เจ๋งสุด! ทายาทโรงงานเหล็กหล่อ พลิกมาทำฝาท่อสีดีไซน์สุดไฮเทค ขยับธุรกิจครอบครัวสู่ร้อยล้าน!

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : นวกาญจน์โลหะชลบุรี





     ฝาท่อสีสันสดใส ลวดลายสะดุดตา ฝัง QR Code และเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ให้กลายเป็นสื่อใต้ฝ่าเท้าที่สามารถส่องดูข้อมูล แผนที่ และภาพเสมือนจริงได้ นี่คือผลงานของสองพี่น้องทายาทโรงงานเหล็กหล่อ “ภูริทัต เจียมบรรจง”  กรรมการผู้จัดการ และ “อัชฌาวดี เจียมบรรจง” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นวกาญจน์โลหะชลบุรี จำกัด ที่กลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว และเริ่มทำสิ่งใหม่พลิกโฉมอุตสาหกรรมหนักได้อย่างเยี่ยมยุทธ์
               
 
เปลี่ยนธุรกิจครอบครัวให้เป็นระบบ หาจุดต่างสร้างโอกาสธุรกิจใหม่


     เมื่อประมาณ 7 ปีก่อน ภูริทัต เป็นทายาทคนแรกที่เริ่มเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว เขาบอกว่าเดิมกิจการของที่บ้านซึ่งทำเกี่ยวกับชิ้นส่วนเหล็กหล่อ ตะแกรงและฝาท่อระบายน้ำ ยังทำแบบยุคเก่า คือบริหารโดยพ่อแม่ไม่ได้มีระบบหรือแบ่งเป็นแผนกอะไรที่ชัดเจน เรียกว่าทำแบบบ้านๆ ลุยๆ สไตล์คนรุ่นก่อน จนเมื่อเขาเริ่มเข้ามาสานต่อและเริ่มไปรับงานของหน่วยงานภาครัฐที่ระบุชัดว่าบริษัทที่รับงานจะต้องมีมาตรฐาน ISO และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการนำ ISO เข้ามาวางระบบองค์กร และพัฒนาการจัดการภายในให้มีการแบ่งการทำงานที่ชัดเจนและเป็นระบบมากขึ้น


      “พอเราเริ่มมีการเอา ISO เข้ามา การทำงานของเราก็เริ่มเป็นระบบมากขึ้น โครงสร้างภายใน การบริหารจัดการต่างๆ เริ่มโอเคขึ้น ทำให้เรามีเวลาไปคิดเรื่องอื่น เลยพยายามมองหาจุดเด่นของเรา อย่างที่รู้กันว่าการทำฝาท่อที่เน้นฟังก์ชันนั้นมีมานานแล้ว อย่างเราจะเห็นฝาท่อของญี่ปุ่นที่มีดีไซน์สวยๆ ขณะที่ประเทศไทยในส่วนของฝาท่อเราเข้ามาทีหลัง ในตลาดมีบริษัทที่ทำมาก่อนเราเป็น 10 ปีและเป็นเจ้าใหญ่ๆ ด้วย มีคนทำอยู่ประมาณ 20 ราย ฉะนั้นถ้าเราจะเอาฝาท่อแบบเดิมๆ ไปสู้เขาก็คงสู้ไม่ได้  เราจึงต้องสร้างความแตกต่าง โดยต้องใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อสร้างแบรนด์ของเราขึ้นมา”


     หลังพี่ชายเข้ามาปรับระบบธุรกิจจนเข้าที่ เมื่อประมาณ 4 ปีก่อน น้องสาวอย่างอัชฌาวดี ก็เข้ามาสานต่อและนั่นคือที่มาของไอเดียการทำฝาท่อสีดีไซน์ขึ้นเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย



 
 
สร้างนิยามใหม่ให้ฝาท่อ จากสินค้าฟังก์ชั่น สู่ผลิตภัณฑ์ดีไซน์สุดไฮเทค


     ทำไมอยู่ดีๆ โรงงานทำฝาท่อถึงลุกมาทำเรื่องฝาท่อสีดีไซน์ขึ้นมาได้ ทั้งที่ในประเทศไทย ณ ตอนนั้นยังไม่มีใครทำ ถนนหนทางที่ใช้ฝาท่อสีก็มีแค่นับชิ้นได้ ซึ่งล้วนเป็นของนำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นทั้งนั้น ทายาททั้งสองบอกจุดเริ่มว่า มาจากการนำปัญหาเรื่องเหล็กหล่อไปปรึกษากับอาจารย์หัวหน้าภาคที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พอแก้ปัญหาได้ เลยได้รับคำแนะนำให้ไปเข้าโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  (สวทช.) เลยเลือกพัฒนาฝาท่อของครอบครัวมาเป็นฝาท่อสีดีไซน์เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน และพัฒนาต่อมาให้เป็นฝาท่อที่ฝัง QR Code และเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) สามารถใส่เติมข้อมูลที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ลงไปได้


     “จริงๆ ตลาดฝาท่อมีอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ คือ หน่วยงานภาครัฐ ที่ทำงานถนนต่างๆ และเอกชน อย่างโครงการบ้านจัดสรร คอนโด หรือคอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งลูกค้าของเรามีทั้งสองกลุ่ม ด้วยความที่ปัจจุบันเทรนด์มันเปลี่ยนไป  อย่างแรกเลยคือคนใช้มือถือมากขึ้น เวลาไปเที่ยวที่ไหนก็ต้องมีการถ่ายรูป เช็คอิน ซึ่งฝาท่อสีดีไซน์เป็นเหมือนจุดเช็คอินใหม่ เหมือนแลนด์มาร์คที่ทำให้สถานที่นั้นๆ น่าสนใจและสวยงามขึ้น นอกจากนั้นเรายังเอาเรื่องของ QR Code ใส่เข้าไปในฝาท่อด้วย อย่างสมัยก่อนเมื่อพูดถึงการใช้ QR Code คนอาจจะยังไม่ค่อยชิน แต่ปัจจุบันมันกลายเป็น New Normal ไปแล้ว เราเลยเอามาแปลงใช้กับฝาท่อเพื่อเพิ่มแวลู่ให้กับสินค้าของเรา”


     จากฝาท่อธรรมดา กลายเป็นฝาท่อดีไซน์ใหม่ สดใสและไฉไลขึ้น แถมยังมี QR Code ที่สามารถใส่เรื่องราวลงไปได้ เช่น ประวัติของหน่วยงาน ข้อมูลสำคัญต่างๆ แผนที่ ข้อมูลร้านของฝาก จุดไฮไลท์ของสถานที่นั้นๆ เหล่านี้ ก็สามารถใส่เติมลงไปได้ ไม่ต่างจากป้ายโฆษณาที่กำลังสื่อสารกับคนมาเยือนตรงใต้ฝ่าเท้า


     “เอาง่ายๆ ว่าพื้นที่ใต้ฝ่าเท้าเราเป็นสิ่งที่วันหนึ่งๆ คนเดินผ่านเป็นร้อยเป็นพัน ซึ่งเราสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตรงนั้นได้ แทนที่เมื่อก่อนการจะประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ หรือโฆษณาก็ต้องเป็นป้ายบิวบอร์ด ป้ายตามทาง หรืออะไรไป แต่พื้นที่ทางเท้าเราก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ โดยเพิ่มความสวยงามลงไปหรือเอาข้อมูลบางอย่างใส่ลงไปได้ ในขณะที่ต้นทุนก็ยังถูกกว่าการทำป้ายบิลบอร์ดใหญ่ๆ ด้วยซ้ำ” พวกเขาว่า



 
 
เปิดตลาดใหม่ ทำได้ไม่มีขั้นต่ำ คัสตอมไมซ์ตามใจลูกค้า


     ฝาท่อแบบใหม่ ไม่ได้โดดเด่นแค่เรื่องดีไซน์และความไฮเทค แต่ยังผลิตได้ไม่มีขั้นต่ำ ทำได้ตามใจปรารถนาของลูกค้า


     “บริษัทเราไม่มีขั้นต่ำในการผลิต จุดเด่นเลยคืองานส่วนมากจะเป็นการคัสตอมไมซ์ให้กับลูกค้า โดยสามารถสั่งแบบที่ต้องการเพื่อสร้างจุดเด่นให้กับสถานที่ของตัวเองได้ และสามารถสั่งทำได้ตั้งแต่ 1 ชิ้นขึ้นไปเลย อย่าง ถนนตามเทศบาลต่างๆ เราจะมีไซส์มาตรฐานอยู่แล้ว แต่ในส่วนของโลโก้จะสามารถเปลี่ยนไปตามโลโก้ของเทศบาลนั้นๆ ได้ หรืออย่าง ร้านอาหารญี่ปุ่นเขาก็สั่งเราแค่ตัวเดียวเพื่อไปวางหน้าร้านของเขา เพราะต้องการใช้แค่นั้นเราก็ทำให้ได้เหมือนกัน เรามีความยืดหยุ่นในการทำงานตามความต้องการของลูกค้า” พวกเขาเล่าจุดแข็ง


     ในส่วนของราคาขึ้นกับขนาด ลวดลาย และความยากง่ายในการผลิต ถ้าสั่งจำนวนน้อยต้องขึ้นแม่แบบใหม่ ก็ย่อมจ่ายแพงกว่าการสั่งจำนวนมากชิ้น แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาเทียบให้ฟังว่า ฝาท่อสีดีไซน์ของนวกาญจน์โลหะ ถูกกว่าสินค้านำเข้าถึง  3-4 เท่า ในขณะที่คุณภาพใกล้เคียงกัน



 
 
     หลังปล่อยฝาท่อสีดีไซน์ออกสู่ตลาดในแบบทำได้ตามใจสั่ง ทายาทบอกเราว่า ธุรกิจก็ได้รับการตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ โดยพวกเขาเชื่อว่า สินค้ามีความต้องการอยู่แล้วในตลาด เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่มีใครทำมาตอบสนองเท่านั้น เมื่อทุกคนได้รู้ว่ามีพวกเขาเป็นผู้ผลิตในไทย แถมยังทำได้ราคาถูกกว่าสินค้านำเข้า ก็ค่อยๆ ให้การตอบรับมากขึ้น และปัจจุบันเทรนด์การปรับภูมิทัศน์ให้สวยก็ได้รับความนิยมขึ้น ซึ่งฝาท่อสีดีไซน์ของพวกเขา ก็จะเข้าไปช่วยแต่งเติมความสวยงามให้กับสถานที่ต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย


     “ในส่วนของฝาท่อสีดีไซน์เราทำมาได้ประมาณ 2 ปี ก็ยังเป็นการเริ่มต้นอยู่ มีลูกค้ายังไม่ได้เยอะมากนัก แต่เราก็คาดหวังว่าต่อไปสถานที่ท่องเที่ยว หรือจังหวัดต่างๆ ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่ต้องการให้เป็นแลนด์มาร์คก็อยากให้มีฝาท่อสีมากขึ้นเหมือนประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่ว่าจะเดินไปที่ไหนก็จะเห็นฝาท่อดีไซน์สวยงาม และจะยิ่งดีกว่านั้นถ้ามันเป็นผลิตภัณฑ์จากบริษัทของเรา”


     จากธุรกิจเล็กๆ ยังไม่มีระบบ วันนี้นวกาญจน์โลหะชลบุรี ภายใต้การเข้ามาสานต่อของทายาทธุรกิจ ขยับขยายใหญ่โตขึ้น โดยมีการสร้างโรงงานใหม่ แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ขยายตลาดใหม่ๆ จนธุรกิจหลักสิบล้าน ขยับมาเป็นธุรกิจหลักร้อยล้าน และยอดขายเพิ่มขึ้นทุกปีด้วยฝีมือของทายาท




 
เชื่อมต่อคนสองรุ่น ผสานจุดแข็งธุรกิจครอบครัว


     ทายาททั้งสองบอกเราว่า ตั้งใจเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวและสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น แต่ยอมรับว่าการสืบสานธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตัวเองและปรับจูนความเข้าใจระหว่างคนสองรุ่นอยู่พอสมควร


     “จริงๆ ก็ยากนะในการมาสานต่อธุรกิจครอบครัว เพราะคนรุ่นเก่าเขาก็ทำมาจนประสบความสำเร็จ เราก็ไปพูดอะไรมากไม่ได้ เพราะพวกเราก็เพิ่งกลับเข้ามาทำ ก็ต้องใช้เวลาและอธิบายให้เขาเห็นว่า สิ่งที่พวกเราจะทำมันสามารถต่อยอดไปเป็นอะไรได้บ้าง ซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการให้เขารับรู้ แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนได้ ข้อดีของครอบครัวเราคือเขาข้างเปิดใจ ขณะที่พวกเราเองก็มองว่า คนรุ่นเก่าเขามีประสบการณ์ที่เราไม่มี เขารอบคอบกว่าเรา เดินช้าแต่ปลอดภัยกว่าเรา ส่วนรุ่นเราก็มีความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เขาอาจจะไม่รู้จักหรือตามไม่ทัน เราก็ต้องเอาสองส่วนนี้มาผสมผสานกันเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ เข้ามา เอาข้อดีของเขากับข้อดีของเรามารวมกัน จนเป็นที่มาของธุรกิจเราในวันนี้”


     วันนี้ นวกาญจน์โลหะชลบุรี ยังเป็นการบริหารของคนสองรุ่น โดยที่คนรุ่นก่อนให้อิสระในการคิดนอกกรอบกับทายาทรุ่นใหม่เยอะขึ้น  ให้โอกาสทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ใช้ทักษะที่คนรุ่นใหม่ถนัดไปทำเรื่องใหม่ๆ เช่น การตลาดออนไลน์  การใช้เทคโนโลยี หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มจุดแข็งให้กับธุรกิจของพวกเขาในวันนี้


     และนี่คือเรื่องราวของคนทำฝาท่อ ที่ได้ไปต่อในยุค New Normal เพราะไอเดียของคนรุ่นใหม่ ซึ่งการเปิดรับและปรับจูนความคิดระหว่างคนสองรุ่น คือหนึ่งในหนทางที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวยังคงแข็งแกร่งและต่อสู้ได้ในยุคที่ท้าทายอย่างวันนี้
 










 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน