คิดนวัตกรรม ให้เป็นธุรกิจทำเงินสุดแซ่บ! ในแบบ “พริกค่ะ สไปซี่ คอฟฟี่”

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
 
การตั้งโจทย์นวัตกรรมในแบบ “พริกค่ะ สไปซี่ คอฟฟี่”
 
 
  • ทำสินค้าที่มีตลาดใหญ่ คนต้องกินต้องใช้
 
  • ต้องไม่เคยมีคนทำมาก่อน ไม่เคยมีใครรู้จัก
 
  • ต้องแตกต่างด้านรสชาติ และคนสัมผัสถึงความต่างได้
 
  • ต้องอร่อยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย
 
  • สร้างประสบการณ์ผู้บริโภค คนกินแล้วรู้สึกได้ว่ามีประโยชน์
 
  • มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย เพื่อปูทางสู่ตลาดโลก
 



 
     เชื่อกันว่า “นวัตกรรม” คือแต้มต่อธุรกิจ ที่จะทำให้ SME กลายเป็นแจ็คผู้ฆ่ายักษ์ขึ้นมาได้ เหมือนเช่นแบรนด์เล็กๆ ที่ชื่อ “พริกค่ะ สไปซี่ คอฟฟี่” (PRIKKA Spicy Coffee) ที่แจ้งเกิดในธุรกิจกาแฟสำเร็จรูปด้วยการเป็น กาแฟพริกสูตรแรกของโลก ที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยเป็นที่เรียบร้อย แถมยังคว้ารางวัลระดับโลกมาการันตีความสำเร็จอีกมากมายด้วย


     เบื้องหลังคนต้นคิดเป็นเภสัชกร เติบโตมาในครอบครัวที่ทำโรงงานผลิตยา เธอคือ “เภสัชกรหญิง ศศิมา อาจสงคราม” เจ้าของบริษัท Star Herb Oharma จำกัด ที่มาต่อยอดธุรกิจครอบครัวโดยขยายเป็นโรงงานผลิตอาหารเสริมทั้งรับจ้างผลิต (OEM) และขายในแบรนด์ของตัวเอง
               

     วันหนึ่งเธอกลับมานั่งคิดว่า อยากมีสินค้าสักตัวที่เป็นเหมือนธงนำ เป็นดาวเด่น ที่สร้างทั้งยอดขาย และสร้างความรู้จักให้กับโรงงานของเธอ จึงคิดถึงสินค้าที่เป็นนวัตกรรม


     ว่าแต่นวัตกรรมแบบไหนล่ะ? ที่จะเป็นที่ต้องการของตลาดและประสบความสำเร็จขึ้นมาได้




 
วิจัยตลาดก่อนพัฒนานวัตกรรมให้ทำเงิน
               

     หลายคนอาจเริ่มต้นธุรกิจนวัตกรรมด้วย “ตัวสินค้า” แต่สำหรับชาวพริกค่ะ พวกเขาเริ่มจากการวิจัยตลาดเพื่อเสาะหาโอกาสในการขาย โดยโจทย์คือ ต้องการทำสินค้าที่มีคนกินคนใช้จำนวนมาก มีความต้องการในตลาดที่ใหญ่ เพราะการวิจัยและพัฒนาสินค้านวัตกรรมขึ้นมาสักตัวนั้นต้องใช้เวลา ฉะนั้นการไปทำเป็นสินค้าที่ไม่ค่อยมีคนใช้ ก็คงไม่ใช่เรื่องที่คุ้มนัก


     ผลจากการวิจัยตลาดทำให้มองเห็นว่า “กาแฟ” เป็นหนึ่งในโอกาสที่น่าสนใจ เพราะผลสำรวจพบว่า กาแฟเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่คนทั่วโลกดื่มมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากน้ำเปล่า และยังเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities)  ที่คนบริโภคมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากน้ำมันอีกด้วย ฉะนั้นปริมาณความต้องการกาแฟในโลกจึงมีมหาศาล


     กลับมาดูที่โอกาสของตลาดกาแฟ พบว่า ครึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาดกาแฟเมืองไทยมาจากกาแฟสำเร็จรูป แต่กาแฟสำเร็จรูปที่มีขายอยู่ในท้องตลาดส่วนใหญ่ยังมีรสชาติที่แทบจะไม่แตกต่างกันเลยในแต่ละยี่ห้อ นึกภาพตามว่าถ้าฉีกซองกาแฟทรีอินวันลงแก้ว ก็ยากที่จะมีใครตอบได้ว่าเป็นของแบรนด์ไหน และรสชาติของแต่ละแบรนด์แตกต่างกันอย่างไร ผู้บริโภคจึงยังขาดทางเลือกที่ใช่ มองกลับมาที่ส่วนผสมของกาแฟซองส่วนใหญ่ยังมีน้ำตาลกับครีมเทียมในปริมาณที่มาก ซึ่งไม่สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพกันมากขึ้นด้วย


     เธอจึงตั้งใจว่า อยากทำกาแฟสำเร็จรูปที่มีนวัตกรรมและต้องดีกับสุขภาพของคนดื่มด้วย

 


4 โจทย์ กำหนดทิศพัฒนาสินค้านวัตกรรม


     การพัฒนากาแฟนวัตกรรมในแบบพริกค่ะ เริ่มจากกำหนดโจทย์ไว้ 4 ข้อ ดังนี้

 
  1. จะต้องทำกาแฟที่โลกนี้ยังไม่เคยมีมาก่อน ไม่เคยมีใครรู้จัก นั่นคือต้องเป็นกาแฟที่มีความแตกต่างด้านรสชาติ กินแล้วจะต้องสัมผัสได้ถึงความแตกต่างนั้น

  1. นอกจากจะอร่อยแล้วยังต้องมีประโยชน์ด้วย  ดังนั้นกาแฟที่ทำออกมาต้องมี Health Benefit คือมีประโยชน์ต่อสุขภาพของคนดื่มด้วย


     3.  Health Benefit ที่มีนั้นคนกินจะต้องรับรู้ได้ นั่นคือต้องเป็น Customer Experience ที่ดื่มแล้วต้องรู้สึกได้ด้วยว่ามันมีประโยชน์


     4. ต้องมีความเป็นไทย มีอัตลักษณ์ของความเป็นไทย เพื่อปูทางสู่การขายในตลาดโลกด้วย
 

     จากโจทย์นี้เองที่นำมาสู่ “พริกค่ะ สไปซี่ คอฟฟี่” (PRIKKA Spicy Coffee) กาแฟสำเร็จรูปจากพริกที่มีสารสำคัญช่วยในการเผาผลาญไขมันและพลังงาน ดื่มแล้วรู้สึกได้เพราะเป็นการเผาผลาญภายในร่างกาย และเลือกใช้พริก เพราะสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทย จากการที่อาหารไทยดังไกลทั่วโลกและขึ้นชื่อในรสชาติที่จัดจ้านของพริกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว




 
เริ่มจากเล็ก แต่เป้าหมายคือ Global Brand


     พริกค่ะ เป็นแบรนด์ที่เริ่มจากเล็ก และใช้เวลาอยู่พอสมควรกับการวิจัยและพัฒนา ต้องล้มลุกคลุกคลาน ทำแล้วทิ้งอยู่หลายครั้งเพราะกินไม่ได้ จนแทบจะล้มเลิกไปก็หลายหน แต่ศศิมาบอกว่ายังอดทนเพราะเชื่อในสิ่งที่คิดและโอกาสที่มองเห็นในอนาคต ที่สำคัญเป้าหมายของเธอคือ Global Brand อยากเป็นแบรนด์ที่ไปโลดแล่นอยู่ในตลาดโลก
               

     จนวันหนึ่งกาแฟพริกก็คลอดสู่ตลาด และประกาศศักดาโดยไปคว้ารางวัลระดับประเทศและระดับโลกมาได้สำเร็จ ที่เธอบอกว่าสุดแสนภูมิใจคือ การคว้าเหรียญทองจากเวทีประกวดนวัตกรรมนานาชาติ (The International Exhibition of Inventions Geneva) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นงานประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของโลกที่นวัตกรทั่วโลกใฝ่ฝันถึง และยังไปคว้ารางวัล Most Innovative Food and Beverage Product ในงานนวัตกรรมอาหารฮาลาลโลกที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รางวัลนี้อีกด้วย
               

     และแน่นอนว่าวันนี้กาแฟนวัตกรรมกลายเป็นที่รู้จักของตลาดไทยและต่างประเทศเป็นที่เรียบร้อย





     สำหรับใครที่อยากเป็นเจ้าของสินค้านวัตกรรม เธอฝากไว้ว่า ให้เริ่มจากเล็กๆ ลองหาข้อมูลการตลาด หาช่องว่างและโอกาส จากนั้นทดลองตลาดดูก่อน เพราะอย่างกาแฟพริกฝันที่จะเป็นแบรนด์ระดับโลกก็จริง แต่ใช่ว่าจะผลิตออกมาแล้วส่งออกได้ทันที เพราะมันเป็นเรื่องที่ยาก และมีรายละเอียดอีกเยอะมาก ดังนั้นต้องค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เรียนรู้


     “คนที่อยากเริ่มต้นธุรกิจนวัตกรรม วันนี้คุณสามามารถทำได้ แต่สินค้าคุณต้องมีความแตกต่าง แต่การมีความแตกต่างเพียงอย่างเดียวก็อาจทำให้คุณไปได้ไม่ไกล ถ้าขาดการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่คุณคิด ฉะนั้นเรื่องพวกนี้ต้องไปด้วยกัน” เธอสรุปในตอนท้าย
 
               
     ถ้าเชื่อว่า “นวัตกรรม” เป็นอาวุธให้ SME  ใช้ต่อกรในสนามการค้า ณ วันนี้ได้ ก็คงถึงเวลาที่จะลุกมาเรียนรู้และศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ ไม่แน่ว่าสินค้านวัตกรรมตัวต่อไปที่ทั่วโลกพูดถึง อาจมาจากแบรนด์เล็กๆ ของคุณก็ได้นะ
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน