นักธุรกิจเชียงคานไม่รอ ผุดโปรเจกต์พึ่งตนเอง รับมือไวรัสร้าย ในวันที่ไร้เงานักท่องเที่ยว

TEXT : นิตยา สุเรียมมา
PHOTO : เชียงคาน สบายใจ, ชีวาดีคลินิก



  
           ในสภาวะที่มีการแพร่ระบาดของโรคอย่างหนักเช่นนี้ การรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอและทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อะไรที่พอทำได้เองหรือช่วยเหลือตัวได้เอง ก็ต้องทำไปก่อน


           เหมือนอย่างล่าสุดที่ผู้ประกอบการเชียงคานได้ร่วมกันจัดทำโปรเจกต์ “เชียงคาน สบายใจ” ขึ้นมา เพื่อช่วยป้องกันและต่อสู้กับโรคระบาดอย่างไวรัสโควิด-19 ในยามที่ไร้เงาจากนักท่องเที่ยว แถมยังต้องรับมือกับไวรัสร้ายที่มาเยือนถึงตัว





พลังเล็กที่ยิ่งใหญ่

 

          เสริมสิน คูณแสนโชติสิน เจ้าของบ้านพัก “ชานเคียง ที่เชียงคาน” หนึ่งในผู้ก่อตั้ง เชียงคาน สบายใจ เล่าที่มาของโปรเจกต์ดังกล่าวให้ฟังว่า สืบเนื่องมาจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างแทบหยุดชะงักลงชั่วคราว ปริมาณนักท่องเที่ยวที่เคยมี ก็แทบจะไม่มีหายไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ได้ส่งผลเพียงแค่ธุรกิจเท่านั้น แต่อาจส่งผลต่อสุขภาพความปลอดภัยของเหล่าผู้ประกอบการเองด้วย ด้วยเหตุนี้ตนและเพื่อนๆ จึงช่วยกันคิดว่ามีอะไรที่น่าจะเป็นประโยชน์และพอทำกันขึ้นมาเองได้บ้าง เพราะเป็นช่วงว่างที่แทบจะไม่ได้ทำอะไรกันอยู่แล้ว จนเกิดเป็นโปรเจกต์ เชียงคาน สบายใจ ขึ้นมา โดยการนำสมุนไพรพื้นบ้านมาใช้ เพื่อช่วยป้องกันตนเอง


           “เรื่องมันเริ่มมาจากมีพี่สองคนชื่อ “พี่ก้อย - ดุจหทัย นาวาพานิช” และ “พี่วิทย์ – สุวิทย์ นามแสง” ซึ่งศึกษาด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยอยู่แล้ว จนเปิดเป็น “ชีวาดีคลินิกการแพทย์แผนไทย” ขึ้นมา ได้นำความรู้เรื่องการนำสมุนไพรตำรับช่วยดูแลระบบทางเดินหายใจมาแนะนำให้ทดลองทำใช้กัน  เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อโควิดลงสู่ปอดและระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเรามองเห็นแล้วว่ามีประโยชน์ เลยอยากนำมาเผยแพร่ออกไปให้คนอื่นๆ ได้รู้ด้วย จึงร่วมกันจัดทำโปรเจกต์ เชียงคาน สบายใจ ขึ้นมา นำเสนอวิธีการนำสมุนไพรมาประยุกต์ใช้ดูแลตัวเองด้วยวิธีง่ายๆ หรือแม้แต่คนที่อาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว ก็สามารถทำได้ เพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น”





           โดยเสริมสินเล่าเพิ่มเติมว่าโปรเจกต์เชียงคาน สบายใจจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกนั้นจะเป็นการนำเสนอวิธีการดูแลตัวเองง่ายๆ ด้วยสมุนไพรผ่านรูปแบบคลิปวิดีโอสั้นที่ถ่ายทำกันเอง ประเดิมด้วยชุดแรก คือ การสอนวิธีทำ “สุมโปง” หรือ “สุมยา” เพื่อสูดดมไอระเหยของสมุนไพรเข้าไป โดยใช้วิธีต้มสมุนไพรให้เดือดจากนั้นก้มหน้าและใช้ผ้าคลุมศีรษะให้มิดชิดแล้วสูดดมเข้าไป ซึ่งสมุนไพรที่ใช้ก็เป็นสมุนไพรพื้นบ้านพืชผักสวนครัวที่หาได้ง่าย เช่น เช่น มะกรูด ข่า ตะไคร้ กระเพรา หอมแดง ฯลฯ ซึ่งเพิ่งเริ่มเผยแพร่ออกมาได้ไม่นาน


          หลังจากนั้นจะทำเพิ่มอีก 2 คลิป คือ การสอนทำ Wellcome drink ที่เป็นน้ำดื่มสมุนไพรง่ายๆ เช่น น้ำขิง น้ำกระชาย น้ำกระเพรา หรือเวลคัมดริงค์เพื่อเอาไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวหรือรับประทานเอง และชุดสุดท้ายจะจัดทำเป็นคลิปวิดีโอยาว โดยฉายภาพรวมของกิจกรรมทั้งหมดในโครงการที่เกิดขึ้น เพื่อเผยแพร่ออกไปให้แก่นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เพื่อสร้างให้เกิดความมั่นใจ และเชื่อมั่นในการเดินทางมาท่องเที่ยวที่เชียงคานมากขึ้น

 



เมื่อสบายใจ ก็สบายดี

 

           ในส่วนที่ 2 จะเน้นเรื่องการลงมือทำ โดยผู้ประกอบการที่พักหรือร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย ทางกลุ่มจะมีการแจกสติ๊กเกอร์ของโครงการให้ เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาอีกทางหนึ่ง ซึ่งวิธีการเข้าร่วมก็ง่ายๆ  เพียงนำสมุนไพรมาใช้ดูแลตัวเองตามคำแนะที่ให้ไป รวมไปถึงนำไปต่อยอดปรับใช้กับธุรกิจของตนและถ่ายทอดให้แก่นักท่องเที่ยวและบุคคลอื่นๆ ได้รับรู้และทดลองใช้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น การทำเวลคัมดริ๊งค์ด้วยสมุนไพรเพื่อต้อนรับลูกค้า การจัดทำชุดสุมโปงขึ้นมาให้กับแขกที่เข้าพัก


           ไปจนถึงการให้คำแนะนำด้านการดูแลตัวเองด้วยสมุนไพรในวิธีต่างๆ อาทิ การสวนล้างจมูกด้วยเกลืออนามัย, การทำออยพูลลิ่ง ด้วยน้ำมันมะพร้าวเพื่อช่วยล้างเชื้อโรคในปากและลำคอ หรือหากใครสนใจอยากอบตัวด้วยสมุนไพร ก็สามารถแนะนำสถานที่ให้บริการได้ อาทิ บ้านสวนพอเพียงพอเพลิน เพียงเท่านี้ก็สามารถเข้าร่วมในโครงการเชียงคาน สบายใจ ได้แล้ว





         “จริงๆ เราก็ไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่ทำขึ้นมานี้จะสามารถช่วยได้มากน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อยๆ ก็ทำให้เกิดความสบายใจ ตั้งแต่สบายใจที่ได้ลงมือทำอะไรขึ้นมาบ้างดีกว่าอยู่เฉยๆ ต่อมา คือ ความสบายใจที่ได้ป้องกันดูแลตัวเองบ้าง และสุดท้าย คือ สบายใจที่ได้ทำให้ผู้อื่นสามารถดูแลตัวเองได้ในเบื้องต้นเช่นกัน ไม่ว่านักท่องเที่ยว หรือคนในเชียงคานด้วยกันเอง ซึ่งถ้าเราทุกคนช่วยกันดูแลปกป้องตัวเองให้ดี เราก็จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขเหมือนเดิม


         “ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นมาจากการร่วมแรงร่วมใจของพวกเรากันเอง ใครถนัดอะไร พอทำอะไรได้บ้าง ก็ช่วยกัน เป็นเพียงกิจกรรมเล็กๆ ที่ช่วยกันทำขึ้นมา เรียกว่าตอนนี้อะไรที่พอทำได้ก็ต้องทำไปก่อน พึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุดก่อน แต่หลังจากคลิปตัวแรกออกไป ก็เริ่มมีหน่วยงานรัฐให้ความสนใจเข้ามาสนับสนุนบ้างแล้ว” เสริมสินกล่าวทิ้งท้าย

 
IFrame





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ