ชวน SME ส่องสถานการณ์ผู้บริโภค ‘กิน ช้อป ใช้’ หลังคลายล็อกดาวน์

 
 
Main Idea
 
  • ภาครัฐได้มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ในระยะที่หนึ่งไปเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม  ระยะที่สองเมื่อวันที่ 17  พฤษภาคม  และล่าสุดระยะที่สาม ในวันที่  1 มิถุนายน เพื่อให้กิจการและกิจกรรมหลายประเภทสามารถกลับมาให้บริการได้อีกครั้ง
 
  • หลังได้เริ่มออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน ผู้คนมีพฤติกรรมในการ ‘กิน ช้อป ใช้’ อย่างไร บรรยากาศกลับมาคึกคักแค่ไหน มีอะไรเป็นสัญญานที่ดีบ้าง ไปหาคำตอบจากบทวิเคราะห์นี้กัน
 
___________________________________________________________________________________________
 
 

     EIC (Economic Intelligence Center) โดย ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ข้อมูลออนไลน์แบบ High Frequency ที่สามารถบอกถึงสถานการณ์ปัจจุบันได้เร็วกว่าข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคทั่วไป พบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในไทยบางส่วนเริ่มกลับมาหลังการผ่อนคลายล็อกดาวน์ โดยภาครัฐได้มีการผ่อนคลายในระยะที่หนึ่งไปเมื่อ 3 พฤษภาคม และระยะที่สองเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในระยะที่สาม 1 มิถุนายน ทำให้กิจการหลายประเภทสามารถกลับมาให้บริการได้อีกครั้ง


     สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลต่อวิถีชีวิตและพฤติกรรม ‘กิน ช้อป ใช้’ ของผู้บริโภคอย่างไร มีอะไรที่กำลังส่งสัญญานดีๆ ถึงผู้ประกอบการ SME บ้าง ไปติดตามกัน 



 
 
  • มาตรการผ่อนคลาย ดึงคนออกจากบ้านกันมากขึ้น

     ในวันที่ประเทศไทยยังมีมาตรการและขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่กับบ้าน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างก็เหมือนหยุดชะงักไป แต่ในวันที่เริ่มมีมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ผู้คนก็ได้เวลาออกจากบ้านกันมากขึ้น 


     ข้อมูล Community Mobility Reports ของ Google บ่งชี้ว่า คนเดินทางออกนอกบ้านมากขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์ โดย Google ได้เปิดเผยข้อมูลการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ของคนในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเดินทางออกนอกบ้านของคนไทยได้ลดลงอย่างมากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สูง และยังมีการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด เช่น การเดินทางไปยังสถานีขนส่งลดลงเกือบ -70 เปอร์เซ็นต์ หรือการเดินทางไปยังสถานที่ประเภทพื้นที่ค้าปลีกและสันทนาการ เช่น ห้างสรรพสินค้าที่ลดลงกว่า -50 เปอร์เซ็นต์  ในช่วงประมาณต้นเดือนเมษายน เทียบกับปริมาณการเดินทางในช่วงต้นปีที่ผ่านมา 




     แต่หลังจากมาตรการล็อกดาวน์เริ่มผ่อนคลาย การเดินทางออกนอกบ้านไปยังสถานที่ต่างๆ จึงเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด อย่างไรก็ดี จากข้อมูลล่าสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม พบว่า กิจกรรมการเดินทางในภาพรวมส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับตัวเลขช่วงต้นปี โดยมีเพียงการเดินทางไปยังสถานที่ประเภทร้านค้าและร้านขายยา เท่านั้นที่กลับมาเท่าช่วงก่อนล็อกดาวน์ ขณะที่การเดินทางออกจากบ้านไปยังสถานที่ต่างๆ ยังคงลดลงเฉลี่ย -22.8 เปอร์เซ็นต์ ถึง -39.5 เปอร์เซ็นต์


 
  • ธุรกิจเริ่มผ่อนคลาย คนเริ่มออกมาช้อปและวางแผนเที่ยวมากขึ้น

      ในด้านของผู้ประกอบการ และพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค  EIC ทำการเก็บข้อมูลจำนวนกิจการที่ลงทะเบียนจากการเชื่อมต่อ Application Program Interface (API) กับเว็บไซต์ไทยชนะ.com ในกรุงเทพมหานครและอีก 12 จังหวัดที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ พบว่า จำนวนกิจการที่ให้บริการในพื้นที่ดังกล่าวมีการลงทะเบียนรวมในวันที่ 27 พฤษภาคม อยู่ที่ 70,425 กิจการ เพิ่มขึ้นจาก 40,537 กิจการ ในวันที่ 20 พฤษภาคม ซึ่งบ่งชี้ว่า มีการเปิดให้บริการที่มากขึ้น  จากข้อมูลดังกล่าว EIC มีข้อสังเกตว่า จำนวนร้านค้าในห้างสรรพสินค้าในช่วงแรกหลังเริ่มคลายล็อกดาวน์จะมีสัดส่วนค่อนข้างสูง โดยในวันที่ 20 พฤษภาคม มีจำนวนถึง 26,450 ร้านค้า คิดเป็นสัดส่วน 65.2 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนการลงทะเบียนทั้งหมดในพื้นที่ดังกล่าว สะท้อนถึงการที่ห้างสรรพสินค้าต่างๆ มีการเตรียมความพร้อมในการกลับมาเปิดให้บริการ 


     อย่างไรก็ดี ร้านค้าประเภทอื่นๆ ก็ได้ทยอยเปิดให้บริการตามมาด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนร้านที่สูงกว่าอย่างชัดเจนในสัปดาห์ถัดมา โดยมีการเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ขณะที่ร้านค้าในห้างฯ เพิ่มขึ้นที่ 31.0 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเดียวกัน ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากการที่กิจการโดยทั่วไปเริ่มมีการเรียนรู้แนวทางปฏิบัติในการให้บริการในสภาวะ New Normal กันมากขึ้นนั่นเอง




     สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือสถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มมีสัญญานฟื้นกลับมา โดยข้อมูลห้องพักที่เปิดให้จองออนไลน์บนเว็บไซต์ TripAdvisor.com ที่เคยมีจำนวนลดลงไปสูงสุดถึง -52.1 เปอร์เซ็นต์  เมื่อเทียบกับช่วงเริ่มต้นของล็อกดาวน์ก็เริ่มกลับมามีจำนวนข้อมูลเพิ่มมากขึ้นในระยะหลัง โดยมีอัตราการเปลี่ยนแปลงเป็นลบที่น้อยลงเหลือ -27.1 เปอร์เซ็นต์ (ณ วันที่ 28 พฤษภาคม) สะท้อนการกลับมาเปิดกิจการของโรงแรม  นำโดยกลุ่มโรงแรม 3 ดาวลงไปและ Hostel (Budget) ขณะที่โรงแรมระดับ 4 และ 5 ดาว (luxury) ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการพึ่งพาลูกค้าต่างชาติที่ยังมีข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศนั่นเอง



 
  • การจ้างงานในธุรกิจท่องเที่ยวและค้าปลีกเริ่มกลับมา

     ในส่วนของสถานการณ์ด้านการจ้างงาน ข้อมูลจาก JobsDB.com แสดงการฟื้นตัวของการเปิดรับสมัครงานในธุรกิจท่องเที่ยวและกลุ่มค้าปลีก (Consumer Retail) ที่เริ่มกลับมาดำเนินการอีกครั้ง 


     โดย EIC ทำการ Web Scraping ข้อมูลจากเว็บไซต์ JobsDB.com ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ในช่วงสัปดาห์ล่าสุดของข้อมูล (วันที่ 21-27 พฤษภาคม) จำนวนประกาศรับสมัครงานรวมเพิ่มขึ้น 11.0 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนคลายล็อกดาวน์ระยะที่หนึ่ง (วันที่ 26 เมษายน-2 พฤษภาคม) และเป็นการเพิ่มขึ้นในหลายประเภทธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และ Consumer Retail เช่น เสื้อผ้า ค้าปลีก ที่มีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าธุรกิจประเภทอื่นๆ สอดคล้องกับการกลับมาดำเนินการของธุรกิจเหล่านี้หลังจากที่ถูกจำกัดจากมาตรการล็อกดาวน์ อย่างไรก็ดี จำนวนประกาศรับสมัครงานโดยเฉลี่ยในปัจจุบันในภาพรวมยังต่ำกว่าระดับในช่วงเริ่มมาตรการล็อกดาวน์ (วันที่ 21–27 มี.ค.) อยู่ถึง -25.4 เปอร์เซ็นต์


 
  • สัญญานดีเริ่มมา แต่ยังใช้เวลากว่าจะกลับสู่จุดเดิม 
     แม้การผ่อนคลายล็อกดาวน์ จะเริ่มเห็นสัญญานของการฟื้นตัว แต่พบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่จะมีโควิด-19 ซึ่ง EIC คาดว่า จะใช้เวลานานในการกลับไปสู่จุดเดิม โดยยังต้องเฝ้าระวังการระบาดระลอกที่สอง กิจกรรมต่างๆ ตามข้อมูลข้างต้นทั้งการเดินทางออกนอกบ้าน การให้บริการของห้างร้านและโรงแรม ตลอดจนการเปิดรับสมัครงานออนไลน์ยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตค่อนข้างมาก แม้จะฟื้นตัวมาบ้างในระยะหลัง และเนื่องจากการดำเนินไปของกิจกรรมต่างๆ ในช่วงหลังจากนี้ มีแนวโน้มต่างไปจากเดิม เช่น การทำงานที่บ้านผ่านระบบออนไลน์มีสัดส่วนมากขึ้น การให้บริการลูกค้าในพื้นที่ค้าปลีก ร้านอาหารและโรงแรม ที่มีการจำกัดจำนวนและระยะห่างมากขึ้น ประกอบกับในฝั่งของผู้บริโภคเองก็ยังมีอุปสรรคจากทั้งกำลังซื้อที่ลดลงและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมไปถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังทำได้ยาก 


     ด้วยเหตุนี้ EIC จึงมองว่า หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะส่วนที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะยังต้องใช้เวลานานก่อนจะฟื้นกลับไปยังจุดเดิม ทั้งนี้อีกปัจจัยสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญคือ การเฝ้าระวังการระบาดของ โควิด-19 ระลอกที่สอง ที่หากเกิดขึ้นจะนำไปสู่การกลับมาของมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้วทรุดตัวลงมากกว่าเดิมนั่นเอง
 

     อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการ SME แล้ว การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทั้งสามระยะ ทำให้หลายกิจการเริ่มกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ซึ่งนับเป็นสัญญานที่ดีที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดและประคับประคองตัวเองท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตในวันนี้ได้ แม้ทุกอย่างอาจจะยังไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ในเร็ววัน แต่ถ้า SME ยังพร้อมปรับตัวและเข้มแข็ง ก็จะยังมีโอกาสฟื้นคืนกลับมาแข็งแกร่งได้ หลังไวรัสผ่านพ้น 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน