คุยกับ เยจิน คิม ผู้ประกอบการหญิงนักสู้ กู้วิกฤตหนี้ร้อยล้านด้วย กิมจิโอ่ง

Text: จีราวัฒน์ คงแก้ว

 


      นักธุรกิจหญิง บุคลิกงามสง่า นั่งเซ็นสัญญากับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อขยับกิจการให้ก้าวสู่ธุรกิจระดับเอเชีย คือภาพจำในอดีตของ "เยจิน คิม" ผู้ประกอบการไทยสัญชาติเกาหลี เจ้าของธุรกิจนำเข้ายานยนต์ อะไหล่ยนต์ และประกอบรถบัสจำหน่าย ที่เคยมีรายได้ถึงเกือบ 300 ล้านบาทต่อปี แต่ทันทีที่โควิด-19 มาเยือน ธุรกิจกลับต้องล่มสลาย พร้อมหนี้สินอีกถึง 167 ล้านบาท ทว่าเธอกู้วิกฤตกลับมาได้ ด้วยการพลิกมาขาย “กิมจิโอ่ง”  

รับมือวิกฤตด้วยคำว่า ไม่ยอมแพ้

      "เยจิน คิม" เป็นชื่อของเด็กไทยที่ไปเติบโตในประเทศเกาหลีและมีสัญชาติเกาหลีโดยสมบูรณ์ เธอเรียนรู้ธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์และอะไหล่ยนต์จากธุรกิจของพ่อบุญธรรมในวัยเพียง 18 ปี และคลุกคลีกับธุรกิจนี้มาค่อนชีวิต (ปัจจุบันอายุ 43 ปี) มีโอกาสเป็นล่ามและสั่งสินค้าเข้าตู้ให้กับผู้ประกอบการไทยที่นำเข้าอะไหล่ยนต์จากเกาหลี จนเห็นโอกาสจึงขยายมาเปิดธุรกิจในประเทศไทย ใช้ชื่อ “บริษัท เยซูต้า มอเตอร์ เทรดดิ้ง จำกัด” ทำนำเข้ายานยนต์ อะไหล่ยนต์จากเกาหลี และประกอบรถบัสจำหน่าย

     ธุรกิจเคยประสบความสำเร็จมีรายได้ถึงเกือบ 300 ล้านบาทต่อปี ภายใต้การขับเคลื่อนของพนักงานกว่า 20 ชีวิต แต่ใครจะคิดว่าทันทีที่โควิด-19 มาเยือน ธุรกิจทัวร์และการท่องเที่ยวหยุดชะงัก จะส่งผลกระทบถึงธุรกิจของเธอตามไปด้วย เมื่อความต้องการใช้รถสะดุดลง รถบัสที่กำลังจะส่งมอบให้ลูกค้าและอยู่ระหว่างประกอบขาย กลับกลายเป็นของที่หมดความหมาย อะไหล่ยนต์นอนนิ่งสนิทอยู่ในโกดัง วันนั้นไม่เพียงรายได้หลักร้อยล้านมลายหายไป ทว่าเธอยังเป็นหนี้อีกถึง 167 ล้านบาท! 

      “อยู่กับธุรกิจยานยนต์มาเกือบ 30 ปี ต้องบอกว่าคือทั้งชีวิตเลยก็ว่าได้ ก็ไม่เคยคิดว่าจะมีแรงกระทบที่ทำให้ธุรกิจหลักของเราต้องล้มทั้งยืนได้ขนาดนี้”

      เธอบอกสถานการณ์สุดสาหัสที่ต้องเผชิญ ซึ่งในฐานะคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ยังมีพนักงานอีกกว่า 20 ชีวิตอยู่ในการดูแล การตัดสินใจทุกอย่างจึงยิ่งยากลำบากกว่าหลายเท่า 

     “ในการทำงานถ้าจะเอาแค่ตัวเรารอด ก็ให้ธุรกิจล้มละลายไป ไม่ต้องสู้ต่อ แล้วเราสองคนแม่ลูกก็แค่ซื้อตั๋วบินกลับเกาหลี ทุกอย่างจบ แต่นั่นไม่ใช่เรา เราไม่อยากเป็นคนๆ นั้น ที่ยอมแพ้ในวันนี้ด้วยการซื้อตั๋วเครื่องบินแล้วบินกลับเกาหลี ตอนนั้นคิดว่าถ้าไม่มีเราพนักงานหรือทีมงานจะทำอะไร เขาจะอยู่กันยังไง จะเลี้ยงดูครอบครัวกันยังไง ที่สำคัญเราเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวถ้าไม่มีเราสักคน แล้วลูกจะอยู่ยังไง นั่นคือวินาทีพลิกชีวิตที่ทำให้มีสติ แล้วดึงตัวเองกลับมา โอเค เราจะต้องทำอะไรต่อ ต้องไม่ยอมแพ้” เธอบอกกับตัวเองเช่นนั้น

พลิกวิกฤตด้วย “กิมจิโอ่ง” เจ้าแรกของไทย

      โควิดและหนี้สินทำให้ชีวิตเหมือนไร้ทางออก ทว่าวันหนึ่งคำพูดของลูกชายที่บอกว่า “อยากกินกิมจิฝีมือหม่ามี้”เธอจึงตัดสินใจซื้อผักสด 10 กิโลกรัม มาทำกิมจิให้ลูกชายและแจกจ่ายให้เหล่าผู้ปกครองและเพื่อนฝูงของลูก ซึ่งทุกคนที่ได้กินต่างติดอกติดใจจนขอให้ทำขาย  ใครจะคิดว่า นั่นจะทำให้เธอค้นพบโอกาสธุรกิจใหม่ ที่ตรงข้ามกับธุรกิจยานยนต์แบบสุดขั้ว นั่นคือการทำกิมจิขาย และสร้างความต่างด้วยการทำกิมจิโอ่งเป็นเจ้าแรกของไทย

     “สำหรับความรู้ในการทำกิมจิและอาหารเกาหลีนั้น มาจากคุณแม่บุญธรรม ท่านเปิดร้านอาหาร ซึ่งคิมใช้เวลาช่วงเย็นหลังเลิกงานไปขลุกอยู่ในร้าน ตอนนั้นแค่อยากได้เงิน ไม่ได้คิดอะไรเลย แต่กลายเป็นว่าเราได้ทักษะการทำอาหารเกาหลีมาโดยไม่รู้ตัว” เธอเล่าต้นทุนชีวิตที่ติดตัว

     เมื่อคิดจะทำกิมจิขาย ก็เลือกทำกิมจิที่แตกต่าง โดยบรรจุลงโอ่งเพราะเป็นภาชนะที่เก็บคุณภาพและความอร่อยของกิมจิได้ดีและน่ากินกว่าการบรรจุใส่ถุงเป็นไหนๆ โดยเน้นการทำแบบสดใหม่ เป้าหมายคือทำกิมจิพันธุ์ไทยที่ถูกจริตคนไทยที่สุด โดยใช้ครัวของบ้านเป็นโรงงานทำกิมจิ มีพนักงานจากธุรกิจเดิมที่คุ้นเคยแต่อะไหล่ยนต์มาช่วยกันทำกิมจิขาย

     “มีอยู่หนึ่งอย่างที่เชื่อแบบบริสุทธิ์ใจ คือ ทุกๆ การเปลี่ยนแปลงมันลงต่ำสุดและขึ้นสูงสุดเสมอ ซึ่งชีวิตคิมผ่านมาทั้งสองจุดแล้ว จึงเข้าใจ และยอมรับมัน ตอนนั้นเรียกพนักงานทุกคนมารวมตัวกัน แล้วบอกว่า ถ้าพี่ไม่ได้ทำอะไหล่ยนต์แล้ว และต้องมาสู้โดยการทำกิมจิขาย ทุกคนจะสู้ไปด้วยกันไหม เขาบอกว่าถ้าพี่ทำ เขาก็ทำ พอได้ยินคำนั้น คิมก็จับมือสอนเลย เอาช่างมาหั่นผัก เอาบัญชีมาเป็นฝ่ายจัดส่ง ฝ่ายบุคคลมาเป็นคนคลุกกิมจิ มาเป็นคนแพ็คกิ้ง จากแอดมินยานยนต์ก็มาเป็นแอดมินขายกิมจิ”

     เธอบอกว่า เวลานั้นใช้หัวใจในการสื่อสารกับทุกคน และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ธุรกิจนี้ได้ขับเคลื่อน

     “บอกทุกคนว่า ถ้าไม่ปล่อยมือพี่ พี่ก็จะไม่ปล่อยมือพวกเรา ถ้าทุกคนสู้ เราก็จะสู้ไปด้วยกัน แต่ไม่ได้สัญญานะว่าธุรกิจนี้จะสำเร็จ แต่บอกเขาว่า จะทำให้สุดความสามารถที่มี และจะทำให้เต็มที่ จากนั้นก็เริ่มครีเอทงานขึ้นมาทีละอย่าง ตอนนั้นมีกุนซือเป็นน้องๆ ที่เขาเก่งออนไลน์กันอยู่แล้ว มาช่วยกันแชร์ความคิด ตอนนั้นเราทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากกระจายให้ทุกคนรู้จักว่าเราทำกิมจิขาย แล้วเริ่มมีการลงรูปโอ่ง ทำให้ทุกคนเริ่มเห็นความแปลก ความใหม่ จนเราเป็นที่รู้จักขึ้นมาในเวลารวดเร็ว เราเริ่มธุรกิจนี้ประมาณมกราคมปี 2563 ซึ่งใน 3 เดือนแรก เรามีรายได้แตะที่ 3-4 แสนบาทแล้ว จนถึงเดือนกรกฎาคม ยอดขายก็อยู่ที่ 7-8 แสนบาทต่อเดือน”

     เธอบอกเล่าความสำเร็จ ก่อนที่ธุรกิจจะเริ่มวิกฤตอีกครั้งเมื่อเฟซบุ๊กเริ่มปรับอัลกอริทึม (Algorithm) การมองเห็นเริ่มลดลง การยิงแอดโฆษณาจต้องใช้เงินที่สูงขึ้น เธอเลยมองหาทางออกครั้งใหม่

ต่อยอดธุรกิจสู่ความยั่งยืน

      ทำอย่างไรจะทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น คิมตัดสินใจยกหูหาเพจอาหารเพื่อแนะนำตัวเองและขอส่งสินค้าไปให้ลองชิม บอกเล่าสตอรี่ของตัวเอง จนมีการติดตามมาขอถ่ายทำคลิป และนั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า เพจแตก!  

     “เราลงคลิปไปเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม เวลาหกโมงเย็นจำได้เลย ตอนนั้นเพจแตกเลย ตั้งแต่วันที่ 14 จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ในเวลา 14 วัน เราทำยอดขายได้ถึง 2 ล้าน 5 หมื่นบาท เป็นครั้งแรกที่ธุรกิจแตะหลักล้าน และหลังจากนั้นเราก็ไม่เคยกลับมาแตะหลักแสนอีกเลย” เธอบอกเล่าความสำเร็จ

     เมื่อเริ่มเห็นทางไปต่อของธุรกิจ ในเดือนกันยายนปี 2563 เธอจึงมาจดทะเบียนนิติบุคคล จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ทำธุรกิจมาประมาณ 2 ปี มีรายได้ประมาณกว่า 40 ล้านบาท จากกิมจิในโอ่ง ก็ขยับขยายมามีหน้าร้านเล็กๆ เปิดเป็นช็อปขายสินค้า มีเปิดขายโอมากาเสะเกาหลี สไตล์กินข้าวบ้านเพื่อน ซึ่งรับลูกค้าได้ไม่เกิน 12 ที่นั่ง จนคิวจองยาวข้ามปี ก่อนตัดสินใจเปิดร้านอาหาร ในชื่อ “คิม ฮันจองชิค” (Kim Hanjeongsik) ที่รังสรรค์ความหลากหลายของอาหารเกาหลีมาให้คนไทยได้กิน ซึ่งจะเปิดบริการได้ประมาณเดือนสิงหาคมนี้

      “ถามว่ารายได้มันมากเท่าธุรกิจเดิมไหม ไม่แน่นอน แต่มันเป็นความภูมิใจ ที่เรายังคงจับมือทุกคนไว้แน่น และเป็นความภูมิใจของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวคนหนึ่งที่ยังสามารถมีเงินเลี้ยงดูลูกได้ แม้วันนี้อาจจะยังใช้หนี้ได้ไม่หมด เพราะต้องเอากำไรมาเริ่มต้นธุรกิจใหม่ แต่เรามองเห็นหนทางที่จะไปต่อ โดยสิ่งที่จะทำต่อไป คือ มีโรงงานกิมจิเล็กๆ ที่มีมาตราฐาน เพื่อขยายตลาดกิมจิทั้งในกลุ่มของลูกค้า B2C และ B2B โดยกำลังวางแผนรีโนเวทโรงงานอยู่ รวมถึงการมีหน้าร้าน และช็อปขายของที่ระลึก ซึ่งอยู่ระหว่างการตกแต่ง โดยเราอยากทำเป็นแหล่งของฝาก ของที่ระลึก ของเมืองสมุทรปราการ โดยมีเรื่องราวของผู้หญิงสู้ชีวิตคนหนึ่งไว้เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คน

     นอกจากนี้ปัจจุบันเรายังทำงานวิจัยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทย โดยการนำผักที่ต้องคัดทิ้ง ผักล้นฤดูกาล มาทำเป็นผงกิมจิจากผักใบเขียวเหลือคัดที่มีสารกาบาสูง ซึ่งอยู่ระหว่างการส่งประกวดเพื่อชิงทุนวิจัย ซึ่งหากทำได้สำเร็จ จะทำให้เราต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีกมาก คิมไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง และจะทำให้ดีที่สุด พอมาทำด้านอาหาร มันเลยเป็นแพสชันล้วนๆ เพราะอาหารชุบชีวิตคิม” เธอบอก

ตัดแขนทิ้งเพื่อรักษาชีวิตและไปต่อ

      ในวันที่ต้องตัดสินใจตัดทิ้งธุรกิจเดิมแล้วก้าวต่อ อาจเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน แต่คิมบอกเราว่าบางครั้งต้องยอมตัดแขนตัวเองเพื่อรักษาชีวิต และนั่นคือสิ่งที่เธอตัดสินใจทำ

     “คิมตัดสินใจครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของชีวิต คืออะไหล่ที่นอนนิ่งอยู่ในโกดัง เป็นเศษเหล็กที่ไม่สามารถช่วยให้ธุรกิจเดิมไปต่อได้อีก คิมตัดสินใจขายอะไหล่รถที่มีมูลค่าเกือบ 25 ล้านบาท ขายและได้เงินสดมาเบ็ดเสร็จแค่ 2.4 ล้านบาท เรียกว่า เรายอมตัดแขนตัวเองทิ้งหนึ่งข้าง เพื่อที่จะให้มีแขนอีกข้างที่สามารถทำอะไรต่อไปได้ แต่ถ้าเราไม่ยอมตัดตรงนั้นทิ้ง คิมอาจจะล้มหายตายจากไประหว่างทางที่เรายังไปไม่ถึงเป้าหมายเลยก็ได้ วันนั้นคือการตัดสินใจว่า ธุรกิจที่เราทำมาทั้งชีวิต เราจะไม่เหลืออะไรในภาพลักษณ์นั้นอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโปรไฟล์ในธุรกิจเดิม หรือความมีชื่อเสียง

     หลังจากที่ประกาศขายเศษเหล็ก วันนั้นสายแทบไหม้เลย คนโทรมาถามว่า เราล้มละลายแล้วเหรอ เจ๊งแล้วเหรอ มีเสียงมาหมด แต่มันทำให้เรามีสติขึ้นมาว่า ขอบคุณที่ตัดสินใจเลือกเดินทางใหม่ เพราะธุรกิจเก่าเราฝืนมันไม่ได้อีกแล้ว เพราะตอนนี้รถไฟฟ้ามาหมดแล้ว แต่เรายังทำธุรกิจในระบบเซียงกงอยู่เลย ฉะนั้นต้องบอกว่าขอบคุณโควิด ที่ทำให้เรากล้าเปลี่ยน เพราะถ้าไม่มีโควิดคิมอาจจะไม่กล้าตัดสินใจหรือกล้าเปลี่ยนแบบนี้เลยก็ได้”

     เมื่อถามถึงเป้าหมาย เธอบอกเราว่า อยากเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่มาสร้างปรากฏการณ์เรื่องของการทานอาหารในแนวของสุขภาพ อยากให้คนไทยได้กินผักที่มีประโยชน์ โดยไม่ได้หวังว่าธุรกิจต้องเติบใหญ่ไปในระดับโลก เพราะเธอมองความจริงมากกว่าความฝัน

     “การทำอะไรเราจะประเมินตัวเอง ณ ปัจจุบัน รู้สึกว่าเรายังต้องเรียนรู้อีกเยอะมาก เพราะมันแตกต่างกันมากระหว่างธุรกิจยานยนต์กับอาหาร ยังรู้สึกว่าประสบการณ์ในธุรกิจอาหารเรายังเป็นน้องใหม่ ยังเป็นเด็กอนุบาลที่ต้องเรียนรู้อีกมาก โอกาสที่เข้ามาเราน้อมรับ และจะพยายามพัฒนาและปรับปรุงตัวเองไปเรื่อยๆ แต่จะไม่ฝันในสิ่งที่ไม่เป็นจริง เราจะอยู่กับปัจจุบัน แล้วทำปัจจุบันให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนเป้าหมายจะเป็นอย่างไร เราจะยินดีกับมัน”

     สำหรับ SME ที่กำลังเผชิญวิกฤตหนักหน่วงไม่ต่างกัน เธอบอกว่าอยากให้เรียกสติกลับมา และต้องเด็ดขาด ต้องกล้าที่จะปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนา ถ้าตรงนี้พร้อม เชื่อว่า SME เมืองไทยจะรอดกันหมด

     “แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกว่า ยังผูกติดกับการที่ฉันเคยเป็นเถ้าแก่ หรือฉันเคยเป็นคนที่อยู่ในระดับสูง แล้วต้องมาจับเงิน 10-20 บาท ฉันทำไม่ได้หรอก เขาก็ตายตั้งแต่วินาทีที่คิดแล้ว ทว่าถ้าเมื่อไหร่เราบอกกับตัวเองว่า เราสู้ เราทำได้ ขอแค่โอกาส และไม่ยอมแพ้ บอกกับตัวเองว่า ทุกๆ วิกฤต ทุกๆ ปัญหา คือภูมิต้านทาน เขาจะมีหมวกที่เป็นประจุบวกในการที่จะลุยได้กับทุกปัญหา นี่คือเรื่องจริงที่คิมสัมผัสมากับตัวเอง และอยากส่งต่อให้กับ SME ทุกคน”

     เธอบอกในตอนท้าย ในฐานะผู้ประกอบการที่เคยอยู่ในจุดสูงสุดและดำดิ่งสู่จุดต่ำสุดของชีวิตมาแล้ว เธอเชื่อเสมอว่า ถ้าใจสู้ก็ไม่มีวันพ่ายแพ้

  กิมจิคุณคิม

  Line : @Kimchikhunkim

  FB : กิมจิคุณKim

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ