3 เช็กลิสต์ จากนักธุรกิจฟาร์มเห็ด รับมือยังไง? เมื่อเจอวิกฤตคู่แข่งล้นตลาด

TEXT : Nitta Su.

Main Idea

3 เช็กลิสต์ ทางเลือกธุรกิจไปต่อแบบไหน? เมื่อเจอคู่แข่งล้นตลาด

  • ปรับปรุงการผลิตได้ไหม

 

  • หากลุ่มลูกค้าใหม่ได้หรือเปล่า

 

  • ถ้า 2 ข้อแรกทำไม่ได้ ให้เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น

 

     การทำธุรกิจให้ยืนยาวเป็นสิ่งที่ไม่ว่าผู้ประกอบการคนใด ก็คงอยากได้ แต่หากวันหนึ่งเมื่อธุรกิจต้องถึงทางตัน เจอคู่แข่งรายใหม่ที่เก่งกว่า ดีกว่า แถมยังทำราคาขายได้ดีกว่า ก็ถึงเวลาที่ต้องกลับมาทบทวนแล้วว่า เราจะไปต่อ หรือหยุด วันนี้เรามี 3 ข้อแนะนำดีๆ จาก อภิศักดิ์ แซ่หลี ผู้บริหาร บริษัท ลัลณ์ลลิลไบโอเทค จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหัวเชื้อเห็ดมากกว่า 20 สายพันธุ์ รวมถึงอุปกรณ์เพาะเห็ดให้แก่เกษตรกร ที่ผ่านตัวมาจากเจ้าของฟาร์มเห็ดที่เคยเพาะเห็ดขายป้อนให้กับร้านอาหารเชนดังเจ้าใหญ่ แต่แล้ววันหนึ่งก็ต้องคิดใหม่ เมื่อเจอคู่แข่งล้นตลาด

ปรับปรุงการผลิต

     “ข้อแรกเมื่อคุณต้องเจอกับคู่แข่งที่เยอะขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ดีกว่า ราคาถูกกว่า ให้ลองถามตัวเองว่าเราสามารถปรับปรุงอะไรได้บ้างในการผลิต เช่น ปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ไหม เพื่อหนีคู่แข่ง หรือผลิตให้ได้จำนวนเยอะขึ้น ขายให้เยอะขึ้น เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ถูกลงกว่าเดิม โดยทั้งนี้ต้องลองพิจารณาหลายด้านถึงศักยภาพความพร้อมด้วยว่าเราสามารถทำได้แค่ไหน เช่น หากผลิตเยอะขึ้นก็ต้องจ้างแรงงานเยอะขึ้น ดีไม่ดีอาจต้องขยายโรงงานเพิ่ม ต้องถามตัวเองว่าเราพร้อมที่จะทำแบบนั้นหรือเปล่า”

หากลุ่มลูกค้าใหม่

     “ข้อต่อมา เมื่อพิจารณาแล้วว่าเราอาจไม่พร้อมที่จะสู้ด้วยการผลิตปริมาณเยอะๆ เพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลง เราก็อาจใช้วิธีมองหากลุ่มลูกค้าตลาดใหม่ที่เขาอาจไม่ได้สนใจเรื่องราคาว่าถูก หรือแพง แต่สนใจที่คุณภาพ ความพิเศษของผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจจะเป็นนีชมาร์เก็ต เป็นตลาดที่เฉพาะกลุ่มลงไป ซึ่งอาจมีอยู่จำกัด มีไม่มากเท่าไหร่ แต่ก็ต้องลองคิดดูว่าวิธีการนี้เหมาะกับรูปแบบธุรกิจของเรา หรือเปล่า แต่สำหรับลัลณ์ลลิลเราทำฟาร์มเห็ด ซึ่งก็มีเจ้าอื่นๆ อยู่อีกเยอะ การจะทำนีชมาร์เก็ตได้จึงค่อนข้างยาก เราจึงเลือกวิธีอื่น”

เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น

     ข้อสุดท้าย ถ้า 2 ข้อแรกไม่ตอบโจทย์ วิธีสุดท้าย ก็คือ ลองเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นเลยดีไหม โดยเอาความรู้ที่เรามีมาต่อยอด เริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ซึ่งในช่วงรอยต่อนั้นเราเจอคู่แข่งในตลาดเยอะขึ้นมาก ทั้งเกษตรกร และคนทำฟาร์มแห็ดรายอื่น ถ้ายิ่งลงไปแข่งขันกับเขาก็ยิ่งต้องเหนื่อย เพื่อให้ได้กำไรต่อกิโลแค่ไม่กี่บาท เราเลยลองคิดใหม่ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยแทนที่จะลงไปแข่งขัน เราเลยลองเอาองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่มีเปลี่ยนจากเพาะเห็ดขาย มาผลิตหัวเชื้อขายกลับไปให้กับเกษตรกรและฟาร์มเห็ดต่างๆ แทนดีกว่า เรียกว่าเปลี่ยนคู่แข่ง ให้เป็นคู่ค้า ซึ่งการที่เราทำธุรกิจมานาน ทำให้เรามองออกว่าอะไร คือ สิ่งที่เขาต้องการ หรืออยากได้เพิ่มเติม พยายามมองหาจุดนั้นให้เจอ และคุณจะพบโอกาสใหม่ ที่ไม่ต้องไปแข่งขันให้เหนื่อยแบบเดิม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณต้องทำตัวเองให้เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดด้วย”

 

Tips

     “การแก้ปัญหาไม่ได้แล้วยังฝืนทำต่อ เราเรียกว่า ดันทุรัง แต่บางครั้งเราก็อาจจำเป็นที่จะต้องฝืนก่อน เพื่อให้รู้ว่าเป็นยังไง เพราะไม่อย่างนั้นก็เหมือนกับเราไม่สู้กับปัญหาเลย แต่ต้องระวังไว้ด้วยเพราะดันทุรังกับความตั้งใจทำ บางครั้งมีแค่เส้นบางๆ กันอยู่ ความดันทุรัง คือ ยิ่งฝืนทำ ยิ่งแย่ ยิ่งมองไม่เห็นทาง ยิ่งขาดทุน ไม่เห็นกำไร แต่ถ้าลองฝืนแล้วรู้สึกว่ามีแนวโน้มดีขึ้น เพียงแต่จากปัจจัยภายนอกอาจไม่เอื้ออำนวยเหมือนเมื่อก่อน แต่เรารู้แล้วว่าทำแล้วมันจะไม่ต่ำลงไปกว่าเดิม ก็ให้พยายามต่อเถอะครับ”

 

 

ข้อมูลติดต่อ

ลัลณ์ลลิล กรุ๊ป

https://web.facebook.com/jintana.saeli

โทร. 089-977-1414

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ