เปิดวิชัน ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ทำไมเทคโนโลยีอาหารถึงสำคัญ แล้ว SME ไทยจะอยู่ตรงไหนของห่วงโซ่




     “Advanced GreenFarm” เทคโนโลยีการเลี้ยง “ไข่ผำ” ซูเปอร์ฟู้ดแหล่งรวมโปรตีนชั้นยอด “Avant Meats” เนื้อปลาเพาะเลี้ยงสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอาง “Karana” แพลนต์เบสจากขนุน รสสัมผัสใกล้เคียงเนื้อหมู “Nitro Labs” เครื่องชงกาแฟ Cold brew โดยใช้ไนโตรเจน “ProfilePrint” เครื่องมือวิเคราะห์รสชาติอาหารด้วย AI “Sophie’s Bionutrients” แพลนต์เบสจากสาหร่ายขนาดเล็กที่ปลูกในเมืองและเลี้ยงด้วยเศษอาหารจากท้องถิ่น ฯลฯ


     นี่คือตัวอย่างผลงานฟู้ดเทคคูลๆ จากผู้ประกอบการทั้งไทยและเทศที่อยู่ในโครงการ “SPACE-F” รุ่นที่ 2 โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหาร  โดยความร่วมมือของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานพันธมิตร ซึ่งในปีที่ผ่านมาก็มี SME หลายรายที่แจ้งเกิดนวัตกรรมอาหารใหม่ๆ จากเวทีนี้ เช่น “Let’s Plant Meat” ผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืชของ บริษัท นิธิฟู้ดส์ เป็นต้น


      SME Thailand ได้เจอกับ “ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ” ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จึงชวนคุยเรื่องอาหารแห่งอนาคตและโอกาสของผู้ประกอบการไทย ตลอดจนแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่าง ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กับ SME และ Startup ไทยด้านเทคโนโลยีอาหาร จะมีอะไรน่าสนใจบ้างนั้น ไปดูกันเลย




 
เมื่อพี่ใหญ่เลือกทำงานกับรายเล็กเพื่อขับเคลื่อนฟู้ดเทคไทยสู่สากล
           

     ในอดีต SME อาจมองรายใหญ่เป็นคู่แข่ง แต่โลกธุรกิจทุกวันนี้ ไม่ว่าผู้ประกอบการรายเล็กหรือใหญ่ก็สามารถทำงานร่วมกันเพื่อเสริมเติมพลังซึ่งกันและกันได้ เช่นเดียวกับวิชันของ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ในวันนี้


     “เรามีภาพว่าจริงๆ แล้ว Innovation ที่เกิดในองค์กรของเรา อาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งการที่เราจะหาคนเก่งๆ ได้นั้น ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันกับ Startup และ SME โดยเฉพาะกลุ่มที่ค่อนข้างเป็น Deep Tech (เทคโนโลยีเชิงลึกหรือเทคโนโลยีขั้นสูง) ซึ่งตอนนี้เรามีไปลงทุนใน 4 ธุรกิจ เช่น  คนที่ทำทางด้านแมลง Startup ที่ทำด้าน AI  ด้านการทำฟาร์มกุ้ง และอาหารสำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งการไปร่วมมือกับ Startup และ SME นั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่เราอาจจะร่วมโดยการเป็นพาร์ตเนอร์กับเขา เป็นลูกค้าของเขา หรือไปช่วยกันในการผลิตก็ได้ เพราะฉะนั้นมันมีหลายมิติมากในการที่จะทำงานร่วมกัน ผมมองว่าเขามีความเถ้าแก่น้อย ซึ่งการที่เราเป็นคอร์ปอเรตนั้นบริษัทเราใหญ่มากการที่จะเคลื่อนไหวอะไรอาจจะไม่ได้เร็วเท่ากับบริษัทเล็ก  นี่จึงเป็นจุดหนึ่งที่มองว่าเขาจะนำความคิดหลายอย่างอย่างที่ช่วยให้เราสามารถจะออกจากกรอบที่มีอยู่ได้” เขาสะท้อนความคิด


      ก่อนบอกอีกว่า การทำธุรกิจทุกวันนี้ไม่ใช่การที่บริษัทใหญ่จะต้องไปซื้อบริษัทเล็ก หรือควบรวมกิจการกันเสมอไป แต่สามารถทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความ วิน-วิน ทั้งสองฝ่ายได้ ไม่ใช่เรื่องของการแข่งขัน แต่ทุกคนต้องแข็งขันและอยู่ด้วยกันได้ นั่นคือมุมมองการทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ของเขา



 

วิชันไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่คือนำพานวัตกรรมอาหารไทยสู่ตลาดโลก


     แล้วผู้ประกอบการแบบไหนที่ไทยยูเนี่ยนอยากร่วมงานด้วย นอกจากจะอยู่ในกลุ่ม Food Tech ตามเป้าหมายของพวกเขาแล้ว อีกหนึ่งหัวใจสำคัญ คือการมีวิชันที่จะโตไปในระดับโลก


     “ผู้ประกอบการต้องมองเห็นหลายๆ มุม อย่างมองภาพว่าเราจะโตไปด้วยกันได้อย่างไร เทคโนโลยีของเขาสามารถที่จะเติมเต็มไทยยูเนี่ยนได้หรือไม่ โดยที่ต้องไม่ใช่มองแค่ตลาดไทย แต่ต้องมองภาพว่าไทยยูเนี่ยนจริงๆ แล้วเรามีรายได้ในประเทศแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะฉะนั้นการที่เรามีตลาดทั่วโลกอยู่ในมือ เป็นจุดหนึ่งที่สามารถช่วยเอาเทคโนโลยีของเขา เอาผลิตภัณฑ์ของเขาออกไปสู่ตลาดโลกได้ ซึ่งเขาจะต้องมองเห็นจุดนี้ เพราะถ้ามองแค่ประเทศไทยมันอาจจะไม่ใหญ่พอ และความสามารถในการขยายธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ บางคนอาจถูกกับดักด้วยการเป็นแค่ SME ในประเทศ อยู่แค่นั้นไม่ไปไหน ฉะนั้นคุณอาจจะต้องมองให้ไกลกว่าคนอื่น อย่าง Startup เมืองนอกเขาไม่มองเล็กๆ หรอก แต่เขามองกว้าง มองใหญ่ เพราะฉะนั้นเราอาจจะต้องมีความทะเยอทะยานมากขึ้น มองตลาดที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งเชื่อว่าไทยยูเนี่ยนจะเข้ามาเติมเต็มจุดนี้ให้กับผู้ประกอบการไทยได้”




 
เพิ่มแต้มต่อให้อุตสาหกรรมอาหารไทยด้วยฟู้ดเทคโนโลยี


     เมื่อให้ฉายภาพถึงอุตสาหกรรมอาหารไทย ดร.ธัญญวัฒน์ บอกเราว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิต และประเทศเกษตรกรรม เรามีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว ตั้งแต่รอว์แมททีเรียล ซึ่งเป็นเกษตรกรรม เป็นฐานการผลิตอาหารของโลก แต่วันนี้สิ่งที่เรายังขาดก็คือเรื่องของ “เทคโนโลยี” เพราะฉะนั้นเราจะต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ และพัฒนาสู่ Food Tech โดยที่มีบริษัทใหญ่ พร้อมนำพาออกไปสู่ตลาดโลกได้


     “การที่เราจะออกจากการเป็นสินค้าพื้นฐาน หรือสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ได้นั้นเราต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย อย่างวันนี้เองเรามีผู้ประกอบการที่ทำเรื่องของ Food Tech เยอะขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ AI  หรือเรื่องแพลนต์เบส ก็ตาม แต่ส่วนที่อาจจะยังมีไม่เยอะมากในมุมมองของผมก็คือ ทางด้านสุขภาพโดยเฉพาะในกลุ่มของทางการแพทย์ (Medical) ซึ่งมันอาจจะล้ำไปหน่อยสำหรับประเทศไทย และเทคโนโลยีที่อาจยังต้องใช้ต่างชาติเข้ามาช่วย เป็นวิทยาศาสตร์เชิงลึกมากขึ้น รวมถึงกลุ่ม Functional Food มองว่ายังสามารถพัฒนาได้ ตลอดจนเรื่องของ Food Waste Management  เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่มาก


     ทางยุโรปเองเขามองว่ามันเป็นเรื่องของความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุด เพราะในแต่ละวันคนเราจะทิ้ง Food Waste จำนวนมหาศาล อย่าง คุณปลูกข้าวโพด ตั้งแต่ไปเก็บข้าวโพดมา คัดข้าวโพดที่ไม่สวยทิ้งไป จนมาจนถึงบนโต๊ะอาหารที่กินเหลือ มันเกิดของเสียจำนวนมาก มีคนบอกว่า 1 ใน 3 ของภาคเกษตรถูกทิ้งโดยที่เรามองไม่เห็น เพราะฉะนั้นถ้าเรามี SME หรือ Startup ที่มาช่วยเรื่องนี้ได้ ก็จะช่วยลดปัญหาด้านนี้ลงได้เยอะมาก”



 

มุ่งสู่โลกอาหารแห่งอนาคต ต้องตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้


     เมื่อมองถึงอุตสาหกรรมอาหารในอนาคต ดร.ธัญญวัฒน์ บอกเราว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากนัก แต่เป็นลักษณะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ทว่าการมาถึงของโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมอาหารเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น โดยคนเริ่มต้องการอาหารที่ไม่ใช่แค่อร่อยหรือสะอาด แต่ต้องดีต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมด้วย


     “อย่าง 2-3 ปีก่อน เราคงไม่คิดว่าคนจะอยากรู้ว่าอาหารมีที่มาที่ไปอย่างไร แต่ทุกวันนี้คนเริ่มถามว่า อันนี้ปลูกที่ไหน ปลูกยังไง และใส่ใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ไม่ใช่แค่อร่อยแต่ต้องดีกับตัวเขาด้วย คนจะเริ่มดูว่าอาหารที่กินเข้าไปมีอะไรที่ไม่ดีกับสุขภาพหรือเปล่า มีน้ำตาลเยอะไปหรือเปล่า โปรตีนนี้ดีจริงหรือเปล่า แล้วสารอาหารเป็นยังไงบ้าง เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนอง ตั้งแต่ในเรื่องของ Food Waste จนถึง Healthy Food ต่างๆ มันจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน รวมถึงเรื่องของ Personalized Nutrition  หรือการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับสุขภาพของแต่ละบุคคล หรือกับโรคที่แต่ละคนเป็น อันนั้นอาจจะยังไกลอยู่ แต่ถ้าพูดถึงในระยะยาววันหนึ่งมันก็ต้องไปถึงจุดนั้น”


     นอกจากนี้ยังรวมถึงเทรนด์ของโปรตีนทางเลือก ที่จะเข้ามารองรับปริมาณพลเมืองที่จะสูงมากขึ้นในอนาคต เช่นกลุ่มของ Plant-based Food


     “อนาคตประชากรโลกจะเพิ่มสูงมากขึ้น ฉะนั้นโปรตีนจากแหล่งโปรตีนแบบเดิมจะเริ่มไม่เพียงพอ จะไปหวังว่าจะมีฟาร์มไก่เพิ่มขึ้นอีกกี่ฟาร์ม จะไปจับปลาในท้องทะเลได้อีกเยอะแค่ไหน มันก็คงไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นเราต้องหาวัตถุดิบใหม่ จะเห็นว่าทุกวันนี้มันมีเรื่องของเนื้อจากเซลล์ ที่เราไม่ต้องไปเลี้ยงสัตว์แต่สามารถผลิตเนื้อออกมาได้เป็นชิ้นสเต๊กได้เลย ซึ่งลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ด้วย รวมถึงกลุ่มที่เป็นแพลนต์เบสต่างๆ ที่เป็นโปรตีนจากพืช ไม่ใช่อาหารเจ คนจะมองอาหารเจว่าไม่ดีต่อสุขภาพ แต่แพลนต์เบส เป็นโปรตีนที่ไม่มีคอเลสเตอรอลและมีโปรตีนสูง มันจะดึงดูดความสนใจคนได้มากกว่า มองว่ามันมาแรงและเชื่อว่าเป็น New S Curve ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะถ้าเราคิดว่าเราตามโลกตะวันตก จะเห็นหลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องของออร์แกนิก หรืออะไรก็ตาม เราก็ตามตะวันตกมาเรื่อยๆ ซึ่งตัวแพลนต์เบสเองเขาก็มีมานานแล้ว และอย่างบริษัท Beyond Meat ที่เพิ่งเปิดมาได้แค่ปีกว่าๆ แต่ตอนนี้มีมูลค่าบริษัทสูงกว่าบริษัทที่ผลิตเนื้ออันดับ 2 ของโลกด้วยซ้ำ เพราะนักลงทุนยอมที่จะลงทุนเพราะเขาเห็นว่ามันไปได้ไกลแน่นอน”





      อย่างไรก็ตามเขาบอกว่า วันนี้มีผู้ประกอบการไทยลงมาทำ Plant-based กันมากขึ้นก็จริง แต่โจทย์ท้าทายคือการทำอย่างไรให้รอด ซึ่งการทำบนพื้นฐาน “ความเข้าใจผู้บริโภค” สำคัญที่สุด


     “คนที่ทำต้องเข้าใจ Consumer ก่อนว่าจริงๆ แล้วเขาต้องการอะไรที่สุด มองว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่อยู่ที่ว่าคุณสามารถตอบปัญหาผู้บริโภคได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นคุณต้องทำความเข้าใจ Consumer ให้มาก และเน้นเทคโนโลยีเพราะว่ามันจะเป็นตัวปกป้องธุรกิจคุณ แต่ถ้าคุณทำออกมาแล้วใครๆ ก็ก๊อบปี้ได้มันก็อาจจะไม่ซัคเซส ฉะนั้นเราต้องตีบทให้แตก ตี Consumer ให้เข้าใจ แล้วคุณจะสามารถออกผลิตภัณฑ์ที่เขาต้องการจริงๆ ไม่ใช่แค่ที่เราผลิตได้ วันนี้มันไม่ใช่แค่คุณมีเทคโนโลยีแล้วเขาจะซื้อ สำคัญคือเราต้องมองให้ออกว่า Consumer  ต้องการอะไร” เขาบอกในตอนท้าย
 





               
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย