The Hundred-Foot Journey บนเส้นทางความสำเร็จ จากพ่อครัวอาหารอินเดีย สู่เชฟดาวมิชลิน

TEXT : อรุษา กิตติวัฒน์

 

     ช่วงนี้ค่ายสตรีมมิ่งวิดีโอพากันนำหนังเก่าๆ ที่เคยสร้างความประทับใจกลับมาฉายให้ดูอีกครั้ง The Hundred-Foot Journey หรือ “ปรุงชีวิต ลิขิตฝัน” ก็เป็นอีกเรื่องที่พลาดไม่ได้ แม้จะฉายมาตั้งแต่ปี 2014 เรื่องราวของครอบครัวร้านอาหารอินเดียที่ไปเปิดร้านอาหารฝั่งตรงข้ามร้านอาหารฝรั่งเศสดีกรีดาวมิชลินของมาดามหัวรั้น จนก่อสงครามพร้อมกับเส้นทางความสำเร็จของหนุ่มพ่อครัวอินเดียที่ก้าวขึ้นไปเป็นเชฟดาวมิชลิน ก็ยังชวนให้รื่นรมย์อิ่มเอมไปกับบรรยากาศแสนโรแมนติกของเมืองชนบททางตอนใต้ของฝรั่งเศส และการปรุงอาหารที่ชวนน้ำลายสอ (โดยเฉพาะฉากทำออมเล็ตในตำนาน ที่ทำให้มีคนบ้ากินออมเล็ตกันไปพักใหญ่) และถ้ามองในมุมของผู้ประกอบการ อาจจะได้แง่คิดมาจากธุรกิจทั้งสองไม่มากก็น้อย

1.

      ฮัสซาน คาดัม เกิดในครอบครัวที่ทำธุรกิจร้านอาหารในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย มายาวนานตั้งแต่รุ่นปู่ทวด  ร้านอาหารแห่งนี้เป็นโรงเรียนสอนทำอาหารสำหรับเขา โดยมีแม่เป็นครูผู้สอนให้ใช้ทุกประสาทสัมผัสรับรู้รสชาติแห่งชีวิตที่อยู่ในส่วนผสมทุกอย่าง แต่แล้วคืนหนึ่งก็เกิดเหตุจลาจลขึ้นหลังจากมีการเลือกตั้ง ทำให้ไฟไหม้ร้านอาหาร แม่จากไป ครอบครัวคาดัมสูญเสียทุกอย่าง พ่อจึงตัดสินใจพาฮัสซานและพี่น้องอพยพไปอยู่กรุงลอนดอน ฮัสซานฝึกหัดทำอาหารด้วยตัวเอง หนึ่งปีผ่านไปพวกเขาพบว่าอากาศที่นั่นหนาวเกินไปและผักก็ไร้ชีวิต พวกเขาจึงออกเดินทางตามหาสถานที่สักแห่งในยุโรปที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ และสร้างธุรกิจร้านอาหารอีกครั้ง  

      หลังจากขับรถขึ้นเทียบท่ารอตเตอร์ดัมสู่แผ่นดินยุโรป ออกเดินทางแวะชิมผลผลิตในหลายท้องถิ่น ข้ามหลายประเทศ จนเดินทางไปถึงตอนใต้ของฝรั่งเศส รถตู้บุโรทั่งเกิดเบรกแตกใกล้หมู่บ้านเล็กๆ ชื่อว่า “แซงค์อ็องโตแนง” หญิงสาวคนหนึ่งขับผ่านมา จึงช่วยลากรถเข้าไปในหมู่บ้าน ระหว่างทางพ่อมองเห็นบ้านร้างหลังใหญ่ที่ปิดป้ายประกาศขาย  

      มากาเร็ต หญิงสาวคนนั้นนำอาหารที่มีในบ้านมาเสิร์ฟเป็นมื้อค่ำ ขนมปังโฮมเมดที่เธออบเอง น้ำมันมะกอกจากสวนที่ลุงของเธอทำเองทุกปี ชีสจากวัวในทุ่งหญ้าหลังบ้าน ทั้งหมดเป็นของธรรมชาติในท้องถิ่น อาหารมื้อนั้นทำให้ครอบครัวคาดัมรู้สึกเหมือนตายไปแล้วได้ขึ้นสวรรค์ พอเช้ามืดวันใหม่พ่อก็เดินไปสำรวจบ้านร้างที่เห็นเมื่อคืน พบว่าเคยเป็นร้านอาหารมาก่อน ด้านในมีลานในร่มเหมือนร้านเก่าที่มุมไบ แถมที่นี่ยังมีวัตถุดิบคุณภาพ ถือเป็นพื้นที่สมบูรณ์แบบสำหรับเปิดร้านอาหาร พ่อตัดสินใจซื้อบ้านร้างหลังนี้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของพี่น้องคาดัม

     ไม่มีใครเห็นด้วยเพราะฝั่งตรงข้าม ห่างไปเพียงร้อยฟุต มีร้านอาหารฝรั่งเศสระดับดาวมิชลินอยู่ “เลอ โซล เปลอเรอร์”  ได้ชื่อว่าเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสที่ดีที่สุดในระยะ 50 ไมล์ มีชื่อเสียงขนาดที่ว่าประธานาธิบดีฝรั่งเศสก็ยังมารับประทานอาหารที่นี่ พี่น้องคาดัมเชื่อว่าเจ้าของร้านเดิมคงย้ายกลับไปปารีสเพราะไปไม่รอด พ่อถามกลับไปว่าประธานาธิบดีจะสั่งเมนูแกงไก่มาซาลาใส่เมล็ดมะม่วงหิมพานต์และกระวาน หรือแพะทันดูรีสูตรเด็ดของฮัสซานได้ไหม แม้ลูกๆ แย้งว่าคนฝรั่งเศสไม่กินอาหารอินเดีย เพราะมีอาหารประจำชาติที่แสนจะภาคภูมิใจอยู่แล้ว แต่พ่อก็เชื่อว่าพวกเขายังไม่เคยลองชิม เขาตัดสินใจลงทุนในฐานะที่มีประสบการณ์ทำธุรกิจร้านอาหารมาทั้งชีวิต มองเห็นความเป็นไปได้ เชื่อมั่นในอาหารของตัวเอง และความสามารถของลูกชาย

2.

      ฮัสซานเดินสำรวจห้องครัวพบชั้นหนังสือที่เต็มไปด้วยคู่มือมิชลินไกด์ และยังมีตำราอาหาร ของ เลอ กอร์ดอง เบลอ อยู่ด้วย ในนั้นมีเรื่องราวของอาหารและศาสตร์การทำอาหารระดับสูง เขารู้สึกตื่นเต้นอยากเรียนรู้การทำอาหารฝรั่งเศส และเมื่อรู้ว่ามากาเร็ต ทำงานเป็นผู้ช่วยเชฟและกำลังฝึกเป็นเชฟที่ร้านฝั่งตรงข้าม ก็ขอให้เธอแนะนำตำราอาหารให้

     หลังจากที่ครอบครัวคาดัมช่วยกันรีโนเวทร้านจนเสร็จ พ่อก็พาลูกๆ ไปยืนแจกใบปลิวประชาสัมพันธ์ร้านอาหารอินเดีย “เมซอง มุมไบ”  ที่กำลังจะเปิด อาหารที่ร้านปรุงด้วยเครื่องเทศดั้งเดิม โดยเชฟอาหารอินเดียที่เก่งที่สุดในโลกตะวันตกแล้วชี้ไปยังฮัสซาน   

     วันก่อนเปิดร้าน ขณะที่กำลังจัดโต๊ะ มาดามมัลเลอรี เจ้าของร้าน เลอ โซล เปลอเรอร์ เดินเข้ามาทักทายในฐานะเพื่อนบ้านและขอดูเมนู พ่อห้ามลูกๆ ไม่ทัน วันต่อมาเมื่อพ่อกับฮัสซานเข้าหมู่บ้านไปซื้อวัตถุดิบที่ต้องใช้ ก็พบว่าถูกมาดามมัลเลอรีเหมาไปหมดแล้ว สองพ่อลูกต้องขับรถไปถึงอีกหมู่บ้านห่างไป 50 ไมล์ พอกลับถึงร้านก็เหลือเวลาไม่พอปรุงเนื้อแกะให้สุกดี ฮัสซานจึงใช้ความรู้ที่อ่านจากตำราอาหาร ใช้ไวน์แดงหมักเนื้อแกะ ซึ่งไม่เคยใช้ในอาหารอินเดียมาก่อน เขาบอกพี่ชายที่กำลังสติแตกว่า “ถ้าอยากอยู่รอดเราต้องปรับตัว ต้องหัดใช้สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรา แล้วก็ภาวนาให้มันออกมาดี”