คนว่างงานสูงสุดในรอบ 11 ปี หนี้ครัวเรือนพุ่ง รอยช้ำจากโควิดที่ SME ต้องจับตา

TEXT : กองบรรณาธิการ
 
 

 
Main Idea


รวมความท้าทายในไตรมาส 2 ที่ SME ต้องจับตา

 
  • อัตราการว่างงานสูงถึง 7.5 แสนคน คิดเป็น 1.95 เปอร์เซ็นต์ ต่อกำลังแรงงานรวม สูงสุดในรอบ 11 ปี
 
  • มีแรงงานต้องหยุดงานชั่วคราวสูงถึง 2.5 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
 
  • ธุรกิจทยอยปิดกิจการ ความสามารถในการจ้างงานลดลงต่อเนื่อง
 
  • หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงสุดในรอบ 18 ปี อยู่ที่ 83.8 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี ยอดคงค้างหนี้แตะ 9.22 หมื่นล้านบาท
 

 
              
     นับเป็นปีแห่งความท้าทายที่มีเรื่องให้ตื่นเต้นทุกไตรมาส สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ล่าสุดสองสำนักวิจัยออกมารายงานตัวเลขหนี้ครัวเรือนและอัตราการว่างงานไตรมาสที่ 2 ก็พุ่งสูงทำลายสถิติในรอบหลายสิบปี ซึ่งล้วนเป็นผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 ที่อยู่คู่เมืองไทยและโลกมาได้หลายเดือนแล้ว
              

     และนี่คือรอยช้ำจากโควิดที่ SME ต้องจับตา เมื่อกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นคืนกลับ และยังมีความท้าทายอีกมากรอผู้ประกอบการไทยอยู่ในปีนี้
              
           


 
  • คนว่างงานไตรมาส 2 ทะลุ 7.5 แสนคน สูงสุดในรอบ 11 ปี


     รายงานจาก EIC เปิดเผยผลพวงจากวิกฤตโควิด -19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดแรงงานไทย โดยนำไปสู่การตกงานของแรงงานในไตรมาส 2 ของปี 2563 สูงถึง 7.5 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.95 เปอร์เซ็นต์ ต่อกำลังแรงงานรวม ซึ่งถือเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 11 ปี และยังมีแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวสูงถึง 2.5 ล้านคน ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย
              

     และในช่วงคลายล็อกดาวน์เดือนกรกฎาคมและสิงหาคม แม้อัตราการว่างงานในภาพรวมจะลดลงบ้าง แต่ตลาดแรงงานยังถือว่าอยู่ในสภาวะซบเซา สะท้อนจาก 4 สัญญาณความอ่อนแอ ได้แก่ 1. อัตราการว่างงานของแรงงานในระบบประกันสังคมยังคงเพิ่มสูงขึ้น 2. กลุ่มแรงงานอายุน้อย (15-24 ปี) ยังมีปัญหาการว่างงานในระดับสูง 3. จำนวนแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราว (Furloughed workers) ยังสูงกว่าในอดีตมาก และ 4. สัดส่วนการทำงานต่ำระดับ (Underemployment) ยังคงเพิ่มขึ้น
              




     สิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า วิกฤตแรงงานครั้งนี้อาจจะไม่ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วนัก เนื่องจากหากมองไปในภาคธุรกิจ  จะเห็นถึงความสามารถในการจ้างงานที่ลดน้อยถอยลง และปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างทักษะแรงงานกับความต้องการทางธุรกิจ (Skill mismatch) โดยเป็นไปได้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้อาจไม่ได้นำไปสู่การจ้างงานเพิ่มขึ้นมาก ทำให้แรงงานมีแนวโน้มต้องเปลี่ยนไปทำงานนอกระบบมากขึ้น เช่น รับจ้างหรือทำงานอิสระมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อระดับรายได้และความมั่นคงตามมานั่นเอง
 
  • ตลาดแรงงานยังฟื้นช้า ธุรกิจยังอ่วม การจ้างงานลดลง              

     EIC รายงานว่า ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 28 สิงหาคม 2020 มีจำนวนธุรกิจที่แจ้งเลิกกิจการกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารวมทั้งสิ้น ราว 1.4 หมื่นราย เพิ่มขึ้น 9.1 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และถึงแม้จะมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ไปแล้ว การปิดกิจการก็ยังเพิ่มในอัตราที่เร่งขึ้น โดยในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม การปิดกิจการขยายตัวที่ 29.2 เปอร์เซ็นต์ (YOY)  และในช่วง 28 วันแรกของเดือนสิงหาคม ก็ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราเร่งที่ 34.5 เปอร์เซ็นต์ (YOY) โดยคาดว่า เป็นผลมาจากการขาดรายได้ของกิจการขณะที่สภาพคล่องมีไม่เพียงพอ ซึ่งกิจการที่ปิดตัวลงนี้จะส่งผลทำให้แรงงานในกิจการนั้นๆ ต้องว่างงานลงตามไปด้วย
 

     ขณะที่การเปิดกิจการใหม่ของภาคธุรกิจก็ลดน้อยลงตามไปด้วย โดยในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 28 สิงหาคม 2020 จำนวน การจดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ลดลง -12.5 เปอร์เซ็นต์ (YOY) สอดคล้องกับข้อมูลประกาศรับสมัครงานบนเว็บไซต์ Jobsdb.com (วันที่ 27 ก.ย.-3 ต.ค.) ที่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนมีมาตรการปิดเมือง (วันที่ 21-27 มี.ค.) ถึง -20.8 เปอร์เซ็นต์ โดยต่ำกว่าในทุกอุตสาหกรรมและระดับเงินเดือน สะท้อนให้เห็นว่าภาวะการจ้างงานยังคงซบเซาเป็นวงกว้าง





     มองไปในอนาคตรายได้ของภาคธุรกิจก็ยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ที่ต้องรอความชัดเจนในด้านการพัฒนาวัคซีนและการผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้แนวโน้มการเปิด-ปิดกิจการ จะยังคงซบเซาและกระทบต่อการจ้างงานในระยะต่อไปด้วย
              

     อีกความท้าทายที่เกิดขึ้นคือ วันนี้หลายธุรกิจมีการปรับตัวด้านการลดต้นทุนคนลง ทั้งการปรับวิธีการทำงาน
และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าและบริการได้โดยใช้แรงงานคนน้อยลง ทำให้ความต้องการแรงงานในระยะยาวสำหรับงานหลายประเภทอาจไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป


     ถามว่าสถานการณ์การว่างงานกระทบอย่างไรต่อ SME  ถ้าตลาดแรงงานฟื้นตัวช้า จะชะลอการฟื้นตัวของรายได้ภาคครัวเรือนตามไปด้วย คนตกงาน ขาดรายได้ กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและเป็นแรงกดดันต่อการใช้จ่ายในอนาคต และกำลังซื้อที่ลดลงของผู้คน ก็ย่อมส่งผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจ SME อย่างเลี่ยงไม่ได้
              


 
  • หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงสุดในรอบ 18 ปี
              
     ดูเหมือนว่าเรื่องท้าทายในไตรมาส 2 ไม่ได้มีเพียงปัญหาด้านแรงงานเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเนื่องถึง “หนี้ครัวเรือน” ที่เพิ่มสูงขึ้นสวนทางเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของโควิด-19 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ข้อมูลว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาส 2 ปี2563 เพิ่มสูงสุดในรอบ 18 ปี อยู่ที่ 83.8 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี และเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส พบยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นถึง 9.22 หมื่นล้านบาท โดยระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาพร้อมกับฐานะทางการเงินของประชาชนและครัวเรือนที่อ่อนแอลงในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านรายได้และการมีงานทำ


     จากทิศทางหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นเหรียญสองด้าน คือในขณะที่ครัวเรือนบางกลุ่มกำลังก่อหนี้เพิ่มขึ้น แต่คนอีกหลายกลุ่มต้องรับมือกับปัญหาขาดสภาพคล่องและต้องการมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน
              

     โดยกลุ่มครัวเรือนที่ยังพอมีกำลังซื้อ (รายได้ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน และยังมีความสามารถในการชำระหนี้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน) กำลังก่อหนี้ก้อนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ ออกแคมเปญมากระตุ้นคึกคัก
              




     ขณะที่กลุ่มครัวเรือนที่ขาดสภาพคล่องจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ที่บางส่วนจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อการดำรงชีพและสำหรับรองรับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน
              

     ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า  ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยสะท้อนความเปราะบางเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย โดยหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มขยับขึ้นมาอยู่ที่  88-90 เปอร์เซ็นต์ ต่อจีดีพีในปี 2563 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มหดตัวลงในครึ่งปีหลัง ขณะที่สินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ ที่คาดว่าจะยังเติบโตในกลุ่มครัวเรือนที่มีกำลังซื้อและมีความสามารถในการชำระคืนหนี้ อาจทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนยังเติบโตต่อเนื่อง แม้จะเป็นอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2562 ก็ตาม
              
              
     และนี่คือโจทย์ท้าทายที่กำลังส่งเสียงกระซิบถึงผู้ประกอบการ SME ในห้วงเวลาที่การทำธุรกิจจะยากเย็นขึ้นเรื่อยๆ ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง ดึงเงินออกจากกระเป๋าได้ยากขึ้น แถมยังมีตัวเลือกสำหรับการใช้จ่ายแต่ละครั้งมากกว่าในช่วงที่ผ่านมาอีกด้วย ดังนั้นการทำให้สินค้าหรือบริการยังเป็นที่ต้องการ ตอบโจทย์ และสัมผัสได้ถึงความ “คุ้มค่า” จึงเป็นหนึ่งในคำตอบที่จะทำให้อยู่รอดในช่วงเวลาแบบนี้ได้
 

เรียบเรียงข้อมูลจาก : EIC และ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน