ช่างทำบายศรีหนีความจน สู่เจ้าของกระเป๋า Tanee Siam มีคนขอซื้อแบรนด์กว่า 15 ล้านบาท

TEXT : นิตยา สุเรียมมา

PHOTO : Tanee Siam

 

     Tanee Siam แบรนด์กระเป๋าหนังจากกาบกล้วยที่ต่อยอดนวัตกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่กระเป๋าแฟชั่นสุดชิคสายรักษ์โลกที่เกิดขึ้นจากศรัทธาและความมุ่งมั่นของ ธนกร สดใส หรือ กอล์ฟ ช่างทำบายศรีสู่ขวัญจากจังหวัดราชบุรี ที่ครั้งหนึ่งเขาเองก็เคยคิดอยากหลีกหนีจากรากเหง้าของตัวเอง

     กอล์ฟเกิดและเติบโตมาในครอบครัวช่างทำบายศรีฯ แต่มักถูกเพื่อนล้อเสมอว่าทำงานของผู้หญิง ไม่สมกับเป็นผู้ชาย กอปรกับยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปความนิยมการใช้บายศรีก็กลับลดลงไม่เป็นที่ต้องการเหมือนเก่า รายได้น้อยลง แต่การแข่งขันตัดราคากลับเพิ่มขึ้น เพื่อความอยู่รอด จึงทำให้เขาคิดอยากหลีกหนีจากชีวิตที่เป็นอยู่

สู้ด้วยลำแข้งตัวเอง

     ด้วยฐานะครอบครัวในตอนนั้นไม่สู้ดีนัก กอล์ฟพยายามสร้างทางเดินให้กับตัวเอง หลังเรียนจบมัธยมต้นเขาสอบชิงทุนเรียนต่อประกาศณียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ได้ที่วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม แผนกเคมีสิ่งทอ จากนั้นก็พยายามหาเงินเรียนด้วยตัวเองมาตลอด หลังเรียนจบกอล์ฟมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาต่อปริญญาตรีด้านเคมีสิ่งทอที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ย่านนางเลิ้ง พร้อมกับหางานพาร์ตไทม์ทำไปด้วย เรียกว่าที่ไหนรับสมัครอะไรเขาทำหมด ตั้งแต่พนักงานประจำโรงภาพยนตร์, ร้านเคเอฟซี, เซเว่น หรือทำงานกับศิลปินนักแสดงละครเวทีชื่อดังอย่าง “มานพ มีจำรัส” มาแล้วก็เคย แต่สุดท้ายแล้วเขาก็เรียนได้แค่ชั้นปีที่ 2 เท่านั้น เพราะความเหนื่อยเกินไปที่ต้องเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย

      โดยก่อนจะกลับไปตั้งต้นใหม่ที่บ้านเกิดเขาเคยเป็นหัวหน้าเซลล์ขายนมกระป๋อง กาแฟสำเร็จรูปให้กับสินค้าแบรนด์หนึ่ง ทำรายได้เดือนละหลายสิบล้านบาท แต่สุดท้ายแล้วชีวิตก็ยังไม่พบความสุขที่ต้องการและยังคงเหนื่อยกับชีวิตเหมือนเก่าในปี 2554 ที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ศูนย์กระจายสินค้าต้องปิดลงชั่วคราวทุกอย่างต้องหยุดชะงัก กอล์ฟเลือกที่จะขับรถฝ่าน้ำท่วมกลับบ้านที่ราชบุรี เพื่อกลับไปพักกายพักใจพร้อมกำเงินสามหมื่นบาทที่เหลืออยู่ติดตัวไปด้วย

     แต่แล้วก็กลับพบว่าการกลับมาอยู่บ้านเฉยๆ ในวัยของคนหนุ่มที่ยังมีเรี่ยวแรงดีไม่ใช่สิ่งที่ใครจะเข้าใจได้ง่าย ทำให้เขาเลือกหันหน้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหางานทำอีกครั้ง เมื่อมาเปิดร้านดอกไม้กับเพื่อนก็ถูกโกง ขณะที่กำลังหมดหวังไม่รู้จะไปต่อทางไหนดีเขาไปนั่งเหม่ออยู่หน้าร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง แต่กลับโชคร้ายเคราะห์ซ้ำกรรมซัดโดนรุมกระทึบจากกลุ่มบุคคลไม่รู้จักเพียงเพราะเข้าใจผิดว่าไปมองผู้หญิงของอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้กอล์ฟต้องกลับไปพักกายพักใจที่บ้านเกิดจังหวัดราชบุรีอีกรอบ เมื่อเห็นสภาพลูกชายที่หน้าตาปูดฟกช้ำมีหรือคนเป็นพ่อเป็นแม่จะทนได้ ทั้งสามโอบกอดกันร้องไห้โฮ วินาทีนั้นทำให้กอล์ฟรู้ว่าไม่มีที่ไหนจะอบอุ่นเท่ากับครอบครัวแล้ว คราวนี้เขาจึงตั้งใจลองหาวิธีเพื่ออยู่กับของขวัญล้ำค่าที่บรรพบุรุษมอบให้มาให้ได้

ไม่มีเงิน แต่มีเพื่อน

     กอล์ฟหันมาจริงจังกับการหาวิธีต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ เขามองเห็นสวนกล้วยตานีหลังบ้านที่มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งในความเชื่อหลายคนอาจมองว่าเป็นกล้วยผี เพราะตานีเป็นกล้วยป่าที่หากนำไปปลูกรวมกับกล้วยสายพันธุ์อื่นๆ แล้วจะทำให้กลายพันธุ์ มีเม็ดใหญ่และแข็ง ไม่สามารถกินได้ แต่ในทางงานประดิษฐ์และหัตถกรรมไทยต่างๆ แล้ว ตานีนับเป็นราชินีแห่งกล้วยที่มีความแข็งแรง ทนทาน เหนียว เงางาม และลวดลายกาบกล้วยที่สวยงาม

     เขาจึงเริ่มคิดว่าหากไม่เอามาทำบายศรีแล้ว ต้นกล้วยที่มีอยู่นั้นจะสามารถนำไปทำอะไรได้อีกบ้าง กระทั่งมีโอกาสไปเดินงานแสดงสินค้าโอทอปได้เห็นงานจักสานจากผักตบชวาของคุณยายท่านหนึ่งเข้า ก็ทำให้เริ่มคิดว่าถ้าเขาลองดัดแปลงนำเชือกกล้วยมาทำงานจักสานได้บ้างก็น่าจะดี เมื่อกลับมาถึงบ้านกอล์ฟจัดการโค่นต้นกล้วยมาทดลองทำทันที พร้อมรวบรวมช่างฝีมือในชุมชนให้มาลองหัดทำ จนในที่สุดก็สร้างชิ้นงานออกมาได้ ครอบครัวและชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่สุดท้ายก็ยังไม่ใช่วิธีการที่ดีนักที่จะสร้างความยั่งยืนได้ เนื่องจากแต่ละใบต้องใช้เวลาทำค่อนข้างนาน ทำให้พัฒนาต่อยอดไปได้ยาก กอล์ฟจึงคิดหาวิธีใหม่ที่ทำได้ง่ายกว่า เร็วกว่า และสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่า

     จนนึกไปถึงการนำกาบกล้วยมาผลิตเป็นแผ่นหนังเพื่อประกอบขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ กอล์ฟเริ่มด้วยวิธีง่ายๆ แบบบ้านๆ โดยเอากาบกล้วยไปทดลองตากแดด เขาเคยคิดอยากทำงานวิจัย แต่ก็พบว่าต้องใช้เงินทุนกว่า 1.5 – 2 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนเขาไม่มี กอล์ฟจึงหันมาใช้วิธีให้เพื่อนๆ ที่เป็นพรรคพวกเคยเรียนมาด้วยกันช่วย โดยอาศัยใช้ห้องแลปและโรงงานผลิตที่เพื่อนทำงานอยู่ช่วยทดลองให้ ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี เขาเข้าออกโรงงานเป็นว่าเล่นหลายสิบรอบ จนสุดท้ายก็สำเร็จได้เป็นหนังจากกาบกล้วยที่สมบูรณ์ออกมา

กำเนิดกระเป๋าจากต้นกล้วย

     จากจุดนี้ทำให้กอล์ฟมองเห็นลู่ทางธุรกิจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อประสบความสำเร็จสร้างวัตถุดิบชั้นดีได้แล้ว สิ่งต่อมา คือ การสร้างแบรนด์เพื่อนำเสนอตัวตนให้เป็นที่รู้จักในท้องตลาดมากขึ้น จนเป็นที่มาของการสร้างแบรนด์ “Tanee Siam” (ตานีสยาม) โดยกอล์ฟมองว่าผลิตภัณฑ์แรกที่จะทำให้งานของเขาโดดเด่น สามารถเข้าถึงผู้บริโภคและจับต้องได้ง่าย ก็คือ กระเป๋า

     ซึ่งจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ก็ไม่ได้มีเพียงแค่วัตถุดิบแสนวิเศษหนังจากกาบกล้วยเท่านั้น แต่เขายังสอดแทรกอัตลักษณ์ความเป็นไทยจากภูมิปัญญาช่างทำบายศรีใส่ลงไปด้วย คือ การนำเทคนิคพับ จับ จีบ จากงานใบตองใส่ลงไปด้วย แถมเขายังแฝงแง่คิดเล็กๆ ถึงชื่อแบรนด์ไว้ให้ฟังด้วยว่า ตานี หากถอดสระทุกตัวออกหมดแล้ว จะได้คำว่า “ตน” ซึ่งก็คือตัวตนรากเหง้าทางวัฒนธรรมการเป็นช่างทำบายศรีสู่ขวัญนั่นเอง โดยต้นกล้วยตานี 1 ต้น สามารถนำกาบกล้วยมาทำกระเป๋าใบใหญ่ได้ 1 ใบ แต่ละใบลวดลายจะไม่ซ้ำกันเลย โดยเคยทำราคาได้สูงสุดตั้งแต่ 2 – 3 พันบาท ไปจนถึง 4 – 5 หมื่นบาทเลยก็มี แต่หากรวมการสร้างมูลค่าทั้งต้น ตั้งแต่ใบนำมาทำงานประดิษฐ์ เชือกกล้วยนำไปทำงานจักสาน ยางกล้วยนำไปทำสีเพนต์ สีย้อม รวมๆ แล้วต่อต้นสามารถสร้างรายได้สูงสุดกว่า 1 แสนบาทเลยทีเดียว

     โดยก่อนหน้าที่จะสร้างแบรนด์และทำเป็นผลิตภัณฑ์ออกมาเขาเองก็เจ็บมาเยอะ เคยมีคนมาขอเป็นหุ้นส่วน แต่สุดท้ายเจอวิกฤตโควิดจะถอนทุนคืนโดยไม่บอก แถมห้ามไม่ให้เขาใช้ชื่อแบรนด์ที่ตั้งมากลับมือจนทำให้มีเหตุต้องฟ้องร้องกัน หรือก่อนหน้าเกิดวิกฤตโควิดก็เคยเนื้อหอมถึงขั้นมีนักธุรกิจชาวต่างชาติยื่นเงิน 13 – 15 ล้านบาท เพื่อขอซื้อแบรนด์ โดยมีข้อตกลงว่าเขาและชุมชนต้องเป็นเพียงแค่ฐานการผลิต แต่ไม่สามารถออกชื่อหรือออกหน้าแสดงความเป็นเจ้าของได้ แต่เขาก็ไม่รับ เพราะมองว่าการจะทำให้เกิดความยั่งยืนได้ต้องทำตัวเองให้แข็งแรงก่อน วางรากฐานให้แข็งแรงก่อนจนสุดท้ายได้ก่อตั้งเป็นบ้านช่างสกุลบายศรี ตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ขึ้นมา

     “ตอนนั้นถ้าตัดสินใจขายไป สิ่งที่อุตส่าห์ทำมาทั้งหมดก็อาจสูญเปล่า เพราะที่เราทำถือเป็นนวัตกรรมใหม่ ถ้าเราตัดสินใจขายไปก่อน โดยที่คนยังไม่รู้จักว่าเรา คือ ใคร ทำอะไร หรือเราเป็นเจ้าของ วันหนึ่งข้างหน้าเราก็เป็นได้แค่ผู้ผลิตที่อยู่เบื้องหลังไม่มีใครรู้จัก”

     จากประสบการณ์เรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมาทำให้กอล์ฟมองว่าการจะสร้างแบรนด์ให้เข้มแข็งขึ้นมาได้นั้นเขาต้องแข็งแกร่งขึ้นมาให้ได้ด้วยลำแข้งของตัวเองก่อน เขาจึงเลือกวางรากฐานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ โดยเริ่มจากส่งเสริมงานให้กับคนในชุมชนด้วยการส่งเสริมให้มีการปลูกกล้วยเพื่อเป็นวัตถุดิบ จากเดิมที่มีชาวบ้านปลูกประจำ 30 ครัวเรือน ปัจจุบันส่งเสริมเพิ่มอีก 50 ครัวเรือน สามารถปลูกในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า เพื่อเป็นรายได้เสริมได้ โดยรับซื้อราคาต้นละ 50 บาท ในส่วนของกลางน้ำ คือ งานที่ศูนย์เขาจ้างพนักงานประจำอยู่ราว 18 คน ทำหน้าที่ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นรูปแบบต่างๆ ในส่วนของปลายน้ำ ก็สร้างช่องทางการจำหน่ายด้วยตนเอง คือ ช่องทางออนไลน์ และฝากหน้าร้านในห้างสรรพสินค้าในเครือสยามพิวรรธน์ อาทิ ไอคอนสยาม, สยามพารากอน

เพราะชีวิตถูกขับเคลื่อนด้วยคำว่า จน

     กอล์ฟเล่าว่าที่ชีวิตเขาดำเนินมาจนถึงวันนี้ได้ ถูกขับเคลื่อนมาจากคำคำเดียวนั้นคือ “ความจน” ที่เป็นแรงผลักดันให้เขาพบทางสว่างในทุกวันนี้ได้

     โดยนอกจากเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นแล้ว ตานีสยามยังได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ อีกมากมาย อาทิ รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ OTTOP KBO CONTEST 2019 จากกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้เป็นของขวัญต้อนรับผู้นำจากต่างประเทศในงานการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35 สื่อมวลชน และแขกที่มาร่วมงานกว่า 2,500 คน

     และนี่คือ เรื่องราวทั้งหมดของช่างบายสีสู่ขวัญยอดนักสู้ ชายผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยอยากละทิ้งรากเหง้าของตัวเอง แต่สุดท้ายทุกอย่างก็เหมือนโชคชะตาขีดไว้ให้เขาต้องกลับมาสืบสานต่อ ต่างกันที่วันนี้เขากลับมาด้วยความเต็มใจอย่างที่สุด

     “บางทีชีวิตก็เหมือนมีโชคชะตากำหนดไว้ พยายามหนีเท่าไหร่ แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมารับช่วงต่อ เพียงแต่มันสามารถปรับจูนให้อยู่ในแนวทางของเราได้ ผมไม่เสียดายชีวิตนะ ถ้าต้องตายวันนี้ เพราะรู้สึกคุ้มค่ากับทุกสิ่งที่ได้ทำมาแล้ว ได้ตอบแทนคุณแผ่นดิน ได้สร้างอาชีพให้กับชุมชน ได้สร้างแนวทางสานต่อภูมิปัญญาไทยไว้ให้กับลูกหลาน ซึ่งสิ่งที่ผมภูมิใจที่สุดในวันนี้ ไม่ใช่รายได้ หรือตัวเงินที่เข้ามา แต่คือการทำให้ทุกคนได้หันมาใส่ใจวัฒนธรรมไทยมากขึ้น ได้รู้จักกับงานหัตถกรรมจากต้นกล้วย ผมว่านี่คือสิ่งมีค่าที่สุด” กอล์ฟกล่าวทิ้งท้าย

Tanee Siam

Facebook : TaneeSiam

โทร. 098 229 2982

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน