ง่ายๆ แค่ 3 ข้อ..หนทาง ‘รอด+รุ่ง’ ที่ร้านอาหารยุคนี้ต้องมี

TEXT :    นิตยา สุเรียมมา
 
 

 
Main Idea
 
  • ธุรกิจร้านอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างมาก นอกจากต้องบริหารจัดการรายได้ให้เข้ามาแล้ว ยังต้องบริหารจัดการต้นทุนให้ดีอีกด้วย
 
  • และอีกสิ่งสำคัญที่ทิ้งไม่ได้ ก็คือการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งไม่ว่าเหตุการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคก็ยังต้องการรสชาติอาหารที่อร่อย ราคาสุดคุ้ม เหมือนเช่นเดิม
 



     ในยุคข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ เป็นอีกครั้งที่ทั้งผู้ประกอบการธุรกิจและผู้บริโภคต้องพยุงตัวเองให้อยู่รอดผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้ ดังนั้นอะไรที่ประหยัดได้ก็ประหยัดกันไป แต่สำหรับเจ้าของกิจการแล้ว เท่านั้นอาจยังไม่เพียงพอ เพราะไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่และต้องบริหารจัดการให้ดี ก็คือ การตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะในธุรกิจร้านอาหาร ความอร่อย ราคาสุดคุ้ม ยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการอยู่เสมอ ไม่ว่ายุคสมัยใด วิกฤต หรือไม่วิกฤตก็ตาม เหมือนเช่นกับ 3 ข้อง่ายๆ ที่เรานำมาฝากในวันนี้ ใช้เมื่อไหร่ก็ “รอด” และ “รุ่ง” ได้อย่างแน่นอน
 
 

 
  • อร่อย
               
     สิ่งแรกเลยที่ร้านอาหารหรือทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารต้องมี นั่นคือ “ความอร่อย” เพราะต่อให้คุณทำอาหารออกมาคุณภาพดี หรือมีประโยชน์มากแค่ไหนก็ตาม แต่โดยพื้นฐานของผู้บริโภคแล้ว สิ่งแรกที่ต้องการจากการบริโภคอาหารที่นอกเหนือจากกินให้อิ่มท้อง ก็คือความอร่อย ลองสังเกตดูเหมือนกับหลายร้านที่ไม่ว่าจะอยู่ไกลหรือต้องดั้นด้นไปลำบากแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าอร่อยแล้ว ก็ไม่ยากที่ลูกค้าจะออกไล่ล่าและติดตามไปถึง


     โดยความอร่อยที่ว่านี้ อาจไม่ได้จบลงเพียงแค่การปรุงรสชาติให้อร่อยเท่านั้น แต่อาจต้องคำนึงถึงการส่งต่อและส่งมอบความอร่อยในรูปแบบต่างๆ ให้กับลูกค้าด้วย เช่น หากลูกค้าต้องการซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน หรือสั่งผ่านเดลิเวอรี เราจะออกแบบรูปแบบการบรรจุหรือวิธีจัดการกับอาหารอย่างไร เพื่อให้ลูกค้าได้รับรู้รสชาติความอร่อยและประสบการณ์ ไม่แตกต่างจากการมากินที่ร้าน ในส่วนนี้อาจนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาได้ ไม่ว่านวัตกรรมด้านอาหาร หรือบรรจุภัณฑ์ หีบห่อ ก็ตาม
 



 
  • ประหยัด คุ้มค่า
     
     ในข้อนี้จริงๆ แล้วไม่ว่ากับธุรกิจอะไรหรือสินค้าไหน ก็เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคล้วนต้องการอยู่แล้ว คำว่าประหยัดและคุ้มค่านั้น อาจไม่ได้หมายถึงราคาถูกเสมอไป แต่เป็นเรื่องของ ความคุ้มค่า คุ้มราคา มากกว่า โดยเฉพาะในวิกฤตเช่นนี้หากผู้ประกอบการสามารถช่วยผู้บริโภคประหยัดได้ ย่อมได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ซึ่งการจะช่วยลูกค้าประหยัดได้นั้น ผู้ประกอบการร้านอาหารอาจมามองในเรื่องของการบริหารจัดการต้นทุนของตัวเอง ว่ามีทางใดบ้างที่จะพอช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ อาจหมายถึงต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนการจัดส่ง การบริหารจัดการต่างๆ รวมถึงการนำเสนอรูปแบบราคาขายที่คุ้มค่าเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้บริโภคเอง ขณะเดียวกันก็เพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจขึ้นด้วย ถึงจะได้กำไรน้อย แต่อาจได้ปริมาณ และความถี่ในการซื้อมากกว่า
 



 
  • เก็บรักษาได้นาน

     ข้อสุดท้ายที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ก็คือ การบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบ โดยเฉพาะในยามวิกฤตเช่นนี้ที่ลูกค้าหาย กำไรหด แต่ธุรกิจก็ยังต้องดำเนินไปต่อ เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าในแต่ละวันจะขายได้มากน้อยแค่ไหน หรืออยู่ดีๆ วันหนึ่งจะมีคู่แข่งผุดขึ้นมาจากที่ไหน ดังนั้นการที่เราพยายามบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบให้ดี ตั้งแต่การวางแผนสั่งซื้อ การบริหารจัดการสต็อกเข้า-ออก ไปจนถึงการนำนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ ไม่ว่าอุปกรณ์เครื่องมือ การออกแบบกระบวนการผลิต ไปจนถึงการวิจัยเพื่อช่วยยืดอายุของอาหารออกไปได้สำเร็จและปลอดภัย นอกจากจะช่วยประหยัดต้นทุนแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการขายที่มากขึ้นอีกด้วย


     และจริงๆ แล้วนับเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจอาหารเลยก็ว่าได้ ที่ชี้ชะตาของธุรกิจว่าจะไปรอดไม่รอดได้อย่างไร บางครั้งจะดูว่าธุรกิจไหนสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็เฉือนชนะกันตรงนี้ เพราะหลายครั้งที่อาจขายได้ดี แต่กลับต้องขาดทุน หรือทำกำไรได้น้อยจากต้นทุนวัตถุดิบที่ต้องสูญเสียไป
 


         
      
     และนี่คือ 3 ข้อง่ายๆ ที่หากสามารถทำได้ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร สามารถอยู่รอดปลอดภัยได้ในยุคที่โควิดครองเมืองเช่นนี้ รวมถึงเป็นแนวทางการสร้างโอกาสเติบโตต่อไปให้กับธุรกิจในวันข้างหน้าได้อีกด้วย
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน