ธุรกิจวอลเปเปอร์ไม่ทำกำไรแล้วไง พักมาขายทุเรียน ใช้เทคนิคขึ้นราคาทุกวัน โกยยอดขายแสนกิโลต่อเดือน

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
  
               

       ผลพวงจากไวรัสโควิดที่พ่นพิษไปทั่วโลกทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบกันถ้วนทั่ว วิกฤตครั้งนี้จึงเป็นการพิสูจน์ความสามารถของผู้บริหารองค์กรว่าจะรับมืออย่างไร และสามารถฝ่าฟันอุปสรรคได้มากแค่ไหน หลายบริษัทใช้วิธีฉีกแนวจากธุรกิจเดิมแล้วไปเริ่มต้นธุรกิจใหม่ โดยมากลงเอยที่ธุรกิจอาหาร
               

        เช่นเดียวกับโคเรีย วอลเปเปอร์ บริษัทมาเลเซียที่ดำเนินธุรกิจนำเข้าวอลเปเปอร์จากเกาหลีใต้ก็ได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกันจนทำให้ทุกอย่างแทบหยุดนิ่ง แต่ด้วยความคิดริเริ่มของเอซิด ยอง ซีอีโอหญิงของบริษัท ทีมงานทั้งบริษัทก็ได้ร่วมกันพัฒนา “ดูแรน ดูแรน” แพลตฟอร์มจำหน่ายทุเรียนพรีเมียมออนไลน์ที่แม้จะเปิดตัวระยะสั้นๆ แต่ก็ทำยอดขายทุเรียนได้มากถึง 100,000 กิโลกรัมในเวลาเพียงเดือนเดียว



               

        เอซิดเล่าว่าเธอเคยเป็นครูโรงเรียนมัธยมมาก่อนแต่ก็ตัดสินใจลาออก ทิ้งสวัสดิการในการเป็นข้าราชการเพื่อมาทำงานเอกชนที่โคเรีย วอลเปเปอร์ โดยที่ต้องมาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แม้กระทั่งการเขียนอีเมลธุรกิจอย่างเป็นทางการ โชคดีที่ได้เพื่อนร่วมงานดีคอยช่วยสอน ทำให้เธอเริ่มคุ้นชินกับธุรกิจจำหน่ายวอลเปเปอร์ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ 
               

         ใช้เวลาเพียง 2 ปี เอซิดไต่เต้าจากพนักงานทั่วไปสู่การเป็นหัวหน้างาน และท้ายที่สุดก็ได้นั่งเก้าอี้ซีอีโอในปี 2018 และดูแลการตลาดที่โคเรีย วอลเปเปอร์ครองส่วนแบ่งในตลาดมาเลเซียอยู่ 35 เปอร์เซ็นต์ ธุรกิจดำเนินไปด้วยดี กระทั่งมาสะดุดเพราะการระบาดของโควิด เพราะทุกครั้งที่รัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์ นั่นหมายถึงบริษัทก็ต้องหยุดเนินการไปด้วยเนื่องจากไม่ใช่ธุรกิจที่มีความจำเป็น
               

         ก่อนหน้าที่จะมีการล็อคดาวน์ในเดือนมิถุนายน เอซิดเคยคุยกับเพื่อนว่าฝันอยากมีคาเฟ่เล็กๆ สักร้านไว้เสิร์ฟกาแฟและขนมหวานที่ทำจากทุเรียน จากไอเดียคาเฟ่กลายเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับทุเรียนเนื่องจากกำลังเป็นหน้าทุเรียน และมีผลผลิตออกสู่ตลาดเหลือเฟือ กอปรกับกลุ่มคนรู้จักหลายคนเป็นเจ้าของสวนทุเรียนเก่าแก่ในหลายรัฐ ทั้งยะโฮร์ มะละกา ปะหัง และ เนกรีเซมบีลัน เอซิดจึงเกิดความคิดจะขยายธุรกิจของบริษัทด้วยการจำหน่ายทุเรียน และจะเกณฑ์พนักงานในบริษัทให้มีส่วนร่วมด้วย



               

          ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ทุเรียนมาเลเซียโดยเฉพาะพันธุ์มูซังคิงซึ่งมีราคาแพงเป็นสินค้าที่ส่วนใหญ่ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ เช่น จีนและสิงคโปร์ ปัจจุบัน เอซิดสังเกตว่าเจ้าของสวนจำนวนมากนำทุเรียนมาขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น ลาซาด้า ช้อปปี้ แกร็บ และฟู้ดแพนด้า และมีน้อยรายที่จำหน่ายทุเรียนแบบมีแบรนด์ของตัวเอง
               

        ด้วยมั่นใจในคุณภาพของทุเรียนจากสวนที่รู้จักซึ่งอายุเก่าแก่เกิน 30 ปี เอซิดมั่นใจว่าแผนธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายทุเรียนจะสามารถแข่งกับเจ้าอื่นได้ เธอจึงเรียกประชุมพนักงานเพื่อแจ้งให้ทราบและกระจายหน้าที่กันทำ เริ่มจากการพัฒนาแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซใช้ชื่อว่า Dooran Dooran จากนั้นก็ออกแบบโลโก้ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ เตรียมสถานที่เพื่อเป็นศูนย์พักและกระจายสินค้า วางแผนด้านซัพพลายเชนให้ครอบคลุมที่สุด
               

        ใช้เวลาเพียง 21 วัน Dooran Dooran ในฐานะแหล่งรวมทุเรียนเกรดพรีเมียมทุกสายพันธุ์ของมาเลเซียก็พร้อมเปิดบริการเมื่อ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา สินค้าที่จำหน่ายเป็นทุเรียนสดพร้อมรับประทานบรรจุในกล่องกระดาษสีน้ำตาลทรงกลม ผูกเชือกและมีป้ายห้อยบอกที่มาของทุเรียนว่าเป็นของสวนไหนเพื่อสร้างความแตกต่างจากเจ้าอื่นที่แพ็คในกล่องพลาสติกใส หรือบรรจุในถาดโฟมแล้วคลุมด้วยพลาสติกห่ออาหาร



               

         ทุเรียนที่คัดมาเน้นพันธุ์ยอดนิยม เช่น มูซังคิง และดี 24 หรือหนามดำ และดี 101 ทั้งหมดเป็นทุเรียนออร์แกนิกปลอดสารที่สุกโดยธรรมชาติไม่ผ่านการบ่ม เมื่อทุเรียนสุกงอมร่วงจากต้นและถูกส่งมาที่ศูนย์กระจายสินค้าซึ่งมี 2 แห่งพนักงานในสังกัดราว 70 ชีวิตจะช่วยกันแกะและแพ็คส่งลูกค้าภายใน 12 ชั่วโมง
               

       โดย  1 กล่องจะบรรจุทุเรียนพร้อมทานน้ำหนัก 850-900 กรัมโดยแกะจากทุเรียนน้ำหนักประมาณ 4 กก. สนนราคาขึ้นอยู่กับพันธุ์ทุเรียน อย่างมูซังคิงที่เป็นทุเรียนพันธุ์ดีสุด Dooran Dooran จำหน่าย 200 ริงกิตหรือราว 1,550 บาทต่อ 2 กล่อง เอซิดยอมรับว่าทุเรียนภายใต้แบรนด์ที่เธอสร้างขึ้นราคาค่อนข้างสูง แต่เธอกล่าวว่าสินค้าของเธอไม่ได้เป็นแค่ทุเรียนแต่เป็นของขวัญของฝากที่นำไปเป็นของกำนัลได้ไม่สร้างความผิดหวัง 



               

        หลังเปิดตัวได้เดือนเดียว Dooran Dooran ก็ทำกำไรจากยอดขายทุเรียนถึง 100,000 กิโลกรัม และสั่งสมฐานลูกค้าได้มากถึง 15,000 คน อีกกลยุทธ์หนึ่งที่เอซิดนำใช้คือการกำหนดราคา ทุเรียนที่จำหน่ายทางแพลตฟอร์ม Dooran Dooran จะขึ้นราคาวันละ 1 ริงกิต เป็นการกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อเดี๋ยวนั้น เพราะหากรอวันรุ่งขึ้น ก็ต้องจ่ายแพงขึ้น 1 ริงกิต นอกจากนั้น การกำหนดราคาของทุเรียนยังขึ้นอยู่กับปริมาณทุเรียนที่ได้มาอีกด้วย หากมีน้อย ราคาก็จะสูง แต่ถ้ามีมาก ราคาก็จะลดลง
               

        อย่างไรก็ตาม แม้จะประสบความสำเร็จในการจำหน่ายทุเรียนสด แต่ทุเรียนเป็นผลไม้ตามฤดูกาลที่มีระยะเวลาประมาณ 3 เดือนเท่านั้น เข้าเดือนกันยายนทุเรียนก็เริ่มวายแล้ว เอซิดจึงวางแผนจะใช้ประโยชน์จากเนื้อทุเรียนแช่แข็งที่มีตลอดปีมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขนมหวาน ส่วนเป้าหมายระยะยาวของ Dooran Dooran คือการเปิดคาเฟ่ และการขอใบรับรองเพื่อส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีน ส่วนงานจำหน่ายวอลเปเปอร์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักก็ยังไม่ได้ละทิ้ง แต่จะกลับไปสานต่อเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย
 
 
           ที่มา : www.theedgemarkets.com/article/startup-durian-demand
           https://vulcanpost.com/754200/doorandooran-malaysia-musang-king-d24-durian-delivery-service
 
 
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน