“มัดแมน” แตก 2 แบรนด์ใหม่ ใช้ ‘สินค้า’ และ ‘ช่องว่างตลาด’ สร้างโอกาสในวิกฤต

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
 
     แนวคิดการสร้างแบรนด์ใหม่ในภาวะวิกฤต
 
 
  • ในภาวะวิกฤตไม่ได้หมายความว่าธุรกิจต้องหยุดลง แต่หากมองหาโอกาสและเตรียมตัวให้ดีก็พร้อมขยายธุรกิจไปต่อได้
 
  • จงเรียนรู้จากช่วงวิกฤตว่าการใช้ชีวิตของลูกค้าเปลี่ยน ธุรกิจจึงต้องเตรียมตัวสำหรับอนาคต
 
  • ต่อยอดแบรนด์ใหม่จากแบรนด์เดิม เสริมจุดแข็งด้านการผลิต และช่องว่างทางการตลาด
 


 
       
     ในวันที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่ายังไม่รู้ว่าผลกระทบจากโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน รายได้ยังไม่ขยับมาเทียบเท่าช่วงก่อนวิกฤตจนทำให้ไม่กล้าขยับตัวทำอะไรมากนัก เพราะต้องเก็บเงินสำรองเอาไว้ก่อน แต่ไม่ใช่กับบริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน) ที่นอกจากจะเคลื่อนไหวด้านการตลาดของแบรนด์ในเครือ ประกาศเปิดตัว “นางสาวอุบลพรรณ” หรือ เฌอแปง ตัวแทนของแบรนด์โอบองแปง และ “บักขิ่น” ตัวแทนของไอศกรีมบาสกิ้นรอบบิ้น จนเป็นที่ฮือฮากันเท่านั้น แต่พวกเขาลงทุนปลุกปั้นแบรนด์ใหม่ขึ้นมาถึง 2 แบรนด์
                

     แน่นอนว่ามัดแมนก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น แม้กระทั่งปัจจุบันที่ดูเหมือนสถานการณ์จะดีขึ้นแล้วก็ตามแต่รายได้ของทั้งแบรนด์แฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็น ดังกิ้น โดนัท, โอบองแปง และบาสกิ้น รอบบิ้น ตลอดจนธุรกิจร้านอาหารเครื่องดื่มแบรนด์ตัวเอง อาทิ เกรย์ฮาวน์ คาเฟ่, อนาเธอร์ฮาวด์ คาเฟ่, ครัว M และ Le Grand Vefour ต่างก็มีรายได้ลดลง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายกลับไม่น้อยลงเลย


     แต่แทนที่จะรอให้สถานการณ์คลี่คลาย พวกเขากลับเลือกไขว่คว้าหาโอกาสใหม่ในวิกฤต



 

     “ลภาพร เตียสกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการและรองประธานบริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน) บอกว่า “เรามองภาพรวมว่าบริษัทต้องมีแบรนด์ใหม่ๆ ถ้าอยากเพิ่มโอกาส เราต้องเพิ่มแบรนด์”
               

     จากการทำงานในวงการอาหารและเครื่องดื่มมาตลอด 20 ปี ทำให้เข้าใจธรรมชาติของการทำธุรกิจว่าในวิกฤตหรือในขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ไม่ได้หมายความว่าต้องหยุดทุกสิ่ง แต่เราต้องมองหาโอกาสและเตรียมตัวให้ดี ก็จะทำให้ความเสี่ยงไม่สูง สามารถลงทุนทำโปรดักต์ที่เชื่อว่าสามารถเติบโตได้
               

     “เชื่อว่าผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจไทยหลายคนก็คิดแบบเดียวกันว่าในวิกฤตมีโอกาส ถ้าลองสังเกตดูจะเห็นว่าหลายบริษัทเปิดตัวอะไรใหม่ๆ ในช่วงนี้เยอะ เพราะเขาเรียนรู้จากช่วงวิกฤตว่าลูกค้าใช้ชีวิตเปลี่ยนไป เขาจึงเตรียมตัวสำหรับอนาคต”



               

     แบรนด์แรก “Crop Pul” (ครอปปุ) เป็นแบรนด์ขนมที่ผสมผสานครัวซองต์เข้ากับวาฟเฟิล เริ่มพัฒนาโปรดักต์ขึ้นเมื่อปลายปี 2562 โดยต่อยอดจากความสามารถในการผลิตขนมของโอบองแปง ที่มีโรงงานผลิตขนมปังแช่แข็งและครัวซองต์อยู่แล้ว นำมาสร้างสรรค์เป็นครัวซองต์แช่แข็ง (Frozen Croissant) ที่นำไปอุ่นแบบวาฟเฟิลประมาณ 3 นาทีให้รสชาติเนยหอมที่อร่อยยิ่งขึ้นบนความเป็นวาฟเฟิล นำเสนอในสไตล์เกาหลีเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มวัยรุ่น


     แต่ก่อนที่จะตกผลึกรูปแบบแบรนด์ก็เกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้นเสียก่อน จึงต้องหยุดการพัฒนาแบรนด์และกลับมาดำเนินการต่อหลังสถานการณ์คลี่คลาย ช่วงเวลานั้นเองที่ทำให้ตัดสินใจทำร้านแบบ Take away เท่านั้น


     “ถ้ามองในช่วงโควิดที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ มีช่องทางการขายที่ไม่เคยปิดเลย คือ ซูเปอร์มาร์เก็ต จากข้อสังเกตนี้เองกลายเป็นโอกาสของแบรนด์ ถ้าเรามีแบรนด์น้องใหม่ที่สามารถอยู่ตามสถานที่ใกล้ลูกค้าได้ อยู่ที่ที่มีคนจับจ่ายอยู่ตลอด อย่างไรก็ไม่โดนปิด ก็จะเป็นทางหนึ่งที่เราสามารถไปต่อได้ แบรนด์ Crop Pul จึงออกมาในลักษณะ Grab and Go จากร้าน Kiosk ในซูเปอร์มาร์เก็ต”



 
               
     หากแบรนด์แรกเป็นโอกาสทางธุรกิจที่เกิดจาก “สินค้า” แบรนด์ที่ 2 ที่ชื่อว่า “Bon Eatery” เป็นโอกาสจากการมองเห็น “ลูกค้า” ของโอบองแปง
               

     “เรามีประสบการณ์เปิดร้าน เรามีสาขาในโรงพยาบาลระดับพรีเมียม ซึ่งช่วงบ่ายไม่มีอะไรให้กินเท่าไร ช่วงเย็นลูกค้าไม่กินครัวซองต์หรือแซนวิชเพราะไม่ใช่อาหารที่คนไทยคุ้นเคย ซึ่งดีมานด์นี้มีมานานแล้ว เราเลยเปิดตัว Bon Eatery ที่แปลว่า ร้านอาหารที่ดี คอนเซ็ปต์นี้สร้างสรรค์โดยใช้คำว่าบาลานซ์ (สมดุล) ใน 4 อย่าง คือ สุขภาพ การกิน ไลฟ์สไตล์ และกระเป๋าเงิน”
               

     ลูกค้าของ Bon Eatery ไม่ใช่คนไข้ของโรงพยาบาล แต่เป็นคนที่แพทย์แนะนำว่าควรรักษาสุขภาพ ทีมมัดแมนพิจารณาปัญหาของอาหารสุขภาพส่วนใหญ่ที่มีราคาแพงและไม่อร่อย ดังนั้น อาหารของร้านอาหารที่ดีอย่าง Bon Eatery จึงต้องอร่อย ใส่ใจคุณภาพ และคุ้มค่าคุ้มราคาไปพร้อมกัน โดยคัดสรรใช้โปรตีน 3 อย่าง คือ แซลมอน ปลากะพง และไก่ มีเมนูพิซซ่าที่เรียกว่า Guilty Free ที่ลูกค้าจะกินแล้วไม่รู้สึกผิด แต่กินแล้วมีความสุขกลับไปแน่นอน



               

     “เราคิดไอเดียนี้ก่อนโควิด-19 ตอนแรกจะไปทำที่โอบองแปง สาขาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ซึ่งเราสามารถเติมเต็มความต้องการของลูกค้าได้ แต่ยังอยู่ในขั้นตอนตกผลึกอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าไม่สับสน จึงตัดสินใจเปิดเป็นแบรนด์ใหม่ที่มีตัวตนชัดเจน แบรนด์ชัดเจน โดยสาขาแรกอยู่ที่โรงพยาบาลบีเอ็นเอช”
                 

     มัดแมนเปิดตัว 2 แบรนด์ในเวลาห่างกันเพียงสัปดาห์เดียว แต่ลภาพรมั่นใจว่าความชัดเจนและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Specialty) จะทำให้ธุรกิจไปต่อได้แน่นอน
               

     นี่คือหนึ่งในภาพสะท้อนว่า แม้ในวิกฤตยังมีโอกาส หากผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม และศึกษาตลาดให้ดี  ก็ยังสามารถก่อเกิดธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาสนองตลาดอย่างทันท่วงทีได้

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน