เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ส่องเทรนด์การเพิ่มกลุ่มลูกค้าใหม่ ของร้านอาหารเมื่อเนื้อหมูแพง

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

     ปรากฏการณ์เนื้อหมูแพงที่กำลังเป็นปัญหาเนื่องจากมีการฆ่าสุกรตัวเมีย และสุกรในฟาร์มเพื่อป้องกันการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) หรือ เอเอสเอฟ ปัญหาคล้ายกันนี้ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามก็เคยเผชิญเมื่อปีที่แล้ว แต่เวียดนามหาทางออกด้วยการนำเข้าเนื้อหมูจากประเทศไทย

     ส่วนที่สหรัฐฯ เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วได้เกิดขาดแคลนอาหารประเภทเนื้อสัตว์ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว หมู หรือสัตว์ปีกเหตุจากโรงงานแปรรูปอาหารปิดตัวชั่วคราวหลังเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหมู่พนักงาน เดชะบุญที่ไม่ส่งผลกระทบมากนักเนื่องจากความต้องการในตลาดลดน้อยลงเพราะร้านอาหารและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอาหารปิดบริการช่วงล็อคดาวน์ แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ทุกอย่างก็กลับคืนสู่ภาวะปกติ

     กลับมาที่ไทย ภาวะเนื้อหมูแพงได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อบรรดาร้านอาหารเนื่องจากทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ร้านอาหารใช้หมูเป็นวัตถุดิบต่างขึ้นราคากันเป็นแถว บางร้านที่แบกรับต้นทุนไม่ไหวจริง ๆ เช่น ร้านข้าวเหนียวหมูปิ้ง ร้านก๋วยเตี๋ยวหมู ร้านข้าวหมูแดงหมูกรอบ ก็จำยอมต้องเลิกขาย หรือปรับตัวเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบอื่นเช่น เนื้อไก่แทน อย่าง ผัดกะเพราซึ่งเป็นเมนูสามัญประจำชาติ หลายร้านตัดหมูออกเหลือแค่กะเพราไก่ก็มี หรือร้านอาหารที่เคยชูจุดขายเน้นเมนูหมูย่างก็เปลี่ยนมาขายไก่ย่างแทน เป็นต้น

     วันนี้เลยจะมาชวนคุยเรื่องเทรนด์ที่อาจทำให้ผู้ประกอบการสร้างโอกาสในวิกฤติก็เป็นได้ เทรนด์ที่ว่ามาจากต่างประเทศแต่ก็เริ่มเห็นบ้างในไทยระยะหนึ่งแล้ว เป็นกระแสเกี่ยวเนื่องกับการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่เรียกว่า plant-based food ยิ่งเกิดการระบาดของโควิด-19 ที่กระจายทั่วโลก ผู้คนก็เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคหันมาทานอาหารจากพืชมากขึ้น ยิ่งทำให้ตลาดอาหารประเภทนี้ขยายตัวกว่าเดิม

     เมื่อบวกกับอีกเทรนด์คือ Climatarian หรือกลุ่มผู้บริโภคที่งดบริโภคเนื้อสัตว์ใหญ่ที่มาจากการเลี้ยงในระบบปศุสัตว์ มองว่าภาคปศุสัตว์ถือเป็นภาคเกษตรกรรมที่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าภาคการผลิตอื่น ๆ ยิ่งเป็นการส่งเสริมตลาดไปอีก ชาว Climatarian เห็นว่าก๊าซมีเทนที่ปล่อยออกมาภาคปศุสัตว์นั้นส่งผลต่อภาวะโลกร้อน พวกเขาจึงหลีกเลี่ยงการบริโภคสัตว์ใหญ่ และทดแทนด้วยอาหารประเภทอื่นแทน โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่สร้างผลกระทบต่อโลกน้อยที่สุดในกระบวนการผลิต และหนึ่งในอาหารที่พวกเขาเลือกบริโภคคืออาหารจากพืชนั่นเอง

     นั่นเป็นเหตุผลที่บรรดาบริษัทสตาร์ทอัพพากันพัฒนาอาหารจากพืชที่ทดแทนหรือเลียนแบบเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัวและเนื้อหมูเพื่อสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มรักสุขภาพ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ขยายจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้อาหารจากพืชได้รับความนิยมจนสามารถวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตและแทรกซึมไปตามเชนร้านอาหารต่าง ๆ ยกตัวอย่างอิมพอสสิเบิล ฟู้ดส์ บริษัทอเมริกันที่ประสบความสำเร็จจากการพัฒนาไส้เบอร์เกอร์ และไส้กรอกจากเนื้อเทียมที่ทำด้วยถั่วเหลืองและธัญพืช

     ล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว อิมพอสสิเบิล ฟู้ดส์ได้จัดส่ง Impossible Pork เนื้อหมูเทียมให้กับบรรดาร้านอาหารในสิงคโปร์ ผู้จัดการอิมพอสสิเบิล ฟู้ดส์ประจำสิงคโปร์กล่าวว่าเนื้อหมูเป็นเนื้อที่บริโภคมากเป็นอันดับสองในสิงคโปร์ และด้วยความที่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีความใกล้เคียงกับเนื้อหมูแท้จึงได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค กระทั่งร้านอาหารจีนชื่อดังในสิงคโปร์ หรือร้านทิม โฮ วานซึ่งเป็นเชนร้านติ่มซำดังจากฮ่องกงก็รังสรรค์เมนูติ่มซำจากเนื้อหมูเทียมของอิมพอสสิเบิล ฟู้ดส์   

     ขณะเดียวกัน เชนร้านฟาสต์ฟู้ดระดับโลกอย่างเคเอฟซีก็อ้าแขนรับเทรนด์ plant-based food เช่นกัน เมื่อเร็ว ๆ นี้เคเอฟซีก็จับมือกับบียอนด์ มีท สตาร์ทอัพที่โด่งดังจากการพัฒนาอาหารจากพืชได้แนะนำไก่ทอดที่ไม่ได้ทำจากเนื้อไก่ โดยบียอนด์ มีทใช้เวลาหลายปีในการพัฒนาเนื้อไก่เทียมที่เนื้อสัมผัสและรสชาติใกล้เคียงเนื้อไก่ที่สุด และได้ทดลองจำหน่ายครั้งแรกที่ร้านเคเอฟซีในเมืองแอตแลนต้า ปรากฏได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคดีมาก โดยจำหน่ายหมดใน  5 ชั่วโมง หลังจากนั้นมีการทดสอบในอีกหลายรัฐเป็นเวลา 2 ปีก่อนบรรจุเป็นเมนูตามสาขาต่าง ๆ

     plant-based food ซึ่งจัดอยู่ในหมวดหมู่อาหารเพื่อสุขภาพไม่ใช่กระแสที่มาเร็วไปไวแน่นอน นับวันจำนวนผู้ที่หันมาทานอาหารประเภทนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้น บรรดาร้านอาหารทั้งหลายจึงไม่ควรมองข้าม และควรเพิ่มเมนูไร้เนื้อสัตว์ หรืออาหารจากพืชเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าอีกกลุ่ม ที่สำคัญ ควรเริ่มตั้งแต่ต้นปีเพราะร้านอาหารหลายแห่ง หรือกระทั่งเคเอฟซีก็แนะนำเมนู plant-based food ในเดือนมกราคม ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นเดือนที่ผู้คนมักตั้งปณิธานปีใหม่ กำหนดเป้าหมายในการปรับปรุงตัวเอง และหนึ่งในปณิธานยอดนิยมคือการดูแลสุขภาพด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อร่างกาย หลายคนถึงกับลดละการบริโภคเนื้อสัตว์และหันมาบริโภคอาหารจากพืชมากขึ้น

 

ข้อมูล

www.restaurantbusinessonline.com/food/how-retail-meat-shortage-will-play-out-foodservice

https://vulcanpost.com/769686/impossible-pork-120-singapore-restaurants-debut/

https://totalfood.com/plant-based-food-trends-their-impact-on-restaurants-and-retailers/

www.cnbc.com/2022/01/04/kfc-to-launch-meatless-fried-chicken-made-with-beyond-meat-nationwide.html?&qsearchterm=KFC

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน