ร้านอาหารอยุธยา ทำธุรกิจ 2 in 1 หนึ่งโลเคชั่น ต่อยอดรายได้โตดับเบิ้ล

TEXT : Surangrak Su.

PHOTO : Nitya, ดิ อยุธยา กรุ๊ป (2009)

 

 

     จำเป็นไหม? 1 พื้นที่ต้องทำธุรกิจแค่อย่างเดียว

     “แกรนด์เจ้าพระญา” และ “The Wine Ayutthaya 2 ร้านอาหาร 2 สไตล์ที่แทบจะไม่เหมือนกันเลย แต่กลับตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันที่ริมแม่น้ำ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยแกรนด์เจ้าพระญา คือ ร้านอาหารไทยที่เปิดดำเนินการมาได้ประมาณ 11 ปีแล้ว ส่วน The Wine Ayutthaya เป็นร้านอาหารสไตล์ยุโรปมีจุดเด่นอยู่ที่ไวน์ เปิดตัวมาได้ 3 ปี ทั้งคู่ไม่ใช่คู่แข่ง แต่เป็นคู่ค้าคอยช่วยสนับสนุนที่พออิ่มจากร้านแรกแล้ว ก็สามารถมานั่งชิลล์ต่อร้านที่สองได้เลย โดยใช้เวลาเดินทางหากันแค่เพียง 3 ก้าวเท่านั้น!

    รูปแบบโมเดลธุรกิจนี้ คือ แนวคิดของ ธัชช์ธิราช หงส์อุปถัมภ์ชัย ชายหนุ่มวัย 31 ปี ซึ่งก้าวเข้ามาช่วยดูแลธุรกิจร้านอาหารของครอบครัวในเครือบริษัท ดิ อยุธยา กรุ๊ป (2009) จำกัด เพื่อสร้างจุดเด่นให้กับพื้นที่มาที่เดียว แต่ได้ถึงสองอารมณ์กลับไป

โซเชียลมีเดีย จุดพลุแจ้งเกิด

    ธัชช์ธิราชเล่าย้อนให้ฟังว่าเดิมทีนั้นครอบครัวของเขาไม่เคยทำธุรกิจร้านอาหารมาก่อน มีเพียงธุรกิจโรงอิฐซึ่งเป็นกงสีของตระกูล แต่เนื่องจากคุณพ่อของเขาชอบมาตีกอล์ฟกับเพื่อนๆ อยู่เป็นประจำ จนวันหนึ่งมีที่ดินติดริมน้ำใกล้ๆ กันกับสนามกอล์ฟประกาศขาย เนื่องจากเห็นว่าต้องเดินทางมาอยู่บ่อยๆ คุณพ่อของเขาจึงตัดสินใจซื้อเพื่อไว้เป็นสถานที่พักผ่อนไว้นั่งกินข้าวกับเพื่อนๆ โดยมีคุณแม่ทำหน้าที่เป็นแม่ครัวใหญ่ ด้วยบรรยากาศริมแม่น้ำที่สวยงามบวกกับรสมือการทำอาหารที่ใครกินก็ต้องติดใจ ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ของเขาจึงมองเห็นลู่ทางทำธุรกิจ โดยเริ่มจากเปิดเป็นร้านอาหารไทยเล็กๆ ขึ้นมาก่อน 4 – 5 โต๊ะ

      ภายหลังต่อมาราวปี 2559 เมื่อโซเชียลมีเดียเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตผู้คนมากขึ้น ร้านจึงถูกแนะนำบอกต่อปากต่อปาก มีคนนำมารีวิวบนโลกโซเชียลทำให้จากร้านเล็กก็ขยายใหญ่ขึ้นมากว่า 20 โต๊ะ จากที่เคยแน่นแค่เสาร์อาทิตย์ ก็กลับแน่นเต็มตลอดเกือบทุกวัน

     “ปีนั้นจำได้เลยเป็นจุดพีคของธุรกิจมาก ร้านเราเป็นร้านเล็กๆ อยู่ในหลึบในซอย แต่คนแน่นเต็มร้านเกือบทุกวัน วันธรรมดาว่าเยอะแล้ว เสาร์อาทิตย์ยิ่งเยอะกว่า ซึ่งต้องใจมาจริงๆ ไม่งั้นหาไม่เจอ จากตอนแรกมีที่นั่งแค่ 4 – 5 โต๊ะ ก็ขยายกลายเป็น 20 โต๊ะ จนเราได้รับรางวัลวงในอวอร์ด และเป็น 1 ใน 350 ร้านแนะนำจากวงในปีนั้น ส่วนธุรกิจโรงงานอิฐก็ขายหุ้นคืนให้กับกงสีไปก่อนหน้านั้นแล้ว เพราะรายได้ที่เข้ามาเกือบพอๆ กันเลย แต่ต้นทุนแรงงานโรงอิฐใช้คนเยอะกว่า ร้านอาหารแค่ 20 กว่าคน แต่โรงอิฐใช้เกือบเป็นร้อยคน”

      ธัชช์ธิราชเล่าต่อว่าหลังจากที่ร้านอาหารร้านแรกประสบความสำเร็จได้ด้วยดี ตัวเขาเองก็เริ่มสนใจศึกษาเรื่องไวน์มากขึ้น โดยมองว่าไวน์ไม่ใช่แค่เครื่องดื่มของคนมีฐานะอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่คือ เครื่องดื่มของคนมีความสุขมักนำฉลองในโอกาสดีๆ ของชีวิต ซึ่งไวน์ที่ดีไม่จำเป็นต้องราคาแพง แต่ขึ้นอยู่กับรสนิยมความชอบ และด้วยความที่ยังไม่เห็นร้านที่ชูจุดเด่นเรื่องนี้ในอยุธยา เขาจึงตัดสินใจเปิดร้านอาหารขึ้นมาอีกหนึ่งแห่งในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งก็คือ เดอะไวน์ อยุธยา นั่นเอง

เข้าให้ถึงใจลูกค้า ยอดขายก็พุ่งกระฉูด

     โดยธัชช์ธิราชเผยให้ฟังว่าเหตุผลที่เขาเลือกเปิดร้านอาหารทั้งสองแห่งขึ้นมาในพื้นที่เดียวกัน ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ามาที่เดียว แต่สามารถเลือกได้ทั้งสองบรรยากาศ และยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจด้วย

     “ข้อดี คือ เราสามารถไปคุยกับลูกค้าได้ว่ามาที่เดียว แต่ได้ 2 อารมณ์กลับไปเลยนะ คือ ได้บรรยากาศริมแม่น้ำ ได้กินอาหารไทย มีเมนูขึ้นชื่อ คือ กุ้งแม่น้ำ และปลาแม่น้ำต่างๆ หลังจากนั้นถ้าเขาอยากมากินขนมหวานต่อ อยากมาคาเฟ่หรือดื่มอีกเล็กน้อยแค่เดินมา 3 ก้าว ก็ได้เปลี่ยนบรรยากาศเป็นอีกร้านหนึ่งแล้ว โดยไม่ต้องขยับรถให้เสียเวลา ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าก็จะมีพฤติกรรมแบบนี้อยู่แล้ว คือ กินข้าวเสร็จ ไม่ไปต่อคาเฟ่ ก็จะหาร้านนั่งชิลต่อ เราเลยจับมาสร้างจุดเด่นให้อยู่ที่เดียวกันเลย

     “เราพยายามศึกษาพฤติกรรมทุกอย่างของลูกค้าที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ อย่างลูกค้าเช็คอินร้านเราเสร็จ ผมจะดูตลอดเลยนะว่าเขาจะกลับเลยไหม หรือไปเช็คอินร้านไหนต่อ เป็นร้านแบบไหน บางทีดูไปถึงว่าเขาขับรถอะไร แต่งตัวสไตล์ไหน พอมีอินเตอร์เน็ตกับโซเชียลมีเดียมันทำให้เห็นข้อมูลอะไรพวกนี้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนเราอาจจะตั้งคำถามแค่นั้นว่าลูกค้าต้องการอะไร แล้วก็ไปหามาตอบโจทย์ แต่ตอนนี้ด้วยคู่แข่งที่เยอะขึ้นเราเปลี่ยนใหม่ คือ ทำอะไรที่ใหม่ๆ แตกต่างไปก่อนเลย ต้องนำไปก่อนก้าวหนึ่ง โดยที่ลูกค้าเองก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาชอบแบบไหน แต่พอได้ลองมาสัมผัสด้วยตัวเอง ถึงรู้ว่านี่แหละคือ สิ่งที่ฉันต้องการ หรือถ้าเขาไม่ชอบ เราก็จะได้รู้ไปเลยแล้วค่อยเปลี่ยนใหม่ นี่คือ สิ่งที่ทำให้เราได้มายืนอยู่เป็นหนึ่งในร้านอาหารต้นๆ ของอยุธยา” ธัชช์ธิราชกล่าว

     โดยลูกค้าส่วนใหญ่ของทั้งแกรนด์เจ้าพระญาและเดอะไวน์กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ คือ กลุ่มครอบครัวและคนวัยทำงาน มีทั้งจากกรุงเทพฯ และคนในจังหวัดอยุธยาเอง รองลงมา คือ กลุ่มนักธุรกิจและข้าราชการในจังหวัด จนถึงนักศึกษา หรือคนเพิ่งเริ่มต้นทำงาน

ผสมผสาน แต่ก็แบ่งแยกให้ชัดเจน

      ในส่วนของการบริหารจัดการร้านทั้งสองแห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันนั้น ธัชช์ธิราชเล่าจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การทำตลาดและระบบหลังบ้าน โดยในส่วนของการทำตลาดนั้นจะมีการแยกกันอย่างชัดเจน ตั้งแต่เพจของแต่ละร้าน การทำโปรโมชั่น การเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ หรือพื้นที่การลงโฆษณาต่างๆ แต่ในส่วนของระบบหลังบ้านจะใช้ทีมเดียวกัน เพื่อการบริหารจัดการที่ง่าย เช่น พนักงานเสิร์ฟก็จะมีการแบ่งเวรและสลับตำแหน่งหน้าที่กันได้ ส่วนห้องครัวจะมีการแบ่งโซนชัดเจนอยู่แล้ว ระหว่างครัวไทย ครัวยุโรป ครัวร้อน ครัวเย็น

     “ตอนแรกเราเคยลองแบ่งชัดเจนนะ อย่างพนักงานเสิร์ฟถ้าเป็นเดอะไวน์จะใส่เสื้อสีดำ ถ้าแกรนด์เจ้าพระญาเสื้อสีเขียว แต่ทำให้บริหารจัดการลำบาก บางทีแค่พนักงานจากอีกร้านหนึ่งเดินเข้ามาหยิบของ ก็ผิดคอนเซปต์แล้ว เราเลยเปลี่ยนเป็นสีกลาง คือ สีเบส เพื่อให้ทำงานง่ายขึ้น และก็ฝึกพนักงานให้ทำได้ทั้งสองร้าน แต่สลับเวรกันแทน”

     นอกจากวางระบบการดูแลร้านทั้งสองแห่งให้บาลานซ์กันได้อย่างลงตัวแล้ว ธัชช์ธิราชยังใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในการทำงานด้วย

     “วิธีการบริหารงานของผม ก็คือ ต้องเรียนรู้ทุกอย่างให้เป็นด้วยตัวเองก่อน เพื่อเราจะได้รู้จักงาน รู้จักปัญหา จากนั้นถ้าเห็นว่ามีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ ที่สามารถนำมาใช้แล้วทำให้งานเราดีขึ้นได้ ผมก็ยอมจ่าย อย่างช่วงที่เข้ามาช่วยดูแรกๆ เจอปัญหาลูกค้าติงมาว่าจานมีกลิ่น ล้างไม่สะอาด เราก็ลงไปดูเลยว่าล้างกันยังไง สุดท้ายก็เรียกบริษัทเครื่องล้างจานมาดูเลย ยอมซื้อเครื่องล้างจานมาแสนกว่าบาท ก็ช่วยลดปัญหาได้และเร็วขึ้นด้วย อย่างปกติถ้าให้พนักงานล้าง 300 ใบใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง แต่พอใช้เครื่องล้างจาน 120 ใบ ล้างภายใน 5 นาทีก็เสร็จแล้ว พร้อมใช้งานได้เลย เพราะอบมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตอนแรกพนักงานกลัวมากว่าถ้าทำงานเสร็จไว เขาต้องไปทำอย่างอื่นแทน แต่ผมบอกว่าไม่ใช่ถ้าเสร็จเร็ว ก็คือ คุณได้พักเร็ว ซึ่งผมกล้าพูดได้เลยว่าเราเป็นร้านอาหารในอยุธยาเพียงไม่กี่แห่งที่ให้พนักงานหยุดงานได้อาทิตย์ละ 2 วัน จริงๆ เป็นเรื่องยากมากของธุรกิจบริการ เวลารับสมัครงาน ผมก็เอาตรงนี้ขึ้นมาเป็นจุดขายเลย ทำให้ถึงจะเจอสถานการณ์โควิด แต่มีพนักงานลาออกไปแค่ 3 คนเท่านั้น”

     โดยในสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาหลายระลอก ร้านอาหารของเขาเองก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยต้องโดนปิดไปนานอยู่หลายเดือนในแต่ละระลอก แถมยังเจอปัญหาน้ำท่วมมาซ้ำเติม โดยในช่วงที่ต้องพยุงตัวธุรกิจให้รอด ไม่สามารถทำกำไรได้ เขาได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการพักชำระหนี้ และลดยอดชำระให้จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank โดยผ่อนจ่ายในแต่ละงวดเหลือเพียงแค่ 20 -50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงทำให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จนกลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติอีกครั้ง

ดันธุรกิจโต ตั้งเป้าเข้าตลาดหลักทรัพย์

     ทุกวันนี้นอกจากต้องดูแลร้านอาหารทั้งสองแห่งแล้ว ธัชช์ธิเล่าว่าเร็วๆ นี้เขากำลังจะเปิดตัวร้านอาหารอีกแห่งหนึ่งเพิ่มขึ้นมาในพื้นที่ไม่ไกลกันมากนักในชื่อ “The Artisans Ayutthaya” เพื่อเสิร์ฟอาหารโบราณพื้นบ้านของอยุธยา ซึ่งนับวันจะหารับประทานได้ยากเต็มที่ นอกจากนี้เขายังมองเผื่อไปถึงตลาดต่างประเทศ จนถึงธุรกิจท่องเที่ยวอื่นๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจออกไปด้วย

     “จริงๆ แพลนอนาคตที่เราวางกันไว้ค่อนข้างใหญ่เลย เราจะไม่ได้ทำแค่ร้านอาหารเท่านั้น แต่เราคิดถึงขั้นจะดันร้านในเครือของเราเข้าตลาดหลักทรัพย์เลย จริงๆ ถ้าไม่มีโควิดตอนนี้เราอาจไปเปิดที่จีนและอังกฤษแล้ว เร็วๆ นี้ก็กำลังจะลองเปิดตัวที่ห้างสรรพสินค้าด้วย และอนาคตเรายังมองเผื่อไปถึงธุรกิจโรงแรมที่พักด้วย จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงตั้งชื่อว่า ดิ อยุธยา กรุ๊ป (2009) เผื่อเอาไว้ เพราะจริงๆ เราอยากส่งเสียงออกไปให้ทั่วประเทศและทั่วโลกได้รู้ว่า อยุธยาก็มีโปรเจกต์คุณภาพระดับมาตรฐานสากลอยู่นะ คุณสามารถมาลองมาสัมผัสด้วยตัวเองได้” ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงกล่าวทิ้งท้าย

 

ข้อมูลติดต่อ

www.facebook.com/Grandchaopraya

www.facebook.com/Thewineayutthaya

โทร. 081 942 1666

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น