เปิดกลยุทธ์ Local Brand ของดีต่างจังหวัดทำเงินล้านในตลาดอินเตอร์

TEXT : กองบรรณาธิการ

 

     ในสายตาของผู้บริโภค เราอาจคุ้นชินกับแบรนด์ดังที่วางขายอยู่ในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป แต่รู้ไหมว่าจริงๆ แล้วยังมีแบรนด์ท้องถิ่นอีกมากที่เราไม่รู้จัก ซึ่งอาจเริ่มต้นธุรกิจขึ้นมาจากจุดเล็กๆ แต่ในวันนี้กลับทำรายได้เป็นหลักสิบหลักร้อยล้านบาทได้ แถมบางแบรนด์ไม่ได้จำหน่ายเฉพาะแค่ในเมืองไทย แต่ยังโกอินเตอร์ไปไกลถึงต่างประเทศ ลองมาเปิดรายได้และเส้นทางธุรกิจจาก 4 เคส Local Brand ตัวอย่างกันดูว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ได้ พวกเขาเริ่มต้นขึ้นมาจากอะไร และอะไรทำให้พวกเขาเดินทางมาจนถึงวันนี้ได้กัน

เส่งเฮง ต่อยอดจากจากเต้าหู้ตลาดสด ให้กลายเป็นเต้าตู้ขึ้นห้าง

รายได้ธุรกิจ : 60,965,890 บาท (ปี 2564)

จังหวัด : กรุงเทพฯ ย่านฝั่งธนบุรี

Story of Brand :

  • เริ่มต้นจากเต้าหู้สูตรลับของครอบครัวด้วยกรรมวิธีผลิตแบบจีนโบราณ ใส่จักรยานปั่นไปขายในตลาดสดย่านฝั่งธนบุรี โดยแต่ละก้อนจะประทับตราด้วยไม้ปั๊มชื่อแบรนด์ลงไปและใช้ใบตองรองแต่ละแผ่น จนกลายเป็นเอกลักษณ์ให้คนจำได้และเรียกติดปากว่า “เต้าหู้ใบตอง” และกลายเป็นสัญลักษณ์แบรนด์มาจนถึงปัจจุบัน
  • ต่อมาจนถึงรุ่นที่ 2 ได้มีการนำเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์เข้ามาใช้ เปลี่ยนจากการห่อด้วยใบตองมาเป็นการห่อด้วยถุงสุญญากาศ ทำให้ช่วยยืดอายุของเต้าหู้ให้เก็บได้นานยิ่งขึ้น เริ่มมีการนำไปเสนอห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต จนในที่สุดสามารถเข้าวางจำหน่ายได้ มีการสร้างโรงงานผลิตของตัวเองขึ้นมาในอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
  • ในรุ่นที่ 3 ซึ่งเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูช่วงหลังจากที่บริษัทประสบปัญหา ได้มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น และขยายช่องทางไปสู่ตลาดส่งออก เช่น เต้าหู้ขาวแข็งออร์แกนิก ซึ่งเป็นสินค้าเรือธงเพื่อบุกตลาดจีน, เต้าหู้พร้อมรับประทาน, น้ำเต้าหู้ออร์แกนิก รวมถึงการรับจ้างผลิต (OEM) สินค้าจากเต้าหู้

 

     กลยุทธ์แบบ Local Brand : มุ่งมั่นผลิตสินค้าที่ดีให้แก่ผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพ ไม่มีการตัดแต่งพันธุกรรม และยังใช้วัตถุดิบธรรมชาติ โดยไม่ใส่วัตถุกันเสียหรือสารปรุงแต่งใดๆ

     อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/4607.html?utm_source=dable

โกศล จากซอสพริกห้องเช่า สู่ซอสพริกโกอินเตอร์

รายได้ธุรกิจ : 41,250,986 บาท (ปี 2564)

จังหวัด : ชลบุรี

Story of Brand :

  • เริ่มจากสูตรซอสพริกที่ทำกินกันในครอบครัวชาวจีนที่มาตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดชลบุรี ประเทศไทย โดยการใช้วิธีผลิตแบบภูมิปัญญาดั้งเดิม เช่น ใช้เตาฟืน, ใช้กระทะใบบัวต้ม, คัดสรรวัตถุดิบและนำมาหมักดองด้วยสูตรตัวเอง ต่อมาจึงได้ทดลองนำมาผลิตขายอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ แถบอำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
  • โดยลูกชาย “โกศล คงชยาสุขวัฒน์” ได้นำซอสของแม่ใส่ขวดลงตะกร้าไปเดินเร่ขายแถวบ้าน และฝากขายในตลาด จนสินค้าเริ่มเป็นที่รู้จักในชลบุรีเพิ่มมากขึ้น จึงเกิดความคิดอยากขยายไปหาลูกค้าในเมืองกรุงดูบ้าง โดยใช้วิธีเปิดสมุดหน้าเหลืองติดต่อลูกค้า
  • กระทั่งในปี 2518 ได้มีการก่อตั้ง “โรงงานโกศลพานิช” ขึ้น เริ่มส่งออกไปขายตลาดต่างประเทศครั้งแรกในปี 2525 ที่ตลาดสหรัฐอเมริกา ในปี 2526 จึงเริ่มจดทะเบียนตำรับอาหารกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
  • ต่อมาในปี 2536 ได้เปลี่ยนชื่อจากบริษัทเป็น “บริษัท โกศล-อัมพา จำกัด” โดยใช้ชื่อของเขากับภรรยามาตั้งเป็นชื่อกิจการ เพื่อให้ลูกหลานได้รำลึกคิดถึง
  • ปัจจุบันส่งออกกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ภายใต้ชื่อแบรนด์ “Shark Brand” ปัจจุบันถูกจัดอันดับให้เป็นซอสพริก 1 ใน 3 ของอเมริกา ที่ลูกค้าจดจำและชื่นชอบที่สุด

 

     กลยุทธ์แบบ Local Brand : “4 ร.”  คือ 1. รักษา - รักษาของเดิมที่บรรพบุรุษทำไว้ให้ ไม่ว่าโนว์ฮาว หรือฐานลูกค้า 2.รับ – เปิดรับสิ่งใหม่ๆ  โนว์ฮาวและอินโนเวชั่นต่างๆ โดยไม่เปลี่ยนของเดิมไปมากนัก 3. ริเริ่ม - มองหาช่องทางใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจได้ไปต่อ 4. รุก -  เมื่อครบทั้ง 3 สเต็ปแล้ว ก็รุกเลย

     อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/5593.html

หมีคู่ดาว แป้งข้าวโม่น้ำสำเร็จรูปแห่งภาคตะวันออกของไทย

รายได้ธุรกิจ : 582,827,436 บาท (ปี 2564)

จังหวัด : ชลบุรี

Story of Brand :

  • ย้อนไปเมื่อ 40 กว่าปีก่อน สมัยที่แป้งข้าวโม่น้ำสำเร็จรูปกำลังได้รับความนิยมในประเทศมาเลเซีย “พรชัย ไพศาลบูรพา” พ่อค้าชาวไทยได้มองเห็นโอกาสในการส่งออกจากวัตถุดิบที่มีมากมายอยู่ในประเทศ จึงผลิตแป้งโม่น้ำสำเร็จรูปแบรนด์หมีคู่ดาวออกมาจำหน่าย
  • โดยเริ่มส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศก่อน ภายหลังต่อมาจึงนำกลับเข้ามาจำหน่ายในไทย เริ่มจากแถบภาคตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิต โดยถือเป็นโรงแป้งแห่งแรกๆ ของไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP และ HACCP
  • ปัจจุบันมีการส่งออกไปมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก และยังเป็นผู้ผลิตแป้งประกอบอาหารรายแรกๆ ที่มีการนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง โดยตั้งปณิธานไว้ว่าถึงจะไมใช่ผู้ผลิตแป้งเก่าแก่ที่สุดในไทย แต่ขอเป็นผู้นำด้านแป้งประกอบอาหารที่นำนวัตกรรมมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคยุคใหม่ให้ง่ายและสะดวกที่สุด

 

      กลยุทธ์แบบ Local Brand : มองไปข้างหน้าเสมอ อะไรที่ลูกค้าต้องการและตลาดต้องการ จะลงมือทำเลย โดยไม่รีรอ

     อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/index.php/entrepreneur/6932.html

ตราแม่บ้าน ผักกาดดองตลาดนัด ที่ไปโตในตลาดโลก

รายได้ธุรกิจ : 35,147,118 บาท (ปี 2564)

จังหวัด : ราชบุรี

Story of Brand :

  • เริ่มต้นจากอยากหาธุรกิจทำ จึงไปเดินงานแสดงสินค้า เห็นผักกาดดองวางขายในกะละมัง ขายดีมาก จึงได้ไอเดียมาหัดลองผิดลองถูกทำด้วยตัวเอง ขายตามตลาดสด ตลาดนัด
  • ต่อมาเริ่มอยากพัฒนาขยายตลาดให้เติบโตขึ้น โดยมีความคิดว่าหากขายอยู่ในราชบุรีจะได้ลูกค้าพันคน หากอยากได้หมื่นคนต้องขายในจังหวัดรอบๆ ถ้าอยากได้ลูกค้าแสนคนต้องขายทั่วประเทศ และถ้าอยากได้ล้านคนต้องส่งออก
  • โดยมีการเป็นกลุ่มลูกค้าออกเป็นกลุ่มตลาด A B C แบ่งแยกโรงงานผลิตไว้ 2 แห่ง แห่งแรก คือ ได้มาตรฐานตามปกติ เพื่อขายลูกค้าทั่วไปในประเทศ อีกแห่งเป็นโรงงานผลิตมาตรฐานสูง เพื่อการส่งออก อาทิ GMP HACCP, ISO 9001 และ ISO 22000
  • นอกจากจะผลิตผักกาดดอง และของดองอื่นๆ แล้ว เช่น ไชโป้วหวาน, หน่อไม้ดอง, หน่อไม้ในน้ำใบย่านาง เป็นของตัวเองแล้ว ยังมีการรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์อื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงรับจ้างฆ่าเชื้อให้กับสินค้าของ SME ด้วยเครื่องรีทอร์ท (Retort) เพื่อให้อาหารอยู่ได้นานขึ้นได้ โดยสามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจได้มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์

 

     กลยุทธ์แบบ Local Brand : ทำของกิน ต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้  พอทำดีแล้วตลาดจะตามมาเอง

     อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/6047.html

ชวนคิดแบบ Local Brand

     จากเรื่องราวของทั้ง 4 แบรนด์ พอจะสรุปจุดเด่นของธุรกิจ Local Brand ได้ดังนี้

  • ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากเล็กหรือใหญ่ เสน่ห์ของธุรกิจ Local Brand ก็คือ ความจริงใจ มุ่งมั่นที่จะผลิตสินค้าที่ดีออกมาสู่ผู้บริโภค
  • ตำนาน เรื่องราวการต่อสู้ทางธุรกิจ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจดีๆ และสร้างเสน่ห์ให้กับแบรนด์ได้
  • การสร้างมาตรฐาน คือ สิ่งสำคัญในการสร้างจุดเปลี่ยนให้ธุรกิจจากแบรนด์ท้องถิ่น สู่ตลาดโกอินเตอร์

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน