เปลี่ยนขนมของฝาก มาขายไส้วัตถุดิบ โมเดลสู้โควิดฉบับ “แม่เอย”

TEXT & PHOTO : นิตยา สุเรียมมา
 


 

Main Idea
 
  • “แม่เอย” แบรนด์ของฝากที่หันมาเอาตัวรอดด้วยการเปลี่ยนจากการทำขนมเป็นของฝาก มาขายไส้วัตถุดิบทดแทน หลังได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 ฉุดยอดคำสั่งซื้อแทบจะเป็นศูนย์
 
  • การปรับตัวครั้งนี้นอกจากช่วยกอบกู้วิกฤตให้กับพวกเขาแล้ว ยังนับเป็นการส่งต่ออาชีพ และสร้างรายได้ให้กับผู้อื่นด้วย ช่วยนำพาใครหลายคนข้ามผ่านวิกฤตไปด้วยกัน
 
 
              

     จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ธุรกิจขนมของฝาก หนึ่งในแบรนด์ที่หลายคนคุ้นเคยดีคือ “แม่เอย” ขนมของฝากไทยที่ดำเนินกิจการมานานกว่า 19 ปี โดยมีโรงงานผลิตและหน้าร้านตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม รวมถึงส่งขายไปทั่วประเทศ และอีกหลายประเทศทั่วโลก





     วันนี้พวกเขากลายเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยจากไวรัสโควิด-19 โดยยอดคำสั่งซื้อแทบจะกลายเป็นศูนย์ ทุกอย่างต้องหยุดชะงักลง หลังการมาถึงของวิกฤตไวรัส


     หนึ่งการปรับตัวของพวกเขาคือการพลิกเกมธุรกิจโดยเปลี่ยนจากขายขนมของฝาก มาเป็นขายไส้วัตถุดิบคุณภาพทดแทน ซึ่งนอกจากจะเป็นหนทางกู้วิกฤตให้กับตัวเองแล้ว ยังเป็นการต่อยอดสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับ SME และบุคคลทั่วไปที่ต้องการหาอาชีพให้กับตนเองในยามวิกฤตเช่นนี้ด้วย
 



 
  • วิกฤตไวรัส ทำยอดขายหดหาย
              

     “จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เรารับมาเต็มๆ เลย คือ ไม่มีออร์เดอร์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ในประเทศ ห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรดต่างๆ ก็ปิดหมด เพิ่งกลับมาขายได้ไม่นานนี้เอง ส่วนตามร้านขายของฝากและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ต้องพูดถึง หายหมด  ยอดต่างประเทศก็งด ในสนามบินเองก็ปิด ทุกอย่างนิ่งไปหมด ทำให้ยอดขายของเราลดลงกว่า 80 – 90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว”


     “ดิศรณ์ มาริษชัย” กรรมการผู้จัดการ บริษัทขนมแม่เอย - เปี๊ยะ แอนด์ พาย (2003) จำกัด เล่าถึงผลกระทบของธุรกิจในช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้นให้ฟัง
              






     ซึ่งหากย้อนไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน แบรนด์ขนมแม่เอยเริ่มต้นธุรกิจขึ้นเมื่อปี 2544 เกิดขึ้นมาจากความคิดที่อยากผลิตขนมไทยคุณภาพออกจำหน่าย กระทั่งปี 2546 จึงได้มีการจัดตั้งเป็นบริษัทขึ้นมา โดยขนมที่สร้างชื่อให้กับแบรนด์แม่เอยจนเป็นที่รู้จักดี คือ ขนมเปี๊ยะและพาย ที่ดัดแปลงวัตถุดิบจากพืชผลเกษตรไทยมาทำเป็นไส้ต่างๆ ขึ้นมา จนแตกไลน์ต่อยอดเป็นขนมไทยอื่นๆ ในเวลาต่อมา โดยใช้นวัตกรรมในการผลิตจนสามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น อาทิ ข้าวต้มมัด เบเกอร์รี่ ขนมแกงบวดต่างๆ เช่น แกงบวดมัน แกงบวดเผือก แกงบวดถั่วดำ ในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ทันสมัย ยังคงเอกลักษณ์รสชาติแบบไทยๆ และไม่หวานมากเกินไป
 
 
  • แตกกอธุรกิจใหม่ จากฐานธุรกิจเดิม
              
     หลังจากเกิดวิกฤตโรคระบาดขึ้น ทำให้ยอดหดหายไป วิธีการที่ดิศรณ์นำมาใช้กอบกู้วิกฤตให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ นั่นคือ การปรับกระบวนการผลิตจากทำเป็นสินค้าสำเร็จรูปมาเป็นการผลิตเพื่อขายเป็นไส้วัตถุดิบต่างๆ แทน อาทิ เผือกกวน มันกวน สัปปะรด มะตูม เป็นต้น





     เขาเล่าว่า เดิมมีการผลิตเพื่อส่งให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่อยู่แล้ว แต่หลังจากเกิดวิกฤตทำให้ยอดการสั่งซื้อลดน้อยลง จึงหันมาผลิตและปรับรูปแบบการจัดส่ง ปริมาณ และราคาที่เหมาะกับผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ที่ต้องการสร้างอาชีพแทน โดยแนวทางดังกล่าวนี้ส่วนหนึ่งได้รับคำแนะนำและสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการ “แตกกอผู้ประกอบการ” ที่เข้ามาช่วยปรับกลยุทธ์การผลิต แปรรูป และต่อยอดผลิตภัณฑ์ขึ้นมา รวมถึงให้คำปรึกษาในช่องทางการตลาด
              




     “จริงๆ มันเกิดจากปัญหาวัตถุดิบล้นสต็อกด้วย ในเมื่อเราไม่สามารถขายสินค้าออกไปได้เหมือนเก่า รายใหญ่ๆ ที่เคยสั่งก็ลดปริมาณลง จากที่เคยขายส่งเป็นวัตถุดิบล็อตใหญ่ เราก็เริ่มมองลูกค้ารายย่อยแทน ซึ่งด้วยสถานการณ์เช่นนี้ หลายคนต้องตกงานบ้าง หรืออยากหารายได้เสริมบ้าง เราจึงคิดว่าการที่เราหันมาขายสินค้าให้กับรายย่อยมากขึ้น  นอกจากเป็นการช่วยกระจายสินค้าของบริษัทออกไปแล้ว เรายังได้ช่วยต่อยอดสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับคนที่เขาอยากเริ่มต้นธุรกิจด้วย แทนที่จะรอแต่เจ้าใหญ่ๆ สั่งทีเป็นตัน ซึ่งไม่รู้ว่าจะกลับมาสั่งได้อีกเมื่อไหร่ สู้หาคนร้อยคนมาซื้อ แต่ได้ยอดเท่ากับ 1 ตันดีกว่า โดยเขาจะสั่งซื้อ 1 ตัน 1 ลัง หรือ 1 กิโลกรัม ราคาก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก





     “ซึ่งมีเงินแค่ไม่กี่ร้อยบาท เขาก็สามารถเริ่มต้นกิจการเล็กๆ ของตัวเองได้ แล้ว ขอแค่ขยัน เพราะทุกอย่างทำพร้อมไว้หมดแล้ว แค่เขาเอาไส้ไปใส่ทำเป็นขนมปังสังขยา หรือซาลาเปาออกมาก็ได้แล้ว เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และเป็นทางลัดที่สุดแล้ว เหมือนถ้าเขาอยากได้น้ำตาล ก็ไม่จำเป็นต้องปลูกอ้อย เพื่อให้ได้น้ำตาล แค่เดินไปมินิมาร์ทก็ได้มาแล้ว และในความเป็นน้ำตาลไม่ว่าจะกาแฟแก้วละร้อยในโรงแรมหรือกาแฟทั่วไปแก้วละ 30 - 40 บาท ก็ใช้น้ำตาลจากโรงงานผลิตเดียวกันทั้งนั้น แถมไม่ต้องยุ่งยากในการจัดเก็บด้วย เพราะเราทำใหม่ทุกวัน ทุกอย่างเกิดขึ้นมาได้จากการที่เราลดทิฐิลง  เพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ และนำกระแสเงินสดเข้ามา” เขาเล่า

 


 
  • ต่อยอดจากหวาน สู่คาว
              
     จากแนวคิดดังกล่าวส่งเสริมกระตุ้นยอดขายให้กับไส้ขนมของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เฉลี่ยคือ วันละ 1 ตัน โดยนอกจากผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไปแล้ว ไส้ขนมจากแม่เอยยังสามารถสร้างงานและรายได้เสริมให้กับพนักงานและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย ซึ่งช่องทางหลักที่ขนมแม่เอยใช้จำหน่ายสินค้าและสร้างรายได้กลับมาให้บริษัท คือ ช่องทางออนไลน์ มีจำหน่ายทั้งส่วนที่เป็นขนมสำเร็จรูป และไส้วัตถุดิบต่างๆ


     นอกจากตัวขนม ในอนาคตดิศรณ์ยังคิดทำเป็นอาหารไทยสำเร็จรูปออกจำหน่ายด้วย โดยใช้โมเดลแบบเดียวกัน คือ เพื่อเป็นวัตถุดิบให้กับร้านกาแฟ คาเฟ่ และร้านอาหารต่างๆ ที่อยากเพิ่มเมนูอาหารและขนมในรูปแบบสำเร็จรูปที่ง่าย แค่ฉีกซอง อุ่นร้อนก็สามารถรับประทานได้เลยในทันที
              




     “เรากำลังคิดว่าถ้าทุกตึกของไทย มีตัวแทนจำหน่ายของเรา 1 คน สมมติมี 200 ตึก ผมก็สามารถมีสาขาเป็นร้านอาหาร 200 แห่งได้แล้ว โดยที่ทุกคนไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยากเลย แค่ฉีกซอง อุ่น และเสิร์ฟ เพราะเราผลิตให้เรียบร้อยแล้วจนจบกระบวนการผลิต แค่นี้ก็เพิ่มรายได้ให้ธุรกิจเขาได้ง่ายๆ ซึ่งนี่เป็นโมเดลที่เราจะทำควบคู่กันต่อไป ทั้งเมนูของหวานและของคาว นี่คือแนวคิดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าของธุรกิจเรา” ดิศรณ์กล่าวทิ้งท้าย


     ดูเหมือนว่าเขาจะได้โมเดลธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกตัว จากการเกิดวิกฤตในครั้งนี้  ขอแค่ไม่ท้อผู้ประกอบการรายอื่น ก็จะค้นพบทางออกในวิกฤตเช่นเดียวกับพวกเขา
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน