รู้จัก “Whip Me” ร้านเครปเย็น เจ้าของแคปชันกวนๆ ที่ได้ใจลูกค้า จนถูกรีทวิตกว่าห้าหมื่นครั้ง!

TEXT : นิตยา สุเรียมมา
 


 

Main Idea

 
ไอเดียทำธุรกิจสไตล์เครปเย็น Whip Me
 
  • จริงใจกับลูกค้า ใช้วัตถุดิบดี มีคุณภาพ
 
  • สร้างคาแรกเตอร์ให้โดดเด่น เพื่อเป็นที่จดจำของลูกค้า
 
  • ใช้โอกาสที่เข้ามาให้เต็มที่ ไม่ปล่อยให้กระแสหลุดมือไปเฉยๆ
 

 

     เคยคิดไหมว่าถ้าต้องขายสินค้าผ่านช่องออนไลน์ ซึ่งนับเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และลงทุนน้อยที่สุดในเวลานี้ เราจะทำให้ลูกค้าสนใจเข้ามาหาเราได้อย่างไร ไปจนถึงการตัดสินใจเลือกซื้อ ทั้งที่อาจไม่เคยมาที่หน้าร้าน ได้เห็นสินค้าจริง หรือทดลองใช้สินค้ามาก่อน บางครั้งอาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ จากแคปชันกวนๆ น่าสนใจ สัก 1–2 ประโยคก็เป็นได้


     “เครปเย็นสอดไส้ฟิลลิ่งช็อกโกแลต จากสวิตเซอร์แลนด์ เราไม่ได้ใช้เพราะแพงไป เลยซื้อจากร้านอาแปะข้างบ้าน แต่อร่อยนะแก๊รรรร ลองดูดิ...เครปเย็นบลูเบอร์รี่ เลือกเก็บผลเฉพาะต้นสูงไม่เกิน 170 ซม. เพราะถ้าสูงกว่านี้คงเก็บไม่ถึง...เครปเย็นสอดไส้ฟิลลิ่งส้ม เลือกเฉพาะผลสีส้มเท่านั้น เพราะถ้าผลสีเขียวกลัวจะเป็นมะนาว”





     นี่คือ หนึ่งในตัวอย่างของแคปชันสุดกวนจาก Whip Me ร้านเครปเย็นจากนนทบุรีที่เพิ่งกลายเป็นกระแสไวรัลเล็กๆ ให้ผู้คนเข้ามารีทวิตกันมากกว่าห้าหมื่นครั้งเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งนอกจากจะสร้างรอยยิ้มเสียงหัวเราะให้กับผู้คนที่แวะผ่านเข้ามาเห็นแล้ว ยังช่วยกระตุ้นยอดขาย เพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจขึ้นมาได้อีกด้วย


     ด้วยความอยากรู้ที่มาของไอเดียแคปชันสุดกวนดังกล่าว เราจึงได้ติดต่อเข้าไปที่เพจเฟซบุ๊กของร้าน จนทำให้ได้พูดคุยกับ “นพรัตน์ สุขเมือง” หรือ “คลาส” หนุ่มเจ้าของร้านที่เพิ่งเริ่มต้นเปิดกิจการได้เมื่อ 3 -4 เดือนที่ผ่านมาในช่วงโควิด-19 ระบาดนี่เอง เนื่องจากอาชีพหลักที่ทำอยู่ต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว



     

     “จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจคิดสร้างเป็นกระแสขึ้นมา และไม่เคยคิดว่าจะมีคนเอามาแชร์บอกต่อกันเยอะถึงขนาดนี้ เราแค่อยากสื่อสารออกมาแบบเป็นกันเองกับลูกค้าที่เข้ามาดู แค่อยากบอกให้รู้ว่าร้านนี้เป็นกันเองนะ คนขายเป็นคนอารมณ์ดีนะ อย่างอื่นเป็นผลพลอยได้มากกว่า แต่ก็ต้องขอบคุณลูกค้า ขอบคุณคนเอาไปโพสต์มากที่ให้ความสนใจร้านของเรา” นพรัตน์เล่าให้ฟังถึงที่มาของแคปชันสุดกวนที่เขานำมาใช้อธิบายเมนูเครปเย็นที่ขึ้นอยู่ในหน้าแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรีต่างๆ ตั้งแต่ Grab, Line Man จนถึง FoodPanda


     “เราเริ่มจากโพสต์ขายผ่านช่องทางออนไลน์ในกลุ่มของกินนนทบุรีก่อน ครั้งแรกที่โพสต์ลงไปก็ได้ออร์เดอร์กลับมากว่า 500 ชิ้นเลย ของเราใช้วิปครีมสด ทำสดใหม่ทุกวัน ใช้ของคุณภาพดี รสชาติก็หวานน้อย ลูกค้าเลยติดใจ ช่วงแรกเรียกว่าขายดีมากเราทำเองส่งเองกับแฟน ออกจากบ้านไปส่งขนมตั้งแต่แปดโมงเช้า กลับบ้านอีกทีเกือบห้าทุ่ม ส่งไม่ไหวเลยเริ่มรับตัวแทนจำหน่าย จนตอนนี้เพิ่มช่องทางจำหน่าย โดยลงขายผ่านแอปพลิเคชั่น Food Delivery ต่างๆ ด้วย เลยอยากลองทำอะไรที่แตกต่าง”





     โดยเครปเย็น Whip Me มีทั้งหมด 8 ไส้ ได้แก่ สตรอว์เบอรี่, บลูเบอรี่, ส้ม, ช็อกโกแลต, ฝอยทอง, ครีมโอ, วนิลา และกล้วย ขายในราคาชิ้นละ 20 บาท โดยในแต่ละไส้นอกจากจะถ่ายรูปสินค้า อธิบายรสชาติต่างๆ ให้รู้แล้ว เขายังได้คิดแคปชันสนุกๆ ของแต่ละรสชาติใส่ลงไปด้วย จนถูกนำไปแชร์ต่อและกลายเป็นกระแสไวรัสอยู่ในโซเชียลขณะนี้ ซึ่งนพรัตน์เล่าว่า หลังจากที่เขาปล่อยแคปชันออกไปไม่กี่อาทิตย์ ก็ทำให้ร้านเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากลูกค้าที่อยู่ไกลไม่เคยสั่ง ก็มาสั่ง ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 10 – 15 เปอร์เซ็นต์


     ถามว่าแคปชันสนุกๆ กวนๆ นี้ ช่วยให้สามารถหยุดลูกค้าให้แวะเข้ามาดู หรือกระทั่งตัดสินใจซื้อเครปเย็นจากร้าน Whip Me ได้อย่างไร ทั้งที่ไม่เคยได้ไปหน้าร้าน ไม่เคยเห็นสินค้าจริง หรือแม้แต่ไม่เคยได้ลิ้มลองรสชาติมาก่อน สามารถสรุปออกมาเป็นข้อๆ ได้ดังนี้




 
  • สร้างคาแรกเตอร์

     ในตลาดออนไลน์อาจมีร้านเครปเย็นอยู่มากมาย แต่การที่ร้านเครปเย็น Whip Me เลือกใช้วิธีการเขียนข้อความอธิบายถึงตัวสินค้า โดยแทนที่จะบอกแค่เพียงว่าเป็นรสชาติอะไรเหมือนร้านทั่วไป แต่กลับเลือกสร้างกิมมิกให้แต่ละไส้ด้วยการสร้างมุกตลกใส่เพิ่มลงไป จึงเกิดเป็นคาแรกเตอร์ทำให้เป็นที่จดจำของลูกค้าได้ไม่ยาก
 
  • ช่วยหยุดลูกค้าได้

     การสร้างแคปชันแบบ Whip Me ถือเป็นวิธีที่แปลกใหม่ ไม่ค่อยมีใครทำ จึงทำให้ลูกค้าเกิดความสนใจ จนอยากหยุดแวะเข้ามาลองดู มาอ่าน ซึ่งแค่นี้ก็ถือเป็นโอกาสที่มากพอสำหรับการขายสินค้าในโลกออนไลน์แล้ว
 
  • สร้างอารมณ์ขัน

     ด้วยแคปชันที่สนุก ตลก อ่านแล้วอารมณ์ดี จึงทำให้ใครๆ ก็ชื่นชอบ ดูแล้วไม่น่าเบื่อ แปลกใหม่ และน่าสนใจ จนอยากติดตาม อยากแชร์และบอกต่อให้คนอื่นได้รู้บ้าง




 
  • ให้ความรู้สึกเป็นกันเอง

     การใช้ภาษาที่ไม่เป็นทางการมาก แถมมีลูกเล่นมุกตลกๆ จึงทำให้ลูกค้าอ่านแล้วรู้สึกเกิดความเป็นกันเอง เมื่อเกิดความเป็นกันเองก็จะเกิดความเชื่อใจ และก็ไม่อยากที่จะพัฒนาจนกลายเป็นลูกค้าได้
 
  • กระตุ้นความอยากซื้อ

     ด้วยภาษาที่อ่านแล้วสนุก ชวนให้ติดตาม บางครั้งก็ไปช่วยส่งเสริมจินตนาการของลูกค้า ทำให้อยากทดลองสั่งแต่ละรสชาติมาลองชิม
 

     นอกจากการสร้างแคปชันสุดกวนช่วยเรียกความสนใจจากลูกค้าได้แล้วนั้น นพรัตน์ยังมีกลยุทธ์การทำธุรกิจที่น่าสนใจอย่างอื่นให้น่านำไปปรับใช้ด้วย เช่น ตั้งแต่แรกที่เริ่มขายเขาจะเขียนข้อความทักทายใส่กระดาษโน๊ตแปะส่งให้ลูกค้าทุกถุงพร้อมกับขนมที่ส่ง นอกจากนี้ยังพยายามจดจำชื่อลูกค้าขาประจำทุกคนให้ได้ ทำให้เกิดความคุ้นเคยเป็นกันเองได้ง่ายขึ้น
               




     “เราขายออนไลน์ ลูกค้าเขาไม่รู้หรอกว่ารสชาติเป็นยังไง บางคนก็ไม่เคยกิน แต่อยากลองดู ดังนั้นสิ่งที่ผมทำได้อย่างแรก คือ สร้างความประทับใจให้กับลูกค้า แต่ในวันนี้เมื่อเราได้รับโอกาสที่ดีแล้ว มีคนรู้จักร้านเราเยอะขึ้น ถูกแชร์ออกไปมากมายในโลกโซเชียล เราก็ต้องใช้โอกาสตรงนี้ให้เต็มที่ ไม่ปล่อยทิ้งไปเฉยๆ” นี่คือสิ่งที่นพรัตน์ทิ้งท้ายกับเราไว้


     นอกจากนี้เขายังได้ฝากเคล็ดลับการเขียนแคปชันแบบกวนๆ สไตล์ Whip Me ไว้ให้ด้วยว่า 1.ต้องจริงใจ เป็นตัวของตัวเอง 2. หามุกตลกเข้ามาสอดแทรก และ 3.สร้างความเป็นกันเองกับลูกค้า
           

     เรียกว่าวันนี้ต่อให้คุณอาจยังไม่เคยได้ลองชิมเครปเย็นของที่นี่ แต่คุณก็ได้รู้จัก Whip Me ไปแล้วหล่ะ…
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน