ทายาท “น้าโอ เต้าหู้ท่ายาง” พลิกโฉมธุรกิจเก่ากว่า 60 ปีให้กลับมาปัง พร้อมดันยอดขายโต 30% ในสองปี

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : น้าโอ เต้าหู้ท่ายาง

Main idea

  • คำว่า “สำเร็จ” อาจเป็นการตั้งเป้าหมายที่ดูกว้างเกินจับต้องได้

 

  • ทำให้ "ณัชชา กตเวทวารักษ์" ทายาท น้าโอ เต้าหู้ท่ายาง จึงแตกคำว่าสำเร็จออกมาเป็นสองอย่าง หนึ่ง คือ ทางด้านอารมณ์ ที่ทำให้ผู้เป็นพ่อภูมิใจว่าธุรกิจจะไปต่อได้และไม่จบที่รุ่นเรา และ สอง คือ การทำให้ น้าโอ เต้าหู้ท่ายาง มีสาขาและแฟรนไชส์ที่คนทั่วไปยอมรับ

 

  • เป็นที่มาของการสร้างแบรนด์ น้าโอ เต้าหู้ท่ายาง และการเปิดหน้าร้านที่เคยทำให้คนท่ายางต้องต่อแถวจนยาวเหยียดมาแล้ว

 

     “ถ้าวันนั้นหนูไม่ตัดสินใจว่าจะทำยังไงกับเต้าหู้ วันนี้มันจะเริ่มหนักแล้วนะ หมายถึงว่ามันอาจจะอยู่ไปวันๆ หรืออาจไม่อยู่แล้วก็ได้”

     ณัชชา กตเวทวารักษ์ ทายาท น้าโอ เต้าหู้ท่ายาง เปิดเผยถึงความรู้สึกต่อธุรกิจการขายเต้าหู้ของที่บ้านที่สืบทอดกันมากว่า 60 ปี

     ด้วยสูตรลับที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นอาเหล่ากงที่มีดีในตัวถึงขนาดที่คนเฒ่าคนแก่ที่มาซื้อถึงกับเคยเอ่ยปากว่า “เป็นเต้าหู้ที่ตามหามานาน อย่าเพิ่งเลิกขายนะ”

     คำพูดเพียงไม่กี่คำแต่ทำคนฟังจำขึ้นใจและคิดไว้ว่า สักวันหนึ่งเธอต้องมาทำให้เต้าหู้นี้ไปได้ไกลกว่าแค่ที่ ท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี แต่เส้นทางไม่ง่ายเหมือนการทอดเต้าหู้ ทั้งภาพลักษณ์ ทั้งเรื่องราคา หรือแม้แต่การตัดสินใจเปิดหน้าร้านที่ 3 เดือนแรกเรียกว่าแป๊ก แต่พอจับจุดได้ยอดขายก็โตวันโตคืน

สูตรลับ เต้าหู้ท่ายาง ที่ทำให้คนติด

     สำหรับหลายคนที่ยังไม่ได้ชิมหรือกำลังอยากจะชิมคงอยากรู้ว่าอะไรที่ทำให้เต้าหู้ท่ายางถึงถูกปากคนแก่ อดีตสาวแบงก์เฉลยให้ฟังว่า เต้าหู้นี้เป็นสูตรจากอาเหล่ากงที่สืบทอดกันมา ความพิเศษที่ทำให้เต้าหูของเธออร่อยไม่เหมือนใคร คือ

     “มันเป็นเทคนิคที่อากงบอกไว้ เริ่มตั้งแต่การคัดวัตถุดิบ เพราะเม็ดถั่วในแต่ละล็อตมีทั้งเก่าทั้งใหม่ เขาจะสอนวิธีการดูสี ดูความแข็งว่าเม็ดถั่วแบบไหนดีใช้ได้ หรือแม้แต่กระบวนการ การคั้น การต้ม ซึ่งเราจะไม่ได้ใช้เตาฟืน เพราะมันจะมีกลิ่นควันไฟทำให้ไปกลบกลิ่นเนื้อเต้าหู้ เป็นเทคนิคการต้มพิเศษที่จะดึงกลิ่นของถั่วเหลืองออกมาให้ชัด ให้เนื้อสัมผัสไม่กระด้าง มีความนุ่ม เราเคยได้ฟีดแบ็กจากลูกค้าบอกว่า เหมือนเป็นเต้าหู้ที่ตามหามานานอย่าเพิ่งเลิกขายนะ ยิ่งถ้าเป็นคนที่มีอายุชอบมาก เขารู้ว่าเต้าหู้แบบนี้หาได้ไม่ง่าย”

ถึงเวลาพลิกโฉม

     แม้จะมีสูตรลับที่ทำให้เต้าหู้อร่อย แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างทั้งสุขภาพของคุณพ่อ ภูชิต กตเวทวารักษ์ (โอ) ที่ไม่ค่อยแข็งแรงต้องเดินทางไปพบหมอบ่อยๆ โดยมีลูกสาวคนโตอย่าง ณัชชา ต้องทำหน้าที่ดูแลพาพ่อไปหาหมอ จึงตัดสินใจลาออกจากพนักงานแบงก์กลับมาต่อยอดธุรกิจเต้าหู้ของที่บ้านที่เธอมั่นใจว่ามันสามารถไปได้อีกไกล เพียงแต่ต้องปรับแก้บางอย่างที่เป็นข้อจำกัดให้ดีขึ้น เช่น เรื่องแพ็กเกจจิ้ง

     “อุปสรรคตั้งแต่รุ่นป๊า คือ เรื่องราคาสำคัญมากในการทำตลาดขายส่ง พ่อค้าคนกลางไม่สนว่าสิ่งที่เราทำมันดีหรือไม่แต่เขาจะดูราคาเป็นหลัก เราพยายามตัดตอนพ่อค้าคนกลาง พยายามปรับแพ็กเกจจิ้งให้ขนส่งได้สะดวกขึ้น จากตอนที่เราทำคือ เอาเต้าหู้มาใส่ถุงซีล ปรากฏว่าเต้าหู้เรานิ่มไปเลยจ้า เพราะการซีลดูดสุญญากาศ เต้าหู้ก็แบน เต้าหู้มันมีน้ำเป็นส่วนผสมในนั้นด้วยทำให้น้ำระเหิดออกมา ทำให้เต้าหู้แข็ง ไม่นุ่ม เราก็ต้องเรียนรู้และก็ปรับไปเรื่อยๆ ใส่กล่อง แล้วปรับกระบวนการผลิตให้สินค้าอยู่ได้นานขึ้นจาก 5 วันปรับอยู่ได้ 14 วัน”

     นอกจากนี้เธอยังได้สร้างกระบวนการทำงานที่เป็นมาตรฐานขึ้น ทำเป็นตำราขั้นตอนกระบวนการผลิตขึ้นมาให้เป้นคัมภีร์หรือคู่มือสำหรับพนักงาน ซึ่งไม่เพียงช่วยให้ลดการผิดพลาดน้อยลง ยังมีประโยชน์เมื่อมีพนักงานลาออกและมีพนักงานใหม่มาก็สามารถทำตามกระบวนการนั้นได้เลยไม่ต้องมาเริ่มนับหนึ่งหรือสอนใหม่

 

จากเต้าหู้แผ่น สู่น้ำเต้าหู้

     นอกจากเน้นตลาดขายส่งแล้ว ในทุกๆ ปี เต้าหู้น้าโอก็จะไปออกบูทขายงานประจำจังหวัด ซึ่งแต่ละครั้งที่ไปขายก็ไม่ได้ขายที่ประจำ ทำให้มีลูกค้าที่ติดใจรสชาติถามหาร้านเธอ จากจุดนั้นทำให้ ณัชชา กลับมาคิดว่าถ้าหากได้เปิดร้านขายสินค้าพร้อมทาน มีน้ำเต้าหู้ เต้าหู้ทอด เต้าหูสด ฟองเต้าหู้ ฯลฯ ก็น่าจะไปได้ดี จึงตัดสินใจเลือกช่วงกินเจเปิดร้าน เลือกทำเลที่เป็นซอยขายของฝากของที่ระลึก พร้อมกับเริ่มสร้างแบรนด์ น้าโอ เต้าหู้ท่ายาง เพื่อให้คนจำได้และก็เริ่มทำการตลาดผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย

     “ทำอย่างไรก็ได้สื่อสารให้ลูกค้ารู้ว่าสินค้าเราดีอย่างไร เขาซื้อสินค้าเราแล้วได้อะไร แล้วมันแตกต่างอย่างไรจากที่อื่น เราต้องพูดให้ชัด เราต้องไม่สับสนในตัวเอง ถ้าเราพูดชัด คนฟังก็ไม่สับสน เขาจะเชื่อมั่นในแบรนด์ในเรา”

แป๊กสามเดือน

     แม้จะมีการวางแผนทุกอย่างๆ ดี ไปเรียนอบรมเพิ่มเติม แต่ประตูความสำเร็จก็ใช่ว่าจะเปิดง่ายๆ

     “เปิดร้านแรกๆ ก็ไม่ได้ขายดี เราก็ยังสับสนว่าเราจะทำยังไงต่อ เริ่มคิดว่าหรือว่าลูกค้ายังไม่รู้จัก รู้ว่าสินค้าเป็นอย่างไร ลูกค้าที่ขับรถผ่านไม่รู้ว่าเราขายอะไร อร่อยแค่ไหน เลยไปจ้างเพจรีวิว ซึ่งวันที่เขาลงคลิปคือวันพฤหัสบดีซึ่งเป็นวันที่ร้านหยุด พอวันศุกร์ร้านเปิด 8 โมง ปรากฏว่า 7 โมงเช้ามีคนมาที่ร้านต่อคิวเยอะมากก็แบบงง พนักงานาขายหน้าร้าน 2 คนขายไม่ทัน ต้องเกณฑ์คนมาช่วย แล้วหลังจากวันนั้นคนก็มาซื้อซ้ำ จนเราแอบคิดว่า หรือบางทีเราทำการตลาดไม่ถึงหรือเปล่า ก็เหมือนสวยเงียบๆ ฉะนั้นสิ่งที่เราทำมาก็ถูกทาง เพียงแต่จะไปต่อกับมันยังไงมากกว่า”

ธุรกิจโตได้อยู่ที่ผู้นำ

     สำหรับการมารับไม้ต่อธุรกิจที่บ้านนั้น ณัชชา บอกว่าเธอ   ไม่เคยเจอปัญหาหนักหนา อาจเป็นเพราะว่าเธอมองภาพยาว ตั้งเป้าหมายไว้ว่าเธอจะพา น้าโอ เต้าหู้ท่ายางให้ประสบความสำเร็จอย่างไร

     “เป้าหมายจริงๆ ถ้าเป็น emotional ทำให้ป๊าภูมิใจว่าธุรกิจมันไปได้ มาถึงวันนี้ก็รู้สึกพอใจมากระดับหนึ่ง คือทำให้มีหน้าร้านที่ขายเต้าหู้ที่เป็น finish product ถ้าวันนั้นหนูไม่เริ่มตัดสินใจต่อว่าจะทำไงกับน้ำเต้าหู้ มันจะเริ่มหนักแล้วนะ หมายถึงว่าตลาดมันก็จะอยู่ของมันแค่นี้ อยู่ไปวันๆ หรือไม่อยู่ แต่ประมาณสองปีที่เรามาลงมือทำจริงๆ ยอดขายก็เพิ่มขึ้นประมาณ 30% แล้วเรายังมีแผนต่อที่อยากจะขยายสาขา และเพิ่มผลิตภัณฑ์มาจากเต้าหู้ และอาจเป็น product hero ตัวอื่น”

     “มองว่าการที่ธุรกิจเติบโตได้อยู่ที่ผู้นำจะมองภาพธุรกิจอย่างไร ถ้าเชื่อมั่นว่าพาคนเติบโตไปกับเราได้ก็ต้องวางแผนทำมัน อยากให้เป็นแบบไหนก็ต้องพาทุกคนไป”

น้าโอ เต้าหู้ท่ายาง

https://web.facebook.com/tofunao/?_rdc=1&_rdr

โทร. 098 998 8926

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

มิติใหม่ร้านอาหารไทย! Mr.Kanso ธุรกิจบาร์อาหารกระป๋อง จากญี่ปุ่นสู่สาขาแรกในไทยที่สงขลา

เรื่องราวของ Mr.Kanso บาร์อาหารกระป๋องจากญี่ปุ่นที่ เอก-เศรษฐกรณ์ รัตนาชัยโรจน์ หนุ่มสงขลาได้ชิมแล้วถูกปากถึงขั้นขอซื้อลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่น ซึ่งต้องใช้ลูกตื้อเป็นเวลา 3 ปี กว่าเจ้าของจะใจอ่อนยอมให้นำเข้ามาเปิดที่สงขลาบ้านเกิด

เจนลูกสาวป้าดำ คาเฟ่ที่จัดจ้านที่สุดในย่านแบริ่ง กาแฟ เบเกอรี และเล่าเรื่องแบรนด์

ถ้าพูดถึงคาเฟ่ชื่อดังย่านแบริ่ง หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ “เจนลูกสาวป้าดำ” คาเฟ่ชื่อแปลก แต่กลับสร้างการจดจำให้แก่ลูกค้าที่มาเยือนรวมอยู่ด้วยแน่นอน

House of Gems BKK จากพนักงานโรงแรมสู่คุณแม่ฟูลไทม์ที่ปั้นแบรนด์เครื่องประดับจากน้ำนมแม่

เพราะตัดสินใจออกมาจากงานโรงแรมเพื่อเลี้ยงลูก จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ House of Gems BKK ที่บิ้ว-กัลยา อภิชัยกุล ใช้น้ำนมแม่มาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นเครื่องประดับจากน้ำนมที่ทั้งสวยและทัชใจคุณแม่หลายคน เป็นธุรกิจใหม่ของคุณแม่ฟูลไทม์