เปลี่ยนคนตกงานให้เป็นแรงงาน ไอเดียแจ้งเกิดธุรกิจส่งแก๊ส BELIGAS ชุมชนรอดธุรกิจก็รุ่ง

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

               

        การระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ท่ามกลางสถานการณ์การดิ้นรนเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด การตกงานของผู้คนจำนวนมาก และการสูญเสียชีวิตของเหยื่อโควิด “สุธาน มูไคอาห์” นักธุรกิจหนุ่มชาวมาเลเซียวัย 34 ปีผู้คร่ำหวอดในวงการไอทีจึงเกิดความคิดในการผุด social enterprise หรือวิสาหกิจชุมชนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการตกงานเนื่องจากโควิด
               

         เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เขาได้ตั้งบริษัท Beligas เพื่อให้บริการจัดส่งแก๊สหุงต้มตามบ้านในกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยลูกค้าสามารถสั่งแก๊สและชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน หรือผ่านเว็บไซต์ของบริษัท Beligas ถือเป็นรายแรกของประเทศที่ให้บริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เหตุผลที่เลือกธุรกิจค้าแก๊สหุงต้มเนื่องจากมองว่าช่วงที่มีการกักตัวและออกไปใช้บริการร้านอาหารไม่ได้ ผู้คนเข้าครัวทำอาหารมากขึ้น



               

        นอกเหนือจากการเป็นธุรกิจที่ให้บริการแก๊สหุงต้มผ่านแอปโดยสามารถจัดส่งได้รวดเร็วภายใน 15-20 นาที จุดเด่นของ Beligas คือการเป็นธุรกิจเพื่อช่วยเหลือชุมชน เนื่องจากช่วยสร้างเสริมอาชีพด้วยการจ้างวานผู้ตกงานให้มาทำงานเป็นพนักงานส่งแก๊สหรือไรเดอร์นั่นเอง และเนื่องจาก Beligas สามารถติดต่อซื้อแก๊สจากผู้ผลิตเองโดยไม่ผ่านคนกลางทั้งหลายแหล่ ทำให้สามารถจัดส่งแก๊สตรงสู่ลูกค้าในราคาที่ถูกกว่า 
                

        จุดขายของ Beligas จึงเป็นความสะดวก รวดเร็ว บริการยอดเยี่ยมในราคาย่อมเยาตลอด 24 ชั่วโมง ไม่แปลกที่เปิดตัวได้ไม่นาน จะได้รับการตอบรับจากลูกค้าล้นหลาม Beligas จัดส่งแก๊สขนาดถังละ 14 กิโลกรัม ให้ลูกค้าเฉลี่ย 6,000 ถังต่อเดือน โดยมีบริการและราคาให้ลูกค้าเลือกหลายแบบ ได้แก่ สั่งล่วงหน้า 1 วัน (25.60 ริงกิต) สั่งและจัดส่งในวันเดียวระหว่าง 9 โมงเช้า-6 โมงเย็น (26.60 ริงกิต) สั่งและจัดส่งใน 1 ชั่วโมง (29.60 ริงกิต) สั่งและจัดส่งหลัง 2 ทุ่ม (38.60 ริงกิต ราคาที่กล่าวมาคือบริการฟรีไม่มีค่าจัดส่ง เทียบกับรายอื่นที่จะบวกค่าส่งทำให้ราคาแก๊สต่อถังแพงกว่าของ Beligas



               

        สุธานให้สัมภาษณ์ว่าช่วงเดือนแรกที่เปิดบริการ เขาเซ็นสัญญากับบริษัทโลจิสติกส์เพื่อให้จัดส่งแก๊สแก่ลูกค้า แต่พบว่ามีความยุ่งยากซับซ้อน เพื่อความคล่องตัว จึงสร้างทีมเดลิเวอรี่ขึ้นมาเองโดยลงทุนซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เพื่อจัดส่งเอง ไม่เพียงจ้างคนว่างงานกว่า 40 ชีวิตมาเป็นไรเดอร์ส่งแก๊สตามบ้าน สุธานยังเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษแล้วได้ทำงานในคลังสินค้าของบริษัทอีกด้วย
               

         “แน่นอนว่าการริเริ่มธุรกิจในช่วงเวลาที่ยากลำบาก บริษัทส่วนใหญ่มักประหยัดงบในการทำการตลาด แต่เราทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามด้วยการเพิ่มงบประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อดั้งเดิม เช่น ทีวี วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และการทำป้ายโฆษณาต่าง ๆ แม้จะใช้เงิน 6 หลัก แต่เรามองว่าคุ้มค่าในแง่ของการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก” สุธานกล่าว นอกจากสื่อ offline แล้ว Beligas ยังทำการตลาดผ่านสื่อดิจิทัลควบคู่ไปด้วยเช่นกัน      



 

          ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ Beligas คือการทำแคมเปญ ”น้ำมันเก่าแลกส่วนลด” ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถรวบรวมน้ำมันปรุงอาหารเก่าที่ใช้แล้วมอบให้กับไรเดอร์เพื่อแลกกับส่วนลดค่าแก๊ส โดย 1 ลิตรสามารถแลกได้ 0.80 ริงกิต สำหรับลูกค้าตามบ้าน สามารถแลกได้ครั้งละไม่เกิน 10 ลิตรเนื่องจากไรเดอร์ที่ใช้จักรยานยนต์ไม่สามารถรับคราวละมาก ๆ ได้ แต่ถ้าเป็นลูกค้าร้านอาหาร สามารถแลกได้ไม่จำกัดเนื่องจากไรเดอร์ใช้รถยนต์ในการบริการ   
               

         นับตั้งแต่เริ่มแคมเปญในเดือนมิถุนายน ระยะเวลาเพียงเดือนเดียว Beligas สามารถเก็บน้ำมันเก่าจากลูกค้าได้ 500 ลิตร บริษัทตั้งเป้าจะเก็บให้ได้มากขึ้นเป็น 15,000 ลิตรในปีถัดไปจากลูกค้าที่คาดหวังจะเพิ่มเป็น 100,000 ราย สำหรับน้ำมันเก่าที่รวบรวมมา Beligas จะนำไปแปรเป็นน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อนำกลับไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ที่ใช้ขนส่งแก๊สของบริษัท หรือจำหน่ายให้กับผู้ใช้ไบโอดีเซล
               

        แคมเปญนี้ถือว่าสมประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ลูกค้าได้กำจัดน้ำมันเก่าที่ไม่ใช้แล้วแถมยังได้ส่วนลดแถมมา ส่วน Beligas ได้นำน้ำมันเก่ามาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามเจตนารมย์ที่ตั้งไว้ ทั้งยังได้ภาพลักษณ์องค์กรที่ดี และได้ความภักดีจากลูกค้าที่ชื่นชอบกิจกรรมนี้อีกด้วย

               

        ปัจจุบัน Beligas มี 10 สาขาและให้บริการจัดส่งแก๊ส 214 พื้นที่ทั่วกัวลาลัมเปอร์ ผู้บริหารบริษัทตั้งเป้าจะขยายให้ถึง 100 สาขาภายในปี 2021 และบริการในพื้นที่อื่นครอบคลุมทั่วประเทศผ่านการเป็นพันธมิตรกับบริษัทผู้ผลิตแก๊สหลายราย ซึ่งสุธานเชื่อมันว่าจะสามารถทำได้สำเร็จในระยะเวลาเพียง 1-2 ปี
 

      ที่มา : https://vulcanpost.com/751034/beligas-malaysia-lpg-gas-affordable-delivery/
       https://focusmalaysia.my/how-the-pandemic-started-a-social-enterprise/
       www.nst.com.my/news/nation/2021/03/675974/beligas-eyes-expansion-more-partners-and-helping-community
 
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน