ปิดๆ เปิดๆ จะปรับธุรกิจอย่างไรให้รอด ทางแก้ของธุรกิจซาลอนอินเดียเจอวิบากกรรมครั้งใหญ่

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์



        การระบาดของไวรัสโควิดทื่ยืดเยื้อแรมปีทำให้เกิดวิกฤตไปทั่วโลกและส่งผลกระทบแทบทุกอุตสาหกรรม ธุรกิจหนึ่งที่เสียหายจากการแพร่ของไวรัสคือร้านตัดผมและร้านเสริมสวยที่โดยมากเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เรียกง่ายๆ คือ SME นั่นเอง ไปดูสถานการณ์ที่อินเดียกันว่าเจ้าของร้านซาลอนทั้งหลายรับมืออย่างไร
               

        อย่างที่ทราบกัน อินเดียเป็นประเทศที่โควิดระบาดรุนแรงอันดับต้นๆ ของโลก การระบาดระลอกที่สองช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโดยรวมแตะ 33 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 4 แสนราย ประชาชนสมัครใจอยู่บ้านมากกว่าออกไปไหนมาไหน บรรดาผู้ประกอบการร้านซาลอนไม่เพียงขาดรายได้ แต่ยังต้องแบกรับค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนพนักงานหรือค่าเช่าร้าน



               

        มอลติ โชฮัน เจ้าของร้านซาลอนขนาด 1 ห้องแถวในนิวเดลีเล่าว่าก่อนเกิดโควิด ร้านของเธอเคยทำรายได้มากกว่า 50,000 รูปี (ราว 25,000 บาท) ต่อเดือน ปัจจุบันรายได้หดเหลือไม่ถึงครึ่งของที่เคยได้ ข้อมูลระบุ ร้านซาลอนส่วนใหญ่ในอินเดียเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ได้จดทะเบียนการค้าอย่างเป็นทางการ ธุรกิจขนาดเล็กประเภทนี้มีมูลค่ารวมแล้ว 100,000 ล้านรูปี หรือราว 50,000 ล้านบาทเลยทีเดียว  
               

        โชฮันกล่าวว่าที่ธุรกิจได้รับความเสียหายมากเนื่องจากเป็นบริการที่ต้องสัมผัสลูกค้าโดยตรงอันเป็นสิ่งต้องห้ามในยามนี้ ช่วงนี้เธอมีลูกค้าไม่กี่คน รายได้แทบไม่พอกับค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องเลิกจ้างพนักงานที่มีอยู่เพียงคนเดียวแล้วทำทุกอย่างเองทั้งหมด ถึงกระนั้นก็ยังไปไม่รอด เธอจึงจำใจปิดกิจการ



               

        ไม่เฉพาะธุรกิจซาลอนที่ได้รับผลกระทบแต่ยังรวมร้านสปาด้วย ด้วยเหตุที่ลูกค้าไม่ไปใช้บริการที่ร้าน ร้านซาลอนหลายแห่งรวมถึงอดีตลูกจ้างร้านที่ถูกเลิกจ้างแต่มีทักษะในการตัดผมหรือทำสีผมจึงเปลี่ยนไปใช้วิธีเดินทางไปบริการถึงที่บ้านซึ่งมีความปลอดภัยและราคาถูกกว่า ทำให้บริการทำผมถึงบ้านเป็นที่นิยมอย่างมาก 
               

       รายงานระบุว่าการระบาดของโควิดระลอกที่สองในอินเดียและนำไปสู่การล็อกดาวน์ทำให้ธุรกิจซาลอน ไม่เฉพาะขนาดเล็ก แต่ยังรวมแบบเครือข่ายหลายสาขาต้องปิดตัวจำนวนนับล้านแห่ง รวมถึงเชนร้านซาลอน “เอ็นริช” ที่ปิดไป 5 สาขาจากทั้งหมด 88 สาขา วิกรม ภัท ผู้ก่อตั้งเอ็นริช ซาลอนเปิดเผยว่าโควิดรอบสองส่งผลกระทบด้านการเงินรุนแรงกว่ารอบแรกซึ่งเกิดในปีที่แล้วมาก ทางร้านได้พยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ รวมถึงการเน้นจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผมทางออนไลน์ซึ่งสร้างรายได้ราว 15 เปอร์เซ็นต์  
               

        ด้าน “ลักษมี” แบรนด์ผลิตภัณฑ์ความงามของบริษัทฮินดูสถาน ยูนิลีเวอร์ซึ่งดำเนินธุรกิจร้านซาลอน 490 สาขาทั่วอินเดียก็ได้รับผลกระทบเช่นกันจากจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการลดลงมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้บริษัทต้องพลิกกลยุทธ์ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลช่วงที่มีการล็อกดาวน์โดยการอบรมทีมงานเพื่อให้สามารถแนะนำและให้คำปรึกษาทางออนไลน์แก่ลูกค้าได้ 



               

         ส่วน Jean-Claude Biguine Salons เชนร้านซาลอนจากฝรั่งเศสก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางความกดดันและความไม่แน่นอนในอนาคตเช่นกัน นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้บริการที่ร้านลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ร้าน Jean-Claude Biguine Salons ที่ให้บริการบางเมือง เช่น มุมไบ ปูเน่ และเบงกาลูรูต้องปิดบริการชั่วคราว
               

       ขณะเดียวกัน Jean-Claude Biguine Salons ได้หันไปเปิดร้านค้าออนไลน์ภายใต้ชื่อ Shopatjcb.com เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ความงาม อาทิ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผม ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ผลิตภัณฑ์ความงามที่เป็นออร์แกนิกและเป็นสินค้าพรีเมียมคุณภาพสูง และยังเพิ่มบริการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลความงามด้านต่างๆ แบบทางไกลแก่ลูกค้าอีกด้วย 
               

       ดร.ดี.พี. ชาร์มา ผู้อำนวยการแผนกผลิตภัณฑ์เพื่อมืออาชีพแห่งลอรีอัล อินเดียที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับร้านซาลอนราว 45,000 แห่งในอินเดียเผยว่าความเสียหายต่อธุรกิจจากโควิดระลอกสองเลวร้ายสุดคือจำนวนลูกค้าและรายได้เป็นศูนย์ “ร้านซาลอนที่เป็นพันธมิตรกับเรามากถึง 4-5 เปอร์เซ็นต์ต้องปิดตัวลง มีไม่กี่ร้านใหญ่ๆ ที่สามารถพลิกกลยุทธ์ได้ในช่วงขวบปีที่ผ่านมา ส่วนร้านที่ขาดทุนก็พิจารณาปิดกิจการไป โชคร้ายที่ร้านเล็กจำนวนมากไม่สามารถประคองตัวตั้งแต่ล็อคดาวน์รอบแรก”



               

       แม้มีการคาดการณ์ว่าตลาดผลิตภัณฑ์ความงามและของใช้ส่วนบุคคลของอินเดียจะมีมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 ซึ่งเติบโตในอัตรา 5-6 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่ธุรกิจหลักที่เกี่ยวกับความงาม เช่น ซาลอน สปา และร้านตัดผมก็ยังเป็นเพียงธุรกิจขนาดเล็ก กลาง หรือไม่ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ ธุรกิจเหล่านี้จ้างแรงงานที่มีทักษะถึง 7 ล้านคน โดยมากเป็นชนชั้นรากหญ้าในสังคมที่ได้รับผลกระทบหนักจากการล็อคดาวน์ ปัญหาที่ภาคธุรกิจนี้กำลังเผชิญคือปัญหาด้านการเงิน และปัญหาแรงงานที่ย้ายกลับภูมิลำเนาเนื่องจากร้านปิดกิจการ ร้านไหนสายป่านไม่ยาวจึงต้องม้วนเสื่อพับกิจการไป เหลือไว้ก็แต่ร้านที่สามารถปรับตัวและประคองธุรกิจให้พอไปต่อได้
 
 
         ที่มา : www.livemint.com/news/india/salon-business-takes-a-severe-hit-as-covid-second-wave-grips-india-11621425866893.html
         https://asia.nikkei.com/Spotlight/Coronavirus/Disrupted-India-s-beauty-salons-battle-haircut-delivery-services
 
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ