ล้วงความลับผู้บริหารเซเว่น วิธีเอาสินค้าไปขายให้ผ่าน ขายได้นาน ยอดปังไม่ตก

 

     ตัวเลข 13,500 สาขา และอัตราที่มีลูกค้าเข้าร้านเฉลี่ยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะทำให้ SME หลายรายอยากนำสินค้าไปขายในเซเว่น เมื่อร้านสะดวกซื้อแห่งนี้เป็นหมุดหมายในฝันของบรรดาผู้ประกอบการรายเล็ก การแข่งขันย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา กว่าจะฝ่าด่านไปคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ก็คงไม่ยากเกินไป

     วันนี้ SME Thailand Online จะพาไปล้วงความลับกับ วาสนา สงวนสัตย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารของเซเว่น อีเลฟเว่น ว่าหากเอสเอ็มอีต้องการจะนำสินค้าไปขายในเซเว่นฯ ต้องทำอย่างไรบ้าง

ขายสินค้าได้เฉลี่ย 44 ล้านชิ้นต่อวัน

     ก่อนที่จะไปดูวิธีนำสินค้าไปขายในเซเว่นฯ หลายคนอยากรู้ว่าเซเว่นฯ มีข้อดีอะไรถึงดึงดูดให้เหล่า SME ต้องการนำสินค้าไปขาย นอกจากจำนวนสาขามีมากถึง 13,500 สาขากระจายตัวอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศแล้ว ยังมีการเปิดร้านในพื้นที่ใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกต่อเนื่อง รวมทั้งเซเว่นฯ ก็ยังมีสินค้าที่หลากหลายตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคใหม่ ที่ต้องการความสะดวกสบาย ต่อไปนี้คือ สถิติที่พอจะบอกได้ว่าเซเว่นฯ มีเสน่ห์ต่อ SME อย่างไร

  • ในแต่ละสาขามีลูกค้าเข้าร้านเฉลี่ย 900 คนต่อวัน
  • วันหนึ่งเซเว่นฯ มีลูกค้าประมาณ 12 ล้านคน
  • โดยเฉลี่ยคนหนึ่งซื้อสินค้าครั้งละประมาณ 3 ชิ้น ทำให้มีการซื้อขายสินค้าผ่านเซเว่นฯ ประมาณ 44 ล้านชิ้นต่อวัน
  • มีการคาดการณ์ว่าระหว่างปี 2564 - 2566  ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ หรือ Modern Trade ในประเทศไทย มีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็วเฉลี่ย 5-2.5%

 

เคล็ดไม่ลับสำหรับ SME ในการนำสินค้าไปขายในเซเว่นฯ

     1. รู้จุดแข็ง ความเชี่ยวชาญของตัวเอง

     เคล็ดไม่ลับอันดับแรกคือ ต้องเตรียมตัวให้พร้อม อย่าพกแต่ไอเดียไปอย่างเดียว อย่าลืมว่าการทำธุรกิจทุกอย่างต้องมีความชัดเจนให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น สินค้าที่จะมาขายหน้าตาเป็นอย่างไร แพ็กเกจจิ้งเป็นแบบไหน ข้อสำคัญ อะไรคือความเก่ง ความเชี่ยวชาญ ที่ใส่ลงไปในสินค้า

     2. รู้จักคู่แข่ง

     อันดับที่สองคือ ผู้ประกอบการควรไปสำรวจในเซเว่นฯ ว่ามีสินค้าอะไรขายบ้าง โดยเฉพาะสินค้าประเภทใกล้เคียงกัน เพื่อหาจุดดี จุดด้อย เพื่อที่จะทำให้สินค้าตัวเองโดดเด่นมีความน่าสนใจ

     3. รู้จักลูกค้า

     นอกจาก SME ต้องรู้จักคู่แข่ง แล้วยังต้องรู้จักลูกค้าตัวเอง และยังต้องรู้จักลูกค้าเซเว่นฯด้วย เช่น ลูกค้าเซเว่นฯ ชอบความสะดวก สินค้าต้องมีความชัดเจน มองปุ๊บรู้ทันทีว่าเป็นสินค้าอะไร สามารถหยิบจับทานได้ง่าย เป็นต้น

     4. รู้จักเตรียมความพร้อมในเรื่องการผลิต

     ผู้ประกอบการควรจะเตรียมความรู้ความพร้อมในต่างๆ อาทิ มาตรฐานด้านอาหารหรือ อย.  เครื่องหมายรับรองมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรมหรือ มอก. กำลังการผลิต

เคล็ดลับทำให้ยอดขายปังในเซเว่น

            เมื่อผ่านการพิจาณาได้นำสินค้าเข้าไปขายในเซเว่นฯ แล้ว ต้องไม่ลืมว่าสินค้าในเซเว่นฯ มีมากมาย การที่จะทำให้ยอดขายเติบโตได้ก็ต้องประกอบด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้

     1. แพ็กเกจจิ้ง

     เปรียบเสมือนด่านแรกที่จะดึงดูดลูกค้า ทำสินค้าให้ดูน่าซื้อ ช่วยเรื่อง food safety และเรื่อง shelf life ให้มีระยะเวลาขายได้นานขึ้น

     โดยมีตัวอย่าง SME รายหนึ่งทำขนมหวาน ออกแบบแพ็กเกจจิ้งฝาปิดด้านบนสวยงาม แต่พอไปวางขายสินค้าวางซ้อนโดนทับฝาทำให้มองเห็นแต่กล่องใสๆ หลังจากที่ทีมงานเซเว่นฯได้แนะนำให้ปรับแพ็กเกจจิ้งเพิ่มเติมห่อด้านข้างเพื่อระบุว่าเป็นสินค้าอะไร ให้ลูกค้ามองเห็นได้ง่าย เพียงเท่านี้ยอดขายเพิ่มขึ้นมา 50%

     2. หมั่นอัปเดตสินค้า

เนื่องจากเซเว่นฯเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง มีลูกค้าเข้าร้านเฉลี่ยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ย่อมอยากหาหรือทานของใหม่ๆ ฉะนั้นต้องหมั่นตรวจสอบ ทำ PDCA (Plan-Do-Check-Act) หาจุดปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เช่น ปรับคุณภาพให้ดีขึ้น ปรับแพ็กเกจจิ้งใหม่ หรือเพิ่มรสชาติใหม่ ให้สินค้ามีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา

     3. เพิ่มความสะดวก ประโยชน์ใช้สอย

     เพราะลูกค้าเซเว่นฯชอบความสะดวกสบาย สินค้าที่ขายต้องอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าด้วยเช่นกัน เช่น มะม่วงดองที่เดิมใส่ห่อขายเป็นลูก เมื่อมีการปรับให้หั่นเป็นชิ้น มีไม้เสียบ เพิ่มพริกกะเกลือพร้อมในแพ็กเกจ ยอดขายเติบโตขึ้น ข้อสำคัญต้องเข้าใจพฤติกรรมลูกค้า ก่อนที่จะพัฒนาสินค้า

     4. ขนาดกำลังพอเหมาะ

     นอกจากนี้สินค้าที่ขายในเซเว่นฯก็ควรจะเป็นไซส์เล็กๆ เหมาะกับทานแค่ 1-2 คน ทานแล้วทิ้ง แพ็กเก็จจิ้งมีความสวยงาม สมัยใหม่ หยิบถือได้ง่าย ทานได้สะดวก ไม่เลอะเทอะ สำคัญราคาจับต้องได้

     5. คุณภาพและปริมาณผลิตที่สม่ำเสมอ

     ทั้งในเรื่องรสชาติที่ต้องผลิตให้ดีตามมาตรฐาน ความสามารถในการผลิตและส่งสินค้าก็สำคัญ เพราะถ้ากำลังการผลิตไม่พอ ไม่สามารถส่งของได้ ทำให้ของขาด นานๆ ลูกค้าก็จะลืม จำสินค้าคุณไม่ได้

     6. ต้องอดทน ใจสู้

     เมื่อได้เข้าเซเว่นฯแล้ว ทางเซเว่นฯจะมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือให้คำปรึกษา เพื่อให้สินค้าไปรอดแต่ผู้ประกอบการก็ต้องให้ความร่วมมือ รวมถึงไม่ถอดใจกลางคัน ความสำเร็จของ SME หลายราย มาจากการทำงานเป็นทีมให้ข้อมูลที่ชัดเจน แลกเปลี่ยนความรู้กันเพราะทีมเซเว่นฯ รู้จักลูกค้า ส่วนของ SME รู้จักการผลิตสินค้า ถ้าร่วมมือกันก็จะได้สินค้าที่ดีๆ คุณภาพแบบทำให้คนในครอบครัวรับประทาน ก็เป็นจุดกำเนิดของความสำเร็จ

     "และในปีนี้ทางเซเว่นฯ ยังมีศูนย์ 7 สนับสนุน SME ที่ทำหน้าที่ในการช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ในทุกมิติให้สามารถเติบโต สามารถแข่งขันได้ในระดับมาตรฐานและระดับสากล ควบคู่กับการพัฒนาความรู้ เพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี" วาสนา กล่าว

เทรนด์สินค้าที่จะขายดีในอนาคต

     นอกจากเคล็ดลับดังกล่าวแล้ว วาสนา ซึ่งมีประสบการณ์ในการคัดเลือกผู้ประกอบการอาหารกว่า 28 ปียังได้แนะนำว่าสำหรับเมกะเทรนด์สินค้าที่จะขายดีในอนาคตได้แก่ 

     1. สินค้าสำหรับผู้สูงวัย

     2. สินค้าที่อำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค

     3. สินค้าเพื่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้

     4. สินค้าไซล์เล็กเหมาะสำหรับคนเดียว ครอบครัวเดี่ยว

     5. สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

     6. สินค้าที่มี GI (Geographical Indications) เช่น ส้มโชกุนมาจากเบตง เพราะสินค้าพวกนี้มีแฟนประจำกลุ่ม เอามาพัฒนาให้สมัยใหม่ก็ขายได้

สินค้าที่ขายในเซเว่นมีอะไรบ้าง

     ไม่ใช่แค่หิวเมื่อไหร่ถึงต้องแวะไปเซเว่นฯเท่านั้น เพราะนอกจากอาหารแล้วในเซเว่นฯก็ยังมีสินค้าอีกมากมายหลายประเภทแบ่งได้เป็นหลักๆ ดังนี้

Non Food

  • ของใช้ส่วนตัว
  • ของใช้ในครัวเรือน

Ready to eat (frozen & chilled)

  • อาหารหลัก
  • อาหารรองท้อง
  • ฟาสต์ฟูด
  • ขนมปัง นมสด

Dry Grocery

  • อาหารแห้งและเครื่องปรุงรส
  • ขนม

Beverage & Ice cream

  • แอลกอฮอล์
  • ซอฟต์ดริ๊งค์
  • ไอศกรีม

     หากใครที่กำลังอยากจะนำสินค้าเข้าไปในเซเว่นฯไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ก็ลองติดต่อไปได้ที่ ศูนย์ 7 สนับสนุน SME ที่จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาได้

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น