รักษ์โลกให้ธุรกิจรอด! Circular Economy ตัวช่วย ‘โรงแรม-ร้านอาหาร’ ลดรายจ่าย เพิ่มกำไร พ้นภัยวิกฤต

TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย
 
 
 

Main Idea
 
  • สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจเผชิญกับความยากลำบาก โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม และอาจจะต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติได้ ดังนั้นหลายองค์กรจึงต้องรัดเข็มขัด ลดต้นทุน เพื่อประคองให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้
 
  • เทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy แนวทางการทำธุรกิจที่มุ่งลดการใช้ทรัพยากรและยืดอายุการใช้งานให้มากที่สุด อาจกลายเป็นตัวช่วยลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้อย่างแข็งแรงยิ่งกว่าเดิม
 

 

     ปี 2563 เป็นปีแห่งความท้าทายของการทำธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง การระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจต้องเผชิญกับความยากลำบาก ผู้บริโภคยังต้องระมัดระวังในการใช้จ่าย เม็ดเงินที่เคยหมุนเวียนเข้าสู่ธุรกิจอาจไม่ได้มากมายเท่าที่เคย ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องหาทางออก เมื่อเงินเข้าน้อยลงก็ต้องลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจให้ได้


     การหันมองเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy แนวทางการทำธุรกิจที่มุ่งหวังให้ลดการใช้ทรัพยากรและยืดอายุการใช้งานให้มากที่สุด หนึ่งในเทรนด์การทำธุรกิจที่ถูกพูดถึงอย่างมากในยุคนี้ อาจเป็นคำตอบและทางออกให้กับผู้ประกอบการได้ เพราะเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยรัดเข็มขัด เพิ่มโอกาสธุรกิจ และสร้างความแตกต่างที่ยั่งยืน เรียกได้ว่า Win-Win ทั้งธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเลยทีเดียว



 
 
  • Green Hotel ทางรอดของธุรกิจโรงแรม
              
     ภาคการท่องเที่ยวและโรงแรมน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักหนาที่สุดในขณะนี้ เพราะแม้จะกลับมาเปิดให้บริการได้ปกติแต่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้และคงต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับมาเหมือนเดิม
              

     จากสถิติในการประเมินรายรับและรายจ่ายในการบริหารจัดการโรงแรมของสมาคมโรงแรมไทย พบว่า รายได้จากอาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ประมาณ 38 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด แต่กลับมีค่าใช้จ่ายในหมวดเดียวกันนี้ถึง 61 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่ง “มาริสา สุโกศล” หนุนภักดี รองประธานบริการ กลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล อุปนายกและประธานฝ่ายสิ่งแวดล้อม สมาคมโรงแรมไทย ได้เผยตัวเลขของการที่กลุ่มโรงแรมสุโกศลได้นำ Circular Economy มาใช้ ว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับขยะอาหาร (Food Waste) ลงได้ถึง 4-6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวหมายถึง “กำไร” ที่เพิ่มขึ้นด้วย
                




     เมื่อพิจารณาร่วมกับเทรนด์ความยั่งยืนในภาคธุรกิจโรงแรม (Sustainability Trends in Hospitality 2019-2020) จะพบว่า Sustainable Meeting เป็นกระแสใหญ่ เห็นได้ชัดเจนว่าบริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทข้ามชาติมักเลือกใช้บริการโรงแรมที่สามารถจัดงานอีเวนต์หรือจัดการประชุมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ และจากการสำรวจของ Booking.com พบว่า นักท่องเที่ยวถึง 72 เปอร์เซ็นต์ อยากจะพักโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เมื่อนึกถึงโรงแรมสีเขียวก็มักนึกถึงเรื่องการจัดการขยะ หรือใช้พลาสติกน้อยลงเป็นอันดับแรกๆ ตามมาด้วยเรื่องไฟฟ้าและพลังงานที่มักมีต้นทุนส่วนนี้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งผู้ประกอบการสามารถลงทุนด้านนวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนนี้ได้
              

     ปัจจุบันโรงแรมใหญ่รายแห่งได้รับใบรับรองการเป็น Green Hotel ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว แต่โรงแรมส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็น SME ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่เข้าถึงใบรับรอง ดังนั้น หากผู้ประกอบการหันมาทำเรื่อง Circular Economy จะสามารถเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเหล่านี้
 
  • กำจัด Food Waste สร้างผลกำไร
              
     จากตัวเลขที่บอกว่าขยะอาหารคือต้นทุนก้อนใหญ่ในการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม เช่นเดียวกับธุรกิจร้านอาหารที่ในแต่ละวันมีของเหลือทิ้งจำนวนมาก “อรุษ นวราช” กรรมการผู้จัดการ สวนสามพราน ได้เผยตัวเลขจำนวนขยะอาหารของห้องอาหารทั้งหมดในสวนสามพรานช่วงปี 2559 ว่ามีปริมาณถึง 190 กิโลกรัมต่อวัน แต่หลังจากที่เริ่มใช้กระบวนการจัดการขยะอาหารต่อเนื่อง 3 ปี ล่าสุดสามารถลดได้ถึงวันละ 50 กิโลกรัม หรือปีละ 20 ตัน คำนวณเป็นการประหยัดต้นทุนได้เกือบ 1 ล้านบาทต่อปี
              




     ร้านโบลาน คือ ตัวอย่างที่จัดการขยะอาหารได้เป็นอย่างดี โดยใช้โปรแกรมที่เรียกว่า Upcycle คือ ก่อนที่จะนำไปทิ้ง ต้องนำมาใช้ให้เกิดมูลค่ามากที่สุดหรือเปลี่ยนแปลงสภาพเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดเสียก่อน โดยเรียงลำดับจาก
 
  • Reduce consumption  สั่งวัตถุดิบพอดีกับที่ต้องใช้ จะทำให้มีอาหารเน่าเสียเหลืออยู่ในตู้เย็น หรือระหว่างการเตรียมน้อย หรือการลดปริมาณอาหารในจานที่เสิร์ฟให้ลูกค้า แต่หากลูกค้าต้องการอีกสามารถแจ้งได้โดยไม่มีการเก็บค่าบริการเพิ่มเติม
 
  • Donate excess food บริจาค หรือแบ่งให้พนักงานรับประทาน
 
  • Feed Livestock  กลายเป็นอาหารสัตว์ชนิดอื่น เช่น ไก่ หรือ หมู
 
  • Compost นำไปทำปุ๋ยสำหรับต้นไม้
 
  • Landfill นำขยะที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้แล้วทิ้งที่บ่อขยะในที่สุด
 




     “ดวงพร ทรงวิศวะ” เชฟและผู้ก่อตั้ง ร้านโบลาน เล่าถึงตัวอย่างการจัดการในร้าน เช่น หุงข้าวทุกรอบบริการ เที่ยงและเย็น หากให้บริการลูกค้าไม่หมด ก็นำไปทำอาหารสำหรับพนักงาน หากยังไม่หมดอีกก็นำมาตากแห้ง อบ ทำเป็นข้าวตูหรือชาข้าวคั่วกลับมาเสิร์ฟในร้าน เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กลับมาขายได้อีกครั้ง หลังจากนั้นหากยังเหลือปริมาณมากก็จะนำไปตากแห้ง คั่วแล้วแบ่งให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ส่งให้ร้าน หรือในกรณีที่นำไปทำเป็นชาแล้ว กากชาก็จะกลายเป็นปุ๋ย

     
     สำหรับน้ำมันใช้แล้ว นำไปผลิตสบู่ล้างมือมาใช้ในห้องครัว เป็นสบู่สำหรับพนักงานทั้งร้าน จึงไม่ต้องซื้อสบู่จากข้างนอก ลดต้นทุนการซื้อของใช้ภายในร้านได้ ในกรณีที่ปริมาณน้ำมันเยอะมาก ก็จะติดต่อกับชุมชนให้นำไปผลิตแล้วร้านก็จะรับซื้อสบู่คืน ก็จะเกิดเป็น Circular Economy


     นอกจากเรื่องการจัดการขยะอาหารแล้ว ยังมีการจัดการพลาสติก โดยแบ่งเป็น PET, PPE รวมไปถึงขวดไวน์ที่นำไปหลอมแล้วเป่าขึ้นมาเป็นเหยือกหรือแก้วที่ใช้ในร้าน ช่วยลดการใช้ขวดน้ำพลาสติกได้
 



 
  • แรงผลักสำคัญ คือคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน
              
     ในมุมของพนักงาน กระบวนการทำ Circular Economy ในองค์กรไม่ว่าจะเป็นการเก็บบันทึกสถิติของเสีย การแยกขยะ หรือกระทั่งการสื่อสารกับลูกค้าเกี่ยวกับประเด็นนี้คืองานที่พวกเขาต้องทำมากขึ้น ดังนั้น การจะให้พนักงานในองค์กรยอมร่วมมืออาจต้องใช้ทั้งการบังคับ เช่น ห้ามพนักงานนำขวดพลาสติกเข้ามาในร้านหรือทุกคนต้องแยกขยะของตัวเอง และสร้างแรงจูงใจ เช่น เชิญชวนพนักงานให้มีส่วนร่วมโดยการนำขยะที่บ้านมาแลกเป็นของกินของใช้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือทำให้ทีมงานมีอุดมการณ์ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้พวกเขาตระหนักรู้ได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องบังคับตลอดเวลา

              
     เพื่อให้ทีมงานพร้อมให้ความร่วมมือ เจ้าของร้านหรือผู้ประกอบการมีหน้าที่จะต้อง
 
  1. ออกแบบกระบวนการทำงานให้ “ง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่เหนื่อย ไม่หนัก ไม่ยาก”
 
  1. จัดเตรียมอุปกรณ์ให้เพียงพอ เช่น หากต้องการให้พนักงานแยกขยะ 7 ประเภท ก็ต้องมีถังขยะ 7 ถังและมีป้ายติดชัดเจนเพื่อไม่ให้คนทำงานสับสน เป็นต้น
 
  1. สื่อสารกับพนักงานให้เข้าใจว่าทำไมต้องทำ ให้เขาตระหนักรู้ได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องบังคับตลอดเวลา
 
  1. จัดเทรนนิ่ง เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะอย่างถูกต้อง
 
          



     นอกเหนือไปจากบุคลากรในองค์กรแล้ว พันธมิตรสำคัญที่จะทำให้กระบวนการ Circular Economy ประสบความสำเร็จสูงสุด คือการได้รับความร่วมมือกับ “ลูกค้า” ซึ่งการจะสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้าได้นั้นต้องเริ่มจากพนักงานก่อน พนักงานที่มีความรู้ความเข้าใจจะสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ดี
              

     หลังจากนั้นจึงสร้างแรงจูงใจ อาจจะเป็นการแข่งขันง่ายๆ เช่น เมื่อมีกลุ่มลูกค้าเข้าพักก็เก็บสถิติว่ามีขยะต่อหัว ต่อมื้อ ต่อกลุ่มเท่าไร เมื่อลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามาก็ท้าทายให้ทำลายสถิติที่กลุ่มอื่นเคยทำไว้ และสอดแทรกกระบวนการเรียนรู้ไปด้วย ที่สำคัญต้องทำให้ลูกค้าเรียนรู้ว่าปลายทางหรือผลของการทำอยู่ที่ไหน เช่น ขยะที่แยกเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง เป็นต้น เรื่องเหล่านี้จะกลายเป็นจุดขายที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภคอีกด้วย
              
              
     เห็นอย่างนี้แล้วคงไม่ใช่เรื่องยากที่ผู้ประกอบการ SME จะนำ Circular Economy ไปใช้สำหรับลดต้นทุนในธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้บ้าง เชื่อเถอะว่าแนวทางนี้จะทำให้ธุรกิจจะสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรงยิ่งกว่าเดิมนับจากนี้
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน