อดีตวิศวกรโรงงาน กลับไปพลิกสวนผลไม้เมืองจันท์ให้อัจฉริยะ จนส่งออกไกลถึง จีน-อาหรับ

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : กิจจา อภิชนรจเรข และ JR Farm





     เกษตรกรรุ่นเก่า อาจทำเกษตรโดยใช้สัญชาตญาณ แต่กับ Young Smart Farmer พวกเขาใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือเพิ่มความแม่นยำในการทำเกษตร ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต อัพแวลู่ให้กับสินค้าเกษตรไทยจนส่งออกต่างประเทศได้ฉลุย


     เช่นเดียวกับสวนผลไม้ที่ชื่อ “ฟาร์มจันทร์เรือง” (JR Farm) ในจังหวัดจันทบุรี ที่อยู่มานานกว่า 20 ปี จนวันที่ลูกชายอดีตวิศวกรโรงงาน “ณัฐวุฒิ จันทร์เรือง” เจ้าของดีกรีปริญญาตรี วิศวกรรมเคมี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาโท เทคโนโลยีและการจัดการพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัดสินใจกลับบ้านเกิดเพื่อสานต่ออาชีพเกษตรกรรมของครอบครัว เรื่องใหม่ๆ สุดไฮเทคจึงได้จุติขึ้นที่ฟาร์มจันทร์เรือง



 
 
ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ด้วยวิถีเกษตรอัจฉริยะ


     ทันทีที่ตัดสินใจออกจากงานประจำเพื่อกลับมาทำเกษตรที่บ้านเกิด อดีตวิศวกรเคมีอย่าง ณัฐวุฒิ เกิดความคิดที่อยากจะนำองค์ความรู้และประสบการณ์ทางด้านวิศวกรรม เทคโนโลยีและการจัดการ มาใช้กับงานภาคเกษตร เขาเริ่มจากขอแบ่งที่ของครอบครัวที่มีอยู่ประมาณ 50 ไร่ ปลูกทุเรียน มังคุด และลองกอง เป็นหลัก มาทดลองทำฟาร์มไฮเทคที่ประมาณ 6 ไร่ โดยเริ่มจากงานพื้นฐานอย่างระบบเปิด-ปิดน้ำแทนคน  


     “ตอนแรกที่ผมกลับมา พ่อแม่ยังใช้การจัดการแบบเก่าๆ ที่เคยทำมาเมื่อหลายสิบปีก่อน เน้นใช้แรงงานคนเยอะ แต่ปัญหาตอนนี้คือแรงงานหายากขึ้น อย่างเวลาจะเปิด-ปิดน้ำแต่ละที ผมมีอยู่ทั้งหมด 5 สวน จำเป็นต้องใช้คนหลายคนเพื่อที่จะประจำในสวนคอยทำหน้าที่เปิด-ปิดน้ำ ซึ่งมันยุ่งยากมาก ผมเลยเริ่มเอาโปรแกรมเข้ามาช่วยในการเปิด-ปิดน้ำ โดยที่สามารถควบคุมได้จากที่บ้านเลยไม่ต้องมาที่สวน จากนั้นก็เริ่มเขียนโปรแกรมที่ใช้วัดค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ความชื้น ทิศทางลม ปริมาณน้ำฝน ฯลฯ โดยสั่งอุปกรณ์เข้ามาจากจีน ซึ่งพอทำได้และไม่กระทบกับแรงงานคน  รวมถึงค่าไฟและค่าแรงต่างๆ ก็เริ่มติดตามผล โดยทำการเก็บค่าต่างๆ เพราะว่าจริงๆ แล้วค่าเหล่านี้มีผลต่อการเจริญเติบโต หรือการออกดอกของต้นไม้ทั้งสิ้น  ซึ่งทั้งหมดในกระบวนการเราไม่ได้ใช้คนเลย เพราะต่อให้ใช้คนทำก็ไม่สามารถวัดค่าเหล่านี้ได้” เขาเล่า
 

     ค่าที่ได้นำมาเทียบกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับต้นไม้ ทำออกมาเป็นกราฟให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยไม่ต้องใช้การคาดการณ์หรือคาดเดาเหมือนการทำเกษตรในยุคที่ผ่านๆ มาอีกต่อไป


     “ถ้ามองถึงผลผลิตที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2 ปีแรก ยังไม่ต่างกันเท่าไหร่เพราะเราทำแค่วัดค่าแต่ยังไม่ได้เอาค่านั้นมาทำอะไร แต่สิ่งที่เห็นชัดคือการจัดการ ที่สามารถลดแรงงานคนลงได้ สมมุติลดแรงงานไปได้ 2 คน ค่าแรงต่อคนเดือนละ 10,000 บาท นั่นหมายความว่าเราสามารถลดต้นทุนไปได้แล้วเดือนละ 20,000 บาท 1 ปีก็ 240,000 บาท ทีนี้เราก็เริ่มเอาค่าต่างๆ มาใช้ในปีถัดไปว่า ค่าความชื้นอยู่ที่ประมาณนี้เราควรให้น้ำเท่าไร ถ้าเราให้น้ำประมาณนี้ผลออกมาเป็นอย่างไร ถ้ายังโอเคอยู่เราลองลดการให้น้ำดู ซึ่งการลดการใช้น้ำลงได้ 10-20 นาที ก็เยอะมากแล้ว 





     จากตอนแรกเราประหยัดแรงงานคนไป ก็เริ่มประหยัดค่าไฟในการปั๊มน้ำ และลดปริมาณน้ำลงได้อีก ต้นทุนก็เริ่มน้อยลงเรื่อยๆ จากนั้นเราก็เริ่มมาจับอุณหภูมิว่า อุณหภูมิประมาณไหนที่ต้นไม้เริ่มออกดอก มีการวัดความเร็วลมและทิศทางลม เพราะปกติถ้าลมหนาวมาแสดงว่าต้นไม้พร้อมที่จะออกดอกแล้ว เราก็เตรียมการให้น้ำตามเทคนิคของการปลูกทุเรียนที่สามารถเข้าได้ถูกจังหวะขึ้น จากนั้นก็เก็บค่าผลผลิตมาอย่างต่อเนื่อง และทำให้ผลผลิตเราเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 3-4 ตัน รวมถึงลดต้นทุนลงได้ และผลผลิตก็คุณภาพดีขึ้นด้วย” เขาเล่า


     จากสวนกว่า 50 ไร่ ที่เคยใช้คนทำงานอยู่กว่าสิบคน วันนี้เหลือคนงาน 6 คน สามารถดูแลได้ครอบคลุมด้วยการทำงานร่วมกับเครื่องจักร เช่น รถตัดหญ้าที่ใช้บังคับวิทยุ มีคนช่วยตัดในส่วนที่รถเข้าไม่ถึง มีเครื่องพ่นยาแทนคน จึงช่วยทุ่นแรง และประหยัดเวลามากขึ้น คนทำงานก็เปิดใจและมีความสุข เต็มใจที่จะทำงานให้มากขึ้น และยังแบ่งภาคมาสร้างผลผลิตอื่นๆ ให้กับสวนของพวกเขาได้อีกด้วย


     เมื่อถามว่าการลงทุนทำระบบพวกนี้ใช้เงินเยอะแค่ไหน คนหนุ่มบอกเราว่า เขาใช้เงินไปกับอุปกรณ์และระบบต่างๆ ไม่เกิน 5 หมื่นบาท เพราะเลือกใช้วัสดุที่ไม่ได้แพงหรือดีมาก แต่เน้นแค่พอใช้งานได้เท่านั้น ขณะที่เกษตรกรทั่วไปแม้ไม่มีความรู้ด้านวิศวกรรมเลยก็สามารถทำเรื่องพวกนี้ได้ เพราะปัจจุบันมีโปรแกรมสำเร็จรูปต่างๆ ให้เลือกใช้อยู่แล้ว อย่างระบบเปิด-ปิดน้ำที่ใช้สั่งงานได้ทั้งสวนโดยควบคุมผ่านมือถือเครื่องเดียว ก็ราคาเริ่มต้นแค่ประมาณ 300-400 บาทเท่านั้นเอง อยู่ที่เกษตรกรต้องเปิดใจ กล้าเปลี่ยนแปลง และปรับมุมมองที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้มากขึ้นเท่านั้น




 
ต่อยอดผลผลิต สู่ผลิตภัณฑ์แปรรูป พร้อมส่งออกไปตลาดโลก


     จากสวนผลไม้ที่ชื่อฟาร์มจันทร์เรือง มีผลผลิตปีละ 1 ครั้ง ทำงานบนสัญชาตญาณ และเน้นขายเฉพาะตลาดในประเทศ เมื่อทายาทคนเดียวกลับมาสานต่อ และเริ่มมีเวลามากขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยงาน เลยได้คิดหาทางเพิ่มรายได้และขยายโอกาสในการทำธุรกิจ


     เขาเริ่มจากส่งเสริมให้มีการปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายประจำวันของเกษตรกร ปลูกพืชอายุสั้นเพื่อหารายได้ระหว่างการทำสวนที่ให้ผลผลิตเพียงปีละครั้ง นำผลผลิตที่ตกเกรดมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า และสร้างแบรนด์เพื่อนำพาผลิตภัณฑ์ไปโลดแล่นในตลาดโลก


     “ก่อนหน้านี้มีผลผลิตที่เราขายผลสดไปแล้ว แต่พบว่ามีผลผลิตส่วนหนึ่งที่ขนาดไม่เหมาะต่อการส่งออก อาจจะผิดรูปไปหรือบิดเบี้ยวทำให้ขายได้ราคาไม่ดีเท่าไหร่นัก ผมก็เริ่มนำตรงนี้มาแปรรูปแล้วก็ทำการตลาด โดยตอนแรกเลยก็ทำผ่านช่องทาง Facebook เป็นหลัก เวลาเดียวกันก็ทำมาตรฐานต่างๆ ให้พร้อม ไม่ว่าจะ อย. ฮาลาล  GMP หรือ GAP  เรามีครบหมด ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้จะช่วยเปิดตลาดให้เราเข้าถึงลูกค้าได้มากและกว้างขึ้น ทั้งการส่งออก ขายในประเทศ รวมถึงขายในห้างได้  และยังทำให้เราเข้าถึงหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ ที่มีกิจกรรมซึ่งจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการอยู่แล้ว ถ้าเราทำมาตรฐานให้พร้อมเราก็สามารถไปใช้โอกาสตรงนั้นได้” เขาสะท้อนวิชั่น





     และดูจะไม่ผิดไปจากที่เขาคิด เมื่อวันนี้ผลไม้สดและผลไม้แปรรูปจากแบรนด์JR Farm” และ “เหลืองจันทร์” จากฟาร์มจันทร์เรือง ส่งออกไปขายอยู่ในหลายประเทศ โดยทุเรียนแปรรูป (ทุเรียนทอด-ฟรีซดราย) และทุเรียนสด ส่งไปจีน  ทุเรียนแปรรูปส่งไปอาหรับ มังคุดส่งไปที่สิงคโปร์และไต้หวัน ส่วนลองกองที่เป็นผลสดส่งไปตลาดเวียดนามที่เขาบอกว่า มีเท่าไรก็รับหมดและรับซื้อทุกเกรดด้วย


     “ตลาดที่เป็นกำลังซื้อหลักๆ ของโลกคืออาหรับและจีน ตอนนี้เราเปิดตลาดได้แล้ว อย่างกลุ่มอาหรับนี่น่าสนใจมากเพราะเขาชอบกินทุเรียนทอดมาก แต่แทบไม่ค่อยมีคนส่งไปขายทางนั้น ทั้งที่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ มันเริ่มจากเขาเจอผมทาง Facebook แล้วบินมาคุยด้วยเลย ด้วยความที่เราทำมาตรฐานไว้พร้อมอยู่แล้ว รวมถึงฮาลาล ทำให้สามารถส่งออกไปตลาดนี้ได้ ตอนนี้ผมอยากเอาสินค้าเราไปขายที่ญี่ปุ่นให้ได้ เพราะเป็นตลาดที่มาตรฐานค่อนข้างสูงมาก ง่ายๆ ถ้าเข้าญี่ปุ่นได้ก็สามารถการันตีได้ว่าของเรามีคุณภาพมากๆ และจะไปขายที่ไหนก็ได้บนโลกนี้ เพราะความตั้งใจของผมคืออยากให้สินค้าของเราไปขายได้ทั่วโลก” เขาบอกความมุ่งมั่น


     Young Smart Farmer บอกเราว่า ตอนนี้เขายังคงพัฒนาสวนเพื่อทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณที่มากขึ้น เพื่อรองรับการส่งออก รวมถึงความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ยังคงพยาพยามลดต้นทุนให้ได้สูงสุด สิ่งไหนที่ทำได้เองก็จะเลือกทำเองไม่ต้องซื้อหา เช่น การทำปุ๋ย หรือสารกำจัดแมลง นอกจากจะประหยัดแล้วยังเป็นการลดการใช้สารเคมี และทำสวนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายของพวกเขาด้วย


     “ผมพยายามทำทุกอย่างให้มันครอบคลุมให้มากที่สุด เพราะมันจะช่วยเพิ่มความมั่นคงให้กับเรา ตอนนี้ถ้านับจากร้อยเปอร์เซ็นต์ ถามว่าผมทำอะไรไปได้มากแค่ไหนแล้ว มองว่าทำได้ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ยังคงเหลืออีกนิดเดียวคือ ผมอยากจะพัฒนาสวนนี้ให้เป็นสวนต้นแบบหรือแหล่งเรียนรู้ชุมชน เพื่อให้คนได้มาเรียนรู้ให้มากที่สุด และทำให้ชัดเจนที่สุด นี่คือความตั้งใจของผม”



 

เกษตรกรเติมเต็มความฝันคนรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้ทักษะในทุกอาชีพ


     ณัฐวุฒิ เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่มีความฝันและความหวัง เขาบอกว่า เคยทำงานบริษัทมาก่อน แต่มีสิ่งที่อยากจะทำอยู่ในหัวตลอดเวลา เพียงแต่ด้วยหน้าที่การงาน ณ ตอนนั้น ทำให้ไม่มีอิสระหรือเวลาพอที่จะไปทำในสิ่งที่อยากทำได้ เมื่อเหนื่อยจากการทำงานพอถึงวันหยุด เขาบอกว่าตัวได้หยุด แต่ความฝันไม่เคยหยุดพัก เมื่อจังหวะของชีวิตมาถึงจึงตัดสินใจออกมาลุยกับความฝันของตัวเองอย่างเต็มที่ และความฝันของเขาก็คือการเป็น “เกษตรกร”


     “ผมคิดไม่ผิดเลยที่ตัวเองเรียนวิศวะมาแล้วมาเป็นเกษตรกร เพราะมันทำให้ผมเห็นว่าเกษตรกรเป็นอาชีพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว เพราะว่าคนทุกคนบนโลกใบนี้ยังไงก็ต้องอิ่มปากอิ่มท้อง ไม่อย่างนั้นก็คงใช้ชีวิตต่อไปไม่ได้ แล้วอาชีพเกษตรมันพร้อมทุกอย่างในการทำให้คนๆ หนึ่งมีปัจจัย 4  ครบถ้วน และดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัยก็มาจากการทำเกษตรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นมันเป็นอาชีพที่ยิ่งใหญ่มาก


     และยังเป็นอาชีพที่รวมทุกศาสตร์อยู่ในอาชีพเดียวกัน ไม่ว่าจะวิศวกรรมในการรดน้ำปล่อยน้ำ เขียนโปรแกรมเครื่องจักร เครื่องกลไฟฟ้า ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นอาชีพหมอได้อีก เพราะว่าสมุนไพรต่างๆ ที่เอามาทำยาปฏิชีวนะก็มาจากภาคเกษตรทั้งนั้น บ้านเรือนที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นไม้หรืออะไรก็มาจากเกษตร เครื่องนุ่งห่ม ก็มาจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม  เป็นนักการตลาด นักบัญชีการเงิน หรือกระทั่งนิเทศศาสตร์ อย่างเดี๋ยวนี้ผมก็เปิดช่อง YouTube ของผมด้วยซ้ำ เพื่อถ่ายทอดกิจวัตรประจำวันที่สวนของเรา ผมอยากให้สิ่งที่เราทำไม่สูญหายไปไหน  อยากเป็นต้นแบบให้คนอื่น และยังได้ประชาสัมพันธ์สวนของเราให้คนได้รู้จักมากขึ้นด้วย


     เพราะฉะนั้นผมจึงเห็นว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ควรจะยกย่องเชิดชูมากที่สุด และเป็นบทเรียนที่ว่าวัยรุ่นยุคใหม่ควรที่จะมาทำและเหลียวมองอาชีพนี้ให้มากขึ้น แล้วตั้งใจเรียนตั้งใจทำงานหาประสบการณ์ เพื่อที่จะกลับมาพัฒนาชุมชนของเรา บ้านของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น เหมือนที่ผมกำลังพยายามทำอยู่ในวันนี้” เขาบอกในตอนท้าย
 

     และนี่คือเรื่องราวของ Young Smart Farmer ลูกหลานชาวสวนผลไม้เมืองจันท์ ที่มีความฝันและความมุ่งมั่นอยู่เต็มเปี่ยม แม้การเริ่มต้นกลับมาทำสิ่งใหม่จะไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องผ่านช่วงเวลา “ปวดใจ” อยู่บ่อยครั้ง แต่เขาบอกว่าเมื่อความฝันไม่แปรเปลี่ยน ก็คงถึงเป้าหมายที่หวังไว้ในสักวัน เหมือนที่เขาพิสูจน์ให้เห็นแล้วในวันนี้
 
 





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง