คุยกับ SME รุ่นใหญ่ “เฮียเอี่ยม-สราวุฒิ สินสำเนา” ผู้ผลิตรางผ้าม่านลุกมาทำฟาร์มผัก AI

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : อี.พี. เดคคอร์





Main Idea
 
 
     คมคิด SME รุ่นเก๋า
 
 
  • อย่ายึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว
 
  • ไม่มีคำว่าสายเกินไป ในการเปลี่ยนแปลงตัวเองและเรียนรู้
 
  • ทำธุรกิจต้องแบ่งปัน มีความรู้ต้องแลกเปลี่ยน อยู่อย่างมิตรไม่ใช่ศัตรู
 
  • จะทำเรื่องใหม่ต้องให้ความสำคัญกับคน เถ้าแก่แค่ส่งเสริมและสนับสนุน
 
  • การเปลี่ยนแปลงคนอื่นทำยาก ต้องเริ่มจากเปลี่ยนตัวเราเอง
 
  • พฤติกรรมองค์กรคือพฤติกรรมเถ้าแก่ อยากให้องค์กรเป็นแบบไหน ทำตัวแบบนั้น
 


 

     ผู้ประกอบการในวัยเกือบ 50 ปี แถมยังอยู่ในอุตสาหกรรมผลิตมากว่า 2 ทศวรรษ แต่ทำไมวันหนึ่งถึงลุกมาทำเรื่องใหม่ๆ อย่าง การตลาดดิจิทัล ผู้ผลิตแอนิเมชัน กระทั่งนวัตกรรมฟาร์มผัก AI  ฯลฯ กับเขาได้


     เรากำลังพูดถึง “เฮียเอี่ยม-สราวุฒิ สินสำเนา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อี.พี. เดคคอร์ (ประเทศไทย) จำกัด SME จากเมืองเชียงใหม่ ผู้ผลิตและจำหน่ายรางผ้าม่านและอุปกรณ์ที่อยู่ในสนามมากว่า 20 ปี วันนี้เฮียเอี่ยมเป็นเจ้าของ BAANSUAN SMART FARM นวัตกรรม AI ปลูกผักที่ใช้งานผ่านไลน์ พัฒนาระบบแดชบอร์ด (Dashboard) ขึ้นมาใช้งานเอง มีบริษัทแอนิเมชัน บริษัทที่ทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง และสาขาที่มีพนักงานเป็นเจ้าของ กระทั่ง YouTube Channel ในขณะที่ธุรกิจเดิมก็ยังคงดำเนินการอยู่
               

      ปรากฏการณ์ทรานส์ฟอร์มข้ามขั้วธุรกิจครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มาฟังคำตอบไปพร้อมกัน



 
 
Q : ทำไมผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมผลิตถึงคิดข้ามขั้วไปทำเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับเขาได้ อะไรเป็นจุดเปลี่ยนให้มาคิดทำเรื่องพวกนี้ 


     A : เรื่องเทคโนโลยีและ Data ผมสนใจมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ผมชอบ และพยายามหาวิธีให้คนทำงานน้อยลง อย่างวันที่เราคิดจะทำแดชบอร์ดสำหรับองค์กรขึ้นมา ก็เกิดจากการมองเห็นปัญหาว่า เวลาจะส่งรายงานทุกคนจะวุ่นวายมาก กรอกข้อมูลผิดๆ ถูกๆ ซึ่งมันไม่โอเค ก็เลยคิดเอาข้อมูลทั้งหมดที่มีมาแปลงเป็นสรุปเพื่อให้คนดูได้ง่ายๆ สามารถเรียกดูได้ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนและรายปี ย้อนหลังไปประมาณ 6 ปี ทุกคนไม่ต้องทำรายงาแต่เอาข้อมูลนั้นมาทำกลยุทธ์การขาย การจัดการเรื่องบัญชี การจัดการคลังสินค้า และอื่นๆ ได้ เพราะฉะนั้นในแต่ละเดือนทุกคนก็จะมีกลยุทธ์มานำเสนอ ซึ่งเราใช้เวลาพัฒนาอยู่เกือบ 3 ปี ลองผิดลองถูกมาเยอะ มันอาจจะใช้เวลามากหน่อย แต่ก็ตอบโจทย์ทุกกระบวนการทำงานของเรา


     ถามว่าเรื่องพวกนี้เราเรียนรู้มาจากไหน ก็ค่อยๆ เรียนรู้ด้วยตัวเอง ส่งเด็กไปอบรมบ้าง ไปเข้าโครงการต่างๆ บ้างและเรียนจากองค์ความรู้ที่คนอื่นมีแล้วมาแบ่งปันกันบ้าง ผมถึงได้เปิดศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการขึ้นมา เพื่อที่จะรวมเพื่อนๆ ให้มาอยู่ที่เดียวกัน คุณถนัดอะไร สอนเฮียหน่อยสิ เฮียไม่รู้เรื่องเลย บริษัทเฮียทำเรื่อง KPI ใช้ได้นี่ ผมก็ส่งเด็กของผมไปสอนที่โรงงานเขา แลกเปลี่ยนกันไปมา ซึ่งมันดีนะเพราะผมได้ความรู้ และเขาเองก็ได้ความรู้ ถามว่าวันนี้เราต้องมาแข่งกันไหม ไม่จำเป็นเลย เรามาช่วยกันพัฒนาดีกว่า อย่างตัวแดชบอร์ดที่ผมทำขึ้น ตอนนี้ก็มีโอกาสช่วย SME อยู่ 2 บริษัท สิ่งหนึ่งที่เราทำอยู่ตลอดก็คือศึกษาหาความรู้ และเจอผู้คนให้มาก
 

Q : วันนี้ยังมีผู้ประกอบการหลายคนที่เปลี่ยนตัวเองไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต และคุ้นชินกับการทำงานแบบเก่า เฮียเอี่ยมจะมีข้อแนะนำให้กับคนกลุ่มนี้อย่างไร


     A : สิ่งสำคัญที่สุดคือ SME ต้องเปิดใจ มีผู้ประกอบการเยอะมากที่บอกว่า ทำไมต้องเปลี่ยนล่ะ ในเมื่อที่เคยทำมาก็เคยสำเร็จมาก่อน ยิ่งคนที่ทำผลิตส่วนใหญ่เราจะภูมิใจกับความสำเร็จเดิมมากว่ามีวันนี้ได้เพราะตัวเรา หลายองค์กรเลยทำแต่เรื่องเดิมๆ ชื่นชมกับความสำเร็จเดิม แล้วก็ไปเจ๊งเอาข้างหน้า ถามว่าถ้าไม่ทำอะไรเลยเขาจะอยู่ได้ไหม อยู่ได้นะ แต่อัตรากำไรก็จะลดลงเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งธุรกิจจะเริ่มช้าและเขาจะเริ่มบ่น ถามว่าจะปรับตอนนั้นทันไหม ผมยังเชื่อว่าปรับเวลาไหนก็ทัน ตอนล้มแล้วก็ยังทัน  เพียงแต่ทุกครั้งที่ปรับอุปสรรคจะเยอะแยะไปหมด ฉะนั้นคุณต้องก้าวข้ามไปให้ได้


     แล้วจะเริ่มแบบไหนดี สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมักลืมไปคือเรื่องพื้นฐานขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนทางการเงินที่เราต้องเข้าใจ สะต๊อกต้องไม่บวมเกินไป การตลาดสมัยใหม่เป็นอย่างไรเราต้องรู้ พอทำเรื่องพื้นฐานให้เรียบร้อย ก็กลับมาทำเรื่องที่สำคัญสุดก็คือ การสร้างคน และให้โอกาสคน ถ้าคุณทำตรงนี้ได้คุณจะต่อยอดอะไรไปได้อีกเยอะและง่ายมาก แต่ถ้าพื้นฐานยังไม่แน่นพอ คุณจะไปทำ IoT ไปทำ AI มันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะสุดท้ายคุณจะไม่มีคนมาทำต่อให้คุณ



 

Q : แล้ว อี.พี. เดคคอร์ มีวิธีสร้างและพัฒนาคนเพื่อให้มาทำเรื่องใหม่ๆ ได้อย่างไร โดยเฉพาะคนที่โตมาจากโรงงานผลิตซึ่งไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาก่อนเลย


     A : มีเรื่องหนึ่งที่เราทำคือการสร้าง Business Unit ในองค์กร เพื่อให้โอกาสคนที่อยากจะเป็นเถ้าแก่ ผมเองเคยเป็นลูกจ้างมาก่อนผมรู้เลยว่าลูกจ้างทุกคนอยากเป็นเถ้าแก่ อีกเรื่องคือเงินเดือนพอถึงจุดหนึ่งเราก็เริ่มขึ้นต่อไม่ไหว ฉะนั้นเราจะต้องแยกเขาออกไปเป็นเถ้าแก่เพื่อให้เขาหาเงินก้อนใหม่มาให้กับเรา โดยเขาจะเป็นได้ต้องพัฒนาให้เขาเข้าใจธุรกิจ 2 ปี ซึ่งตอนนี้เรามีพนักงานที่เป็นผู้ประกอบการแล้ว 6 คน ซึ่งเขาไม่ต้องมีเงินลงทุน สิ่งที่เราจะให้คือหุ้น 20 เปอร์เซ็นต์ โดยที่เราขายสินค้าให้เขา แต่เขาไม่ต้องจ่ายตอนนี้ ทุกๆ ปีมีปันผลเอาปันผล 80 เปอร์เซ็นต์จากที่ได้ไปจ่ายค่าหุ้น เพราะฉะนั้นเขายังอยู่กับเราอีกอย่างน้อย 5 ปี
               

     ถามว่าทั้ง 6 คนไปทำอะไร ไปดูแลกันคนละบริษัท ส่วนบริษัทอะไรบ้าง ก็เริ่มจากที่เรามองว่า บริษัทเรายังขาดอะไร และเราต้องการอะไรมาเติมเต็ม เราก็เปิดมันขึ้นมา เช่น บริษัทแอนิเมชัน บริษัทด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง บริษัททำความสะอาด บริษัทรับติดตั้งงาน ฯลฯ  จากนั้นมาดูว่าใครเหมาะจะไปทำอะไรก็พัฒนาเขาขึ้นมา ถามว่าทำไมเราไม่ทำพวกนี้เอง เพราะมีวันหนึ่งผมขับรถไปประสบอุบัติเหตุเกือบตกเหว ผมเลยรู้สึกว่าทำไมต้องมาลำบากขนาดนี้ ลูกน้องรู้เรื่องหรือเปล่า ถ้าผมส่งให้เขามาลำบากเอง ให้เขาไปทำเองเขาก็คงเข้าใจผมมากขึ้น ทุกวันนี้ผมบอกทุกคนในบริษัทเลยว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นแผนกไหน จะฝ่ายผลิตหรือพนักงานประกอบ คุณจะต้องเจอลูกค้าให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง คุณจะผลิตของให้ลูกค้าได้อย่างไรถ้าคุณไม่เคยเจอลูกค้าเลย เพราะฉะนั้นทุกคนต้องไปเจอลูกค้า


     นอกจากนี้เรายังสนับสนุนการคิดโครงการใหม่ๆ ของพนักงาน ให้ความสำคัญกับการเพิ่มทักษะ ทำเรื่อง Inno Talk  ให้เด็กได้แสดงความสามารถ โดยไม่มีเรื่องของการจับผิดเลย หน้าที่ของผมคือการให้กำลังใจและส่งเสริมเขา  อย่าง 5 ปีที่ผ่านมา เราทำไปประมาณ 33 โครงการ ซึ่งสำเร็จแค่ 3 โครงการ เด็กก็มานั่งร้องไห้บอกเฮียหนูขอโทษ หนูทำไม่สำเร็จ ผมก็บอกเด็กว่าไม่เป็นไร มันเป็นประสบการณ์ ครั้งหน้าจะได้ไม่ทำแบบนี้อีก เขาก็คิดใหม่ไปเรื่อย บางคนบอกว่าทำไมผมไม่เอาเรื่องพวกนี้ไปจ้างข้างนอกทำล่ะ ผมเคยแล้วแต่กลายเป็นว่าเขาไม่ได้เข้าใจเรา เราจะดียังไงก็แล้วแต่ แต่เราเดินไปบอกเขาว่าเราดีเขาไม่เชื่อ แล้วเราต้องพิสูจน์กับเขาอีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้ แต่เด็กของเราเราพิสูจน์แล้วว่าเราดี ไม่ต้องพูดเยอะ เขาเข้าใจเรา เพราะฉะนั้น สู้สร้างเด็กของเราขึ้นมาเองเลยดีกว่า
 

Q : จากโรงงานผลิตรางผ้าม่านและอุปกรณ์ ทำไมถึงลุกมาทำนวัตกรรมฟาร์มผัก AI ได้


     A : ต้องขอบคุณโควิดที่ทำให้เรามองเห็นตัวเอง เพราะถ้ามัวแต่คิดว่าตัวเราเป็นโรงงานผลิตยังไงคนก็ต้องมาซื้อ พอโควิดมาทุกอย่างนิ่งหมดเลย เพราะเราเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ฉะนั้นวิกฤตมาเราโดนก่อน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือหลายอย่างที่เราไม่เคยทำหรือทำไม่เต็มที่เราลุกมาทำหมด อย่างทำตลาดออนไลน์ ทำช่อง YouTube จากที่ไม่เคยมีมาก่อนเลย 4 เดือนมานี้เราน่าจะมีเกิน 500  คอนเทนต์ เราทำทุกวันจนต้องทำห้องๆ หนึ่ง สำหรับทำคอนเทนต์โดยเฉพาะ เวลาเดียวกันเราไปเข้าโครงการแตกกอของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และเริ่มเขียนแผน Business Model Canvas (BMC) ขึ้น ทำให้เราเห็นจุดแข็ง จุดอ่อน และโอกาสของเรา ทำให้เห็นเลยว่าสิ่งที่เราเคยคิดมันใช่ แต่จริงๆ มันไม่ใช่อีกเยอะมาก จุดนี้เองทำให้เรามามองหาผลิตภัณฑ์ที่มันสมาร์ทขึ้น และสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้มากขึ้น จึงต่อยอดมาทำ BAANSUAN SMART FARM นวัตกรรม AI ปลูกผักที่ใช้งานง่ายๆ ผ่านไลน์


      ผมเริ่มทำจากเป็นกระถางเล็กๆ ก่อน แล้วมาทำเรื่องของตัววัดอุณหภูมิ วัดความชื้น แต่เป็นแท่งเสียบเล็กๆ ยังไม่ได้เชื่อมกับแอปพลิเคชันอะไร เราลองทำดูและเห็นว่ามันทำได้เพราะเมื่ออุณหภูมิโอเคมันจะสั่งให้น้ำที่มาจากปั๊มเล็กๆ ขึ้นมารดโดยอัตโนมัติ จากนั้นเราพัฒนามาเขียนตัว API (Application Programming Interface) ผ่านไลน์ เพราะเป็นโปรแกรมที่อยู่ในมือถือของทุกคนอยู่แล้ว เพื่อใช้ไลน์เชื่อมต่อกับตัวแปลงผัก ให้แปลงผักสามารถที่จะควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นตัววัดอุณหภูมิ ความชื้นในดิน สามารถคลิกสั่งการทั้งการเปิด/ปิดระบบรดน้ำ วัดอุณหภูมิและค่าความชื้น  ซึ่งตรงนี้เป็นเบื้องต้นที่เราทำได้ คือมอนิเตอร์ได้แบบเรียลไทม์เรียกดูจากที่ไหนก็ได้ และกำลังพัฒนาต่อยอดไปอย่างในอนาคต ถ้าอยากให้ถ่ายรูปเพื่อตรวจสอบการเติบโตของพืชในทุกระยะก็สามารถทำได้ แล้วส่งข้อมูลกลับมาที่ไลน์ของเรา หรือเวลามีอะไรเข้าไปในบริเวณแปลงผักตัวเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งไว้ก็จะแจ้งเตือน ซึ่งยังต่อยอดไปได้อีกหลายเรื่อง ตอนนี้ตัวระบบมีต้นทุนผลิตต่อชิ้นที่ประมาณกว่า 2,000 บาท แต่ถ้าพัฒนาเสร็จและผลิตได้มากขึ้น ก็คาดว่าจะจำหน่ายได้ที่ราคาไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อให้ผู้ที่ชื่นชอบการปลูกผักแต่ไม่มีเวลาดูแลและคนสนใจเรื่องสุขภาพนำไปใช้ได้



 

Q :  วันนี้ทำอะไรหลายๆ อย่าง แล้วยังมีอะไรที่ยังอยากทำแต่ไม่ได้ทำบ้างไหม สิ่งที่คิดและทำสามารถเติมเต็มธุรกิจได้ครบทุกมิติแล้วหรือยัง


     A : ที่เล่ามามันยังเป็นแค่บางส่วนที่เราทำเท่านั้นเอง และเรายังต้องทำอะไรอีกเยอะมาก เพราะโลกมันเปลี่ยนเร็ว จนเรารู้สึกว่า จะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ แต่ต้องเปลี่ยนแบบเร็วมาก ถามว่าวันนี้ครบทุกอย่างที่ควรจะต้องมีหรือยัง ยัง ชีวิตผมยังไม่รู้เลยว่า พรุ่งนี้โลกจะเปลี่ยนไปยังไง แต่ผมรู้แค่ว่าต่อจากนี้การเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งมันจะรวดเร็วมาก แล้วมันจะดิสรัปต์ทำลายล้างอันเดิมเกิดอันใหม่ สิ่งที่ผมเจอมาคือต่อจากนี้การทำงานจะเชื่อมโยงกันมากขึ้น มันไม่มีทางที่คุณจะทำเรื่องนี้ไปคนเดียวตลอดไป ขนาด  Nike ยังออกมาบอกเลยว่า การมี Netflix ทำให้เขาได้ยอดขายน้อยลง เพราะคนมัวแต่ดูหนังอยู่บ้านไม่ยอมมาออกกำลังกาย เห็นไหมว่าคู่แข่งมันคนละอุตสาหกรรมกันหมดเลย


     ฉะนั้นวันนี้การใช้ Data สำคัญมาก การบริหารการเงิน และการจัดระบบหลังบ้านให้ดีที่สุดก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่จะให้ตอบสนองเราให้ได้มากที่สุด การทำธุรกิจวันนี้ยากมากเลย แต่เราต้องทำเพราะโลกอนาคตมันไม่ใช่โลกที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป แต่มันดิสรัปต์รุนแรง ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งสายการบินจะโดนดิสรัปต์ ผมยังนึกไม่ออกเลย ไม่น่าเชื่อ มันเกิดอะไรขึ้น อย่างธุรกิจเรานี่กระจอกมากเลยนะ มันสามารถถูกดิสรัปต์เมื่อไรก็ได้ ฉะนั้นถ้าเรามัวแต่คิดว่า ทุกอย่างดีหมด นั่นแหละเรากำลังลำบาก เพราะฉะนั้นเราจะต้องไม่เป็นเถ้าแก่ที่ภูมิใจในเรื่องเดิมๆ ที่เคยทำมา แต่ต้องยอมรับว่า วันนี้สิ่งที่เราเจอเราแก้ไขได้ด้วยวิธีเดียว นั่นคือ เปลี่ยนตัวเอง  การเปลี่ยนพฤติกรรมคนอื่นมันยาก ฉะนั้นเราต้องเริ่มจากเปลี่ยนตัวเราเอง เราถึงจะเปลี่ยนคนรอบข้างได้ เพราะพฤติกรรมองค์กรก็คือพฤติกรรมเถ้าแก่จริงไหม
               
 










www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ