ฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ ร่วมหาทางออกให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยฟื้นก่อนฟุบ




       เกือบ 2 ปีที่ภาคการท่องเที่ยวไทยหยุดชะงัก และผู้ประกอบการได้แต่รอความหวังให้สถานการณ์โรคระบาดดีขึ้นเพื่อจะกลับมาดำเนินธุรกิจได้เหมือนเดิม แต่ล่าสุดเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Tourism Voice: เสียงท่องเที่ยวไทย’ จัดงานเสวนาออนไลน์ ‘OPEN MIC! 100 เสียงแรกท่องเที่ยวไทย’ โดยมีผู้ร่วมเสวนากว่า 30 คนเป็นตัวแทนสื่อสารปัญหาและเป็นกระบอกเสียงให้คนในธุรกิจท่องเที่ยวไม่ว่าจะระดับใหญ่ กลาง หรือระดับชุมชน พร้อมเสนอวิธีทางแก้ไขร่วมกันเพื่อฟื้นการท่องเที่ยวไทย
 

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ขอรัฐเร่งฉีดวัคซีน
คุมแพร่ระบาด กระจายเงินทุน


         ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (สทท.) เสนอความเห็นให้รัฐบาลกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วจนครบ 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร เร่งควบคุมการแพร่ระบาดอย่างจริงจัง และกระจายแหล่งเงินทุนให้เข้าถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั่วประเทศ รวมถึงจำเป็นต้องมีแคมเปญสำหรับการเปิดประเทศ อาจช่วยจ่ายเงินค่าห้องให้นักท่องเที่ยว ผ่านแคมเปญ “1 ดอลลาร์ 1 คืน จ่ายเพียง 1 ดอลลาร์ก็สามารถเข้าพักได้แล้ว” โดยรัฐสนับสนุนเบื้องต้นไปก่อน เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในไทย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนคนท่องเที่ยวล้มหายตายจากเพิ่มอีก



 

เสียงจากภูเก็ต อยากให้ความสำคัญกับดึงนักท่องเที่ยวก่อนเรื่องกฎระเบียบ
 

         ศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ จำกัด ส่งเสียงแทนผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ตจากตัวเลขนักท่องเที่ยวในโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ที่เข้ามาเพียง 300 กว่าคน สะท้อนว่าการจะเปิดโรงแรม 100 เปอร์เซ็นต์อีกครั้งคงยาก ดังนั้น รัฐจึงควรเร่งศึกษาแนวทางเปิดประเทศของประเทศอื่นๆ อาทิ สิงคโปร์ เพื่อลดความซับซ้อนของกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง และจำเป็นจะต้องมีโปรโมชันหรือแคมเปญ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว


        นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญคือ ประเทศไทยควรเปิดให้เข้าถึงการตรวจโควิด-19 ด้วยรูปแบบการตรวจแอนติเจนที่ทั่วโลกใช้งาน เพื่อให้ประชาชนไทยสามารถตรวจโควิด-19 ได้ด้วยตัวเอง ลดความหวาดกลัวของนักท่องเที่ยวต่อประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นตัวเลขจากกรุงเทพฯ ถ้าสามารถประกาศแยกรายจังหวัดได้ก็จะลดความน่ากังวลลงไปมาก


        เธอเชื่อว่านักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่เดินทางมาคือ ‘กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ’ เพราะไทยโดดเด่นเรื่องอากาศ อาหาร สมุนไพร และเพิ่งเปิดเรื่องเสรี “กัญชากัญชง” จึงเป็น 3 จุดที่สามารถสร้างความแตกต่างให้ต่างชาติอยากเข้ามาในประเทศไทยได้ แต่ภาครัฐต้องเปลี่ยนแนวคิดก่อน หันมาให้ความสำคัญในประเด็นว่า ‘จะทำอย่างไรให้คนมา’ ตามด้วยเรื่อง ‘รักษาความปลอดภัยได้ยังไง’ เพราะถ้าคิดตั้งกฎก่อน การท่องเที่ยวก็จะไม่เกิด



 

เสม็ดพร้อมดัน “เสม็ด แซนด์บ็อกซ์”
 

         พิศมัย ศุภนันตฤกษ์ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดระยอง และเจ้าของโรงแรมโนโวเทล ระยอง สตาร์คอนเวนชั่น ได้กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเสม็ดได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมดแล้ว เสม็ดมีความพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยว อย่างมาก และอยากผลักดันให้เสม็ดสามารถเดินหน้าได้เหมือนกับภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ โดยไว ภายใต้ชื่อ เสม็ด แซนด์บ็อกซ์ เพราะคนบนเกาะฉีดวัคซีนครบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว พื้นที่ปลอดภัยควรถูกทยอยเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้ภาพรวมท่องเที่ยวไทยค่อยๆ ฟื้นตัว


         นอกจากนี้ อยากให้เร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่สีแดงจังหวัดรอบๆ เช่น กรุงเทพมหานคร, ปทุมธานี และสมุทรปราการ เพื่อลดอัตราการตายที่ยังมีต่อเนื่องด้วย



 

พัทยาเรียกร้องวัคซีนและการเยียวยาที่เท่าเทียมและยุติธรรม
 

         นรินทร์ ณ บางช้าง ตัวแทนจาก Legend Siam แหล่งท่องเที่ยวดังในพัทยา สะท้อน 2 ประเด็นสำคัญ อย่างแรกคือ พัทยาก็ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวด่านหน้าในการเปิดประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการจัดสรรวัคซีนด่วน เพื่อให้พร้อมต่อการเตรียมตัวเปิดประเทศในอีก 120 วันข้างหน้า


        อย่างที่สอง คือ ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมี ‘อีเว้นท์’ หรือ ‘กิจกรรม’ ในการโปรโมทการท่องเที่ยว โดยภาครัฐควรจะทุ่มงบประมาณลงมา เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเกิดความรู้สึกอยากเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น ไม่เช่นนั้นอนาคตในอีก 120 วันข้างหน้าคงยากที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา แม้คนท่องเที่ยวจะอยากกลับมามีชีวิตปกติ อยากกลับมาสร้างรายได้ทางด้านการท่องเที่ยวแค่ไหนก็ตาม


       อลิสา พันธุศักดิ์ เจ้าของทิฟฟานี โชว์ พัทยา มองว่า ที่ผ่านมาบุคลากรท่องเที่ยวไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือ


          “วัคซีนจะต้องเท่าเทียมและยุติธรรม บุคลากรทางด้านการท่องเที่ยวมีต่างชาติมากมาย จำเป็นจะต้องได้รับวัคซีนเช่นเดียวกันกับคนไทย เพราะอยู่ในประเทศไทย ทำงานให้กับคนไทย และเจ้าของกิจการก็จ่ายภาษีไปแล้วจำนวนมาก


        อีกประเด็นสำคัญคือ การเยียวยา ในส่วนของทิฟฟานีโชว์ พนักงานไม่ได้รับการเยียวยาจากประกันสังคม เพราะจดทะเบียนเป็น โรงมหรสพ-โรงละคร ทั้งที่ตอนเปิดทำการจ่ายภาษีเดือนละเฉียดล้าน พร้อมเชิญชวนให้ทุกคนออกมาสู้ มาส่งเสียงเพื่อลูกน้องของตัวเอง ทำไมเราไม่ได้รับการเยียวยาทั้งที่รัฐบาลบอกจะให้เงินเยียวยา โดยปีที่ผ่านมาทิฟฟานี่โชว์ไม่ได้เสียภาษี เพราะไม่มีรายได้ ซึ่งปีนี้ไม่ใช่แค่ทิฟฟานี่โชว์ แต่ทุกคนก็จะยิ่งไม่มีรายได้ รัฐก็จะเก็บภาษีได้น้อยลงไปด้วย


               

หลังโควิด โอกาสของการท่องเที่ยวชุมชน
               

          ชนิสรา ดาอ่อน ประธานเครือข่ายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากชุมชน เผยว่า หลังโควิด-19 บริบทการท่องเที่ยวจะแตกต่างไปจากเดิม ท่องเที่ยวชุมชนเป็นโอกาสแห่งความทัดเทียม “ความคิดสร้างสรรค์กับต้นทุนทางปัญญาจะช่วยเราในการวางแผนล่วงหน้าสู่ความหวังของการเปิดประเทศในอีก 120 วัน”


         จากการสอบถามไปยังเครือข่ายการท่องเที่ยวในภูมิภาคยุโรปและอื่นๆ ยืนยันได้ว่าด้านการท่องเที่ยวชุมชนและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ท่องเที่ยวชุมชนประเทศไทยยังคงเป็นเป้าหมายอันดับ 1 ที่นักท่องเที่ยวรอที่จะกลับเข้ามาสัมผัสมนต์สเน่ห์ดังนั้น เราต้องให้โอกาสตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ช่วยให้เสียงชุมชนเป็นจริงขึ้นมา สร้างความเข้มแข็งขึ้น สร้างความภาคภูมิใจขึ้น ไม่ยอมแพ้ ลุกขึ้นมาสื่อสารนำเอาสินค้าและบริการออนไลน์ของชุมชนขึ้นไปเสนอผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างไร้ขีดจำกัดสู่ทั่วโลก ไม่ใช่แค่เรื่องของการแข่งขัน แต่คนเข้มแข็งเท่านั้นที่จะอยู่รอด


        มยุรี ศรีนาค ตัวแทนจากท่องเที่ยวชุมชน อำเภอไทรน้อย อยุธยา ได้เล่าว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการกว่า 600-700 คนในเครือข่ายนิ่งและซบเซาจากโควิด-19 ต้องอาศัยทำตลาดออนไลน์เพื่อเลี้ยงชีพ ที่ผ่านมาท่องเที่ยวเข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและในหลายๆ ชุมชนกลายเป็นรายได้หลัก จึงอยากให้มีการสนับสนุนฟื้นท่องเที่ยวชุมชน


        ขณะที่ วัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ ตัวแทนตลาดหลวงปู่ทวด จังหวัดอยุธยา มองว่าจากตรงนี้ไปท่องเที่ยวชุมชนยังต้องได้รับการประชาสัมพันธ์อีกมาก อาจต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงยังต้องการแรงกระตุ้นจากภาครัฐในการกระตุ้นการท่องเที่ยวใน “16 อำเภอทั่วอยุธยา” และให้ด่านหน้าทางด้านการท่องเที่ยวได้รับวัคซีนก่อน เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวในประเทศที่น่าจะฟื้นตัวแรกๆ มีความพร้อมต่อการรองรับนักท่องเที่ยว



 

อินฟลูเอนเซอร์พร้อมช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านโลกออนไลน์
 

          เบญจา กัลยาวินัย ตัวแทนจาก Miss Tourism ยืนยันว่าในฐานะตัวแทนผู้ถือลิขสิทธิ์ของ Miss Tourism ในประเทศไทย จะไม่รอคอยให้โควิดหายไปก่อน แต่พร้อมที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยวบนโลกออนไลน์


          โดยจะเดินหน้าใช้อินฟลูแอนเซอร์และช่องทางออนไลน์ที่มีอยู่ในมือสื่อสาร กระจายเสียง ปัญหา ความต้องการด้านการช่วยเหลือ โดยปัจจุบันมีช่องทางสื่อสารมากกว่า 77 เพจครบทุกจังหวัด รวมถึงมีทูตการท่องเที่ยวที่ทำงานออนไลน์เป็นและอยากที่จะช่วยเหลือชุมชน ทุกคนสามารถเข้าไปในเพจได้และช่วยทำงานได้ทันทีโดยไม่ต้องรอหมดโควิด
 

         นี่คือเสียงสะท้อนจากภาคการท่องเที่ยวไทยที่อยากให้ผู้เกี่ยวข้องได้ยิน เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยฟื้นวิกฤตกลับคืนมาตามทันสถานการณ์โลกได้ในเร็ววัน
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ