แพ้ไม่ได้! ส่อง 5 วิธีรับมือวิกฤต ที่ร้าน ‘รสมือแม่’ ใช้ต่อกรกับไวรัส

TEXT : พิมพ์ใจ พิมพิลา





Main Idea
 
 
  • "รสมือแม่" ร้านอาหารต้นตำรับเมืองเหนือที่ไม่เพียงเสิร์ฟความอร่อย หากแต่ยังมาพร้อมคุณภาพทั้งในเรื่องวัตถุดิบและกระบวนการทำที่ใส่ใจรายละเอียดจนกลายเป็นร้านอาหารเหนือขวัญใจชาวกรุงมานานกว่า 15 ปี
 
  • ในปัจจุบันที่นี่ก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ต่างจากธุรกิจอื่น มาดูกันว่าธุรกิจร้านอาหารของรสมือแม่จะมีเคล็ดลับในการแก้ไขปัญหาใหญ่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยไม่ต้องเจ็บตัวหรือสูญเสียใครไปกับไวรัสเจ้าปัญหานี้




       "รสมือแม่" เป็นร้านอาหารต้นตำรับเมืองเหนือที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 15 ปีแล้ว โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากเจ้าของร้านอย่าง “ภัคพงศ์ พึ่งกัน” อดีตสัตวแพทย์ ที่ต้องการสร้างธุรกิจร้านอาหารให้กับคุณแม่ที่มีสูตรต้นตำรับอาหารเหนือหลากหลายเมนูมาเสิร์ฟให้กับลูกค้าชาวกรุง แน่นอนว่าตลอดการทำธุรกิจร้านอาหารหลายปีที่ผ่านมาเขาต้องเผชิญปัญหาในหลายๆ อย่าง ตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจ แต่ก็สามารถผ่านมาได้ทุกครั้ง





      หากแต่ในปีนี้ภัคพงศ์กลับต้องเจอกับปัญหาใหญ่อย่างโควิด-19 เรามาดูกันว่าร้านอาหารเหนือแห่งนี้จะมีวิธีรับมือกับไวรัสตัวร้ายในแบบรสมือแม่อย่างไร ไปติดตามกัน!

 
  • ตั้งสติและตรวจสอบตนเองก่อนแก้ไขปัญหา แล้วจะไม่แพ้
              

       ในสถานการณ์วิกฤตนี้ไม่ว่าธุรกิจไหนต่างก็ได้รับผลกระทบกันทั้งสิ้น แน่นอนว่าสิ่งที่ภัคพงศ์ทำคือการตั้งสติและสำรวจธุุรกิจของตนเองว่า มีความพร้อมในการรับมือกับวิกฤติมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นศึกษาธุรกิจของตัวเองให้ชัดเจน จัดสรรเงินทุนในการรับมือในแบบที่ไม่ทุ่มไปทั้งหมด หรือแม้กระทั่งวิเคราะห์ฐานลูกค้าว่ามีมากน้อยแค่ไหนไปพร้อมกับการรับฟังความคิดเห็นจากครอบครัว คนรอบข้างว่ามีมุมมองอย่างไรในการฝ่าฟันปัญหาที่เกิดขึ้น และเมื่อมีความพร้อมและเชื่อว่าตนเองจะไม่มีทางหยุดธุรกิจเพียงเพราะปัญหาไวรัสนี้ ก็เดินหน้าต่อด้วยความมั่นใจ
 



 
  • พนักงานนั้นสำคัญ คุยก่อนว่าไหวไหม ถ้าไม่ไหวก็พักก่อน
           

       การพูดคุยกับพนักงานนั้นสำคัญมากเพราะถ้าไม่มีพนักงานหรือพนักงานไม่มีใจจะสู้ไปด้วยกัน อย่างไรก็ไม่มีทางไปรอด ดังนั้นเจ้าของร้านรสมือแม่จึงได้มีการสอบถามกับพนักงานว่ายังอยู่ต่อและมีความพร้อมหรือไม่ เพราะถ้าไม่ไหวเขาก็จะให้โอกาสพนักงานทุกคนให้ไปเจอสิ่งที่ดีกว่า แต่โชคดีที่ทุกคนเลือกต่อสู้ไปด้วยกัน ทุกอย่างจึงดำเนินต่อไปได้ไม่ยากนัก อีกทั้งภายในร้านยังมีการปรับปรุงให้เป็นไปตามนโยบายของภาครัฐในการรองรับลูกค้าช่วงโควิด ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาด การเว้นระยะห่างของพื้นที่ตามความเหมาะสม การสวมหน้ากากเพื่อความปลอดภัย ซึ่งล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ใช่แค่ลูกค้าต้องปลอดภัย แต่พนักงานก็ต้องปลอดภัยไม่ต่างกัน
 



 
  • ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น

       ร้านอาหารรสมือแม่ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่นำเอาแพลตฟอร์มออนไลน์มาใช้กับร้านของตนเอง โดยในปัจจุบันรายได้หลักของร้านอยู่ที่การสั่งซื้อผ่านออนไลน์ทั้งสิ้น เนื่องจากช่วงแรกของโควิดรัฐบาลได้สั่งให้มีการปิดร้านอาหารชั่วคราว ทำให้รายได้ของร้านที่เหลืออยู่จึงมาจากออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นแกร็บ และฟู้ดแพนด้าเท่านั้น จนเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงจึงได้เพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าสามารถนั่งทานในร้าน หรือเลือกซื้อกลับบ้านไปด้วยได้ และหลังจากนั้นก็ได้มีการปรับแพ็กเกจจิ้งเพื่อให้ลูกค้าทานได้สะดวกสบาย แถมยังใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อโลกอีกด้วย
 
 
  •  คงไว้ซึ่งคุณภาพและความหลากหลายของเมนู


        ถึงแม้ว่าจำนวนออเดอร์ของลูกค้าจะลดลงไปมาก แต่สิ่งที่ภัคพงศ์ทำคือความคงไว้คือคุณภาพของอาหาร เพราะหากลูกค้ามากินอาหารที่ร้านแล้วรสชาติหรือคุณภาพเกิดไม่เหมือนเดิม ลูกค้าก็อาจจะไม่มาอุดหนุนรสมือแม่อีกก็เป็นได้ และอีกสิ่งสำคัญคือลูกค้าจะต้องรู้สึกคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายมาทุกครั้ง


       “เราจะไม่มีลดปริมาณอาหาร และคงไว้ซึ่งคุณภาพเหมือนเดิมทุกอย่าง ถึงต้นทุนจะยังสูง กำไรจะเหลือหรือไม่ก็ค่อยว่ากันอีกที เพราะถ้าเกิดว่าลดปริมาณลง หรือลดคุณภาพของวัตถุดิบ มันจะเกิดผลกระทบในระยะยาวมากกว่า แล้วชื่อเสียงที่สั่งสมมาเป็นสิบกว่าปีมันก็จะเสียไปด้วยเพราะฉะนั้นเราต้องคงไว้ซึ่งมาตรฐานเดิมให้ได้”
 



 
  • ปรับเปลี่ยนแก้ไขเพื่อให้ร้านอยู่ได้ และเราต้องอดทน!


        ในระหว่างการทำธุรกิจมากว่า 10 ปี ร้านรสมือแม่ มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะพวกเขาเชื่อว่า ร้านอาหารไม่สามารถอยู่นิ่งได้ แต่จะต้องแก้ไขปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ทว่าไม่ได้เป็นการเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ หากแต่เป็นการค่อยๆ แต่งตัวให้ร้านทันยุคทันสมัย ทั้งเรื่องของวัตถุดิบ เมนูอาหารใหม่ๆ ขณะที่อะไรที่ต้องรักษาความเป็นดั้งเดิมอยู่ ก็จะยังคงเอสไว้






        โดยล่าสุดภัคพงศ์ได้มีการติดต่อในการขยายร้านให้เข้าไปในในศูนย์อาหาร เพื่อที่จะสามารถขยายจำนวนลูกค้าและออเดอร์ให้มากขึ้นกว่าเดิม สิ่งสุดท้ายที่เขาเน้นย้ำกับผู้ประกอบการทุกคนคือ ความอดทนต่อปัญหาตรงหน้าและจงเชื่อว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติในสักวันหนึ่ง
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน