“จั๊บ จั๊บ” ใช้เงิน 6 หมื่นซื้องานวิจัย ได้ก๋วยจั๊บกึ่งสำเร็จรูปขายใน 7-11 ทำเงินล้านได้แม้ในยุคโควิด

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : แบรนด์ จั๊บ จั๊บ





      อยากทำสินค้านวัตกรรม แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นจากไหนดี ลองดูแนวทางของ แบรนด์ “จั๊บ จั๊บ” (JUB JUB) ก๋วยจั๊บอุบลกึ่งสำเร็จรูป ที่ใช้วิธีขอซื้อสิทธิบัตรงานวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัย แล้วมาต่อยอดเป็นผลิตใหม่ พัฒนาแบรนด์จนประสบความสำเร็จ สามารถวางขายทั้งในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ร้าน 7-11 และขายผ่านออนไลน์ โดยยังคงทำเงินล้านได้แม้ในช่วงโควิด-19
               

       พวกเขาทำได้อย่างไร มาดูกัน



 
               
 เริ่มที่เงิน 6 หมื่น ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เงินล้าน
               

       จุดเริ่มต้นของก๋วยจั๊บอุบลกึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ จั๊บ จั๊บ ก๋วยจั๊บที่อร่อยได้ใน 5 นาที แค่เติมน้ำร้อน มาจาก 5 พี่น้องตระกูล “อู่สมบัติชัย” โดยมี “มนัสชญาณ์ อู่สมบัติชัย” เป็นหัวเรือใหญ่ เริ่มจากในปี  2559  เธอเห็นข่าวงานวิจัยเส้นก๋วยจั๊บกึ่งสำเร็จรูป ของ “ผศ.ดร.จิตรา สิงห์ทอง” อาจารย์จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เธอในฐานะศิษย์เก่าและโปรดปรานเมนูนี้มาก เลยคิดต่อยอดงานวิจัยมาทำธุรกิจ จึงขอซื้อสิทธิบัตรงานวิจัยดังกล่าว โดยใช้เงินทุนที่ 60,000 บาท ซึ่งทางอาจารย์เห็นถึงความตั้งใจจริง จึงยอมมอบสิทธิ์ทางการค้าให้


        เธอบอกว่า ในตอนแรกก็ไม่ได้มั่นใจว่าก๋วยจั๊บกึ่งสำเร็จรูปจะขายได้ แต่เป็นเพราะใจรักในเมนูท้องถิ่นนี้ จึงอยากลองทำ และคิดเอาว่า ถ้าไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คิด อย่างน้อยก็ถือว่าได้ลองแล้ว โดยกว่าสินค้านวัตกรรมที่ต่อยอดจากงานวิจัยจะออกวางจำหน่ายได้ ก็ต้องใช้เวลาพัฒนาต่ออีก 6 เดือน เพื่อลดขนาดเส้นให้เล็กลง เพิ่มเติมเครื่องเคียง อาทิ น้ำซุป หอมเจียว หมูยอ ฯลฯ


      ถามว่าเริ่มยากแค่ไหน ในตอนเริ่มต้นเธอบอกว่า น้ำซุปใช้ผงสำเร็จรูปซื้อจากร้านทั่วไป หมูยอฟรีซดรายและหอมเจียวจ้างโรงงานผลิต พอได้ตัวสินค้าก็ลองเปิดตัววางจำหน่ายประมาณปี  2560  โดยเริ่มจากขายผ่านออนไลน์ ส่งขายตามร้านของฝากทั้งในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใหญ่ๆ ทางภาคอีสาน โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก คือ นักท่องเที่ยวที่ซื้อกลับไปเป็นของฝาก เหล่าคนอุบลไกลบ้านที่อยากกินเมนูท้องถิ่นนี้ แต่เธอยอมรับว่า ในช่วงแรกธุรกิจยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะลูกค้ายังติว่าน้ำซุปหวานเกินไป กว่าจะได้รสชาติเหมือนต้นตำรับก๋วยจั๊บอุบล ต้องใช้เวลาปรับปรุงนานอยู่นานเกือบ 2 ปี



 

ยกระดับสินค้านวัตกรรม ขายในห้างฯ ดังและ 7-11  
               

      มนัสชญาณ์ บอกเราว่า เธอและครอบครัวไม่เคยทำธุรกิจอาหารมาก่อน ฉะนั้นในตอนเริ่มต้นจึงต้องอาศัยการหาข้อมูลเยอะมาก และเรียนรู้ลูกค้าผ่านการออกงานแสดงสินค้าต่างๆ เธอบอกว่า ไปออกบูธขายสินค้าเกือบทั่วจังหวัดอุบลฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้าว่าชอบ หรือไม่ชอบ ตระเวนออกงานอยู่เกือบปี เพื่อให้ลูกค้าได้ลองชิม และนำผลตอบรับนั้นมาปรับปรุงก๋วยจั๊บของเธอให้ขายดีขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นกระแสบอกต่อในเวลาต่อมา
               

      การเป็นสินค้านวัตกรรม ทำให้เพิ่มโอกาสในการขาย โดยก๋วยจั๊บอุบลกึ่งสำเร็จรูป จั๊บ จั๊บ มีทั้งแบบถ้วย และแบบซอง  ภายในบรรจุด้วยเส้นก๋วยจั๊บอบแห้งปราศจากสารกันเสีย  ผงน้ำซุป  หมูยอ กระเทียมเจียว ต้นหอมซอย ซึ่งสามารถเทน้ำร้อนเดือดจัด ทิ้งไว้ 5 นาที  พร้อมรับประทานได้ทันที ในส่วนอายุการเก็บรักษา ก็นานถึง 6 เดือน ในส่วนของ เส้นก๋วยจั๊บ ทำจากแป้งข้าวเจ้า ซึ่งพวกเขาจ้างโรงงานในชุมชนผลิตเป็นเส้นสด จากนั้นนำมาอบให้เป็นเส้นแห้งกึ่งสำเร็จรูปภายในโรงงานของตัวเอง โดยปัจจุบันผลิตได้วันละประมาณ 400 กิโลกรัม กำลังผลิตประมาณ 25,000 - 30,000  ซองและถ้วยต่อเดือน
               

       ทำอย่างไรจะให้สินค้าเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จั๊บจั๊บ ตัดสินใจส่งตัวเองเข้าประกวดรางวัล เซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ดส์ ซึ่งหลังได้รางวัลมาก็ทำให้แบรนด์เล็กๆ กลายเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น จนมีโอกาสเข้าไปขายอยู่ใน 7-11 จากธุรกิจเล็กๆ เลยถูกยกระดับเรื่องมาตรฐานการผลิต จนได้รับเครื่องหมาย GMP, HACCP, Codex สามารถวางขายใน 7-11 กว่า 3,600 สาขา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางเขตในพื้นที่กรุงเทพฯ  


      แต่ไม่ใช่เท่านั้น เพราะยอดขายใน 7-11 คิดเป็นแค่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ที่พวกเขาทำตลาดอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น เพราะตลาดหลัก 70 เปอร์เซ็นต์ คือวางขายในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง และขายผ่านออนไลน์ และยังคงขายดิบขายดีแม้ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19



 

อานิสงส์จากโควิด ทำยอดขายพุ่งหลายพันซองต่อสัปดาห์


      ในวิกฤตโควิด หลายธุรกิจอาจประคับประคองตัวไปอย่างยากลำบาก แต่สำหรับสินค้านวัตกรรมอย่าง จั๊บ จั๊บ กลับขายดิบขายดี โดยมียอดขายเพิ่มสูงขึ้น เธอยกตัวอย่างให้ฟังว่า ปกติสินค้าวางขายอยู่ใน 7-11 ประมาณเดือนละ 16,000 ห่อ แต่ในช่วงโควิดปีที่ผ่านมา สินค้าเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นราว 4,800 ซอง ต่อสัปดาห์ เพราะเป็นหนึ่งในสินค้าที่ลูกค้าสามารถทำทานเองได้ง่ายๆ แม้ช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน และทำงาน Work From Home
               

      และนั่นเองที่ทำให้ในช่วงวิกฤตโควิด -19  เธอยังรักษาสภาพการจ้างงาน ที่มีคนทำงานอยู่ 25 คน ไม่ให้ต้องตกงาน คนงานในโรงงานที่ส่งวัตถุดิบให้ จั๊บ จั๊บ ก็ยังคงมีงานทำ ขณะที่เกษตรกรที่ส่งข้าวเจ้าให้ก็ยังมีรายได้ กลายเป็นธุรกิจเกื้อกูลที่ยังโตไปด้วยกันได้ แม้ในห้วงเวลาที่ทุกคนเรียกว่าวิกฤต
               

      บทเรียนความสำเร็จจากแบรนด์ที่ชื่อ จั๊บ จั๊บ สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสที่เกิดขึ้นจากการนำความชอบมาต่อยอดเป็นธุรกิจ การพึ่งพาสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัย เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาสินค้านวัตกรรมเพิ่มแต้มต่อในตลาด จนสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างแบรนด์ให้ของธรรมดาๆ กลายมาเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับทั้งตัวเธอ และผู้คนที่อยู่ร่วมห่วงโซ่เดียวกันได้
               

        และความสำเร็จเดียวกันนี้ SME รายอื่นก็ทำได้เช่นกัน เพียงแค่เรียนรู้ และลงมือทำเท่านั้น
 




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน