ทำธุรกิจเกษตรยังไงให้ได้ 100 ล้าน คุยกับ 2 หนุ่มรุ่นใหม่ที่เริ่มจากความไม่รู้

 

 

     แม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่อาชีพที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม กลับถูกมองเป็นอาชีพไกลตัวคนรุ่นใหม่ ด้วยบริบทและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปมีอาชีพใหม่ๆ ให้เลือกทำหลากหลายมากขึ้น แต่สำหรับ 2 ผู้ประกอบการ SME รุ่นใหม่ในวัยเพียง 30 กว่าๆ แห่ง บริษัท เอส.พี.เอส. ฟรุ๊ตส์ จำกัด และบริษัท ไทย เบสท์ โปรดักส์ โฮลดิ้ง จำกัด ที่ทั้งคู่เริ่มต้นธุรกิจด้านเกษตรกรรมโดยไม่มีพื้นฐาน แต่สามารถสร้างยอดขายได้ปีละกว่า 100 ล้านบาท

ความสำเร็จที่เริ่มจากศูนย์

     ถ้าย้อนไปในวัยเด็กถามว่าอาชีพเกษตรคือ ความไฝ่ฝันของ สมพงศ์ แสงสุรวงศ์ หรือไม่ คำตอบที่ได้คงไม่ใช่ เพราะเขาเลือกเรียนด้านการโรงแรม พอเรียนก็เริ่มทำธุรกิจร้านกาแฟของตนเอง ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี แต่ทำได้เพียงแค่ปีเดียวก็ต้องเลิกกิจการ เพราะเจ้าของที่ต้องการพื้นที่ร้านคืน ทำให้เขาต้องมองหาอาชีพอื่น จึงมองหาอาชีพอื่นๆ หลังที่ลองศึกษาก็พบว่าสินค้าเกษตรเป็นสินค้ามีโอกาสการเติบโตสูงและมีตลาดค่อนข้างกว้าง โดยเฉพาะกล้วยซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจ

     จากนั้นเขาร่วมทุนกับเพื่อนเปิด บริษัท เอส. พี. เอส. ฟรุ๊ตส์ จำกัด รับซื้อกล้วยหอมจากเกษตรกร นำไปจำหน่ายให้กับห้างโมเดิร์นเทรด เมื่อสร้างยอดขายได้อย่างน่าพอใจ จึงมองหาที่ดินย่าน จ.ปทุมธานีเพื่อปลูกกล้วยจำหน่ายเอง เริ่มต้นทำแค่เพียง 10 ไร่ หลังจากนั้นประมาณ 3-4 ปี ก็เริ่มติดต่อนำสินค้าเข้าจัดจำหน่ายในเซเว่น อีเลฟเว่น ขายแบบกล้วยหอมแพ็กเดี่ยว วันละ 200-300 ลูก ปัจจุบันบริษัทมียอดจัดจำหน่ายใน เซเว่น อีเลฟเว่น เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5,000-6,000 ลูกต่อวัน โดยเคยทำยอดขายได้สูงสุดถึงวันละ 10,000-20,000 ลูกต่อวัน

     สมพงศ์ บอกว่าความยากของการทำสินค้าเกษตรที่มีการแข่งขันมากแล้วแล้วสินค้าเกษตรยังมีอัตราเสี่ยงจากการเน่าเสียค่อนข้างสูง ดังนั้น สิ่งที่เขาทำคือ การพัฒนาสินค้าให้คงคุณภาพเหมือนเพิ่งออกจากสวน ต้องควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นทาง นอกจากนี้เขายังสร้างจุดเด่นให้กับสินค้าคือ ไม่ใช้สารเคมีฆ่าแมลง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

     “พอเราเริ่มต้นจากศูนย์ เราจึงต้องศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างมาก ตลอดจนขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ดีที่ถูกต้อง”

     ปัจจุบัน ผลผลิตของสมพงศ์มาจาก 2 ทางคือ 1.จากสวนที่ จ.ปทุมธานี ซึ่งขยายจาก 10 ไร่มาเป็น 100 ไร่ในปัจจุบัน และ 2.จากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ จ.ปทุมธานีและจังหวัดใกล้เคียงอีกประมาณ 100 ไร่ ทำให้เขามีสินค้าเพียงพอต่อการจัดจำหน่ายทั้งในห้างโมเดิร์นเทรดและเซเว่น อีเลฟเว่น สร้างรายได้รวมประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี นอกจากรายได้ดีแล้วยังสามารถพิชิตรางวัลเซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอียั่งยืน 2021 ประเภท SME สินค้าเกษตร มาการันตีความสำเร็จได้อีกด้วย

ผู้ตามหาความฝัน

     หลังชิมลางเป็นพนักงานเงินเดือนได้เพียง 3 ปี กิตติศักดิ์ พิพัฒน์คณาพร เด็กหนุ่มในวัย 26 ปี ณ ตอนนั้น ก็เริ่มออกตามหาความฝันของตัวเอง ด้วยความมุ่งมั่นพร้อมเพื่อนสนิทกับการเป็นเจ้าของธุรกิจอะไรสักอย่าง จึงเริ่มศึกษาเทรนด์ความต้องการของตลาดอย่างจริงจังจนมาพบว่า สินค้าเกษตรในตลาดสุขภาพมีอัตราการเติบโตที่ดี และ “มะพร้าว” ก็เป็นสินค้าที่ตอบโจทย์คนรักสุขภาพได้ดีโดยเฉพาะในตลาดจีน

    ไม่ทิ้งความฝันให้นานไปในที่สุดเขาก็เปิดบริษัท เบสท์ โปรดักส์ โฮลดิ้ง และเริ่มส่งออกมะพร้าวไปที่ตลาดจีน แต่ในช่วงหลังจีนเข้ามาทำตลาดเอง ทำให้เขาต้องขยายตลาดไปยังประเทศอื่นมากขึ้นรวม 10 ประเทศ อาทิ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย โซนตะวันออกกลาง หรือแม้แต่การเข้าไปจำหนายในเซเว่น อีเลฟเว่น เนื่องจากมีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศไทย และเพิ่มสินค้าอื่นๆ เช่น เงาะ มังคุด ลำไย เป็นต้น

     นอกจากเรื่องการหาตลาดแล้ว กิตติศักดิ์ ย้ำว่าในการทำธุรกิจของเขานั้นเน้นที่ดูแลเครือข่ายเกษตรกรของเขาให้ดี แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกันก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อนำไปพัฒนาผลผลิตให้มีประสิทธิภาพและควบคุมคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐาน เพื่อให้ได้ของที่ดีมีคุณภาพพร้อมส่งต่อให้ผู้บริโภค

     “ปี 2564 เราคาดว่าจะมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มียอดขาย 150 ล้านบาท ในอนาคตเรามีแผนที่จะนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมทั้งในส่วนกระบวนการผลิตและตัวสินค้า พร้อมเตรียมจัดทำมาตรฐาน Global GAP เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานสากล พร้อมขยายตลาดไปสู่ทวีปยุโรป” กิตติศักดิ์ กล่าว

เมื่อไม่กลัวที่จะเรียนรู้ก็ไม่ยากเกินที่จะประสบความสำเร็จเช่นสองหนุ่มหัวใจเกษตรกรรุ่นใหม่

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน