ไม่ใช่เกิร์ลกรุ๊ป! แต่คือลุคใหม่ แหนมดอนเมือง ปรับคอนเทนต์สุดจี๊ด มัดใจลูกค้ามิลเลนเนียล

TEXT : นิตยา สุเรียมมา
PHOTO : แหนมดอนเมือง





       นี่แหนมโน๊ะ!
               

       ทำธุรกิจยุคนี้ไม่ว่าแบรนด์ไหนๆ จะน้องใหม่ หรือรุ่นพี่ที่อยู่มานานแล้วก็ตาม ล้วนแต่ต้องมีการปรับตัวเพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ด้วยกันทั้งนั้น เพื่อขยายฐานลูกค้าออกไปให้กว้างขึ้น เพิ่มเติมช่องทางจัดจำหน่ายและสร้างรายได้ให้กับตนเอง


            ยกตัวอย่างล่าสุด “แหนมดอนเมือง กม.26” แบรนด์แหนมดังอายุกว่า 40 ปีที่วันนี้ได้ลุกขึ้นมาปรับลุคสร้างคอนเทนต์ให้ดูทันสมัยมากยิ่งขึ้น เพื่อเอาใจผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ เรียกว่าแว้บแรกที่เห็นหากไม่เห็นโลโก้แหนมดอนเมืองที่ติดอยู่คงคิดว่า นี่คือ โพสต์โปรโมตเสื้อผ้าแฟชั่นคอลเลคชั่นใหม่ หรือเปิดตัวเกิร์ลกรุ๊ปวงใหม่ไปแล้ว ผิดจากภาพของแหนมในห่อพลาสติกใสที่เราเคยเห็นกันมา

 
          อะไรทำให้อยู่ดีๆ แบรนด์แหนมดั้งเดิมนี้ถึงได้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเอง และกลยุทธ์อะไรที่ทำให้เข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่ได้มากขึ้น ไปติดตามเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงนี้พร้อมๆ กันเลย



 

ต้นตำรับแหนมดังย่านดอนเมือง
 
               
         ก่อนที่จะเล่าถึงการปรับภาพลักษณ์ใหม่ เรามาทำความรู้จักประวัติความเป็นมาของแบรนด์กันก่อน โดยตัวธุรกิจนั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 40 กว่าปีก่อน เป็นร้านแหนมเจ้าแรกๆ ที่มีการผลิตและเปิดขายขึ้นมาในพื้นที่ดอนเมือง ต่อมาเมื่อได้รับความนิยมมากขึ้น ลูกค้าจึงพากันเรียกสั้นๆ ว่า แหนมดอนเมือง ซึ่งภายหลังได้มีร้านผลิตแหนมเกิดขึ้นมากมาย เพื่อให้ลูกค้าจดจำได้ จึงมีการนำชื่อร้านและพิกัดที่ตั้งใส่รวมไปด้วย จนกลายเป็น “แหนมสุทธิลักษณ์ ดอนเมือง กม.26” ในที่สุด


         ความจริงแล้วก่อนที่จะมาอยู่ดอนเมือง ตัวธุรกิจจริงๆ นั้นได้เริ่มต้นมาจากอุตสาหกรรมครัวเรือนเล็กๆ ผลิตแหนมขายในจังหวัดสุพรรณบุรีมาก่อน โดยกระจายขายส่งไปยังพื้นที่ต่างๆ ในละแวกจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงกรุงเทพมหานคร ต่อมาเมื่อขายดีจึงขยับขยายมาตั้งเป็นโรงงานผลิตและเปิดร้านขายในที่สุด


        นอกจากแหนมแท่ง แหนมตุ้มจิ๋ว ยังมีการพัฒนาผลิตเป็นแหนมกระดูกอ่อนหมู แหนมเอ็นข้อไก่ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามมาด้วย เช่น หมูยอ หมูยอไร้แป้ง ไส้กรอกอีสาน ไส้กรอกวุ้นเส้น ไส้อั่ว แหนมเนือง เป็นต้น



 

เปลี่ยนลุคแหนมห่อใส ให้กลายเป็นไอเทมที่ใครก็ต้องลอง
 
               
          สำหรับการเปลี่ยนแปลงของแหนมดอนเมืองฯ ในเวอร์ชั่นใหม่นี้ ถามว่าเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อได้ หลังจากที่ได้เข้าไปย้อนดูในหน้าเฟซบุ๊กแฟนเพจของแหนมดอนเมือง กม.26 พบว่าเริ่มมีการโพสต์ให้เห็นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้วยการแสดงรูปภาพของ 4 พรีเซ็นเตอร์สาว พร้อมข้อความเชิญชวนให้เตรียมพบกับลุคใหม่ของแหนมดอนเมือง กม.26 ตลอดปี 2564
               

         ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานได้มีการโพสต์ข้อความเพิ่มเติมออกมาบอกให้รู้ว่า นี่คือ ส่วนหนึ่งของ “ปฏิทินปี 2021” ที่ทางแบรนด์ได้จัดทำขึ้นมาเพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ของแบรนด์ ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีการนำเสนอแฟชั่นชุดใหม่ออกมาพร้อมกับเมนูใหม่ๆ เป็นประจำทุกเดือนโดยมีแหนมเป็นวัตถุดิบหลักในการทำ พร้อมกับแจกสูตรอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถนำไปทำรับประทานเองได้แบบไม่จำเจ เพื่อแสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วแหนมสามารถเป็นได้มากกว่าแค่กับแกล้มหรือกับข้าวเท่านั้น
               

         อาทิ กุมภาพันธ์ - แหนม Rose Pie พายแหนมในรูปแบบดอกกุหลาบ, มีนาคม – ยำมะม่วงแหนมสด, เมษายน - แหนมกะปิทอด ไว้กินคู่กับข้าวแช่เย็นชื่นใจ, พฤษภาคม – ข้าวผัดสับปะรดแหนม และล่าสุดมิถุนายน - แหนมเวลลิงตัน ชิ้นโต ผ่าครึ่งสวยงาม
               

        หากจะว่าไปแล้ว จริงๆ แหนมดอนเมือง กม.26 เป็นแบรนด์ที่มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่การเป็นแบรนด์แหนมแบรนด์แรกที่มีการนำเทคโนโลยีฉายรังสีมาใช้กับผลิตภัณฑ์ ทำให้สะอาด ปลอดภัย และยังเก็บได้นานกว่าแหนมทั่วไปถึง 2 สัปดาห์ด้วย ไปจนถึงการปรับแพ็กเกจจิ้ง ยกตัวอย่างแหนมตุ้มจิ๋วที่เดิมต้องมีการใช้หนังยางรัด แต่มีการปรับเปลี่ยนมาใช้นวัตกรรมใหม่ทำให้พลาสติกสามารถห่อแหนมได้พอดี โดยไม่ต้องใช้หนังยาง จึงทำให้ไม่ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากร อีกทั้งยังทำให้แหนมไม่ขมจากที่โดนหนังยางตามที่ผู้บริโภคแนะนำมาได้ด้วย

 


เจาะตลาดคนรุ่นใหม่ด้วย “สีสัน แฟชั่น ศัพท์วัยรุ่น”
 
               
         มาถึงการวิเคราะห์ในวิธีคิดของแบรนด์กันบ้าง โดยพบว่าสิ่งที่แบรนด์ใช้เพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ให้ดูแตกต่างออกไปจากเดิม มีอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่


         1.สีสัน มีการนำสีสันสดใสเข้ามาใช้ โดยเฉพาะสีชมพู ซึ่งเป็นสีประจำของแบรนด์ เพื่อสื่อถึงรสชาติที่เปรี้ยวใสอันเป็นเอกลักษณ์ของแหนม นอกจากจะดูน่าสนใจเหมาะกับคนรุ่นใหม่แล้ว ยังช่วยสร้างการจดจำแบรนด์ได้มากขึ้นด้วย


         2. แฟชั่น มีการนำแฟชั่นมาใช้เพื่อให้แบรนด์ดูมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยนำเสนอผ่านพรีเซ็นเตอร์สาวสวยในชุดแฟชั่นสุดเปรี้ยวจี๊ด ซึ่งมองดูเผิ่นๆ ก็คล้ายกับวงเกิร์ลกรุ๊ป โดยในแต่ละเดือนจะมีธีมที่แตกต่างกันออกไปควบคู่ไปกับเมนูใหม่ๆ เป็นประจำทุกเดือน


         3. ศัพท์วัยรุ่น มีการใช้ภาษาโดยดัดแปลงมาจากคำฮิตตามกระแส หรือศัพท์วัยรุ่น เพื่อสื่อถึงความเป็นกันเอง และเข้าถึงลูกค้าคนรุ่นใหม่ได้ใกล้ชิดมากขึ้น เช่น คำว่า แหนมโน๊ะ, เปรี้ยว..ปั๊วะ, เปรี้ยว ตะมุตะมิ
               

          และนี่คือ เรื่องราวอัพเดตใหม่ๆ ของแบรนด์แหนมดั้งเดิมที่แม้จะมีการทำธุรกิจมานานแล้ว แต่ยังคงมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและตอบโจทย์ผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ได้ ซึ่งนับเป็นอีกหัวใจสำคัญของการทำรกิจ ขอเพียงผลิตสินค้ามีคุณภาพ และไม่ลืมที่จะปรับตัวตลอดเวลา ยังไงก็ยังเป็นแบรนด์ที่น่าสนใจและมีความสดใหม่อยู่เสมอ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยก็ตาม




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น