สสว. เตรียมดัน ดนตรีหมอลำเป็น Soft Power ขับเคลื่อน SME อีสานและเศรษฐกิจไทย คว้าโอกาสโต 7 หมื่นล้านบาท

TEXT : กองบรรณาธิการ

Main Idea

  • ดนตรีหมอลำที่มีมูลค่าถึง 7 พันล้านบาทมีโอกาสโตได้อีก 10 เท่า ทำให้สสว. ต้องการต่อยอดยกให้เป็น Soft Power ในการพัฒนา SME ภาคอีสานรวมทั้งขับเคลื่อนผู้ประกอบการรายย่อยให้ส่งออกได้มากขึ้นโดยเฉพาะในตลาด CLMV

 

  • เป็นส่วนหนึ่งในแผนงานที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้จัดการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สำหรับแผน “เพิ่มศักยภาพ SME ไทย ด้วยแผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570)” จังหวัดขอนแก่น

 

   แม้จำนวน SME ในประเทศจะมีมากกว่า 3 ล้านราย แต่รู้ไหมว่ารายได้ส่วนใหญ่ของประเทศไทยมาจากบริษัทที่เป็น SME เพียงแค่ 20% เท่านั้น อีก  80% มาจากบริษัทขนาดใหญ่ นี่เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ทางสสว. อยากจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SME แข็งแกร่งเติบโตได้อย่างยั่งยืนขึ้น

     เพื่อให้การส่งเสริม SME เป็นรูปธรรม เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้จัดการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น “เพิ่มศักยภาพ SME ไทย ด้วยแผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570)” จังหวัดขอนแก่น ทั้งนี้ภายในงานมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการ ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพร้อมการเสวนาที่น่าสนใจ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

เน้นตลาดส่งออกโดยเฉพาะธุรกิจภาคบริการ

     การส่งออกนอกจากจะทำเงินตราเข้าประเทศได้แล้วยังสามารถสร้างธุรกิจให้เติบโตได้เช่นกัน ลลนา เถกิงรัศมี ผู้อำนวยการฝายนโยบายและแผนส่งเสริม SMEs สสว. เปิดเผยว่าจากข้อมูลของสสว. พบว่า SME ไทยที่ส่งออก (โดยตรง) นั้นมีสัดส่วนน้อยมากประมาณ 11% เท่านั้น ตรงนี้เป็นอีกหนึ่งจุดที่ สสว. ต้องเร่งแก้ไข

     “ในแผนฯ เรามีการกำหนดเพิ่มผู้ส่งออกทั้งรายเก่ารายใหม่ให้ส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกที่ไม่ใช่แค่สินค้าแต่เพิ่มด้านภาคบริการ ซึ่งภาคธุรกิจบริการของไทยเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างเข้มแข็ง ซึ่งจะอยู่ในแผนฯ 5 ปีข้างหน้า เช่น บริการสุขภาพ ท่องเที่ยว”

     ทั้งนี้ในการบุกตลาดต่างประเทศนั้น ทาง สสว. ได้มีการวิจัยความสามารถในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ ด้วยการเก็บข้อมูลของผู้ประกอบการที่สามารถส่งออกได้สำเร็จมาเปรียบเทียบกับผู้ที่ต้องการส่งออก เพื่อที่นำมาช่วยวางแผนนโยบายว่าผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกสำเร็จจะต้องพัฒนาในด้านใด

     ทั้งนี้ในข้อมูลที่ผู้ประกอบการตอบนั้นจะแบ่งเป็น 5 ส่วนๆ แรกมี 8 เรื่องคือ

     1. ความสามารถในการแข่งขัน

     2. กลยุทธ์ของการเข้าสู่สากล

     3. การดำเนินงาน

     4. ทรัพยากรบุคคล

     5. ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์

     6. กฏหมาย

     7. การจัดการลดความเสี่ยง

     8. ประสบการณ์ในต่างประเทศ

     ส่วนที่ 2 เป็นเรื่อง การตลาด อาทิ การรับรู้ insight ของผู้บริโภค การวิจัยผู้บริโภค การพัฒนาผลิตภัณฑ์

     ส่วนที่ 3 เรื่องการขาย ส่วนที่ 4 เรื่องสไตล์สินค้า ส่วนที่ 5 เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล

     จากนั้นก็จะนำข้อมูลเหล่านี้เปรียบเทียบออกมาเป็นกราฟ ว่าผู้ประกอบการควรจะพัฒนาจุดไหน

     .ดร. กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์วิจัยธุรกิจเศรษฐกิจอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เผยถึงการวิจัยดังกล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าส่วนใหญ่ SME ที่ประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศได้จะประสบความสำเร็จในประเทศก่อน เมื่อทำแบรนด์ในประเทศแข็งแรงแล้วก็เริ่มออกสู่ต่างประเทศ แต่ปัญหาที่พบเมื่อเริ่มทำตลาดส่งออก อาทิ กลยุทธ์การตั้งราคา ความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ การบริการหลังการขาย งบประมาณ ฯลฯ

     “ขอยกตัวอย่างผลการศึกษาสองเซกเตอร์ที่เกี่ยวกับภาคอีสานคือ หนึ่ง อุตสาหกรรมเกษตรซึ่งจะมีความผูกพันกับดิน ฟ้า อากาศ ทำให้ควบคุมคุณภาพการผลิตยาก ซึ่งถ้าควบคุมคุณภาพไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำตลาดส่งออก สอง กลุ่มสารสกัดมาจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ต้องควบคุมซัพพลายเออร์เพื่อให้ได้สารสกัดที่มีคุณภาพ ก็อาจต้องไปร่วมมือกับสถาบันต่างๆ เช่น สวทช.”

     ศ.ดร. กัลปพฤกษ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในตลาด CLMV นั้นประเทศไทยเป็นเจ้าตลาด สินค้าอุปโภค บริโภค แต่ในระยะหลังเริ่มมีคู่แข่งอย่างเวียดนาม เกาหลี

     “คำแนะนำคือ เรื่องทัศนคติ คนไทยบางคนไปขายของแล้วชอบคิดว่าเหนือเขาเลยมีแรงต้าน จริงๆ ควรไปเป็นเพื่อนกันก่อน สินค้าที่นำไปขายต้องทดสอบได้ ให้ผู้บริโภคชิมได้ ต้องไปทำความคุ้นเคย ว่ารสชาติในแต่ละท้องถิ่นเขาชอบทานอาหารรสไหน เช่น พม่าชอบทานหวานออกมัน”

เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภาคอีสานใน 3 Sector

     ด้วยพื้นที่ในภาคอีสานมีศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์มากมาย ทางสสว. จึงได้เชิญพันธมิตรอย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) หน่วยงานที่มีบทบาท ทำหน้าที่ดูแลเรื่องนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาร่วมงานในครั้งนี้ โดย ชยุตาเวศ สินธุพันธ์ ผู้อำนวยการ CEA สาขาขอนแก่น กล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์คือ เอาความรู้ที่อยู่ในพื้นถิ่นมาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้กลายเป็นอาชีพ หรืออธิบายง่ายๆ คือเป็นหน่วยงานที่ดูแล Soft Power ในเมืองไทย สำหรับการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภาคอีสานนั้นทาง CEA จะเน้นไปที่ 3 อุตสาหกรรมคือ

     หนึ่ง อุตสาหกรรมบันเทิง จะเห็นตัวอย่างได้จาก K pop ซึ่งมีมูลค่าตลาดมหาศาล ถ้าเราสามารถยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนต์ให้เป็นสินค้าส่งออก เช่น อินเดียเป็นประเทศที่ส่งออกคอนเทนต์ใหญ่มาก หรือต่อยอดดนตรีไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดนดรีหมอลำมีมูลค่า 7 พันล้านบาทให้เป็น Soft Power ของเมืองไทยก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจและผู้ประกอบการได้

     “ผมว่าดนดรีหมอลำสามารถขยายได้ 10 เท่ากลายเป็น 7 หมื่นล้านบาทได้ไม่ยากนัก”

     สอง อุตสาหกรรมอาหาร อีสานเป็นแหล่งผลิตอาหารได้มากที่สุดของประเทศคิดเป็น 30% ของพื้นที่ จะส่งเสริมตั้งแต่เรื่องวัตถุดิบไปจนถึงการต่อยอดเป็นอาห่ารที่เสิร์ฟในจาน

     สาม งานฝีมือ craft ที่ไม่ได้เน้นแค่ตัวผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่จะเน้นตั้งแต่เรื่องวัตถุดิบ เช่น เส้นใยไหมสามารถต่อยอดได้ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่เครื่องนุ่งเท่านั้น

     “ภาคอีสานโชคดีมากมีสิ่งที่มีอัตลักษณ์ทั้งดนตรี อาหาร สิ่งเหล่านี้เต็มไปหมด เช่น จังหวัดเลยมีผีตาโขน, ผักสะทอน นำมาทำเป็นน้ำปลาร้าวีแก้น ต่อยอดกลายเป็น “ตำด๊องแด๊ง” ขึ้นชื่อของจังหวัดเลย สิ่งสำคัญทำอย่างไรให้อัตลักษณ์เป็นที่ยอมรับนานาประเทศได้ สิ่งหนึ่งที่เรากำลังทำอยู่พยายามยกระดับข้าวให้ขายได้ราคามากขึ้นเหมือนกาแฟที่โคลัมเบีย สามารถขายกิโลกรัมละ 8 พันบาท เอามาคั่วขายได้แก้วละ 1,200 บาท อีสานมีข้าวมากกว่า 589 สายพันธุ์ ถ้าเราสีข้าวแล้วสามารถแยกพันธุ์ข้าว ว่ามีคุณค่าอาหาร รสชาติต่างกันอย่างไร ยกระดับข้าวให้เหมือนกาแฟหรือไวน์ได้”

แผนส่งเสริม SME ในภาคอีสาน

     ลลนา กล่าวสรุปว่า สำหรับการจัดทำแผนพัฒนา SME ในแต่ละปีนั้น สสว. จะทำแผนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จำนวนมาก ในปี 2566 มีมากกว่า 30 หน่วยงาน มีงบประมาณ 2,700 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา สสว. โฟกัสที่หน่วยงานส่วนกลางเป็นหลักซึ่งค่อนข้างตกผลึกแล้ว สเต็ปต่อไปก็น่าจะเป็นหน่วยงานในระดับพื้นที่ แผนลงลึกระดับจังหวัดมีกลไกในการทำงานอย่างไร ให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งพยายามดูเรื่อง eco system ที่มาตอบโจทย์ด้วยในแต่ละพื้นที่ว่ามีหน่วยงานให้บริการมากน้อยเพียงพอหรือไม่

     “อย่างภาคอีสานปีนี้มีการศึกษาจังหวัดอำนาจเจริญเพิ่มด้วยว่า ปัจจัยอะไรทำโดยรวมเศรษฐกิจไม่โต เอาข้อมูลมาจัดทำโครงการทำแผนงานฯ พัฒนาให้ตรงจุดต่อไป”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย