ไขปริศนาเหตุใดกาแฟกระป๋องจึงครองความนิยมสูงสุดในตลาดญี่ปุ่น

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์




         เมื่อพูดถึงเครื่องดื่มในประเทศญี่ปุ่น คนส่วนมักนึกถึงชาเขียวและพิธีชงชาอันละเมียดละไม แต่น้อยคนที่จะทราบว่ากาแฟก็เป็นอีกเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมาช้านานในประเทศนี้ วัฒนธรรมการดื่มกาแฟในญี่ปุ่นนั้นเริ่มต้นในทศวรรษ 1930 ซึ่งช่วงเวลานั้น เฉพาะในโตเกียวซึ่งเป็นเมืองหลวงก็มีร้านกาแฟบริการจำนวนหลายพันร้าน
               

        ความชมชอบในเครื่องดื่มชนิดนี้ทำให้เกิดนวัตกรรมอันนำไปสู่การกำเนิดกาแฟกระป๋องรุ่นแรกๆ ของโลก และกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ข้อมูลระบุตลาดกาแฟพร้อมดื่มญี่ปุ่นปี 2019 มีมูลค่าสูงถึง 905,000 ล้านเยนหรือราว 2.75 แสนล้านบาท ข้อมูลยังระบุอีกว่าประชากรญี่ปุ่นบริโภคกาแฟกระป๋องโดยเฉลี่ยมากกว่า 100 กระป๋องต่อคนต่อปี            





        ความนิยมในกาแฟกระป๋องจนกลายเป็นเครื่องดื่มที่จำหน่ายมากเป็นอันดับต้นๆ มาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ “ความสะดวก และราคาไม่แพง” เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเวลานั่งอ้อยอิ่งจิบกาแฟตามร้านกาแฟก่อนเข้างาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานในออฟฟิศอย่างบ้าคลั่งถึงวันละ 12 ชั่วโมง อย่าว่าแต่เดินไปสั่งเอสเพรสโซ่หรือลาเต้ตามคาเฟ่ เวลาจะหายใจหายคอยังแทบไม่ทัน    
               

        นั่นจึงเป็นเหตุผลหลักที่คนญี่ปุ่นรักกาแฟกระป๋องเนื่องจากไม่เสียเวลาและสามารถเข้าถึงกาแฟกระป๋องได้ทุกที่ อาทิ ตามร้านสะดวกซื้อกว่า 50,000 ร้าน หรือตามตู้หยอดเหรียญที่กระจายตามที่ต่างๆ กว่า 5 ล้านตู้ โดยเฉพาะช่องทางหลัง มีเงินเหรียญแค่ร้อยเยนก็สามารถกดกาแฟกระป๋องตามตู้หยอดเหรียญมาดื่มได้ในเวลาไม่กี่วินาที



               

         ย้อนกลับไปช่วงปลายทศวรรษ 1960 ผู้ที่คิดค้นกาแฟกระป๋องคืออูเอะชิม่า ทาดาโอะ ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตกาแฟอูเอะชิม่า คอฟฟี่ โค หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ยูซีซี” เหตุเกิดในวันหนึ่งระหว่างรอรถไฟ อูเอะชิม่าได้ซื้อกาแฟร้อนที่ซุ้มขายเครื่องดื่มในสถานีรถไฟ หลังจากจิบได้ไม่กี่อึก รถไฟก็เทียบชานชลา ก่อนขึ้นรถไฟ เขาจึงต้องทิ้งกาแฟแก้วนั้นไปอย่างน่าเสียดาย
               

         จากเหตุการณ์ดังกล่าว อูเอะชิม่าเกิดแรงบันดาลใจที่จะผลิตกาแฟที่สามารถดื่มได้ทุกที่ ทุกเวลา หลังจากที่ลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง กาแฟกระป๋องยูซีซีรุ่นแรกก็พัฒนาสำเร็จด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้คงรสชาติ และเก็บได้นาน หลังจากนั้นจึงเริ่มวางจำหน่ายในปี 1969 ส่งผลให้ยูซีซีขึ้นแท่นแบรนด์กาแฟที่จำหน่ายกาแฟกระป๋องพร้อมดื่มต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก รวมแล้ว 52 ปี
               

         แม้ว่าร้านกาแฟแบบสเปเชียลตี้และเชนร้านกาแฟต่างประเทศจะผุดขึ้นมากมาย รวมถึงเครื่องชงกาแฟสำเร็จรูปที่วางขายเยอะขึ้น แต่กาแฟกระป๋องก็ยังยืนหนึ่งในตลาด และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลหลักมาจากราคาที่จูงใจนั่นเอง คือเริ่มต้นตั้งแต่ 100 เยนไปจนถึง 500 เยนขึ้นอยู่กับคุณภาพ



               

       ความนิยมที่ล้นหลามในสังคมยังทำให้บริษัทต่างๆ หันมาผลิตกาแฟกระป๋องป้อนตลาดเช่นกัน อาทิ บริษัทโคคา-โคล่าที่นำเสนอกาแฟ Georgie บริษัทซันโทรีที่ผลิตกาแฟ BOSS บริษัทอาซาฮีที่แนะนำกาแฟ Wonda หรือบริษัทคิรินที่ผลิตกาแฟ Fire  ที่สำคัญในแต่ละปีจะมีกาแฟกระป๋องรสใหม่เปิดตัวกว่าร้อยชนิดทั้งร้อนและเย็น ทำให้ผู้บริโภคได้ลองอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา
               

        อย่างไรก็ตาม เกิดข้อสงสัยว่ากาแฟกระป๋องได้ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมกาแฟของญี่ปุ่นหรือไม่ หลายคนอาจมองว่าทั้งกาแฟสำเร็จรูปพร้อมชงที่ซื้อติดบ้าน และกาแฟกระป๋องที่หาซื้อง่ายดายทุกพื้นที่จะเป็นสิ่งที่คุกคามธุรกิจคาเฟ่หรือร้านกาแฟในประเทศหรือไม่ คำตอบคือไม่มีผลสักเท่าไร เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคญี่ปุ่นคือโดยมากดื่มกาแฟกระป๋องในวันทำงาน แต่ในวันหยุด หรือวันพักผ่อน พวกเขาก็เลือกที่จะเดินเข้าร้านกาแฟเพื่อซื้อกับบาริสต้า กาแฟจึงเป็นทั้งเครื่องดื่มที่จำเป็นและเป็นสิ่งที่เลือกได้ขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้บริโภค



               

          อย่างไรก็ดี สืบเนื่องจากวิกฤติโรคระบาดจากไวรัสโควิด-19 และคนจำนวนมากถูกบีบให้ทำงานที่บ้าน จากกาแฟกระป๋องที่ดื่มในวันทำงานก็มีบ้างที่เปลี่ยนมาเป็นกาแฟสำเร็จรูปหรือกาแฟสดชงดื่มเองที่บ้าน ในขณะที่อนาคตของกาแฟกระป๋องจะยังมีความแน่นอน แต่ถ้าในภายภาคหน้า หากญี่ปุ่นเปลี่ยนเป็นสังคมที่ผู้คนทำงานทางไกลมากขึ้นก็มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นยอดขายกาแฟกระป๋องลดลง
               

        แต่นั่นก็เป็นเพียงความคาดการณ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ยังไม่ทราบ ที่แน่ๆ ตราบใดที่ผู้คนยังคงเดินทางสัญจรไปมา ธุรกิจต่างๆ ยังดำเนินต่อไปและพนักงานยังต้องมาทำงาน รวมถึงตู้หยอดเหรียญยังเป็นที่พึ่งที่ดีที่สุด สำหรับผู้บริโภคญี่ปุ่นแล้ว กาแฟกระป๋องคงไม่เสื่อมความนิยมง่าย ๆ

 

        ที่มา : https://theoldcoffeepot.com/japanese-canned-coffee/
         www.thrillist.com/eat/nation/japanese-canned-coffee
         https://bartalks.net/japans-obsession-with-canned-coffee/
 
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน