“Sprinkle” โรงงานน้ำดื่มที่เปลี่ยนมือมา 6 ครั้ง แต่มาปัง! เพราะดีไซน์

TEXT : นิตยา สุเรียมมา





Main Idea
 
  • “สปริงเคิล” น้ำดื่มสุดครีเอทีฟ ที่ชอบสร้างสรรค์สิ่งใหม่ออกมาเซอร์ไพรส์ได้อยู่เสมอ จากการออกคอลเลคชันต่างๆ
 
  • ใครจะไปคิดว่าน้ำดื่มดังกล่าวนั้น จริงๆ แล้ว คือ แบรนด์น้ำถังใสเจ้าแรกของไทย อีกทั้งยังเป็นผู้พลิกฟื้นโรงงานผลิตน้ำดื่มที่เคยเกือบเจ๊ง และเปลี่ยนมือมาแล้วกว่า 6 ครั้งด้วย
 


              
     มีคนเคยกล่าวไว้ว่า เรื่องมหัศจรรย์มักเกิดขึ้นได้เสมอในธุรกิจ ขอเพียงไม่หยุดคิด หยุดค้น ลงมือทำ และแสวงหาหนทางใหม่ๆ
              

     แม้อาจจะมีเพียงธุรกิจน้อยนักที่จะทำได้ แต่ก็ใช่จะไม่มีเลย และหนึ่งในตัวอย่างที่สามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ดี แถมมีแนวโน้มว่าจะไปได้ไกลหนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ “Sprinkle” น้ำดื่มสุดครีเอทีฟรวมอยู่ด้วยแน่นอน ก็ใครจะไปเชื่อจากธุรกิจโรงงานน้ำดื่มที่เกือบเจ๊ง ถูกเปลี่ยนมือมากว่า 6 ครั้งแล้ว จะสามารถพลิกฟื้นขึ้นมากลายเป็นแบรนด์น้ำดื่มที่นิยมของคนรุ่นใหม่ได้อย่างทุกวันนี้  




 
  • เปลี่ยนถังขุ่น ให้เป็นถังใส สร้างมาตรฐานใหม่น้ำบรรจุถัง
 
     น้ำดื่มสปริงเคิล ผลิตโดยบริษัท เอ็ม วอเตอร์ จำกัด ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจมาจากบริษัทนำเข้านมผง ก่อนจะแตกไลน์มาเทกโอเวอร์โรงงานผลิตน้ำดื่มสปริงเคิลเมื่อปี 2528 ซึ่งเคยถูกเปลี่ยนมือมาแล้วกว่า 6 ครั้ง


     โดยแบรนด์น้ำดื่มสปริงเคิล เริ่มต้นจากกิจการน้ำถังที่จัดส่งตามบ้านและออฟฟิศ แต่เพื่อต้องการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด ซึ่งในขณะนั้นเป็นน้ำถังขุ่น จึงได้มีการเปลี่ยนจากใช้ถังขุ่นมาเป็นถังใสแทน ซึ่งเป็นการพลิกเปลี่ยนภาพลักษณ์วงการน้ำถังไปจากเดิม แถมยังกลายเป็นแบรนด์ผู้ผลิตน้ำถังใสรายแรกในไทยด้วย





     นอกจากรูปลักษณ์ของถังใหม่ที่ใสสะอาด มองเห็นได้ทะลุถึงข้างใน สปริงเคิลยังมีการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับตลาดน้ำถังไทยด้วย โดยเน้นชูเรื่องกระบวนการผลิตที่สะอาด ปลอดภัย มีการจัดทำระบบสมาชิก และระบบจัดส่งภายใต้ชื่อแบรนด์ขึ้นมา ไปถึงการจัดทำโฆษณาออกสื่อต่างๆ จึงทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นในแบรนด์มากขึ้น จนกลายเป็นแบรนด์น้ำบรรจุถังพรีเมียมในใจของผู้บริโภคชาวไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


    อีกทั้งช่วงนั้นแบรนด์น้ำดื่มเจ้าตลาดอย่างโพลาริส (Polaris) ได้ปิดกิจการไป จึงทำให้ได้ฐานลูกค้าเก่าจากแบรนด์โพลาริสมาเพิ่ม จนทำให้กิจการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ลบอาถรรพ์โรงงานผลิตน้ำดื่มเดิมที่เคยถูกเปลี่ยนมือมาแล้วหลายครั้ง
 



 
  • วิกฤตที่มาพร้อมโอกาสใหม่
 
     ซึ่งจะว่าไปแล้วการเติบโตและเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคของสปริงเคิล ก็ดูเหมือนว่าจะไปได้ด้วยดี แต่เพราะการจากไปของแบรนด์โพลาริสที่เคยเป็นเจ้าตลาดใหญ่ ทำให้เกิดพื้นที่ว่างในการแข่งขัน จึงทำให้แบรนด์คู่แข่งยักษ์ใหญ่ถึง 3 รายหันลงมาเล่นในตลาดด้วยพร้อมกัน ได้แก่ แบรนด์ช้าง แบรนด์สิงห์ และแบรนด์เนสท์เล่


     จากที่เป็นเพียงบริษัทผู้ผลิตรายเล็กๆ แม้จะลงทำตลาดมาก่อน แต่ก็คงยากที่สปริงเคิลจะสามารถอยู่ต่อไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งเมื่อถึงทางแยกนี้วิธีคิดแก้เกมธุรกิจที่สปริงเคิลนำมาใช้ก็คือ การรีแบรนด์ดิ้ง และการขยับมาเล่นในตลาดน้ำดื่มขวดเล็ก หรือที่เรารู้จักกันดี คือ ขวดน้ำดื่ม PET เมื่อประมาณปี 2557 โดยนอกจากจะคงภาพลักษณ์และความรู้สึกของการเป็นแบรนด์น้ำดื่มพรีเมียม สปริงเคิลยังได้นำความคิดสร้างสรรค์ และดีไซน์บรรจุลงมายังขวดน้ำดื่มให้ผู้บริโภคได้รับรู้ด้วย





     โดยหากมองดูตลาดขวดน้ำดื่ม PET ในเวลานั้น ก็มีคู่แข่งจำนวนไม่น้อยเลย แต่ด้วยกลยุทธ์สร้างความแตกต่างที่ต้องกการฉีกออกไปจากรูปแบบขวดน้ำดื่มเดิม เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบขวดใหม่ จากรูปทรงกระบอกล้อมรอบด้วยลายวงกลม เพื่อสร้างความแข็งแรงในการขนส่ง ขนย้าย ก็กลายมาเป็นขวดน้ำที่มีลายคล้ายผลึกน้ำแข็ง หรือเพชร ก็ทำให้สปริงเคิลกลายเป็นแบรนด์น้ำดื่มที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และสร้างการจดจำแก่ผู้บริโภคได้แม้จะเต็มไปด้วยคู่แข่งอยู่มากมายก็ตาม





     และจากการคิดใหม่ทำใหม่นี้ จึงทำให้สปริงเคิลได้รับรางวัล Red Dot Design Award ในหมวด Best of the best ซึ่งจะว่าไปก็เปรียบเหมือนรางวัลออสการ์ของวงการออแบบเลย ทำให้นอกจากจะผลิตสินค้าตนเองออกจำหน่ายแล้ว ยังมีแบรนด์และธุรกิจอื่นๆ อาทิ ร้านอาหาร โรงแรม โรงพยาบาลอีกมากมายมาจ้างให้ผลิต สร้างรายได้เพิ่มเข้ามาให้กับบริษัท
 
  • น้ำดื่ม ที่ไม่ยอมเป็นแค่น้ำดื่ม
 
     จากการสร้างความเปลี่ยนแปลงของสปริงเคิลที่ดูเหมือนจะฉีกออกไปจากคู่แข่งได้แล้ว แต่เท่านั้นก็ยังไม่พอสำหรับแบรนด์น้ำดื่มสุดครีเอทีฟที่ต้องการคืนกำไร และมอบสิ่งดีๆ ให้กับผู้บริโภค โดยนอกจากการเปลี่ยนรูปทรงขวดใหม่จนมีเอกลักษณ์แตกต่างออกไปแล้ว เพื่อสร้างความโดดเด่นเมื่อวางอยู่บนเชลฟ์แล้ว แบรนด์ยังมีการสร้างครีเอทคอลเลคชันใหม่ๆ ออกมา เพื่อดึงดูดใจผู้บริโภคด้วย





    อาทิ การฉีดสีขวดให้เป็นสีทึบมากกว่า 30 เฉด, การออกรุ่น Blossom Me เพื่อตอนรับเทศกาลวาเลนไทน์, การออกเช็ต Blissful Summer เพื่อต้อนรับฤดูร้อน เดือนเมษายน และล่าสุดที่สร้างความฮือฮามากๆ ก็คือ เช็ต Star Wars ทำให้นอกจากการซื้อขวดน้ำดื่มธรรมดา ก็กลายเป็นสินค้าที่ลิมิเตดอิดิชั่นที่มีการซื้อเพื่อเก็บสะสม และทำให้ผู้บริโภคตั้งหน้าตั้งตารอดูคอลเลกชันใหม่ๆ ว่าจะออกอะไรมาให้ตื่นเต้น และเซอร์ไพรส์อีก


     ด้วยเหตุนี้แม้จะเป็นแบรนด์เล็ก แต่ก็ทำให้สปริงเคิลสามารถมียอดขายต่อปีได้เกือบหลักพันล้านบาท โดยมีข้อมูลรายงานว่าปี 2557 สปริงเคิลสามารถสร้างรายได้ 496 ล้านบาท, ปี 2558 มีรายได้ 546 ล้านบาท, ปี 2559 มีรายได้ 629 ล้านบาท และปี 2560 มีรายได้อยู่ที่ 740 ล้านบาท





     ถึงบรรทัดนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าสปริงเคิล คือ แบรนด์น้ำดื่มที่มีความเป็นนักครีเอทีฟในตัวเองสูง ตั้งแต่การพยายามหาช่องว่างในตลาดมาเล่น เพื่อสร้างจุดเด่นให้กับตัวเองแบบไม่ต้องทำตามแบบใคร ไปจนถึงความคิดสร้างสรรค์นำดีไซน์และสิ่งใหม่ๆ มาแต่งแต้มลงไปในผลิตภัณฑ์ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และไม่มีข้อจำกัด จึงไม่แปลกเลยที่วันนี้เราจะมองภาพของสปริงเคิลว่าเป็นมากกว่าแบรนด์น้ำดื่ม แต่คือ ครีเอเตอร์แบรนด์หนึ่งนั่นเอง
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน