แชร์ประสบการณ์ร่วมโครงการ “คนละครึ่ง” ยุ่งยากไหม-ร้านค้าได้อะไร?




Main Idea
 
 
     How to ปรับตัวเพื่ออยู่รอดของร้านค้า
 
 
  • ฟังเสียงลูกค้า จะเห็นโอกาสอยู่ในนั้น
 
  • หาเครื่องมือใหม่ๆ มาช่วยในการขาย
 
  • ปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยี รับการค้ายุคใหม่
 
  • เข้าหาโครงการสนับสนุน สร้างโอกาสในการค้าขาย
 
  • คนรุ่นเก่าเปลี่ยนไม่ได้ คนรุ่นใหม่ต้องเข้ามาช่วย
 


 
 
     ผมไปเข้าร่วม “โครงการคนละครึ่ง” มาครับ เลยอยากมาแชร์ประสบการณ์ให้ฟังกัน


     วันนี้สถานการณ์โลกว่าร้อนแรงแล้ว สถานการณ์บ้านเมืองเราร้อนแรงไม่ต่างกัน ผลกระทบถาโถมซ้ำเติม ในยุคที่เศรฐกิจขาขึ้น คือขาขึ้นมาก่ายหัวกันแบบนี้ ไม่ใช้แขนก่ายกันแล้ว นอนคิดนั่งคิดไม่ตกเลยว่าจะหันไปทางไหนดีถึงจะมีทางออกและอยู่รอดในเหตุการณ์ปัจจุบันได้


     ผมเห็นโครงการของรัฐบาลหลายโครงการที่ออกมาช่วยสนับสนุนให้คนใช้จ่าย กินเที่ยว เดินทางในประเทศ ให้คนในชาติกินของไทย ใช้ของไทย เที่ยวเมืองไทย ไม่ดูแลกันเอง แล้วใครจะมาดูแลเราจริงไหมครับ หลังจากตัดสินใจอยู่สักพักผมก็เจอกับโครงการที่น่าจะช่วยร้านค้าขายอาหารแบบผม ร้านข้าวหมูแดงเล็กๆ ริมถนนอรุณอัมรินทร์ 30 ของเรา นั่นคือ “โครงการคนละครึ่ง”





      โครงการนี้เขาเน้นส่งเสริมฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ร้านค้ารายย่อย แผงลอย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและขายสินค้าให้ได้มากขึ้น คอนเซ็ปต์คือรัฐบาลช่วยจ่ายให้ 50 เปอร์เซ็นต์ ไม่เกิน 150 บาท ต่อคน/ต่อวัน และไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนตลอดโครงการ ซึ่งเริ่มลงทะเบียนร้านค้าได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 และใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม  ข้อมูลจากข่าวบอกว่าประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งครบ 10 ล้านคนแล้ว เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ก็มีผู้ไม่ผ่านการตรวจสอบสิทธิและไม่เริ่มใช้สิทธิภายใน 14 วัน เลยถูกตัดสิทธิไป และจะเปิดให้ลงทะเบียนรอบสองได้ตั้งแต่ วันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ ตั้งแต่ เวลา 06.00-23.00น. ผ่านเว็บไซต์  www.คนละครึ่ง.com จนกว่าจะครบจำนวน


     ช่วงแรกๆ ที่โครงการออกมาสารภาพตามตรงว่าผมไม่ได้สนใจเข้าร่วมโครงการเลยครับ เพราะคิดว่ายุ่งยาก เสียเวลาในการไปธนาคารกรุงไทย ไม่มีบัญชีกรุงไทย และจำนวนคนไปใช้บริการที่มีมาก จึงไม่สะดวกที่จะไปต่อคิวเข้าแถว และดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น จนวันหนึ่งลูกค้าที่มาซื้ออาหารที่ร้านถามกันเยอะว่า ร้านของเราได้เข้าร่วมโครงการนี้ไหม คำถามมีมากขึ้นๆ ทุกวัน ผมจึงได้สอบถามร้านญาติๆ ซึ่งขายอาหารเหมือนกันว่า เข้าโครงการแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งสิ่งที่ได้รับคำตอบกลับมาคือ ผลตอบรับดีมาก ทำไมที่ร้านไม่ทำยอดขายเพิ่มขึ้นล่ะ เพราะมันเป็นช่องทางในการขายสินค้าอีกทางที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดี แต่อาจจะเสียเวลาหน่อยก็ตอนจ่ายเงินสแกนคิวอาร์โค้ดนิดหน่อย แต่ยอดขายเพิ่มขึ้นนะ ลองดูไหม





     จากบทสนทนานี้ วันรุ่งขึ้นผมก็ไปทำธุรกรรมที่แบงก์เลยครับ ถามว่าต้องเอาอะไรไปบ้าง สิ่งแรกที่ต้องมีเลยก็คือสมุดบัญชีของธนาคารกรุงไทย และบอกพี่ๆ พนักงานว่าต้องการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง พี่ๆ เขาก็จะแนะนำให้ถ่ายรูปหน้าร้านตามแนวนอน แล้วก็รูปตัวเรากับหน้าร้านตามแนวนอนอีกหนึ่งรูป รวมถึงสินค้าที่ขายตามแนวนอน อีก 3-4 รูป และจะมีเอกสารให้เขียนจำนวนหนึ่ง จากนั้นก็รอผลแจ้งกลับมาให้ทราบทาง SMS อีก 7 วัน เป็นอย่างน้อย กรณีที่ร้านค้าได้รับอนุมัติเข้าร่วมโครงการ จะแสดงปุ่ม “คนละครึ่ง” บนแอปถุงเงิน ร้านค้าก็กดปุ่มยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขโครงการ


     สำหรับแอปพลิเคชันที่ใช้ประกอบกัน คือ แอปถุงเงิน ดาวน์โหลดและติดตั้งเพื่อใช้เป็นหลักในการรับเงิน และบริหารจัดการระบุยอดเงินและสร้าง QC เพื่อรับเงินและลูกค้าสแกนจ่าย เราจะได้รับเงินส่วนที่ได้รับจาก G-Wallet ในวันถัดไปและเงินจากสิทธิคนละครึ่งในวันทำการถัดไปเช่นกัน
               

     ร้านค้าเล็กๆ การเพิ่มยอดขายได้ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากครับ ช่องทางการขายสินค้าไม่ว่าจะทางไหนที่มี เราก็ควรคว้าเอาไว้ ป๊าม๊าสอนเสมอ ขยันและรู้จักเรียนรู้ ยังไงก็ไม่อดตาย เทคโนโลยีสมัยนี้ถ้าไม่เรียนรู้เลยก็ตามเขาไม่ทัน ข้อดีก็มีเยอะแต่ข้อเสียก็พอมี ป๊าม๊าแก่แล้ว จะให้มานั่งกดแอปเก็บตังค์คงไม่ใช่แน่ คนรุ่นนี้เขาเก็บเป็นแต่เงินสดไม่ชอบความวุ่นวายและการเปลี่ยนแปลง หัวแข็งเป็นที่หนึ่ง การจะรับอะไรได้ซักอย่างหนึ่งต้องอาศัยการอธิบายและทำความเข้าใจเป็นอย่างมาก ก็ต้องมีคนรุ่นเรานี่แหล่ะครับที่เข้ามาช่วยท่านได้





     หลังจากที่ลงทะเบียนไปถามว่าเป็นยังไงบ้าง สำหรับผมผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจนะ ยอดขายเพิ่มขึ้นเพราะคนต้องกินทุกวัน การที่มีคนมาออกค่าอาหารให้ครึ่งหนึ่งเพื่อลดค่าใช้จ่ายลงในยามที่เศรษฐกิจแบบนี้ ใครบ้างจะบอกว่าไม่ดี ร้านค้าเองก็ต้องทำความเข้าใจและศึกษาขั้นตอน และต้องประชาสัมพันธ์ว่าร้านเราเข้าร่วมโครงการ และสามารถใช้สิทธิได้ แค่นี้ก็เป็นการเพิ่มยอดการขายได้เป็นอย่างดีแล้วครับ
รอยยิ้มของป๊าม๊าเป็นความสุขของลูกหลาน รอยต่อจากรุ่นสู่รุ่น ต้องพึ่งพากันเสมอ อาศัยทำความเข้าใจทำยังไง ให้ธุรกิจอยู่รอดและเจริญเติบโตคงอยู่สืบไป


     ขอแค่ปรับตัวให้ทัน แล้วเราจะรอดไปด้วยกันครับ










 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​