รวมกลยุทธ์แบรนด์ดังอเมริกา ใช้ TikTok ทำยอดขายถล่มทลาย สร้างรายได้จากกลุ่ม Gen Z

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

          กลายเป็นปรากฏการณ์ที่แบรนด์แฟชั่นหลายแบรนด์ในอเมริกากำลังให้ความสนใจ TikTok แอปพลิเคชันที่มีผู้ใช้งานกว่า 800 ล้านคนทั่วโลกในฐานะเครื่องมือทางการตลาดที่เจาะผู้บริโภค Gen Z หรือกลุ่มที่มีวัยระหว่าง 16-24 ปี ย้อนกลับไปยุคก่อน วัยรุ่นมักไปเตร็ดเตร่กับเพื่อนๆ ตามห้างสรรพสินค้าเพื่อช้อปปิ้งเสื้อผ้า แต่วัยรุ่นปัจจุบันใช้วิธีเข้าไปติดตามบรรดาอินฟลูเอ็นเซอร์ใน TikTok เพื่อหาแรงบันดาลใจด้านเทรนด์แฟชั่นแล้วสั่งซื้อทางออนไลน์
               

        สถิติระบุว่า กลุ่ม Gen Z ซึ่งมีจำนวนประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก 7,000 ล้านคนนั้นใช้เวลาบนแอปโซเชียลมีเดียต่างๆ เฉลี่ย 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สำหรับคนกลุ่มนี้ พวกเขาแสดงความเป็นตัวตนผ่านเสื้อผ้าและแฟชั่น สิ่งที่พวกเขาต้องการคือความถูกต้องและปัจเจกชน ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงพึ่งพาการชี้นำจากคนที่พวกเขาเชื่อก่อนตัดสินใจซื้อ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อสักตัว หรือรองเท้าสักคู่
               

        TikTok จึงกลายเป็นสื่อยอดนิยมของกลุ่ม Gen Z เนื่องจากแค่คลิกเข้าแฮชแท็กในคีย์เวิร์ดที่ต้องการ ข้อมูลก็จะผุดขึ้นอย่างง่ายดาย รวมไปถึงการมีอินฟลูเอนเซอร์มากมาย มีไวรัลที่มาจากแบรนด์ต่างๆ เจสซิก้า รามิเรซ นักวิเคราะห์ด้านค้าปลีกประจำเจน ฮาลี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ระบุ TikTok มีศักยภาพในการทำให้สินค้าบางอย่างกลายเป็นไวรัลเร็วกว่าสื่ออื่น เช่น อินสตาแกรม สำหรับผู้ค้าปลีก นั่นคือประโยชน์มหาศาล



               

        มีสินค้าจากหลายแบรนด์ที่ยอดขายพุ่ง และลูกค้าวัยรุ่นเสาะแสวงหาเพราะเน็ตไอดอลนำไปใส่จนเป็นไวรัลใน TikTok ได้แก่ กระโปรงกางเกงแบรนด์ Lululemon กางเกงเดนิมขากว้างของ Zara เล็กกิ้งจากแบรนด์ Aerie  หรือกระเป๋าทรงหัวใจของ Kate Spade ที่ขายดิบขายดีช่วงวาเลนไทน์ เป็นต้น
               

          มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับไคลี่ วัยรุ่นอเมริกันวัย 16 ปีที่ตามหากระโปรงกางเกงของ Lululemon หลังจากที่เห็นในไวรัล แต่เมื่อไปดูในเว็บไซต์ของบริษัท สินค้ากลับขายหมดไปแล้ว เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ ไคลี่ใช้วิธีติดตามจากแฮชแท็ก เช่น #fashionhauls และ #OOTD (outfit of the day) ของอินฟลูเอนเซอร์ที่เธอชื่นชอบซึ่งจะแจ้งข้อมูลว่ากระโปรงกางเกงรุ่นนี้จะกลับมาวางขายอีกเมื่อไร ซึ่งท้ายที่สุดไคลี่ก็ได้มา 1 ตัวแม้ว่าขนาดจะใหญ่กว่าที่ต้องการ แต่เธอก็ยอมนำไปแก้ให้เล็กลงเพื่อให้สามารถใส่ได้  
               

          หรืออีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อบาร์บาร่า คริสทอฟเฟอร์เซ่น หนึ่งในดาว TikTok แห่งสหรัฐฯ ได้ลงคลิปที่เธอสวมใส่เสื้อฮูดดี้วินเทจสีน้ำตาล คอลเลกชันเก่าจาก Gap ซึ่งเป็นรุ่นที่บริษัทไม่ได้ผลิตมานานกว่าสิบปีแล้ว คลิปนั้นมีคนชมเกือบ 2 ล้านวิว และมีคนกดเข้าไปดูในแฮชเท็ก #gaphoodie มากกว่า 6.6 ล้านวิวบน TikTok ด้วยอิทธิพลของอินฟลูเอนเซอร์นี่เองที่ทำให้เสื้อรุ่นนี้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง คนที่มีในครอบครองนำมาขายต่อได้ราคาถึงตัวละ 300 ดอลลาร์หรือเกือบหมื่นบาทก็มี 
               

          เมื่อ Gap รับรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่รอช้า รีบส่งเสื้อฮูดดี้รุ่นอื่นๆ หลากสีสันไปให้บาร์บาร่าทันที รวมถึงแจกเสื้อฮูดดี้จำนวนหนึ่งให้กับผู้ใช้ TikTok รายอื่นด้วย แมรี่ อัลเดรีท ผู้บริหารฝ่ายการตลาดของ Gap เผยว่าบริษัทมีบัญชี TikTok อย่างเป็นทางการแล้วแต่ยังไม่ได้โพสต์อะไรสักเท่าไร และเพื่อไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดลอย บริษัทจึงได้ปลุกชีพฮูดดี้สีน้ำตาลที่มีโลโก้ GAP ด้วยการผลิตล็อตใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดโดยจะวางตลาดในช่วงปลายปีนี้ แมรี่กล่าวว่าเทรนด์เป็นอะไรที่กำหนดไม่ได้ สิ่งที่ทำคือต้องตามให้ทัน     



               

         ด้าน Aeropostale แบรนด์เสื้อผ้าสุดฮิตของกลุ่มวัยรุ่นอเมริกันก็ได้รับอานิสงส์จากไวรัลบน TikTok เช่นกันหลังเกิดแฮชเท็ก #tinytops  ในโลกโซเชียลช่วงเดือนเมษายนเนื่องจากบรรดาอินฟลูเอนเซอร์รวมถึงเล็กซี่ อีดัลโก ที่มีผู้ติดตาม 1.6 ล้านรายเป็นผู้จุดกระแสด้วยการหันมาใส่เสื้อครอปท้อปจนกลายเป็นของต้องมี วัยรุ่นต้องไปหาซื้อมาใส่ตามโดยแมทช์กับกางเกงเอวสูงหรือกางเกงทรงหลวม
               

         นาตาลี เลวี่ ผู้บริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ SPARC ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแอโรโพสเทลเผยว่าเป็นการย้อนกลับมาของแฟชั่นในยุค 90 หรือยุค Y2K คือกางเกงต้องตัวใหญ่ๆ ส่วนเสื้อยิ่งเล็กยิ่งดี หลังเกิดไวรัล ลูกค้าเยาวชนไม่เพียงเข้าเว็บไซต์ Aeropostale เพื่อเลือกซื้อเสื้อครอปท้อป แต่ยังมีบางส่วนที่แวะไปที่ร้านเพื่อให้พนักงานแนะนำว่ามีสินค้าไหนบ้างที่กำลังเป็นกระแสบน TikTok โอกาสมาถึงแล้ว Aeropostale จึงทำการแบ่งพื้นที่ในร้านให้เป็นมุมสำรับสินค้าที่เป็นไวรัลบน TikTok ทันที พร้อมกับรวบรวมเสื้อครอปท้อป กางเกงเดนิมทรงแบกกี้ และกางเกงทรงหลวมอื่นๆ มาไว้ให้ลูกค้าเลือก



               

          ในขณะที่แบรนด์ที่กล่าวมาอาจได้รับอานิสงส์จากไวรัลแบบส้มหล่น แต่บางแบรนด์เจาะจงใช้ TikTok เป็นช่องการตลาด อาทิ แบรนด์ Hollister ในสังกัด Abercrombie & Fitch ได้จับมือกับ ดิ๊กซี่ และชาร์ลี ดีอาเมลิโอ สองซูเปอร์สตาร์ TikTok ที่มีผู้ติดตามรวมกันมากกว่า 170 ล้านคนเปิดตัวไลน์เสื้อผ้าภายใต้ชื่อ Social Tourist
               

         อย่างไรก็ตาม ฮานา เบน ชาบัต ผู้ก่อตั้ง Gen Z Planet บริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดที่เชี่ยวชาญด้าน Gen Z มองว่าการจะเข้าถึงวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 24 ปี กระแสที่เกิดขึ้นควรเป็นกระแสโดยบังเอิญที่แท้จริง ไม่ใช่เกิดจากผลพวงทางการตลาดที่ตั้งใจสร้างขึ้น วัยรุ่นกลุ่มนี้มักเลือกเข้าไปดูคลิปของอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามหลักร้อยหรือหลักพันเพราะให้ความรู้สึกผูกพันมากกว่าอินฟลูเอนเซอร์ที่มีคนติดตามหลักล้าน
 

          ที่มา : www.cnbc.com/2021/07/12/from-aerie-to-zara-retailers-turn-viral-tiktok-videos-into-sales.html
                                               
 
 

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน