น้ำมันก็ขึ้น ของก็แพง อย่าเพิ่งหมดแรง ฟังรองอธิบดี DBD แนะทางรอดกู้วิกฤตธุรกิจร้านอาหาร

 

 

      “ของก็แพง ยอดขายก็ตก ทำยังไงกันดีล่ะทีนี้”

      คงเป็นปัญหาปวดใจให้ผู้ประกอบการหลายคนที่กำลังทำธุรกิจอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องยาวนานมากว่า 2 ปี จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ธุรกิจร้านอาหารจำนวนไม่น้อยต้องปิดกิจการ หรือมีรายได้ลดลง ตามรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระบุว่ามูลค่าธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 ลดลงเกือบ 7 หมื่นล้านบาท หรือราว 11 เปอร์เซ็นต์ (เทียบกับปี 2563) แถมปัจจุบันยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นมาซ้ำเติม ผู้ประกอบการควรรับมือเช่นไร ลองมาอัพเดตสถานการณ์แนวโน้มธุรกิจอาหารจาก รวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พร้อมวิธีรับมือไปพร้อมกัน

ร้านเล็ก เข้าถึงง่าย ราคาไม่แพง แนวโน้มสดใส

      ก่อนที่จะไปฟังวิธีเอาตัวรอด รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ได้เปิดเผยข้อมูลถึงแนวโน้มธุรกิจอาหารที่กำลังจะกลับมาสดใสว่าจากการกลับมามากขึ้นของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ส่งผลให้ในปี 2565 ธุรกิจร้านอาหารน่าจะกลับมาเติบโตประมาณ 5.0 % – 9.9 % ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าภาพรวมอยู่ที่ 3.78 - 3.96 แสนล้านบาท โดยในปีนี้ธุรกิจร้านอาหารมีแนวโน้มจดทะเบียนนิติบุคคลร้านอาหารเพิ่มมากขึ้น

     โดยเฉพาะการขยายตัวในกลุ่มอาหารจานด่วน และร้านอาหารขนาดเล็ก ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวมากกว่าที่ผ่านมา เช่น ร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน หรือร้านรูปแบบใหม่ๆ ที่มีความคล่องตัวสูงขึ้น โดยส่วนใหญ่จะมีเป้าหมายเปิดอยู่ใกล้กับแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัย หรือปั๊มน้ำมันในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองหลักตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งคาดว่าร้านอาหารประเภทดังกล่าวจะได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภค เนื่องจากเป็นเมนูพื้นฐานที่เข้าถึงได้ง่าย และราคาไม่แพง เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงนี้ โดยมองว่าธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่ไม่ว่าใครก็จำเป็นต้องกินต้องใช้ ดังนั้นหากสามารถปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคได้ อนาคตย่อมสดใสแน่นอน

      “อาหาร คือ สิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันไม่ว่าใครก็จำเป็นต้องกินต้องใช้ ดังนั้นไม่ว่ายังไงก็ยังคงเป็นธุรกิจที่เติบโตได้ เพียงแต่อาจต้องปรับตัวตามสถานการณ์ โดยในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เราเองได้เชื่อมโยงกับเครือข่ายพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นการตรึงราคาต้นทุนวัตถุดิบ การจัดโปรโมชั่นพิเศษ การจัดฝึกอบรมอาชีพ การสอนเทคนิคการทำธุรกิจอาหาร เพื่อให้สามารถผลิตอาหารที่ดี ราคาไม่สูง ตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภคได้และร้านอาหารให้อยู่ได้”