ยืดหยุ่น-ปรับเปลี่ยนไว-เข้าใจอนาคต คาถาลอยตัวเหนือวิกฤต ที่คนทำธุรกิจยุคนี้ต้องใช้

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
 
     สูตรลอยตัวเหนือวิกฤตฉบับ SME
 
 
  • ต้องเข้าใจโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และมีความซับซ้อนของปัญหา
 
  • เข้าใจพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไป มีความเชื่อมโยงของชีวิตทั้งออนไลน์และออฟไลน์
 
  • ต้องทำของที่มีคุณค่า แตกต่างจากที่ผ่านมาในอดีต และแตกต่างจากคู่แข่ง
 
  • เป้าหมายของการทำธุรกิจอาจไม่ใช่กำไรสูงสุด แต่คือการเติบโตอย่างยั่งยืน
 
  • หมดยุคโดดเดี่ยว แต่ต้องทำงานประสานกันทั้ง ธุรกิจ ภาครัฐ ภาควิชาการ และผู้บริโภค
 
  • การอยู่รอดในวิกฤตต้อง ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนไว และเข้าใจอนาคต
 


               
               
     วันนี้การทำธุรกิจอยู่บนความไม่แน่นอน ผู้ประกอบการไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้หรือปีหน้า โควิดอาจยังลากยาวออกไป โลกอาจเผชิญกับไวรัสอุบัติใหม่ อาจเจอกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปสุดขั้วของลูกค้า และสภาพการแข่งขันที่แปรเปลี่ยน จะทำอย่างไร SME ถึงจะปรับตัว ปรับวิธีคิด เพื่ออยู่รอดได้หลังสถานการณ์วิกฤต และมีโอกาสเติบโตรุ่งในโลกที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงนี้  
               

     “ผศ.ดร.พิสิฏฐ์ ธรรมวิถี” รองคณบดีคณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สะท้อนแนวทางรับมือวิกฤตและอนาคตขององค์กรธุรกิจ SME ในยุคที่ทุกอย่างอยู่บนความไม่แน่นอน หลังโลกต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 สถานการณ์ไม่ปกติที่เร่งเร้าให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการทำสินค้าหรือบริการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมุมมองความคิดที่ต้องปรับเปลี่ยนตามโลกยุคนี้ไปด้วย




 
            ยุคแห่งความผันผวน ไม่แน่นอน และความซับซ้อนของปัญหา


     ความท้าทายของการทำธุรกิจหลังวิกฤตโควิด-19 คือ พฤติกรรมคนได้เปลี่ยนไปจากเดิม โดยคนทำงานคุ้นเคยกับคำว่า  Work From Home  คุ้นชินกับการประชุมออนไลน์ หลังโควิดสงบลงคนเริ่มทำงานแบบผสมผสานทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ผู้บริโภคคุ้นชินกับการสั่งของออนไลน์ ไม่ว่าจะสั่งอาหาร บริการ หรือช้อปปิ้งสินค้า วันนี้แม้จะออกนอกบ้านกันได้อิสระ แต่คนก็คุ้นชินกับวิถีชีวิตออนไลน์ไปแล้ว


     นอกจากพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป ความยากของการทำธุรกิจวันนี้คือ โลกธุรกิจเต็มไปด้วยความผันผวน ความไม่แน่นอน และความซับซ้อนของปัญหา นี่คือโจทย์ที่ SME ต้องรับมือและหาทางไปต่อในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้


     “โควิคเป็นเหมือนตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้เราเข้าใจว่า สิ่งที่เราไม่เคยทำได้ในบางเรื่อง จริงๆ แล้วเราก็ทำได้เหมือนกันและทำได้ดีด้วย ประเด็นคือแล้วถ้าเราจะต้องไปต่อ เราจะสามารถเอาสิ่งที่เคยทำมาก่อนที่จะเกิดโควิดมาผสานกับการปรับตัวในช่วงโควิดนี้ได้หรือไม่” ผศ.ดร.พิสิฏฐ์ บอก



 
 
ทำสินค้าให้มีคุณค่า ตอบโจทย์และเข้าใจลูกค้า


     ผศ.ดร.พิสิฏฐ์ บอกเราว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคิดและต้องทำในวันนี้จะต้องแตกต่าง โดยแตกต่างจากสิ่งที่เราเคยทำมาในอดีตและแตกต่างจากคู่แข่ง เพื่อทำให้เรายังมีที่ยืนในตลาด


     “สิ่งที่เราทำนั้นต้องมีคุณค่าสำหรับกลุ่มลูกค้า เมื่อมีคุณค่า ตอบโจทย์ ก็จะสามารถไปต่อได้ แต่ถ้าสิ่งที่เราทำมันไม่มีคุณค่าพอ เขาก็ไม่จ่ายเงินเท่านั้นเอง  ฉะนั้นเราต้องเข้าใจว่าสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการคืออะไร และต้องรู้ว่าสิ่งที่เราจะตอบสนองหรือปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องเราต้องทำอะไรบ้าง หมายความว่า SME ปกติจะมีการผลิตสินค้าอยู่แล้วแต่เมื่อผลิตไปถึงจุดหนึ่งสินค้าของเราอาจจะใกล้เคียงหรือเหมือนกับคู่แข่ง ฉะนั้นการที่เราจะพัฒนาต่อเราต้องเข้าใจลูกค้า และเข้าใจคุณค่าที่ส่งมอบให้กับลูกค้า (Value Proposition) เพื่อพัฒนาสินค้าของเราให้แตกต่างหรือมีนวัตกรรมมากขึ้นเพื่อไปตอบสนองความต้องการนั้นได้มากขึ้น” เขาบอก


     นอกจากการเข้าใจความต้องการและคุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้า SME ยังต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ด้วย


     “วันนี้ผู้บริโภคยังคงต้องการทดลองอะไรใหม่ๆ และยังต้องการความมั่นใจในเรื่องของสินค้าที่มาจากแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักอยู่ แต่พฤติกรรมในเรื่องของการช้อปปิ้งออนไลน์ การที่เขาไม่ได้มาซื้อของที่หน้าร้าน ก็เป็นโอกาสที่ทำให้ SME สามารถนำเสนอสินค้าผ่านช่องทางนี้ได้   โดยเราอาจไม่ใช่แบรนด์ใหญ่หรือเป็นที่รู้จัก แต่ก็สามารถทำผลิตภัณฑ์ใหม่มาเสนอในช่องทางที่ตอบโจทย์ลูกค้า เพื่อไปสู่การเสนอขายสินค้าที่น่าสนใจสำหรับผู้บริโภคได้เช่นกัน”


     เป้าหมายของการทำธุรกิจในยุคแห่งความผันผวน อาจไม่ใช่ยอดขายหรือกำไรสูงสุด แต่คือการเติบโตแบบยั่งยืนซึ่งความยั่งยืนที่ว่านี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากความเข้าใจลูกค้า และรู้ทันพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป


     “ยกตัวอย่าง ธุรกิจที่เป็น Food Delivery เขาจะมีฐานข้อมูลลูกค้า อย่างการที่ลูกค้าสั่งสินค้า เขาจะได้รับข้อมูลว่าลูกค้าแต่ละรายสั่งอะไร ชอบกินเมนูไหน ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) เพราะว่าฐานข้อมูลเหล่านั้นมันคือ Big Data  ที่จะนำไปสู่การพัฒนาตัวสินค้าหรือบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้นในอนาคต”



 
 
ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนไว เข้าใจอนาคต


     การทำธุรกิจในโลกยุคนี้นอกจากการที่ SME ต้องเข้าใจลูกค้า รู้วิธีพัฒนาสินค้าหรือบริการของตัวเองเพื่อให้มีความแตกต่างและมีนวัตกรรมในตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามราคาแล้ว อีกส่วนที่สำคัญซึ่งเป็นปัจจัยภายในนั่นคือ SME จะต้องมีความยืดหยุ่น และปรับเปลี่ยนได้เร็วด้วย


     “ตัวผู้ประกอบการเองจะต้องมีความยืดหยุ่น และยืดหยุ่นแบบที่ไม่ใช่แค่การยืดหยุ่นธรรมดาๆ ด้วย แต่จะต้องเป็นการปรับเปลี่ยนได้เร็วทางธุรกิจ โดยสินค้าอาจจะเหมือนเดิมแต่เราสามารถปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ปรับเปลี่ยนช่องทางขาย ปรับเปลี่ยนคุณค่า ปรับเปลี่ยนรูปแบบ อย่างเช่น ขายสินค้าเหมือนเดิมแต่เราปรับรูปแบบของแพ็กเกจจิ้ง หรือแพ็กไซส์เพื่อนำไปตอบโจทย์ลูกค้าที่แตกต่างกันได้มากขึ้น”


     นอกจากความยืดหยุ่น และปรับเปลี่ยนไว SME ที่อยากลอยตัวเหนือวิกฤตยังต้องเป็นคนที่เข้าใจอนาคตด้วย





     “ธุรกิจ SME ถ้าไม่มีการปรับภาพในเรื่องของการดำเนินธุรกิจใหม่ ไม่เข้าใจอนาคต เราก็จะทำสินค้าแบบเดิมๆ สุดท้ายก็จะไปติดในสงครามราคา เพราะสินค้ามันคล้ายกันคนก็จะไม่ยอมจ่ายแพง สิ่งสำคัญคือเราจะต้องมีการพัฒนาในเรื่องของนวัตกรรมเพื่อให้มันตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยเราอาจไม่จำเป็นต้องเริ่มจากสิ่งใหม่ทั้งหมด แต่สามารถปรับจากสิ่งที่เรามีจุดแข็งอยู่แล้ว และพัฒนาสิ่งใหม่จากจุดแข็งนั้น ซึ่งมันจะง่ายกว่า และระหว่างทางมันมีความสุขมากกว่า วันนี้เราต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเพื่อทำให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น ต้องไปสู่กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อเข้าใจผู้บริโภคได้มากขึ้น และต้องพัฒนากลไกทั้งหมดนี้ไปสู่การดำเนินธุรกิจของเราทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ สุดท้ายวันนี้เราไม่สามารถยืนอยู่ตัวคนเดียวได้ในอุตสาหกรรม แต่ต้องทำงานเชื่อมโยงประสานกันทั้งกับ ภาครัฐ ภาควิชาการและผู้บริโภค เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในเรื่องของสภาพคล่องธุรกิจ ให้ลูกค้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ร่วมกับเราด้วย เพื่อทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้”


     และนี่คือแนวทางในการรับมือกับอนาคตและโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงซึ่ง SME ต้องเผชิญอยู่ในวันนี้ แม้ทุกอย่างจะอยู่บนความไม่แน่นอน แต่ถ้าผู้ประกอบการ เปิดใจ ปรับตัว และปรับให้ไว ไม่เพียงจะอยู่รอดหรือลอยตัวได้เหนือวิกฤต แต่ยังมีโอกาสเติบโตรุ่งได้อีกมากในอนาคต   
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน