เจาะเทรนด์ Plant-based ไทย ตลาด (เขาว่า) มาแรงในปี 2564 ที่มีผู้บริโภค Flexitarian เป็นตัวเร่ง

TEXT : กองบรรณาธิการ





      ปี 2564 ยังเป็นปีแห่งโอกาสและความหวังสำหรับผู้ประกอบการ SME ไทย โดยเฉพาะธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ หนึ่งในนั้นคือ Plant-based Food กลุ่มอาหารที่ทำมาจากพืชที่ให้โปรตีนสูง เช่น ถั่ว เห็ด สาหร่าย อัลมอนด์ ฯลฯ โดยพัฒนารสชาติ กลิ่น และสีสัน ให้เหมือนผลิตภัณฑ์จากสัตว์เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ไม่อยากทานเนื้อ
               

      เทรนด์นี้ถูกพูดถึงมาแล้วช่วงหนึ่ง ขณะที่หลายสำนักวิจัยต่างออกมาบอกว่าเป็นตลาดที่น่าจับตายิ่ง ด้วยตัวเลขมูลค่าธุรกิจและจำนวนผู้บริโภคที่เติบโตอย่างมากในต่างประเทศ ถามว่าแล้วประเทศไทยล่ะ เทรนด์ Plant-based Food มาหรือยัง แล้วเป็นโอกาสและความหวังจริงไหมในปี 2564   




               
                โควิดและ New Normal ตัวจุดโอกาส Plant-based Food


      หลังทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องเจอกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 กระแสของการใส่ใจสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ถูกให้ความสำคัญกันมากขึ้น ผู้บริโภคคนไทยเองก็หันมาตื่นตัวและเลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัย มีประโยชน์ต่อร่างกาย (Functional Food) ตลอดจนลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงเพราะมองว่าอาจเป็นที่มาของการแพร่เชื้อ  


     “จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา อย่าง ประเด็นที่เกิดการแพร่เชื้อในแพปลา ตลาดกุ้ง ฯลฯ รวมถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่มีการเกิดโรคร้ายซึ่งมีสัตว์เป็นพาหะ เช่น โรคไข้หวัดหมู ไข้หวัดนก ปัญหาสารเร่งในเนื้อสัตว์ ฯลฯ ทำให้คนเริ่มมีความหลอนเรื่องเนื้อสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ จึงเริ่มหันมาทานอาหารที่ดีกว่าเนื้อ ซึ่งก็คือโปรตีนจากพืชกันมากขึ้น ขณะที่วันนี้คนไทยเองก็เริ่มมีความเข้าใจเรื่องโปรตีนจากพืชมากขึ้นดูได้จากในช่วงกินเจที่ผ่านมา ที่แบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง Starbucks เองก็ออกมาทำอาหาร Plant-based  ร้านอาหารต่างๆ มีเมนู Plant-based ผู้บริโภคคนไทยก็เริ่มได้รับข้อมูลว่า Plant-based ต่างจากอาหารเจที่ส่วนมากทำมาจากแป้งหรือถั่วเหลืองอย่างเดียว แต่จะเป็นการนำพืชชนิดอื่นมาใช้ด้วย ซึ่งมองว่า Plant-based ไม่ใช่เทรนด์แต่เป็นโซลูชั่น ที่ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม”


      “วรกันต์ ธนโชติวรพงศ์” Co-Founder และ CMO บริษัท มอร์ฟู้ดส์ อินโนเทค จำกัด เจ้าของแบรนด์ มอร์มีท (More Meat) ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชที่ทำจากเห็ดแครง ฉายภาพตลาด Plant-based Food ในประเทศไทยที่มีการตื่นตัวและเติบโตมากขึ้นช่วงที่ผ่านมา



 

ตลาดไม่ได้มีแค่ชาววีแกน แต่โอกาสอยู่ที่กลุ่ม Flexitarian


     ตลาดโปรตีนทางเลือกอาจเริ่มต้นที่กลุ่มมังสวิรัติ ซึ่งคาดกันว่าจะมีอยู่ประมาณกว่าแสนคนในประเทศไทย รวมถึงผู้ที่ทานเจ ซึ่งส่วนมากจะกินแค่ช่วงเทศกาล กินเพราะความเชื่อทางศาสนา แต่ที่น่าสนใจคือ คนที่หันมาทาน Plant-based ในวันนี้ มีความหลากหลายและกว้างขึ้นมาก เช่น กลุ่มคนรักสุขภาพ ผู้บริโภคสายคลีน สายออกกำลังกาย สาวๆ ที่อยากดูแลตัวเอง ผู้สูงอายุ ตลอดจนกลุ่มที่ทานอาหารฮาลาล เหล่านี้เป็นต้น


     แต่ที่ต้องยกให้มาแรงสุดๆ ก็คือกลุ่มที่เรียกว่า “Flexitarian” หรือกลุ่มที่กินแบบ Vegetarian แต่ Flexible คือยืดหยุ่น โดยคนกลุ่มนี้พยายามลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง ด้วยการทานบางอย่าง บางมื้อ บางวัน มังบ้างไม่มังบ้าง ซึ่ง EIC ได้รายงานข้อมูลจากสถาบันวิจัยตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคระดับโลกอย่าง Mintel ที่ระบุว่าการกินแบบ Flexitarian กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในยุโรป โดยมีรายได้ของเนื้อเทียมที่ทำจากพืช (เช่น เห็ด มะเขือม่วง เต้าหู้ ถั่ว เป็นต้น) เติบโตถึง 451 เปอร์เซ็นต์ (จาก 2014-2018) ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีชาวมังสวิรัติและวีแกนเพิ่มขึ้นถึง 440 เปอร์เซ็นต์ (ปี 2012-2016) นอกจากนี้ยอดขายนมและเนื้อที่ทำจากพืชทั่วโลกในปี 2018 อยู่ที่ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  และ 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย (ที่มา : Euromonitor international)


     ในบ้านเราเองพลเมืองกลุ่มนี้ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และเป็นพลเมืองหลักที่จะขับเคลื่อนตลาด Plant-based ในปีหน้า


     “ในปี 2564 เราเชื่อว่ามูลค่าตลาด Plant-based  จะเติบโตที่ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ โดยปัจจัยมาจากการที่คนหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตัวเอง เลือกรับประทานสิ่งที่มีประโยชน์ และผู้บริโภคปัจจุบันยังมีพฤติกรรมที่เรียกว่า Flexitarain คือลดการทานเนื้อสัตว์ลง ซึ่งกลุ่มนี้เติบโตอย่างมากในปีที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นกลุ่มหลักที่ทำให้ตลาด Plant-based  ไทยโตมากขึ้นในปีหน้า”



 

ผู้เล่นในตลาดและศักยภาพของประเทศไทย


     เมื่อถามถึงภาพรวมตลาดโปรตีนจากพืชในเมืองไทยที่ผ่านมา วรกันต์ บอกเราว่า ที่ผ่านมามีผู้เล่นที่เป็นแบรนด์ใหญ่อยู่ประมาณ 3 แบรนด์ ซึ่งพวกเขาคือ 1 ในนั้น โดยปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าสู่ธุรกิจนี้มากขึ้นและมีแบรนด์ Plant-based เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าในปีหน้าจะได้เห็นแบรนด์อาหารทั้งที่เป็นธุรกิจร้านอาหาร ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงผู้ผลิตอาหารแปรรูปเข้ามาแข่งในด้าน Plant-based เพิ่มขึ้นอีกมาก


     “บ้านเราเองมีแบรนด์ Plant-based เยอะขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตลาด Plant-based  ส่วนมากของนำเข้าเองไม่ค่อยตอบโจทย์ในประเทศไทย เนื่องจากว่าราคาสูง และส่วนใหญ่จะเป็นเบอร์เกอร์หรือไส้กรอก ซึ่งมันไม่เหมาะกับการนำมาทำอาหารไทย เลยไม่ค่อยตอบโจทย์ผู้บริโภคคนไทยเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นโอกาสของ Local Brand อย่างเรา ที่สามารถทำโปรตีนจากพืชมาพัฒนาให้ตอบรสนิยมการทานและการนำมาปรุงอาหารของคนไทยได้มากกว่า และได้เปรียบในเรื่องการทำราคาอีกด้วย” วรกันต์ บอกจุดแข็งของผู้เล่นในประเทศไทย  


     ขณะที่ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS แนะนำว่า ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพที่สามารถกระโดดไปสู่ Plant-based Food ได้ง่ายคือ 1.ธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์ (Processed Meat) และผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ (Animal Product) เนื่องจากอยู่ในตลาดอาหารกลุ่มโปรตีนอยู่แล้ว การต่อยอดไปสู่ตลาด Plant-based Meat จึงไม่ใช่เรื่องยาก กลุ่มที่ 2.ธุรกิจผลิตอาหารสำเร็จรูปทั้งแบบพร้อมปรุงและพร้อมทาน (Ready-to-cook and Ready-to-eat) ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ตอบโจทย์ชีวิตคนรุ่นใหม่ที่เน้นความสะดวก รวดเร็ว แต่ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ รวมถึงกระแสนิยมผลิตภัณฑ์อาหารที่มาจากออร์แกนิค เป็นต้น โดยรูปแบบธุรกิจสามารถทำได้ทั้งแบบ B2C ที่ขายผ่านช่องทางร้านค้าปลีก และออนไลน์ และ B2B ที่ขายให้กับกลุ่มร้านอาหาร และบริษัทที่ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารของตนเอง เป็นต้น





      ด้าน “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่กำลังทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปสู่ Plant-based Food บอกเราว่า เทรนด์โปรตีนจากพืช โดยเฉพาะในกลุ่มของ Plant-based Meal  อาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบที่เป็น Plant based  ยังเป็นตลาดที่ใหญ่และมีโอกาสเติบโตสูงในประเทศไทย


      “วันนี้มันมีช่องทางที่คนไทยเข้าถึง Plant-based Food ได้สะดวกและง่ายขึ้นมาก อย่างเมื่อก่อนจะมีข้อจำกัดในการเข้าถึง และจะเป็นแบรนด์นำเข้าซึ่งราคาค่อนข้างสูง และแน่นอนว่ามันยังมีเพนพอยท์บางอย่างอยู่ที่เป็นโอกาสให้กับแบรนด์ไทย อย่างการที่แบรนด์นำเข้าไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคคนไทย  ขณะที่เชื่อว่ากระแส New Normal จะเป็นอนาคตของผู้บริโภคยุคใหม่ทั้งคนไทยและต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย ให้หันมาสนใจอาหารที่เป็น Plant-based กันมากขึ้น ซึ่งโปรดักต์ฮีโร่ก็คือ Plant-based Meal นี่เองที่เป็นจุดทำให้เราสนใจที่จะปรับพอร์ตสินค้าตัวเองมาสู่ Plant-based Food มากขึ้นในปีหน้า”
               

      ในปี 2564 วี ฟู้ดส์ คาดว่าจะสามารถเติบโตในตลาด Plant-based Food ได้กว่า 25-30 เปอร์เซ็นต์ โดยเน้นผลิตอาหารที่มีฟังก์ชัน เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพของไทยมากขึ้น



 
               
      และนี่คือเทรนด์แห่งโอกาสของผู้ประกอบการไทย ที่มีแต้มต่อในเรื่องการเกษตรและอาหาร มีวัตถุดิบที่หลากหลาย รวมถึงการเป็นนักสร้างสรรค์ความอร่อยที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ทำให้ตลาดโปรตีนจากพืชมีสีสันขึ้นอีกมาก และมีโอกาสเติบโตไปเป็น Regional  Brand โบยบินสู่ตลาดอินเตอร์ได้ไม่ยากอีกด้วย
 
 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน