รอดเพื่อโลก! กุญแจปลดล็อกธุรกิจสีเขียว ให้ไปต่อได้แม้เจอวิกฤต

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
 
     6 ปัจจัยช่วยธุรกิจรักษ์โลกให้รอดวิกฤต
 
 
  • ความสามารถในการปรับตัวในเชิงธุรกิจ
 
  • ความสามารถในการปรับตัวด้านการเงิน
 
  • ความสามารถในการปรับตัวขององค์กร
 
  • ความสามารถในการปรับตัวต่อระบบนิเวศ
 
  • ความสามารถในการปรับตัวตามภาวะตลาด
 
  • ความสามารถในการปรับตัวเพื่อสร้างผลกระทบ


 
 
     เป็นเรื่องจริงที่การทำธุรกิจยุคนี้ยากแสนยาก ยิ่งผู้ประกอบการรายเล็กอย่าง SME ที่สายป่านสั้นด้วยแล้วละก็ ยิ่งยากเย็นเท่าทวี โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ประกอบการรายเล็กที่ทำธุรกิจน้ำดี ธุรกิจรักษ์โลก ตลอดจนกลุ่มที่เป็นกิจการเพื่อสังคมหรือ SE (Social Enterprise) ซึ่งมีเป้าหมายในการทำธุรกิจไม่ใช่แค่เพื่ออยู่รอด แต่ต้องการดำรงพันธกิจร่วมแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย
               

     หลังการมาถึงของวิกฤตโควิด-19 สั่นคลอนความอยู่รอดของเหล่ากิจการน้ำดี โดยจากรายงานระบุว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรวมถึงกลุ่มที่เป็น Micro SME ทั่วโลกราว 42 เปอร์เซ็นต์ อาจประสบภาวะขาดทุนภายในหกเดือนข้างหน้า เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจในบ้านเราเองที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและสภาพทางสังคมของไทย ก็กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นเดียวกัน  
               

    แล้วอะไรที่จะเป็นกุญแจดอกสำคัญช่วยให้ธุรกิจรักษ์โลกและเหล่ากิจการเพื่อสังคม “อยู่รอด” ท่ามกลางสภาวะวิกฤตนี้ SME Thailand รวบรวม 6 ปัจจัยด้านความสามารถในการปรับตัว ที่ SEED โครงการความร่วมมือระดับโลกเพื่อการดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจสีเขียว สรุปไว้เพื่อช่วยปลดล็อกกิจการน้ำดีออกจากวิกฤต ดังนี้



 
 
1. ความสามารถในการปรับตัวในเชิงธุรกิจ (Business Resilience)
 

     แม้การทำธุรกิจจะไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของเหล่ากิจการรักษ์โลก แต่การอยู่รอดของธุรกิจก็คือหนทางที่จะทำให้อุดมการณ์ในการช่วยโลกและสิ่งแวดล้อมยังได้ไปต่อ ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตธุรกิจรักษ์โลกจะต้องปรับเปลี่ยนมุมมองและปรับตัวในการทำธุรกิจใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่การทำผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาดและตรงกับความต้องการของลูกค้าในวิกฤตได้ เช่น บริษัท Kibebe ที่ทำเกี่ยวกับการออกเเบบสินค้าจากเศษวัสดุ ก็เลือกเปลี่ยนจากการขายของเหลือใช้แบบเดิมๆ มาผลิตหน้ากากขายในช่วงโควิด-19




 
2.ความสามารถในการปรับตัวด้านการเงิน (Financial Resilience)


     อีกหนึ่งเรื่องยากของการเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจทั่วไป หรือธุรกิจรักษ์โลกก็ตาม คือเรื่อง “การเงิน” ซึ่งความสามารถที่ทุกคนต้องใช้ในภาวะวิกฤตก็คือการปรับตัวด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็น  การปรับราคาและเงื่อนไขการชำระเงินให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดที่ไม่ปกติของผู้คน กำลังซื้อที่ลดลง คนขาดรายได้ และดึงเงินออกจากกระเป๋ายากขึ้น เช่น บริษัท Mycotech ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้หนังสัตว์แบบทางเลือก ที่ได้เตรียมรับสถานการณ์ทางการเงินไว้หลายแบบ เพื่อรักษากระแสเงินสดไว้ใช้ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนอย่างวันนี้



 
 
3.ความสามารถในการปรับตัวต่อระบบนิเวศ (Ecosystem Resilience)


     ในอดีตผู้ประกอบการรายย่อยอาจเลือกที่จะโตแบบโดดเดี่ยว และมุ่งมั่นทำกิจการของตัวเองไป แต่ในภาวะวิกฤตการอยู่คนเดียว อาจทำให้กิจการเราไปต่อไม่ได้ ดังนั้นหนึ่งในการปรับตัวที่สำคัญคือการพึ่งพาพันธมิตรทางธุรกิจและผู้เล่นรายอื่นๆ ที่อยู่ในซัพพลายเชนของเรา



 
 
4.ความสามารถในการปรับตัวตามภาวะตลาด (Market Resilience)


หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ “ตลาดเปลี่ยน” โดยเรามีจำนวนคู่แข่งขันแปลกหน้าเพิ่มขึ้น ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปจากเดิม ช่องทางการขายแบบเก่าได้รับผลกระทบ หลายช่องทางต้องปิดตัวไป สิ่งเหล่านี้สะท้อนกลับมาเร่งเร้าให้ผู้ประกอบการธุรกิจรักษ์โลกต้องปรับตัวตามสภาวะตลาด และมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการทำธุรกิจ

 
5.ความสามารถในการปรับตัวเพื่อสร้างผลกระทบ (Impact Resilience)


     การทำธุรกิจรักษ์โลก และกิจการเพื่อสังคมมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ยามที่เกิดสภาวะวิกฤตเช่นนี้ ผู้ประกอบการต้องมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อสร้างผลกระทบ และไม่หยุดในการดำรงเป้าหมายของตัวเอง โดยอาจให้การสนับสนุนบุคคลที่มีความเสี่ยงในระดับฐานอย่างต่อเนื่อง ด้วยการบริจาค รวมถึงการจัดสรรผลิตภัณฑ์และบริการฟรี ตลอดจนเงินอุดหนุนต่างๆ  เช่น ONergy บริษัทพลังงาน ที่ยังคงพัฒนาโครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้บริการชุมชนเกษตรกรรมที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ต้องเผชิญกับปัญหารายได้หยุดชะงักอันเนื่องมาจากการปิดท่าเรือในประเทศจีนชั่วคราวและปัญหาขาดแคลนเงินทุน



 
 
6.ความสามารถในการปรับตัวขององค์กร (Organisational Resilience)


     ข้อสุดท้ายคือเรื่องความสามารถในการปรับตัวขององค์กร ซึ่งการปรับตัวนี้อาจไม่ได้มาจากตัวผู้ประกอบการรักษ์โลกเท่านั้น แต่องค์กรที่ให้การสนับสนุนธุรกิจน้ำดี อาจให้ความช่วยเหลือโดยการเพิ่มความสามารถในการปรับตัวขององค์กรที่เกื้อกูลระบบนิเวศมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนทางการเงินและการสนับสนุนจากพันธมิตร ตลอดจนการสร้างทักษะสำคัญเพื่อให้องค์กรน้ำดีสามารถรับมือกับความเสี่ยงได้มากขึ้น


     ขณะที่ผู้กำหนดนโยบายอย่างภาครัฐเอง ก็สามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการปรับตัวขององค์กรรักษ์โลกได้เช่นกัน รวมถึงการให้การสนับสนุนด้านการเข้าถึงแหล่งทุนและความช่วยเหลือยามวิกฤตที่เปิดกว้างยิ่งขึ้นแก่องค์กรต่างๆ ทั้งในและนอกระบบ  การสนับสนุนทางธุรกิจโดยพัฒนาโครงการสำหรับองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ชนบท และการสนับสนุนระบบเตือนภัยล่วงหน้าอย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้กิจการรักษ์โลก และธุรกิจเพื่อสังคม สามารถรับรู้ถึงผลกระทบและวางแผนเพื่อการฟื้นตัวล่วงหน้าได้เช่นเดียวกับธุรกิจทั่วไปนั่นเอง
               
               
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน