“อุดม ใจเย็น” ทำธุรกิจอย่าเป็นคน ‘ดวงซวย’

TEXT : กองบรรณาธิการ






Main Idea
 
 
  • ตลอด 30 ปีของตราแม่บ้าน พวกเขาเจอวิกฤตหลายครั้ง แต่ทุกครั้งก็มักจะผ่านมันมาได้ เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ขาดเงินเดินต่อไม่ไหว แต่จู่ๆ ก็มีเงินไหลเข้ามาช่วยประคองกิจการ แม้แต่โควิด-19 ที่หลายคนต้องปิดโรงงาน แต่ตราแม่บ้านกลับเติบโตเป็นเท่าตัว
 
  • สำหรับ “อุดม ใจเย็น” กรรมการผู้จัดการ บริษัทอาร์แอนด์ดี ฟู้ดส์ โปรดักส์ จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ ผักกาดดอง ตราแม่บ้าน จ.ราชบุรี เขาเชื่อว่าธุรกิจจะไปรอดต้องดวงเฮง อย่าเป็นคนดวงซวย เพราะคนซวยต่อให้เก่งยังไงก็ล้ม และความเฮงเกิดจากการสั่งสมบุญ และ “ทฤษฎีบุญ” ทิ้งไม่ได้




      “อุดม ใจเย็น” คือชายวัย 63 ปี สามีตัวจริงของผู้หญิงชุดแดงสัญลักษณ์หน้าซองผักกาดดอง “ตราแม่บ้าน” ที่เริ่มธุรกิจจากศูนย์ เรียนไม่สูง ความรู้ไม่มี ทำผักกาดดองใส่โอ่งขายในตลาดสด จนวันนี้ผ่านมา 30 ปี ผลิตภัณฑ์ตราแม่บ้านมีขายอยู่ทั่วประเทศและส่งออกไปทั่วโลก เช่น อเมริกา อิสราเอล ญี่ปุ่น ไต้หวัน รวมถึงประเทศต้นตำรับเรื่องหมักดองอย่างเกาหลีใต้ ที่สำคัญอุดมในวันนี้ เรียนจบปริญญากับเขาแล้ว





      ในยามที่หลายคนเกิดวิกฤต แต่แม่บ้านกลับเติบโตเป็นเท่าตัว ในยามที่ขาดเงินเดินต่อไม่ไหว แต่จู่ๆ ก็มีเงินไหลเข้ามาช่วยประคองกิจการ นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันเริ่มต้นธุรกิจ จนผ่านร้อนหนาวมา 3 ทศวรรษแล้ว


      หลายคนประสบความสำเร็จเพราะความเก่ง แต่อุดมเชื่ออย่างเต็มอกว่า ธุรกิจจะไปรอดต้องดวงเฮงด้วย เขาว่า ทำธุรกิจอย่าเป็นคนดวงซวย เพราะคนซวยต่อให้เก่งยังไงก็ล้ม เหมือนขับรถมาดีๆ ก็ไปถูกคนอื่นชนไม่ก็ชนคนอื่น ทำธุรกิจมาดีๆ อาจเจอวิกฤตจนต้องปิดกิจการ ทำอะไรไม่ได้ซะอย่างนั้น  


      เขายกตัวอย่างความเฮงผ่านสองเหตุการณ์ที่แม่บ้านเคยประสบ เหตุการณ์แรกเกิดในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เวลานั้นเขากำลังซื้อที่เพื่อสร้างโรงงาน กำลังใช้เงิน เป็นหนี้  และกำลังจะบาดเจ็บเพราะพิษวิกฤต แต่จู่ๆ ภรรยากลับถูกลอตเตอรี่ รางวัลที่ 2 ถึง 2 ครั้ง ขณะที่ช่วงเวลาปกติ กิจการดีๆ ก็ไม่เคยถูกเลยสักครั้ง แถมยังเคยถูกหมอดูทักว่าเป็นคนไม่มีดวงเรื่องหวยอีกด้วย เขาจึงเชื่อว่านี่เป็นเรื่องของบุญหนุนนำ เทวดาคุ้มครอง ที่ช่วยนำพากิจการให้พ้นวิกฤต





      ความเฮงต่อมาเกิดในวิกฤตโควิด-19 หลายธุรกิจต้องหยุดชะงัก แม้แต่คนที่อยู่ในธุรกิจอาหารก็ใช่ว่าจะเติบโตได้ดีทุกคน ยอดขนมของกินเล่นตก สินค้าที่ส่งร้านอาหารได้รับผลกระทบ ของแพงถูกผู้บริโภค “พักก่อน” เพราะต้องระมัดระวังการใช้จ่าย แต่สินค้าตราแม่บ้านที่เก็บได้นาน เหมาะกับช่วงกักตัวกลับขายดิบขายดี ขณะที่ตลาดส่งออกพลิกมาโตถึง 192 เปอร์เซ็นต์


      หลายคนเรียกสิ่งนี้ว่าความบังเอิญ แต่สำหรับอุดมนี่คือนิยามของคำว่าดวงเฮง ซึ่งความเฮงสำหรับเขาเกิดจากการทำบุญสั่งสมความดี ไม่ว่าจะทำบุญให้กับศาสนา สังคม แม้แต่คนรอบข้าง ตลอดจนพนักงาน และเป็นบุญที่ไม่ใช่เพิ่งสร้างหรือทำกันวันนี้ แต่เกิดจากการสั่งสมมาตั้งแต่สมัยยังเป็นหนุ่มสาว โดยภรรยายังใส่บาตรและไปวัดทุกวัน ก่อนเกิดโควิดเขาและภรรยาไปแสวงบุญที่อินเดียปีละ 2 ครั้ง ชอบทำทาน ภาวนาและปฏิบัติทำจิตใจให้สงบ ทำดีกับพนักงานเพราะเชื่อว่าต่อให้ออกจากที่นี่ไปก็ไม่มีใครด่าลับหลัง เขาจึงเชื่อว่าบุญนี่แหล่ะคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของความสำเร็จทั้งปวง และ “ทฤษฎีบุญ” ทิ้งไม่ได้





      ในวัย 63 ปี อุดมบอกว่าอยากให้ทุกอย่างเบาขึ้น มีเงินเหลือเก็บ และให้ลูกๆ ดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างราบรื่น ส่วนตัวเขาก็อยากไปปฏิบัติธรรม ไปสั่งสมบุญในวิถีของตัวเอง  เพื่อที่ระหว่างมีชีวิตอยู่ใจยังเป็นสุข และแม้ในวันที่ต้องจากโลกนี้ไปแล้วก็ยังมีจิตที่สงบ ยังเป็นคนดวงเฮงไปถึงวันสุดท้ายของชีวิตเขา
 
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน

SME ไทยจะอยู่รอดได้อย่างไรท่ามกลางสงครามการค้า

การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 125% โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้จุดชนวนสงครามการค้ารอบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้น SME ไทยจึงกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง ...แล้วเราจะอยู่รอดได้อย่างไร