลอดภัย ในยุค New Normal
___________________________________________________________________________________________
 

     ตลอดระยะเวลากว่า 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับไวรัสโควิด-19 สิ่งหนึ่งที่มักเห็นได้จากผู้ประกอบการธุรกิจทั้งหลาย ก็คือการปรับตัวเพื่อให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปได้ ด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่างกันไป ตามแต่สรรพกำลังที่แต่ละคนมี 




     ไม่ต่างจาก “รุ่งเรือง ซุปเปอร์มาร์เก็ต” ร้านค้าชุมชนเล็กๆ ที่ค้าขายอยู่คู่ตลาดกิติพร อ้อมน้อย จังหวัดสมุทรสาครมานานกว่า 40 ปี นับเป็นอีกหนึ่งกิจการที่มีการปรับตัวได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการดีไซน์รูปแบบการคัดกรองลูกค้าก่อนเข้าร้านด้วยตัวเอง


     “เริ่มมาจากเมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ลูกค้าเริ่มกักตุนสินค้า เป็นช่วงที่ลูกค้าแย่งกันเข้ามาซื้อของมากกว่าปกติ จนทางร้านต้องตัดสินใจปิดร้านไป 2 วัน เพื่อเคลียร์คน เพราะเราเองก็กลัวโรคระบาดเหมือนกัน แต่คนซื้อเขาไม่ได้คิดแบบนั้น ทุกคนกลัวอดกลัวไม่มีอะไรจะกินมากกว่า” เจ๊เจี๊ยบหนึ่งในเจ้าของร้านเล่าย้อนเหตุการณ์ให้ฟังในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 กำลังเริ่มระบาดมากขึ้นในเมืองไทย กระทบต่อกิจการร้านค้าชุมชนเล็กๆ ของพวกเขา


     ก่อนจะเล่าถึงที่มาของการปรับรูปแบบการให้บริการให้ฟังต่อว่า


     “บังเอิญในช่วงที่หยุดไปนั้น เราไปเห็นไอเดียจากตลาดสดศาลายา คือเขายังเปิดให้บริการอยู่ แต่จะปิดทางเข้าทุกทางเลย แล้วให้เหลือทางเข้าแค่ช่องทางเดียว เพื่อคัดกรองคน เราเลยลองนำไอเดียนี้มาใช้กับที่ร้านบ้าง เริ่มจากทำลูกศรแปะที่พื้นทางเข้าทางออก จากนั้นก็ลองออกแบบวิธีคัดกรองลูกค้าก่อนเข้าร้าน บังเอิญมีตะกร้าสีส้มอยู่ เราก็เลยเอามากั้นทำเป็นทางเดินรูปตัวแอลให้ทยอยเข้า-ออกทางเดียว เพื่อตรวจเช็กลูกค้าทีละคน”




     ร้านรุ่งเรืองฯ ยังได้ออกกฎว่า ลูกค้าแต่ละคนที่จะเข้ามาซื้อสินค้าในร้านได้นั้น จะต้องมีการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก่อน จากนั้นจึงมีการวัดอุณหภูมิหรือสังเกตอาการว่าป่วยหรือไม่ หากปกติจึงจะสามารถเข้ามาใช้บริการในร้านได้ และต้องล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ก่อนเข้าร้านทุกครั้ง โดยทางร้านได้ตั้งเกณฑ์ขึ้นมาว่า เปิดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการอยู่ภายในร้านได้ไม่เกินจำนวน 30 คน โดยก่อนเข้ามาลูกค้าทุกคนจะได้รับตะกร้าใส่ของ 1 ใบ พร้อมหมายเลขที่เขียนกำกับเอาไว้แค่ 1 – 30 เท่านั้น




     “ผลตอบรับก็มีทั้งดีและไม่ดีนะ บางรายไม่ยอม เพราะเขาไม่อยากยุ่งยาก เราก็ออกไปคุยว่าถ้าไม่ทำตามกฏแบบนี้และเข้ามาใช้บริการ ร้านเราถูกปิดแน่นอน ส่วนคนที่เข้าใจและชมว่าคัดกรองดีก็มี ซึ่งพอลองคัดกรองแบบนี้แล้ว ก็ทำให้พนักงานในร้านไม่ต้องเหนื่อยมาก ได้มีเวลาเติมสินค้า ดูว่าสินค้าอะไรขาดเหลือบ้าง ก็ง่ายกับการบริหารจัดการของเรามากขึ้น คนก็ไม่แออัดจนเกินไป ช่วงแรกเลยเราจำกัดลูกค้าให้เข้าใช้บริการได้แค่ 20 คน และก็ขยับมาเป็น 25 พอสถานการณ์เริ่มดีขึ้น มาตรการต่างๆ เริ่มผ่อนคลายจึงเพิ่มขึ้นเป็น 30 คน ถามว่าจะเลิกทำแบบนี้เมื่อไหร่ ถ้ารัฐบาลปลดล็อกเมื่อไหร่ เราคงเลิกเมื่อนั้น เพราะต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาลด้วย ถึงเราจะเป็นร้านเล็กๆ ก็ตาม” เธอเล่า ก่อนจะบอกต่อถึงผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้น




     “ถามว่ายอดขายได้รับผลกระทบไหม ก็มีบ้าง เพราะลูกค้าเองหลายคนก็ต้องหยุดงานไป แต่เรามองว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ อย่างตอนน้ำท่วมปี 2554 ที่ต้องปิดร้านไปเกือบเดือน เราก็มองว่า ก็ดีทำให้เราได้หยุดพัก ได้ลองกลับมามองดูความต้องการที่แท้จริงของชีวิตบ้างจากที่ไม่เคยหยุดงานเลย หรืออย่างครั้งนี้ปกติร้านเราจะปิด 3 ทุ่มทุกวัน แต่พอมีประกาศเคอร์ฟิวทำให้ต้องขยับมาเป็น 2 ทุ่มครึ่ง ก็ทำให้เราได้ปิดร้านเร็วขึ้น ได้พักผ่อนมากขึ้นเช่นกัน” 





     นอกจากมาตรการคัดกรองลูกค้าเข้าร้าน ทางร้านยังได้เพิ่มมาตรการเรื่องความสะอาดมากขึ้นด้วย จากปกติที่ต้องกวาดถูทำความสะอาดร้านวันละ 2 รอบ ก็เพิ่มเป็นวันละ 3 ครั้ง คือเพิ่มช่วงระหว่างวันเข้าไปด้วย รวมถึงการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามพื้นและชั้นวางของต่างๆ ปิดร้านเสร็จ ก็ต้องเช็ดทำความสะอาดฆ่าเชื้ออีกครั้งด้วยแอลกอฮอล์ตามประตูจับ โต๊ะคิดเงิน  และตามจุดต่างๆ ที่คิดว่าต้องมีการแตะสัมผัสอยู่บ่อยๆ


     ไปจนถึงการปรับตัวเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้ามาสั่งซื้อของออนไลน์ล่วงหน้า โดยการถ่ายรูปสินค้า ระบุขนาด สี และจำนวนที่ต้องการ พร้อมชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ โดยจะแวะมารับที่หน้าร้าน หรือบริการจัดส่งถึงบ้านด้วยวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ได้ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโรคนั่นเอง




     ไม่เพียงการเพิ่มมาตรการพิเศษ เพื่อนำมาใช้บริหารจัดการวิกฤตครั้งนี้เท่านั้น ซึ่งตามปกติแล้วร้านรุ่งเรืองฯ มักดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผู้บริโภคเสมอมา สังเกตได้จากการเปิดนิทานธรรมะที่มีเนื้อหาฟังเข้าใจง่ายให้ลูกค้าได้ฟังระหว่างมาเลือกซื้อของ เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย หรือแม้แต่การกำหนดราคาสินค้าต่างๆ เองที่มักมีราคาขายปลีกต่ำกว่าในตลาดทั่วไปอยู่เสมอ




     “เราโตมาจากร้านตึกแถวเล็กๆ ห้องเดียว และแถวนี้ก็มีโรงงานเยอะ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นพนักงานที่ใช้แรงงาน ซึ่งด้วยอัตราค่าแรงที่ได้รับก็ทำให้เขาอยู่ได้ยากอยู่แล้ว ดังนั้นสินค้าไหนที่คนซื้อกันเยอะๆ เพราะจำเป็นต้องใช้ตลอด เช่น ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน นมผง เราก็อาศัยซื้อปริมาณเยอะหน่อย หรือซื้อเงินสด เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ถูกลง เพื่อนำมาขายต่อให้ลูกค้าในราคาที่ถูกกว่า ถึงจะเล็กน้อย แต่เรามองว่ายุคนี้อะไรช่วยเหลือกันได้ก็ควรทำ และการที่เราอยู่ตรงนี้ได้ก็เพราะลูกค้าด้วย” เจ๊เจี๊ยบกล่าวทิ้งท้าย


 

     และนี่คืออีกเรื่องราวจากธุรกิจเล็กๆ ที่มีการปรับตัวจากวิกฤตโควิด-19 สิ่งที่ร้านรุ่งเรืองฯ ทำไม่ใช่เพียงแค่วิธีการปรับตัวเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้เท่านั้น แต่ยังทำให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้วไม่ว่าธุรกิจจะเล็กหรือใหญ่หากมีความจริงใจให้ความสำคัญต่อลูกค้าและสิ่งที่ทำอยู่ ไม่ว่าจะต้องผ่านวิกฤตมาสักกี่ครั้ง สุดท้ายก็จะสามารถผ่านไปได้ด้วยดีเสมอ
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น