รู้จัก “แบรนด์ JIB” คนขายกล้วยน้ำว้าที่ถูกโรงงานปฏิเสธ พลิกวิกฤตมาส่งเข้าเซเว่น 6 พันลูกต่อวัน

TEXT : กองบรรณาธิการ





     ใครที่เป็นสายสุขภาพเวลาเดินเข้าร้าน 7-11 คงคุ้นชินกับมุมกล้วยหอมและกล้วยน้ำว้า ที่เรียงรายอวดความสดใหม่อยู่ในหลายสาขา แล้วอยากรู้ไหมล่ะว่ากล้วยพวกนั้นมาจากไหน?
               

     วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับแบรนด์เล็กๆ ที่ชื่อ “JIB” ไม่ใช่ร้านขายคอมพิวเตอร์ชื่อดัง แต่คือคนขายกล้วยน้ำว้าที่มีตลาดหลักคือร้าน 7-11 และส่งผลผลิตกล้วยสูงถึง 6 พันลูกต่อวัน
                       
           
ใครคือเจ้าของแบรนด์ JIB


     แบรนด์ JIB มาจากชื่อของผู้ก่อตั้ง  “จิ๊บ-ช่อทิพย์ อุฮุย” เธอเข้าสู่วงการขายส่งกล้วยหอม กล้วยน้ำว้า ตั้งแต่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยขับรถจากเพชรบุรีไปขายตะลอนขายกล้วยที่กรุงเทพฯ และ ชลบุรี เฉลี่ยวันละ 80 – 100 กิโลกรัม ทำอยู่นานกว่า 5 ปี จนกระทั่งอายุ 20 ปี ได้แต่งงานมีครอบครัว จึงกลับมาขายส่งกล้วยที่บ้านเกิด ในตลาดท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี มีทั้งกล้วยหอม กล้วยน้ำว้า และกล้วยไข่ เฉลี่ยวันละเกือบ 4 ตัน


     แต่ทว่ากิจการก็เริ่มสั่นคลอน หลังปี 2557 – 2559  เกิดปัญหาผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด ราคาผลไม้ตกต่ำ ส่งผลให้กล้วยเหลือเยอะมาก ในตอนนั้นเธอแก้ปัญหาด้วยการนำไปขายต่อในโรงงานแปรรูป แต่กลับถูกกดราคาต่ำเตี่ยเรี่ยดิน จากหวีละ 20 บาท เหลือเพียงกิโลกรัมละ 2 บาทเท่านั้น



 

คนขายกล้วยน้ำว้า มาส่งเข้า 7-11 ได้ยังไง


     ในช่วงที่เกิดวิกฤตกล้วยล้นตลาด ขายกล้วยแทบไม่ได้ จนต้องหาทางออกไปส่งโรงงานแปรรูป แต่ก็ต้องทนกับการถูกกดราคา โรงงานจ่ายเงินไม่ตรงเวลา ขณะเดียวกันคู่แข่งก็เยอะขึ้นมาก แต่ที่โหดร้ายไปกว่านั้นก็คือการที่จู่ๆ วันหนึ่งโรงงานก็ออกมาบอกว่า “ไม่รับซื้อ” โดยไม่มีเหตุผล ตัดสัมพันธ์กันง่ายดายอย่างนั้น


     ถ้าเป็นคนอื่นคงไปต่อไม่ถูก แต่ถ้าเป็นนักสู้แบบ ช่อทิพย์ เธอเลือกขับรถไปคลังสินค้าของซีพี ออลล์ แล้วเข้าไปขอเบอร์ฝ่ายจัดซื้อเพื่อโทรศัพท์ปรึกษา เธอบอกไปตรงๆ ว่า อยากจะขายกล้วยน้ำว้าเข้า 7-11 ต้องทำยังไง? เพราะเบื่อเต็มทนกับการทำธุรกิจบนความไม่แน่นอน แถมยังต้องมาลุ้นอยู่ทุกวันว่าโรงงานจะมาไม้ไหนอีกด้วย



 

ทำกล้วยแบบไหนถึงส่งขาย 7-11 ได้


     ใครจะคิดว่าวิธีแบบบู๊ๆ ในวันนั้น สุดท้ายจะทำให้พวกเขาพบหนทางส่งสินค้าเข้าร้านสะดวกซื้อชื่อดังได้จริงๆ แต่สิ่งที่ต่างออกไปจากการขายสินค้าแบบเก่าๆ คือกล้วยน้ำว้าที่จะส่งถึงมือผู้บริโภคใน 7-11 ได้นั้นต้องมี “มาตรฐาน” ช่อทิพย์ เลยใช้เวลา 4 เดือน กับเงินอีก 8 แสนบาท ในการลงทุนสร้างโรงแพ็คกล้วย บนพื้นที่ขนาด 52 ตารางวา จนส่งกล้วยน้ำว้าขายใน 7-11 ครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 เริ่มจากส่งร้านเซเว่นฯ สาขาภาคใต้ วันละ 500 แพ็ค แพ็คละ 2 ลูก หลังจากนั้นยอดขายก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุดกล้วยน้ำว่า JIB สามารถส่งเข้า 7-11 ได้ถึงกว่า 1,000 สาขา คิดเป็นปริมาณกล้วยวันละ 6,000 ลูก หรือราว 3, 000 แพ็คต่อวันเลยทีเดียว



 

กล้วยแบรนด์ JIB มาจากไหน


     กล้วยน้ำว้านับ 6 พันลูกต่อวัน มาจากพื้นที่เพาะปลูกของพวกเขาเองที่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ บนพื้นที่ 20 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นการรับซื้อจากเกษตรกรมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์  โดยรับซื้อจากเกษตรกรใน จ.เพชรบุรีรวม 16 สวน ราว 300 ไร่ สิ่งที่พวกเธอให้ความช่วยเหลือเกษตรกรคือ  การประกันราคา ให้ถุงห่อกล้วย ลงตรวจแปลงกล้วย  เก็บเกี่ยวผลผลิต และให้เกษตรกรยืมเงินลงทุนโดยไม่คิดดอกเบี้ย รายละ 5,000 บาท  นับเป็นการอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรเกือบทั้งหมดของกระบวนการ


     กล้วยน้ำว้าของ JIB เป็นกล้วยน้ำว้าสายพันธุ์กาบขาว กาบเขียว และ ปากช่อง 50  มีความเหนียวหนึบ หวาน และรสชาติดี โดยพวกเขามีเคล็ดลับคือกรรมวิธีการบ่มที่ช่วยให้กล้วยมีเนื้อที่ละเอียดและแตกต่างจากที่อื่น ส่วนระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว จะตัดกล้วยทุกวัน แต่ละสวนเว้นรอบนาน 10 วัน โดยกล้วยที่เลือกใช้ต้องปลูกนาน 12 - 14 เดือน น้ำหนักต่อลูกที่ 80 กรัม ซึ่งหลังเก็บกล้วยมาจากสวนจะต้องพักไว้ในห้องแอร์ก่อนขาย 2 วัน เพื่อให้ยางแห้งพร้อมที่จะส่งผลสวยๆ ไปเสิร์ฟลูกค้าร้าน 7-11
 

     นี่คือตัวอย่างของ SME  รายเล็ก ที่มีหัวใจนักสู้ ผู้พลิกวิกฤตจนสามารถส่งขายกล้วยเข้าร้านดัง และมีรายได้หลักล้านบาท โดยปีนี้ที่ทุกคนมองว่าวิกฤต แต่ยอดขายกล้วยก็ยังเติบโตสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งพวกเขาตั้งเป้ายอดขายในปีนี้ไว้ที่ 7  ล้านบาท ส่วนเกษตรกร 16 สวน ที่ส่งกล้วยให้แต่ละสวนมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 60,000 บาท อีกด้วย










 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น